ทุกดินแดนบนผืนโลกล้วนผ่านการหล่อหลอมจากวัฒนธรรม สะท้อนวิถีชีวิตและแนวคิดการดำรงอยู่ที่แตกต่างกัน ซึ่งปะปนไปด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวแฝงไว้ด้วยความสลับซับซ้อนที่แสดงถึงรากเหง้า ที่มาที่ไปของคนกลุ่มนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ ศาสนา และเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมโลกมีหน้าตาอย่างที่เป็นอยู่นี้
สำหรับคนไทย สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจลำดับต้นๆ ย่อมหนีไม่พ้นธรรมเนียมประเพณีและศิลปะลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะ ‘ภาษาไทย’ ที่เราใช้พูดคุยสื่อสารในทุกวันนี้ มีความสละสลวยและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่น่าค้นหา และมีคุณค่าในการอนุรักษ์มันไว้สำหรับคนรุ่นหลัง ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เสนอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมประจำชาติให้คนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ภาษาไทย จนในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้วันที่ 29 กรกฏาคม ของทุกปี เป็นวัน ‘ภาษาไทยแห่งชาติ’
ทุกวันนี้การใช้ภาษาไทยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในเรื่องการปรับเปลี่ยน ดัดแปลง หรือการเลือกใช้ภาษาไทยที่ไม่ถูกต้อง และมีจำนวนมากบนโลกออนไลน์ที่กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะการใช้ภาษาหยาบคาย รวมถึงการเขียนคำไทยที่ใช้ผิดๆ ถูกๆ ทำให้นอกจากเด็กรุ่นหลังจะมีพฤติกรรมการใช้ภาษาไทยที่ผิดเพี้ยนตามไปด้วยแล้ว ผู้ใหญ่เองก็ประสบกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน อาทิเช่น การใช้ คะ ค่ะ เป็นต้น
อาจารย์จักรกฤต โยมพยอม หรือ ‘ครูทอม’ สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่ รายการแฟนพันธุ์แท้ และหนึ่งในพิธีกรรายการ ‘แบไต๋ไฮเทค’ เปิดเผยมุมมองฐานะกูรูด้านภาษาไทยว่า จริงๆ แล้วคำหยาบหรือไม่หยาบ ไม่ใช่แค่คำและความหมายของคำนั้นครับ เราต้องดูบริบทด้วยครับว่าอยู่ในสถานการณ์ใด พูดกับใคร เรื่องอะไร เพราะคำที่ถูกมองว่าหยาบ เมื่อคุยกับเพื่อนสนิทเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว ความรุนแรงของถ้อยคำนั้นก็จะลดระดับลงมา แต่ถ้าพูดคำหยาบกับคนที่ไม่สนิทสนม คำนั้นก็อาจจะถูกมองว่าหยาบมากกว่าปกติก็เป็นได้
ที่คนเราสมัยนี้ใช้คำหยาบในสังคมออนไลน์มากกว่าแต่ก่อน ก็ถือเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาษาครับ คือภาษาต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นในแต่ละภาษาจะมีการคำเพิ่มเข้ามา มีบางคำหายไป บางคำอาจจะออกเสียงต่างจากในอดีต หรือบางคำก็มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นเดียวกันครับ บางคำที่ในอดีตไม่ใช่คำหยาบ แต่ปัจจุบันกลับถูกมองว่าเป็นคำหยาบ เช่นคำว่า “เย็ด” ในสังคมไทยสมัยก่อนแปลว่า “ทำ” เทียบเท่ากับคำว่า “เฮ็ด” ในภาษาอีสาน แต่เมื่อเรานำคำว่า “เย็ด” มาใช้เรียกกระทำ “อย่างว่า” คำว่า “เย็ด” ก็กลายเป็นคำหยาบในที่สุด (อ้างอิงจากแบบเรียนวิชาภาษาทัศนา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คำในอดีตที่ถูกมองว่าหยาบอาจจะหยาบน้อยลงในมุมมองของผู้ใช้ภาษายุคปัจจุบัน ดังจะเห็นได้ว่าตามโลกออนไลน์ต่างๆ มีผู้ใช้คำที่ไม่สุภาพกันมากขึ้น เช่น คำว่า มึง กู ไอ้ อี สัตว์ ฯลฯ รวมทั้งสิ่งที่น่าห่วงที่สุดเรื่องการใช้ภาษาของคนปัจจุบัน คือการที่คนไทยหลายคนสะกดคำศัพท์บางคำไม่เป็น รวมไปถึงขาดทักษะด้านการอ่านจับใจความ
ในโลกโซเชียลออนไลน์ ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดที่สุดเคสหนึ่งคือ การที่มียูเซอร์จำนวนมากที่อ่านเพียงพาดหัวข่าวไม่กี่ตัวอักษร และเลือกคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นโดยขาดวิจารณญาณที่ดี หรือไม่ได้เข้าไปอ่านเนื้อข่าวให้ชัดเจนเสียก่อน และการนำคำที่ใช้บนโลกออนไลน์แบบผิดๆ ไปใช้ในเรื่องสำคัญจนกลายเป็นความเข้าใจผิดในการเลือกใช้คำนั้นๆ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาใช้ภาษาที่ถูกต้องอย่างจริงจังเพื่ออนุรักษ์ภาษาไทยเดิมให้ดำรงอยู่ตลอดไป