หลังจากประกาศยุบวงไปในปี 2554 คราวนี้ Clash กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พร้อมส่งซิงเกิ้ลแรกในรอบ 7 ปีที่มีชื่อว่า “ใจเย็นเย็น” ซึ่งทำให้คิดไปถึงงานเพลงเก่าๆ ที่มีส่วนผสมระหว่างการร้องและการแร็ป โดยท่อนฮุคจะอาทิเช่นเพลง “โรคประจำตัว” หรือ “ยิ้มเข้าไว้”

Play video

กลับมาคราวนี้ไม่ได้มาแบบเงียบๆ แต่กลับมาพร้อมกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า งานเพลงชิ้นใหม่ “ใจเย็นเย็น” นั้นมีความคลับคล้ายคลับคลากับเพลง “Shape of You” ของพ่อหนุ่ม Ed Sheeran  ดูเหมือนว่าชื่อเพลงของ Clash จะเข้ากับสถานการณ์​ตอนนี้แล้วที่จะบอกกับผู้ฟังทั้งหลายว่า​“ใจเย็นเย็น” อย่าเพิ่งปรักปรำวงว่าก็อปเค้ามา

ในวันนี้เราจะมาดูกันครับว่า ส่วนไหนของทั้งสองเพลงที่มีความคล้ายคลึงกันบ้าง องค์ประกอบใดที่ทำให้รู้สึกว่าเพลงนี้มีการก็อปเค้ามา ซึ่งสุดท้ายแล้วจะก็อปหรือไม่ก็อปนั้น คงต้องอยู่ที่วิจารณญาณของคุณผู้ฟังแล้วล่ะครับ

1. คีย์เพลง

ก่อนที่จะมาเริ่มกันที่ประเด็นแรกผมอยากให้เพื่อนๆลองดูคอร์ดของทั้งสองเพลงก่อนครับ

 

จากคอร์ดเราจะเห็นได้ว่าทั้งสองเพลงอยู่ในคีย์เดียวกันคือ คีย์ E เมเจอร์ ซึ่งโดยพื้นฐานจะประกอบไปด้วยชุดคอร์ด 7 ตัวไล่จากตัวที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของคีย์ไปจนตัวที่ 7 ได้ดังนี้ E , F#m , G#m , A , B , C#m , D#dim

ซึ่งคอร์ดหลักในเพลง “ใจเย็นเย็น”  นั้นคือ C#m , E , A , B  เป็นการบ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าคีย์ของเพลงคือ E

ส่วนของ “Shape of You” จะเป็น C#m , F#m , A , B จะเห็นได้ว่าชุดคอร์ดทั้งหมดในเพลงนี้มาจากคีย์ E เมเจอร์เหมือนกัน แต่เลี่ยงที่จะไม่ใช้ตัวคอร์ดที่เป็นคีย์เพลง ซึ่งเป็นเรื่องของชั้นเชิงในการแต่งเพลงนั่นเอง

2.  ทางเดินคอร์ด

จากข้อที่แล้วเราจะเห็นว่า คอร์ดหลักในเพลง “ใจเย็นเย็น”  นั้นคือ C#m , E , A , B ซึ่งทางเดินคอร์ด (Chord Progression) นั้นจะเป็น iii , I , IV , V  คือคอร์ดตัวที่ 3-1-4-5 นั่นเอง

ส่วน  “Shape of You” นั้นจะเป็น C#m , F#m , A , B ซึ่งทางเดินคอร์ด (Chord Progression) ของเพลงนี้จะเป็น iii , vi , IV , V  คือคอร์ดตัวที่ 3-6-4-5 นั่นเอง

ซึ่งทั้งสองเพลงมีความแตกต่างกันแค่คอร์ดเดียวแถมยังเล่นวนชุดคอร์ดนี้ไปทั้งเพลงอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมทั้งสองเพลงจึงมีความค้ลายคลึงกัน

3. การเรียบเรียงเพลง

เพื่อพิจารณาในเรื่องการเรียบเรียงเพลง ด้านของการใช้คอร์ด พบว่ามีความใกล้เคียงกันอย่างมากทั้งในชุดคอร์ด และ ทางเดินคอร์ด จะต่างกันก็ตรงที่ว่า ของ Clash จะมีท่อนส่งก่อนเข้าคอรัสหรือท่อนฮุค ตรงท่อนที่ร้องว่า “โอ้โห ยังไงรัก…รักเธอถึงตามใจ ก็แค่บ่นไปอย่างนั้น” ที่มีชุดคอร์ดที่แตกต่างออกไปคือ F#m , B , F#m , B

ส่วนในเรื่องของเมโลดี้นั้น ถือว่ามีความแตกต่าง  ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ปัญหาน่าจะอยู่ที่จังหวะท่วงทำนองของเพลงมากกว่าที่มีความคล้ายคลึงกัน ลองฟังในช่วงเริ่มต้นเพลงบีทของทั้งสองเพลงมีความคล้ายคลึงกันมาก และมาเสริมกับเรื่องทางเดินคอร์ดยิ่งแล้วใหญ่ แบบว่าแทบจะเอาเนื้อเพลงของอีกเพลงไปร้องบนอีกเพลงได้เลย

ซึ่งก่อนหน้านี้กรณีความคล้ายกันในเพลงของ Clash กับเพลงของศิลปินอื่นก็เคยเกิดมาแล้วซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากอิทธิพลความชอบที่วงมีต่อศิลปินเจร็อค  (แม้กระทั่งชื่อวง Clash ตอนประกวด Hot Wave ก็ใช้ชื่อว่า Lucifer ซึ่งก็ไปพ้องกับวงเจร็อคชื่อดัง ที่มีมาโกโตะ โคชินากะ เป็นนักร้องนำ)

เพลงแรกก็คือเพลง “นางฟ้าในใจ” ที่ไปละม้ายคล้ายคลึงกับเพลง “Forever Love” ของ X-Japan

ซึ่งเหตุของความคล้ายนั้นก็มาจากทางเดินคอร์ดและชุดคอร์ดที่มีความคล้ายคลึงกันนั่นเอง 

Play video

Play video

 

 

จะเห็นว่าทั้งสองเพลงถึงแม้จะอยู่คนละคีย์แต่ก็มีทางเดินคอร์ดที่ใกล้เคียงกัน เพลง “นางฟ้าในใจ” จะเป็น 1-5-6-4-1-5 ส่วน “Forever Love” จะเป็น 1-5-6-2-1-5  ส่วนท่อนต่อไปเพลงแรกจะเป็น 1-5-6-4-5 ส่วนเพลงหลังจะเป็น 1-5-6-4-5 เหมือนกัน และก็เป็นท่อนส่งก่อนเข้าฮุคอีกนั่นเอง ที่ทำให้เพลงของ แตกต่างออกไปเหมือนในกรณ๊ Shape of You เลยแต่ถึงอย่างนั้นการเลือกใช้ทางเดินคอร์ดใกล้เคียงกัน ความเร็วเพลง กระสวนจังหวะที่คล้ายคลึงกันจึงทำให้เพลงทั้งสองมีความคล้ายกันมากเลียทีเดียว

กรณีต่อมาคือเพลง “เพ้อ”  ที่เมโลดี้ในท่อนส่งมีความคล้ายคลึงกับท่อนส่งในเพลง “Neo Universe” ของ L’Arc~en~Ciel นั่นเอง

ลองฟังเพลง “เพ้อ” ช่วง 0.39-1.00 เทียบกับ Neo Universe” 0.35 – 0.50 ดูครับ

Play video

Play video

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นแฟนตัวยงของวง Clash ติดตามมาตั้งแต่อัลบั้มแรก จนอัลบั้มสุดท้าย เวลาไปคาราโอเกะน้อยครั้งนักที่จะไม่เลือกร้องเพลงของวง Clash  ก็คงต้องบอกว่าที่ผ่านมาหรือในกรณีเพลงนี้จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทางวงก็อาจจะต้องระมัดระวังมากขึ้นในการแต่งเพลง เพราะผู้ฟังเองก็ต่างคาดหวังผลงานของศิลปินที่มีความออริจินัลมากๆ ซึ่งถือว่าเป็นการยากบนโลกที่เพลงมีเป็นล้านๆ เพลง การคล้ายคลึงกับบางเพลงทั้งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนหรือรู้เพราะเป็นเพลงที่เราชอบแต่ในตอนแต่งอาจไม่ได้นึกถึงก็ตาม นั่นทำให้เกิดกรณี ก็อปมั้ยแบบนี้ตามมา สิ่งที่ศิลปินจะทำได้ก็คือทุ่มเทให้กับการสร้างสรรค์ผลงานเพลงอย่างเต็มที่ ระหว่างอยู่ในกระบวนการสร้างสรรค์หรือก่อนเผยแพร่ก็อาจต้องมีการตรวจสอบและช่วยฟังกันหลายๆคนเพื่อดูว่ามันมีความคล้ายคลึงกับเพลงใดรึเปล่า ซึ่งถ้ามันมีความคล้ายก็คงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่คนฟังจะต้องมีความรู้สึกคลางแคลงใจเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อช่วยพัฒนาตนเองและอุตสาหกรรมเพลงไทยให้พัฒนาไปข้างหน้าต่อไปครับ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับ Clash และ ศิลปินทุกท่านได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงดีๆต่อไปนะครับ 

ขอขอบคุณภาพคอร์ดจาก http://chordtabs.in.th/