“Bohemian Rhapsody” บทเพลงจากวงร็อคอันเป็นราชาในนามราชินี “Queen” ผู้ปักหมุดหมายสำคัญให้กับประวัติศาสตร์เพลงร็อคของโลกใบนี้ มันเป็นบทเพลงที่ทีส่วนผสมอันหลากหลายทั้งความละมุนโศก ความฮึกโหม ความหนวงหนัก ท่วงทำนองของเพลงเริ่มจากความเป็นพาวเวอร์บัลลาดมาสู่โอเปร่าเบาๆ ก่อนจะเพิ่มดีกรีความแน่นหนักในท่อนต่อมา ก่อนจะพาไปสู่ฮาร์ดร็อคและคลี่ตัวมาสู่พาวเวอร์บัลลาดอีกครั้งก่อนจะจบเพลงลงภายในเวลากว่า 6 นาทีซึ่งถือว่ามีความยาวกว่าเพลงทั่วๆ ไปในยุคนั้น
ถ้าไม่ได้บ้าก็ถือว่ากล้ามาก (หรืออาจจะมีทั้งสองอย่าง) ที่ Queen ได้สร้างสรรค์บทเพลง ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่ารู้และเราอาจยังไม่เคยได้รู้เกี่ยวกับบทเพลงเพลงนี้ที่มีอายุอานามมากว่า 40 ปีแล้ว
1. ชื่อเพลง “Bohemian Rhapsody” นั้นแปลงมาจากเพลงคลาสสิคของ Franz Liszt ที่มีชื่อว่า “Hungarian Rhapsody”
2. ทุกส่วนสัดของเพลงนี้แต่งขึ้นโดยฟรอนท์แมนของวง “เฟรดดี เมอร์คิวรี” (ตอนนี้ภาพยนตร์เรื่อง “Bohemian Rhapsody” อันว่าด้วยเรื่องราวอันเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจผ่านชีวิตของ “เฟรดดี เมอร์คิวรี” กำลังเข้าฉายอยู่ในบ้านเรา รับรองดูแล้วจะอินแน่นอนไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนของวงควีนหรือไม่ก็ตาม) ท่อนร้องประสานในเพลงนี้มีการวางเสียงซ้อนกัน (dubbing) มากที่สุดกว่า 160 ชั้น การบันทึกเสียงใช้เวลากว่า 3 สัปดาห์ เฉพาะท่อนโอเปร่าก็ปาไปกว่า 1 สัปดาห์แล้ว หลายคนทั้งสมาชิกวงและโปรดิวเซอร์รอย โธมัส เบเคอร์ ก็งงเป็นไก่ตาแตก มีเพียงเฟรดดีเท่านั้นที่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ และทุกคนก็เชื่อมั่นในตัวเขาว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าวงการเพลงของโลกใบนี้ไปเลย และในวันนี้มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
3. ท่อนริฟฟ์กีตาร์เจ็บๆ ในเพลงนี้และซึ่งเป็นท่อนเดียวกันกับในฉากโยกหัวในรถของ Wayne’s World นั้น แท้จริงแล้วไบรอัน เมย์มือกีตาร์ของวงไม่ได้เป็นคนแต่ง แต่เป็นเฟรดดี เมอรคิวรีอีกแล้วที่แต่งท่อนนี้จากการเล่นเปียโน! เมย์บอกว่าท่อนนี้เฟรดดีแต่งโดยเล่นด้วยมือซ้ายเป็นอ็อคเตฟ จากนั้นเมย์ก็แปลงจากการเล่นบนเปียโนมาเป็นบนกีตาร์แทนซึ่งเล่นยากมากเพราะวิธีการเล่นเปียโนของเฟรดดีถือว่ามีความเฉพาะตัวสูง แต่ถึงอย่างนั้นเฟรดดีกลับมองว่าฝีมือการเล่นของตัวเองนั้นมันงั้นๆ และไม่ค่อยกล้าที่จะโชว์ของอะไรออกมาอีกเลย
4. มีเรื่องเล่าลือกันว่าเปียโนที่เฟรดดีใช้อัดในเพลงนี้เป็นตัวเดียวกันกับที่ พอล แม็คคาร์ทนีย์ใช้ในเพลง “Hey Jude” ของเดอะ บีทเทิล
5. พวกชื่อแปลกในเพลงนี้มีที่มาจากหลายแหล่งด้วยกัน
- Scaramouche เป็นชื่อตัวละครตลกของอิตาลีจากละครเวทีเรื่อง commedia dell’arte เป็นตัวละครที่โง่ แต่รู้จักเอาตัวรอดในทุกสถานการณ์ ซึ่งในเพลงบอกว่า Scaramouche จะเต้น fandango ซึ่งหมายถึงการเต้นฟลามิงโกแบบสเปนนั่นเอง
- Galileo ก็คือ กาลิเลโอที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง เขาเป็นนักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีจากเมืองฟลอเรนซ์
- Figaro เป็นตัวละครหนึ่งในโอเปร่าของรอสสินีเรื่อง The Barber of Seville
- Bismillah แปลว่า “ในนามขององค์อัลเลาะห์” เป็นคำแรกที่ปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอ่าน
- “Mamma Mia!” เป็นคำอุทานในภาษาอิตาลี ใช้อุทานเวลารู้สึกเซอร์ไพรส์หรือประหลาดใจ คำนี้หมายถึงพระแม่มารี ต่อมา ABBA ได้ใช้คำนี้ตั้งเป็นชื่อเพลงและกลายเป็นเพลงฮิตในปี 1975 ก่อนที่ต่อมามันจะกลายเป็นละครเพลง และภาพยนตร์เพลงชื่อดังในชื่อเดียวกันว่า “Mamma Mia!” นั่นเอง
- ความหมายที่แท้จริงของเพลงนี้ ยังขมุกขมัวอยู่ในสายหมอก แต่ถึงอย่างนั้นมันก็เป็นสายหมอกที่งดงามยามเช้า ผู้ฟังมักจะรู้สึกสนุกเสมอทุกครั้งที่ได้พยายามค้นหาความหมายของมันหรือมีความหมายในแบบของตัวเอง ซึ่งเฟรดดีเคยกล่าวไว้ว่านั่นคือจุดประสงค์ที่แท้จริงของเขา
ซึ่งถึงแม้เนื้อหาของเพลงจะดูมีความกำกวมอยู่มากและหลายจุดอาจไม่เป็นความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน แต่เฟรดดีก็เคยกล่าวไว้ว่ามันไม่ได้ออกมามั่วๆหากแต่ออกมาจากการค้นคว้าและความพยายามที่จะให้มันเป็นเหมือนกับการล้อขนบของโอเปร่า
มีการตีความจากหลายแหล่งที่มองว่าเพลงนี้เป็นดั่งภาพสะท้อนที่เฟรดดีมีต่อเพศสภาวะของตนอันส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับ Mary Austen สตรีผู้เป็น “Love of My Life” ของเขา นอกจากนี้มันยังสื่อถึงความอึดอัดที่เขามีต่อการถูกบังคับให้ต้องทำตามขนบหลายอย่างจากการเป็นคนเชื่อสายปาร์ซีอันมีถิ่นเกิดในซานซิบาร์ของเขา ดังนั้นในเพลงจึงมีท่อนที่กล่าวว่า “Mama, just killed a man” ซึ่ง a man ในที่นี้อาจหมายถึงตัวตนของเขา ตัวตนอันมีรากมาจากสภาวะแวดล้อมในชีวิตที่เขาอยากจะกำจัดทิ้งเพื่อปลดปล่อยตนเองสู่อิสรภาพ และการเป็นตัวเองที่แท้จริงอันเป็นตัวตนที่กำเนิดมาจากจิตวิญญาณภายใน
6. ทางวงอยากปล่อยเพลง “Bohemian Rhapsody” ออกมาเป็นซิงเกิ้ลแต่ทาง EMI ไม่เห็นด้วย บอกว่ามันยาวเกินกว่าที่เล่นทางวิทยุ เฟรดดีก็เลยหิ้วแผ่นไปให้เพื่อนที่เป็นดีเจชื่อว่าเคนนี เอเวอร์เรต เปิด เพลงนี้ถูกเล่นกว่า 14 ครั้งในช่วงสุดสัปดาห์และทำให้เกิดกระแสความสนใจขึ้นในที่สุด ต่อมาเมื่อมันถูกปล่อยเป็นซิงเกิ้ล (ในเวอร์ชั่นที่ถูกตัด) ในหลายประเทศ (อาทิเช่น ฝรั่งเศส) ถึงอย่างนั้นเวอร์ชั่นที่เป็นที่นิยมก็ยังเป็นเวอร์ชั่นเต็มนั่นเอง ซึ่งเฟรดดีแน่วแน่ในแนวทางของตนว่า หากเพลงนี้จะดังมันจะต้องดังในแบบที่มันเป็น หากเพลงนี้โดนตัดออกมันจะไม่ใช่ “Bohemian Rhapsody” อย่างแน่นอน
7. แน่นอนว่าเป็นเพลงดังก็ย่อมต้องมีคนอยาก tribute เป็นธรรมดา ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์โซดาซ่าๆจาก Jones Soda Company ที่ผลิตเครื่องดื่มรุ่น Bohemian Raspberry ออกมา และก็ในชื่อเดียวกันนี้ก็ยังถูกนำไปทำเป็นไอศครีมรสอร่อยจาก Ben & Jerry ด้วย นอกจากนี้ยังมีเพลง “Rap, Soda and Bohemias” จากวงเม็กซิกันร็อคนาม Molotov ที่นอกจากชื่อจะ inspire มาแล้วยังนำเอาท่อนเปิดของเพลง “Bohemian Rhapsody” มาใส่ก่อนเริ่มเพลงนี้อีกด้วย
8. อัลบั้มเพลงร็อคอัลบั้มแรกที่วางแผงในอิหร่านก็คือ Queen’s Greatest Hits ในปี 2004 แน่นอนว่ามันต้องมีเพลง “Bohemian Rhapsody” อยู่ด้วยและด้วยเนื้อหาในเพลงที่อาจเป็นประเด็นล่อแหลมหมิ่นเหม่ ทางผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็เลยออกกฏว่าทุกคาสเซ็ทจะต้องใส่ใบปลิวที่อธิบายเหตุผลในเนื้อเพลงได้ด้วย เช่นท่อน “killed a man,” ต้องบอกว่าเพราะมันเป็นอุบัติเหตุ จากนั้นเขาก็เลยไปร้องขอการประทานอภัยจากพระผู้เป็นเจ้า (“Bismillah!”) เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าปีศาจร้าย Beelzebub ลักเอาดวงวิญญาณของเขาไป (ช่างเป็นเหตุเป็นผลจริงๆ หรือนี่คือคำอธิบายที่แท้จริงของเพลงนี้กันนะ !!!)
9. MV ของเพลงทำออกมาในรูปแบบการแสดงสดให้เหมือนกับออกรายการทีวีโชว์ ซึ่งเหตุผลจริงๆ ก็เพราะว่าทางวงไม่อยากไปออกรายการ Top of the Pops เนื่องจากในเพลงมีท่อนโอเปร่า หากให้พวกเขาไปยืนร้องท่อนนี้สดๆ ต่อหน้าธารกำนัลมันอาจจะดูไม่งามนัก พวกเขาก็เลยเลือกที่จะทำออกมาเป็น MV เพื่อส่งโปรโมททั้งทาง Top of the Pops ในอังกฤษและทั่วโลก
MV ใช้เวลา 4 ชั่วโมงเท่านั้นในการถ่ายทำ เป็น MV แรกที่กำกับโดย Bruce Gowers หลังจากนั้นมันก็พาเขาไปได้ดิบได้ดีในฮอลลีวู้ด ทั้งกำกับรายการทีวีเช่น MTV Movie Awards, Emmy Awards, the People’s Choice Awards และ American Idol 10 ซีซั่นแรก
10. ด้วยยอดขายในต่างประเทศที่พุ่งทะลุเป้าในปี 1978 EMI ได้รับรางวัล the Queen’s Award To Industry For Export Achievement จากควีนเอลิซาเบ็ท เพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีทาง EMI ก็เลยออกแผ่นไวนิลจำนวน 200 ก็อปปี้เป็น “Bohemian Rhapsody” รุ่น blue vinyl โดยตัวแผ่นจะเป็นสีน้ำเงินสวย (สีน้ำเงินคือสีของกษัตริย์ ราชินี สีของราชวงศ์หรือผู้สูงศักดิ์นั่นเอง ดังคำกล่าวว่าผู้เป็นหน่อเนื้อกษัตริย์คือผู้ที่มี “เลือดสีน้ำเงิน” หรือ “Blue Blood”) โดยทุกแผ่นสีมีลายมือเขียนเลขกำกับไว้ เบอร์ 1-4 เป็นของสมาชิกวงควีน เบอร์ต้นๆเป็นของครอบครัวและผองเพื่อน นอกนั้นขาย โดยในเซ็ทจะประกอบไปด้วย
- ซองใส่แผ่น
- แผ่นไวนิล สีน้ำเงินขนาด 6 นิ้วครึ่ง
- บัตรเชิญและเมนูในงานเลี้ยงรับรองที่จัดขึ้นที่ Selfridge Hotel, ลอนดอน , 26 กรกฎาคม 1978
- ผ้าเช็ดหน้าสีฟ้า
- ปากกา EMI
- และ แก้วไวน์สองแก้วที่มีโลโก้รางวัล
ตอนนี้หากใครมีแผ่นชุดนี้เก็บไว้ คิดว่าสนนราคา ณ ปัจจุบันก็ราวๆ 200,000 บาทครับ
หลายคนที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง “Bohemian Rhapsody” อาจกำลังอินกับบทเพลงนี้และอีกหลายเพลง รวมไปถึงเรื่องราวในชีวิตของ เฟรดดี เมอร์คิวรี นักร้องนำของวง
หากใครยังไม่ได้ไปชมแนะนำว่าไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง อาจอ่านบทความของเราเรื่องนี้ก่อนก็ได้ครับ อาจจะช่วยให้อินกับบทเพลงที่เป็นตำนานของวงการเพลงโลกเพลงนี้และเรื่องราวสุดประทับใจและเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจของเฟรดดี เวอร์คิวรีชายหนุ่มผู้มีไฟฝันในการเป็นศิลปินเต็มเปี่ยม
ที่มา
- http://www.bbcamerica.com/anglophenia/2015/10/10-things-you-may-not-know-about-queens-bohemian-rhapsody
- http://mentalfloss.com/article/70634/10-operatic-facts-about-bohemian-rhapsody
- https://wmgk.com/2018/10/19/5-facts-about-the-song-bohemian-rhapsody-that-you-didnt-know/