ไม่กี่วันมานี้ เหล่าสมาชิกที่สังกัดสมาคมผู้กำกับของอเมริกาจะได้รับอีเมลฉบับหนึ่ง ซึ่งมีชื่อผู้ส่งคือ คริสโตเฟอร์ โนแลน (ผู้กำกับ Dunkirk) และ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (ผู้กำกับ Phantom Thread) โดยมีใจความสำคัญว่า “มันจำเป็นอย่างมากที่เรา (พวกผู้กำกับหนัง) ต้องคุมเทคโนโลยีทีวีสมัยใหม่ เพื่อให้แสดงผลงานภาพสำหรับผู้ชมทางบ้านจะได้เสพภาพที่ใกล้เคียงจากตัวหนังฉบับดั้งเดิมตามความตั้งใจของผู้สร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการหาแรงหนุนจากสมาชิกของสมาคมเพื่อต่อรองกับบริษัทผู้ผลิตทีวีในการใส่การตั้งค่าเพื่อแสดงผลภาพของหนังตามที่ตัวหนังเป็นอยู่เดิม เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ของทีวีมักใส่โหมดภาพพิเศษเพื่อปรับปรุงภาพจนทำให้หนังหลายเรื่องผิดเพี้ยน โดยศัตรูเบอร์หนึ่งของผู้สร้างหนังในเรื่องการดัดแปลงภาพนั้นก็คือ Smooth Motion

พอล โธมัส แอนเดอร์สัน และ คริสโตเฟอร์ โนแลน

ใครได้ตามข่าวแวดวงภาพยนตร์น่าจะจำได้ว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผู้กำกับสาวคนดังอย่าง รีด โมราโน (ซีรีส์ The Handmaid’s Tale) ได้ออกมาตั้งแคมเปญเชิญชวนเข้าร่วมสนับสนุนบน Change.org ในชื่อ Please STOP making “smooth motion” the DEFAULT setting on all HDTVs หรือ รณรงค์หยุดการตั้งค่าเริ่มต้นของเอชดีทีวีด้วยโหมด Smooth Motion ซึ่งแคมเปญนี้เพิ่งปิดลงชื่อไปเมื่อ 1 ปีก่อนด้วยยอดคนสนับสนุน 12,878 คน อาจดูไม่มาก แต่ก็ได้การสนับสนุนจากคนในวงการบันเทิงจำนวนไม่น้อย และนับเป็นการเบิกฤกษ์การต่อสู้ระหว่างผู้กำกับหนังกับผู้ผลิตโทรทัศน์สมัยใหม่ขึ้น โดยเฉพาะกรณี Smooth Motion ด้วย

รีด โมราโน

การต่อสู้ดำเนินมาเรื่อย ๆ ผ่านการประท้วงและหาแนวร่วมจากแทบทั้งวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ปลายปีที่แล้วคนที่ออกตัวชัดก็มีทั้ง เจมส์ กันน์ (ผู้กำกับ Guardians of The Galaxy) เอ็ดการ์ ไรท์ (ผู้กำกับ Baby Driver) แมตต์ รีฟส์ (ผู้กำกับ War for the Planet of the Apes) คริสโตเฟอร์ แมควอรี (ผู้กำกับ Mission: Impossible – Fallout) ไรอัน จอห์นสัน (ผู้กำกับ Star Wars: The Last Jedi) และดาราดังอย่าง ทอม ครูซ ด้วย

https://twitter.com/JamesGunn/status/915992420084539392

มาถึงตรงนี้เราคงรู้สึกว่า เจ้า Smooth Motion นี่มันคือวายร้ายระดับมหากาฬของผู้กำกับหนังเชียวหรือ ว่าแต่ มันคืออะไรล่ะ?


มารู้จัก Smooth Motion กัน


เจ้าเทคนิคทางภาพตัวนี้มีหลากหลายชื่อแตกต่างกันไปตามค่ายผู้ผลิตทีวี แต่มักเรียกรวมทั่วไปว่า Smooth Motion หรือ Motion Interpolation หรือยาวสุดกับชื่อ motion-compensated frame interpolation (MCFI) มันคือเทคนิคการปรับแต่งภาพเคลื่อนไหวให้มีความลื่นไหล ไม่สั่นกระตุก โดยการเพิ่มเฟรมภาพจำลองที่ใช้การประมวลผลของชิพในทีวีเข้าไปในวิดีโอที่มักถ่ายกันที่ 25 เฟรมต่อวินาที (PAL) 30 เฟรมต่อวินาที (NTSC) และ 24 เฟรมต่อวินาที (Film) ให้เท่าเฟรมเรทของทีวีปัจจุบันที่มาตรฐานคือ 60 Hz หรือ 60 เฟรมต่อวินาที ซึ่งจะได้เฟรมเรทของการเล่นภาพเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ลื่นไหล ลดการกระตุกของภาพ ซึ่งมันออกแบบมาสำหรับการดูรายการทีวีจำพวกที่เคลื่อนไหวรวดเร็วเช่น รายการกีฬา เป็นต้น

ฟังดูดีใช่มั้ย แต่ที่มันเป็นปัญหาขึ้นมาเพราะการเพิ่มแทรกเฟรมเข้าไปนี้ ดันไปทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เรียกว่า Soap Opera Effect โดยเฉพาะกับหนังที่ถ่ายมาในระบบ 24 เฟรมต่อวินาทีเข้าน่ะสิ


Soap Opera Effect (SOE) ศัตรูตัวร้ายของหนัง


Soap Opera Effect คือคำที่ใช้อธิบายคุณภาพของภาพจากหนังโรงที่ดูสวยงามในโรงภาพยนตร์ซึ่งออกแบบมาที่ 24 เฟรมต่อวินาที แล้วดันถูกแปลงขึ้นจอทีวีจนภาพไปเหมือน ละครน้ำเน่า (Soap Opera) ไปเสียนี่ ทั้งนี้เพราะการที่ Smooth Motion ต้องจัดการแปลงจาก 24 เฟรมต่อวินาที ให้กลายเป็น 30 หรือ 60 เฟรมต่อวินาทีของทีวีนั้น มันไม่สามารถทำได้ราบรื่นด้วยการคูณเฟรมแบบปกติน่ะสิ อธิบายอาจยากอยากให้ดูวิดีโอตัวด้านล่างนี้ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างการเปิดและปิดโหมด Smooth Motion ให้ดู

Play video

จะเห็นว่าถ้าเราปิด Smooth Motion ตามภาพฝั่งซ้ายภาพจะแสดงแบบกระโดดตามเฟรมเรทที่มาจากตัวหนัง และทำให้เรารู้สึกว่าภาพกระตุก ในขณะที่เมื่อเปิดภาพจะไหลเรียงต่อเนื่องกว่า แต่ว่าจะเกิดอาการภาพเหลื่อมกันจากเฟรมที่จำลองขึ้นมาเชื่อม จนรู้สึกเหมือนภาพละลายเหมือนทีวีโบราณในบางที

ซึ่งนี่ล่ะที่ทำลายสุนทรียะทางภาพที่เหล่าผู้กำกับเขาออกมาประท้วงกันมากมาย


ทางออกที่เขาเรียกร้องล่ะ


ทางออกของปัญหานี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิดีโอเขาก็คิดมาแล้วล่ะนั่นคือ ปัญหาจะหมดไปกับทีวีที่ เพราะมันจะคูณเฟรมเรทของหนังขึ้นไปพ้องกับเฟรมเรททีวีได้โดยไม่ต้องไปเพิ่มเฟรมหลอก ๆ ภาพหลอน ๆ ในตัวหนัง แต่ปัญหาคือทีวีที่ว่ามันต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นและแน่นอนราคาที่สูงมากในปัจจุบันด้วย ใครจะไปลงทุนผลิตมาแล้วมีคนซื้อได้ไม่กี่คนล่ะ และจริง ๆ ทางออกนี้ก็จะยังมีปัญหากับวิดีโอที่ถ่ายในระบบ PAL ที่ 25 เฟรมต่อวินาทีอยู่ดีล่ะนะ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าปัญหาจะหมดไปก็ต่อเมื่อทีวีสามารถแสดงผลได้ที่ 600 Hz หรือ 600 เฟรมต่อวินาทีนั่นล่ะ (ปัจจุบันแค่ทีวี 120 Hz ก็แพงมากแล้วนะ)

หรือไม่คนทำหนังก็ต้องถ่ายด้วยกล้องพิเศษที่ให้เฟรมเรทสูงกว่าปกติอย่างเรื่อง Billy Lynn’s Long Halftime Walk (2016) ของผู้กำกับอังลี่ ที่มีเฟรมเรทถึง 120 เฟรมต่อวินาทีแทน ซึ่งระบบ High Frame Rate (HFR) นี้ก็กำลังได้รับความสนใจจากผู้กำกับหลายคน โดยเฉพาะ เจมส์ คาเมรอน ที่พยายามจะดันให้เป็นมาตรฐานใหม่ด้วยหนังภาคต่อของ The Avatar ที่เขากำลังทำอยู่ด้วย แต่โดยพื้นฐานคนในอุตสาหกรรมหนังก็คงยืนพื้นกันที่ 24 เฟรมต่อวินาทีเช่นเดิมล่ะนะ

Billy Lynn’s Long Halftime Walk

ทีนี้เนื่องจากรออนาคตให้เทคโนโลยีมันถูกลงคงไม่เข้าท่าเท่าไหร่ สิ่งที่เหล่าผู้กำกับดังออกมาเรียกร้องจึงเป็นเรื่องที่บริษัทผู้ผลิตทีวีทำได้ทันทีนั่นคือ การยกเลิกตั้งโหมด Smooth Motion นี้เป็นค่าเริ่มต้นเสียที แล้วปล่อยให้ผู้ชมเป็นผู้เลือกเอง ซึ่งอันนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ผู้กำกับหนังหลายคนพยายามผลักดันมาโดยตลอด ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีตัวอื่นที่เข้ามาปรับเปลี่ยนคุณภาพงานหนังก็ยังมีในเรื่องของการปรับโหมดสี หรือการจัดการคุณภาพภาพอื่น ๆ อีก ซึ่งสำหรับโนแลนเขาก็คงอยากให้ผู้ผลิตทีวีลงมาใส่ใจมากกว่านี้ด้วย

โดยเนื้อหาอื่น ๆ ที่โนแลนใส่มาในแบบสอบถามต่อสมาชิกของสมาคมผู้กำกับยังมีประเด็นอื่น ๆ ซึ่งขอยกมาบางส่วนเช่น

  • คุณคิดว่ามันสำคัญมั้ยที่ทีวีตามบ้านทั่วไปควรจะแสดงผลได้ใกล้เคียงกับจอมอนิเตอร์ในห้องตัดต่อแต่งสีซึ่งคุณใช้ผลิตผลงานหนังหรือรายการทีวี?
  • สำหรับการรับชมรายการหนังหรือรายการทีวีที่ดีที่สุด อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ควรทำให้เกิดขึ้นในทีวีปัจจุบัน?
    • เฟรมเรทจอทีวีควรสัมพันธ์กับเฟรมเรทของตัวผลงานที่นำมาฉาย (ไม่มีการใช้ motion interpolation มาช่วย)
    • จอทีวีตามบ้านควรแสดงผลได้โดยไม่ทำให้คุณภาพจากห้องแต่งสีตกลง ทั้งสีสัน ความสว่าง ระดับของสีดำและสีขาวบนภาพ เป็นต้น (แหม ทีวีที่แสดงผลแบบนี้ได้ราคาหลักแสนนะครัช)
    • ช่วงการแสดงผลความต่างของแสง (Dynamic Range) ควรรองรับ HDR ที่เป็น HDR จริง ๆ ไม่ใช่ถูกขยายออกด้วยซอฟต์แวร์
    • โหมดสำหรับการรับชมนี้ควรถูกใช้ชื่อเดียวกันในทีวีทุกยี่ห้อหรือไม่?
    • โหมดการรับชมพิเศษนี้ควรเข้าถึงได้ง่าย โดยอาจเป็นไปโดยอัตโนมัติ หรือเป็นปุ่มให้เลือกบนรีโมท (แต่ต้องไม่ใช่การเข้าไปกดเลือกเปิด/ปิดในหน้าต่างเมนูที่ซับซ้อน)

ส่วนในมุมของผู้ผลิตทีวีเราก็พอเข้าใจได้ระดับหนึ่งล่ะครับ ว่าทีวีไม่ใช่จอฉายหนังสำหรับทุกคน หลายคนมันคือไว้ชมกีฬารายการเกมโชว์ และอื่น ๆ มากกว่าซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของทีวี ดังนั้นเขาก็เลยตั้งค่าเริ่มต้นให้เหมาะกับรายการประเภทต่าง ๆ มากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่เพียงแค่ผู้ผลิตหนังที่มีปัญหากับมัน แต่ก็มีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ไม่ชอบโหมด Smooth Motion นี้ ก็เป็นสิ่งที่ควรรับฟังกันทั้งสองทางครับ

ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง Netflix เองก็เคยมีข่าวว่าได้ร่วมมือกับโซนี่ เพื่อทำ Netflix calibrated mode ในทีวี เพื่อที่จะให้ผู้ชมสามารถเลือกชมคุณภาพภาพตรงตามที่ผู้สร้างหนังต้องการด้วย ก็อาจเป็นการปรับตัวหนึ่งที่อาจนำมาเป็นมาตรฐานให้เจ้าอื่นทำตามด้วยครับ

Play video


สำหรับใครที่ไม่ชอบระบบ Smooth Motion นี้ เรามีทางออกเบื้องต้นครับ


นั่นก็คือปิดมันด้วยตัวเองซะเลย โดยเข้าไปปิดที่การตั้งค่าของทีวีของเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในโหมดการปรับแต่งภาพนั่นเอง คราวนี้ก็ดูว่าทีวีที่เราใช้เป็นยี่ห้ออะไรแล้วดูว่าทีวีเรานั้นใช้ชื่อเทคนิค Smooth Motion ว่าอะไรแล้วก้เลือกปิดมันไปครับ ส่วนใครไม่รู้ว่าทีวีเราใช้ชื่อโหมดนี้ว่าอะไรเราก็เอาลิสต์มาให้ด้านล่างนี้เลย

  • Hitachi – Reel120
  • LG – TruMotion ,MCI 120
  • AOC – Motion Boost 120 Hz
  • Mitsubishi – Smooth 120 Hz
  • Panasonic – Intelligent Frame Creation (IFC), 24p Smooth Film (24p material only)
  • Philips – HD Digital Natural Motion, Perfect Motion Rate
  • Samsung – Auto Motion Plus 120 Hz, Clear Motion Rate
  • Sharp – Fine Motion Enhanced, AquoMotion 240 Hz, AquoMotion Pro
  • Sony – MotionFlow
  • Toshiba – ClearScan

และที่สำคัญคือ เวลาดูหนังก็เปลี่ยนโหมดภาพเป็น ภาพยนตร์ หรือ Cinema ครับ จะได้ภาพที่ใกล้เคียงกับที่ผู้กำกับต้องการ และไม่มีการแทรกเฟรม หวังว่าจะเป็นทางออกเบื้องต้นเพื่อการรับชมอย่างมีความสุขของทุกคนครับ

ที่มา: