ถ้าพูดถึงวงการโทรทัศน์ ไม่ว่าจะในบ้านเราหรือในประเทศไหนๆ รายการเกมโชว์ถือเป็นรายการที่ผู้คนต่างให้ความสนใจและติดตาม จะด้วยเนื้อหาและรูปแบบเกมที่น่าสนใจ หรือของรางวัลที่มีให้อย่างมากมายจนหอบกลับบ้านกันอย่างไม่หวาดไหว ต่างล้วนน่าสนและน่าลองเข้าไปร่วมสนุกในทุกๆ ครั้ง

บทความนี้จะขอโฟกัสไปที่วงการทีวีของอเมริกา เนื่องจากรายการเกมโชว์ที่มีการหยิบมาเล่าถึงนั้น อยู่ในอเมริกา และเป็นที่จดจำของผู้คนในยุคที่มีการออกอากาศได้เป็นอย่างดี รายการที่ว่ามานั้นก็คือ “Press Your Luck”

Play video

Press Your Luck ออกอากาศในอเมริกาช่วงระหว่างปีค.ศ. 1983 – 1986 รูปแบบของรายการนี้คือ มีผู้เข้าแข่งขันสามคน ตอบคำถามความรู้ทั่วไปเพื่อสะสมสิทธิ์ในการเสี่ยงลุ้นของรางวัล ใครสะสมได้มากสุดก็ชนะไป แต่ระหว่างการเล่น ต้องระวังตัวการ์ตูนที่ชื่อว่า “Whammy” ให้ดีๆ (ขอเรียกเป็นชื่อไทยว่า “ตัวล้มละลาย” ละกันนะ…) เพราะถ้าตกที่ช่องนี้ ของรางวัลทั้งหมดจะหายไปในพริบตา…

จุดเด่นของรายการนี้คือ การท้าทายผู้เล่นที่มาร่วมรายการให้ทำการเสี่ยงเพื่อลุ้นของรางวัล ที่มีตั้งแต่เงินสด เครื่องใช้ไฟฟ้า ทริปต่างประเทศ ไปจนถึงรถยนต์

อีกอย่างที่เป็นจุดเด่นก็คือ กระดานเล่นเกมขนาดยักษ์ที่ใช้เครื่องฉายสไลด์จำนวน 18 ตัว มาวางแล้วทำการสุ่มของรางวัลขึ้นมา สลับกับสุ่มตัวล้มละลาย

ถือว่าเป็นระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด (แล้ว) ในยุคสมัยนั้น

แน่นอนว่าเมื่อมีของรางวัลที่มากมายมหาศาลขนาดนั้น หลายต่อหลายคนต่างสนใจที่มาเล่นและรับของรางวัลกลับบ้านไป และหนึ่งในนั้น คือชายที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับรายการ และสร้างบาดแผลให้กับรายการและวงการเกมโชว์ในอเมริกาเช่นกัน เขาผู้นั้นก็คือ “ไมเคิล ลาร์สัน” (Michael Larson)

ไมเคิล ลาร์สัน (Michael Larson)

แรกเริ่มเดิมที ไมเคิลมีอาชีพคนขับรถส่งไอศกรีม แต่ตอนหลังออกมาทำอาชีพช่างซ่อมแอร์ตามบ้าน (ส่วนจะเล็กหรือไม่เล็กหรือเปล่านั้น อย่าไปสน…) เขารู้สึกว่าต้องหาเงินเข้ามาใช้จ่ายภายในบ้านบ้างแล้ว เนื่องจากไม่ได้ทำมาอาชีพเป็นเวลานาน เขาจึงเริ่มต้นการหาเงินด้วยการเปิดทีวี ดูรายการเกมโชว์ไปเรื่อยๆ ทั้งวัน ทั้งคืน จากทีวีเครื่องเดียว เพิ่มเป็นสองเครื่อง สามเครื่อง และเพิ่มมาเรื่อยๆ จนมีในบ้านถึงเจ็ดเครื่อง ยังไม่นับรวมกับเครื่องเล่นวิดีโอที่นำมาต่อพ่วงเพื่อบันทึกเทปรายการ วันหนึ่ง ไมเคิลได้เปิดโทรทัศน์ไปที่สถานี CBS แล้วพบกับรายการ Press Your Luck เข้า เขาจึงสนใจและติดตามชมตั้งแต่นั้น ติดตามชมแบบทั้งวัน ทั้งคืน และยังอัดเทปรายการลงในม้วนวิดีโอด้วย

และแล้ว… เขาได้ค้นพบความลับบางอย่างที่อยู่หลังกระดานสุ่มของรางวัล และเขาเชื่อว่า นั่นทำให้เขาได้เงินและรางวัลอย่างมหาศาล!

ความลับที่เขาพบนั้นก็คือ ในทุกครั้งที่มีการสุ่มรางวัลขึ้นมา จะมีบางช่องที่ไม่มีตัวล้มละลายมาปรากฎ มีแต่เงินรางวัลอย่างเดียว และนั่นเป็นช่องที่มีเงินรางวัลเยอะที่สุดบนกระดานด้วย อีกอย่างที่เขาพบก็คือ สัญญาณไฟที่สุ่มปรากฎบนแต่ละช่องนั้น วนลูปในรูปแบบเดิมตลอด ไม่มีเปลี่ยน นั่นเป็นจุดที่ทำให้เขาเริ่มจดจ่อกับรายการ ทำการบ้านและเตรียมความพร้อม จดจำตำแหน่งของรางวัลและวงจรสัญญาณไฟบนกระดาน ซ้อมเรื่อยๆ ซ้อมจนตัวเขามั่นใจแล้วว่าจดจำได้แน่นอน เขาถึงตัดสินใจเดินทางไปสมัครเข้าร่วมรายการดังกล่าว

และแล้ววันแห่งประวัติศาสตร์ (อันขมขื่น) ของวงการเกมโชว์ก็มาถึง…

การอัดเทปรายการเป็นไปอย่างปกติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผ่านรอบสะสมรางวัลรอบแรกไป ก็ยังปกติดี แต่เมื่อเข้าถึงรอบสะสมรางวัลรอบที่สอง ทุกอย่างที่ไมเคิลได้เตรียมไว้จึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยกติกาที่กำหนดไว้ว่า “ผู้ที่สะสมของรางวัลไว้น้อยสุด จะได้เริ่มเล่นก่อนในรอบที่สอง” ไมเคิลผู้มีรางวัลสะสมน้อยที่สุดในรอบแรกจึงได้เริ่มเล่น และการเล่นที่ว่านี้ ทำให้ผู้ที่ร่วมแข่งขันอีกสองราย ต่างได้แต่นั่งมองพร้อมกับภาวนาในใจว่าให้ล้มละลายด้วยเถิด…

ในรอบที่สองของการแข่งขัน ไมเคิลทำการเสี่ยงดวงบนกระดานยักษ์ไปทั้งสิ้น 47 ครั้ง กวาดรางวัลทั้งเรือใบ ทริปท่องเที่ยว และเงินสด รวมทั้งสิ้น 110,237 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,535,451 บาท (เทียบกับปี 2018 ก็ประมาณ 267,376 เหรียญ หรือประมาณ 8,556,032 บาท) แน่นอนว่าเมื่อได้รางวัลที่สูงมากขนาดนั้น ทำให้ทีมงานผู้ผลิตต้องปรึกษาและประชุมเป็นการด่วนว่าจะให้รางวัลทั้งหมดนี้หรือไม่

ชมเกมการแข่งขันในวันนั้นได้ที่คลิปนี้

Play video

โดยสมมติฐานที่ทีมงานรายการได้ตั้งขึ้นมาก็คือ “โกง” นั่นเอง ทีมงานต้องหาต้นตอว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ได้รางวัลมากขนาดนั้น ไม่รู้แผนอะไรเข้า หรือว่าแอบทำวงจรไฟแบบพิเศษหรือเปล่า แต่เมื่อตรวจสอบทุกอย่างดูแล้ว ทีมงานได้ลงความเห็นว่า “ไมเคิลไม่ได้โกง” แต่วงจรไฟที่วิ่งบนกระดานต่างหากที่วิ่งวนจนสามารถจดจำได้อย่างง่ายดาย และนั่นถือเป็นจุดบกพร่องของทีมงานและรายการ ทางรายการจึงต้องยินยอมมอบรางวัลทั้งหมดไป…

โชคดีอย่างหนึ่งของรายการนี้ที่ได้กำหนดกติกาไว้ว่า “ผู้เล่นที่ชนะและมีรางวัลสะสมรวมตั้งแต่ 25,000 เหรียญขึ้นไป ไม่สามารถร่วมแข่งขันในเทปถัดไป” นั่นทำให้ไมเคิลไม่สามารถแข่งขันในเทปต่อไปได้ ในทางกลับกัน เขาเป็นผู้เล่นคนแรก และคนเดียว ที่ชนะการแข่งขันและไม่ถูกผู้เล่นท่านอื่นโค่นล้มได้…

จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายอย่าง รายการต้องทำการปรับตำแหน่งวงจรไฟวิ่งใหม่ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ซ้ำกับรูปแบบเดิมที่เคยใช้งาน ส่วนของรายการ ได้ออกอากาศต่อเนื่องและสิ้นสุดการออกอากาศในปี 1986 และหลังจากนั้น เทปของรายการทั้งหมดได้มีการนำมาออกอากาศซ้ำอีกครั้งทางสถานี USA Network โดยออกอากาศทุกตอน ยกเว้นตอนที่ไมเคิลไปร่วมแข่งขันในรายการ เพราะเห็นว่าเทปนั้นเป็นเทปแห่งความน่าอับอายในวงการทีวี และวงการเกมโชว์ในอเมริกา และหลังจากนั้นก็ไม่เคยหยิบออกมาออกอากาศอีกเลย จนเมื่อไม่กี่ปีให้หลังมานี้ เน็ตเวิร์คแบบบอกรับสมาชิกในอเมริกาชื่อว่า “Buzzr” ได้นำเทปดังกล่าวมาออกอากาศอีกครั้ง ทั้งทางหน้าจอโทรทัศน์ และสตรีมมิ่งผ่าน Twitch ทั้งนี้ ไม่ได้นับรวมกันกับ Documentary ที่สถานี GSN (Game Show Network) สร้างขึ้นมาในชื่อ “Big Buck: The Press Your Luck Scandal” ที่นำภาพจากเทปดังกล่าวมารวมอยู่ในรายการ และนำส่วนของฟุตเทจที่ไม่ได้ออกอากาศมานำเสนอด้วย

Play video

ส่วนชีวิตของไมเคิล หลังจากรายการได้ออกอากาศและเป็นที่จดจำนั้น เขาได้เข้าสมัครงานในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้จัดการร้าน ในห้าง Walmart นั่นเหมือนว่าจะดี แต่ความจริงเลวร้ายกว่านั้น เงินรางวัลที่เขาได้มาส่วนหนึ่งได้ถูกขโมยหายไปในช่วงที่ครอบครัวต่างเดินทางไปพักผ่อนในช่วงวันหยุดคริสต์มาส และไม่ได้มีแค่นั้น ตัวของไมเคิลได้ตรวจพบอาการมะเร็งในลำคอ ซึ่งโรคดังกล่าวนี้ได้พรากชีวิตของไมเคิลไปเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1999 ถือเป็นการปิดตำนานผู้เอาชนะตัวล้มละลายของรายการ Press Your Luck อย่างถาวร…

ถึงแม้จะเอาชนะตัวล้มละลายในเกมได้ แต่ในชีวิตจริง ไม่สามารถเอาชนะได้…

ในส่วนของตัวรายการนั้น ภายหลังได้มีการนำมาทำใหม่ในช่วงปี 2006 เป็นโปรแกรมพิเศษทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสของอเมริกา และปัจจุบันนี้ มีข่าวออกมาว่า ตัวรายการ Press Your Luck จะได้กลับมาทำใหม่อีกครั้ง พร้อมกับรายการ Card Sharks (ก็ประมาณรายการพลิกล็อคในบ้านเราน่ะแหละ…) โดยจะเริ่มผลิตและบันทึกเทปกันในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้ และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอบีซี ของอเมริกา สำหรับตัวเนื้อรายการ คาดว่าจะยังคงรูปแบบการเล่นแบบเดิม แต่ที่เพิ่มเติมก็คือ จะมีรอบโบนัสเพิ่มเข้ามา และเป็นการต่อกรแบบตัวต่อตัว ระหว่างผู้เข้าแข่งขัน กับตัวล้มละลาย ซึ่งคาดว่าจะสนุกและเร้าใจมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม หวังว่าบทเรียนจากรูปแบบเกมในยุดแปดศูนย์นี้ จะเป็นการบ้านชั้นดีในการผลิตตอนใหม่และรูปแบบใหม่ๆ ออกมาให้ผู้ชมในอเมริกาได้รับชมกัน

ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้ในรายการนี้จะเป็นรูปแบบไหนนั้น ต้องรอติดตาม Behind The Scene ที่ออกมาในช่วงเวลานั้นอีกที…