เด็กหนุ่มในชุดแจ๊คเก็ตแดง บนมอเตอร์ไซค์คันโตสีแดง ท่ามกลางบรรยากาศของเมืองนีโอโตเกียวในโลกอนาคต เหมือนจะเป็นภาพจำที่ใครหลายๆคนจะนึกถึงเมื่อพูดถึง “Akira” แอนิเมชั่นที่มีอายุยืนยาวมากว่า 30 ปีและเป็นหนึ่งในตำนานของโลกแอนิเมชั่น ที่จุดประกายแห่งจินตนาการให้กับนักสร้างหนังและผู้ผลิตสื่อในยุคต่อๆมา อันปรากฏให้เห็นในงานอย่าง Ghost in the shell , MV เพลง “Scream” ของ Michael และ Janet Jackson , MV “Stronger” ของ Kanye West หรือแม้กับ Isle of Dogs ผลงานใหม่ล่าสุดของผู้กำกับสุดบรรเจิดอย่าง เวส แอนเดอร์สัน ก็ได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากงานชิ้นนี้ด้วยเหมือนกัน
ดนตรีประกอบของภาพยนตร์อนิเมะเรื่องนี้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเพลงประกอบอนิเมะที่ดีที่สุดตลอดกาล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มันเป็นที่น่าจดจำ เสียงของฟ้าผ่า เพอร์คัสชั่นอันเร้าใจ และเสียงคำรามจากเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ รวมไปถึงเสียงคอรัสอันหลอนลอย ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ Akira อนิเมะที่มีอายุครบ 30 ปีในปีนี้ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้ที่ได้ชมมัน รวมไปถึงทำให้คนรุ่นใหม่อยากแสวงหามาดู
ดนตรีประกอบในอนิเมะเรื่องนี้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับองค์ประกอบอื่นๆที่พยายามจะสร้างบรรยากาศแห่งโลกไซเบอร์พังค์ “นีโอ โตเกียว”ขึ้นมา งานชิ้นนี้กำกับโดย คัตสึฮิโระ โอโตโมะ (Katsuhiro Otomo) ส่วนงานเพลงนั้นประพันธ์โดย ซึโตมุ โอฮาชิ (Tsutomu Ohashi) หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า โชจิ ยามาชิโระ (Shoji Yamashiro) และ วงดนตรีขนาดใหญ่ของเขาที่ประกอบไปด้วยนักดนตรีหลายร้อยชีวิตที่มีชื่อว่า เกอิโนะ ยามาชิโระงุมิ (Geinoh Yamashirogumi)
ในตอนนั้น เกอิโนะ ยามาชิโระงุมิเพิ่งปล่อยผลงานใหม่ “Ecophony Rinne” ออกมา อันเป็นอัลบั้มที่ผสมผสานงานเพลงญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและเวิร์ลมิวสิคพร้อมสีสันจากซาวด์อิเล็คทรอนิกเมื่อโอโตโมะได้ฟังงานเพลงจากอัลบั้มนี้ เขารู้สึกว่า “ผมมีความมั่นใจมากขึ้น มากขึ้นว่า ยามาชิโระงุมิ คือวงที่เหมาะที่สุดที่จะทำเพลงให้กับ “Akira””
“ตอนที่ผมกำลังทำอนิเมะเรื่อง Akira อยู่นั้น เกอิโนะ ยามาชิโระงุมิ เป็นวงโปรดของผมเลย ผมชอบกลิ่นของดนตรีชาติพันธุ์ในงานของพวกเขา ในขั้นตอนโปรดักชั่นโปรดิวเซอร์ของผมแนะนำให้ผมรู้จักกับ อิซาโอะ โทมิตะ (Isao Tomita) เขาเป็นมือซินธิไซเซอร์และนักประพันธ์เพลงชื่อดัง (ปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว) ตอนนั้นผมคิดว่าเรื่องไซไฟกับซาวด์จากซินธิไซเซอร์นั้นเป็นอะไรที่ใช้กันเกร่อแล้ว ผมจึงอยากหาอะไรที่มันเป็นเอกลักษณ์ อะไรที่มันสดใหม่ ตอนนั้นผมก็เลยคิดว่า เกอิโนะ ยามาชิโระงุมิ นี่ล่ะคือวงที่เหมาะที่สุดที่จะทำเพลงให้กับ “Akira””
“แต่ปัญหาอย่างหนึ่งในตอนนั้นก็คือ ยามาชิโระ นั้นไม่ได้เป็นนักดนตรีอาชีพซะทีเดียว จริงๆแล้วเขาทำงานเป็นคุณครูในโรงเรียนและนั่นก็หมายความว่าเรายากที่จะหาทางติดต่อเขาได้ แต่ในที่สุดผมก็หาเขาเจอและนัดพบกับเขาในที่สุดเพื่อขอให้เขาทำเพลงให้กับ Akira ในตอนนั้นผมขอให้เขาเขียนเพลงให้เพียงสองชิ้นเท่านั้นหนึ่งคือเพลงสำหรับงานรื่นเริง และ อีกหนึ่งคือเพลงสวดศพ ดังนั้นผมเลยบอกเขาว่าถ้าเราเขียนเพลงได้ในสองแนวทางนี้ ผมมั่นใจว่าเราจะจัดการกับเพลงของอนิเมะเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน”
โอโตโมะปล่อยให้ยามาชิโระมีอิสระในการสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ขอแค่ว่าให้ดนตรีของเขานั้นมาจากไอเดียหลักสองอย่าง คือ “งานรื่นเริง (festival)” และ “เพลงสวดศพ (requiem)” ส่วนขั้นตอนการทำงานเพลงประกอบสำหรับเรื่อง Akira ถือได้ว่ามีความแตกต่างจากการทำงานเพลงประกอบเรื่องอื่นๆ เพราะว่ามีการแต่งเพลงก่อนที่จะมีการทำอนิเมะ เพราะฉะนั้นคนทำอนิเมะก็จะทำตามจังหวะและช่วงเวลาของดนตรีแทน”
“ ที่ผมทำก็คือออกไปข้างนอกและเขียนเพลงที่ทำให้ผมรู้สึกพอใจ เพลงที่ผมอยากฟัง แต่คนอื่นอาจจะไม่อยากก็ได้ ยามาชิโระกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ปี 1988 ซึ่งเป็นปีที่อนิเมะออกฉาย “ผมรู้สึกเหมือนกับกำลังเดินกวัดแกว่งดาบไปทั้งๆที่ตามองไม่เห็น แล้วฟาดไปโดนอะไรบางอย่างแต่ไม่แน่ใจว่ามันเป็นสิ่งที่ผมตั้งใจจะฟาดฟันมันไหม หรือจริงๆแล้วมันคือขาของผมเองที่โดมคมดาบนั้น”
จริงๆแล้วยามาชิโระไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลเลย เพราะผลที่ออกมานั้นมันคือตำนาน ! งานเพลงของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีรุ่นหลังตลอด 30 ปีที่ผ่านมา
อัลบั้มเพลงประกอบอนิเมะ Akira นั้นมีชื่อว่า “Akira Symphonic Suite” เป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญของงานเพลงประกอบ ประพันธ์โดย โชจิ และบรรเลงโดยวง เกอิโนะ ยามาชิโระงุมิ ของเขา ซึ่งมีนักดนตรีหลายร้อยชีวิตทำงานร่วมกัน จึงทำให้งานดนตรีมีความลึก ความแน่นและมีมิติ และด้วยความที่งานเพลงแต่งออกมาก่อนที่จะทำตัวอนิเมะ จึงทำให้ส่วนผสมและการจัดวางระหส่างภาพและเสียงของงานชิ้นนี้มีความลงตัวกันอย่างประหลาดน่ามหัศจรรย์
และนี่คือสารคดีจากปี 1988 ว่าด้วยเบื้องหลังของการทำงานเพลงชิ้นนี้ เราจะได้เห็นตั้งแต่การทดลองเล่นเสียงต่างๆจากซินธ์ของโชจิ จนกระทั่งมันมาสู่มือของวง เกอิโนะ ยามาชิโระงุมิ เชิญรับชมเบื้องหลังของงานอันสุดอัศจรรย์ใจนี้ได้เลยครับ
แถมด้วยการแสดงสดโดยวง เกอิโนะ ยามาชิโระงุมิ ในเพลง “Kaneda” หนึ่งในเพลงประกอบอนิเมะเรื่อง “Akira”
ที่มา