ญี่ปุ่นเป็นประเทศสุดท้าย ณ ขณะนี้ที่ยังคงสืบทอดขนบธรรมเนียมโบราณของจีนที่ใช้ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 นั่นคือการนับศักราชตามการขึ้นครองราชย์ของฮ่องเต้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนศักราชใหม่ต่อเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน
ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนชื่อศักราช หรือยุคสมัยมาแล้ว เกือบ 250 ศักราช เหตุที่มีจำนวนมากก็เพราะในบางยุคสมัยจะมีการเปลี่ยนชื่อศักราชในช่วงกลางรัชสมัยด้วยหลายสาเหตุอาทิ ความเชื่อว่าจะนำสิ่งใหม่ๆหรือสิ่งดีๆเข้ามา หรือเปลี่ยนเพื่อแก้เคล็ดหลังเกิดวิกฤติการณ์หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
ในปี 2018 นี้เป็นปีศักราชเฮเซที่ 30 อันหมายถึงสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงครองราชย์มานาน 30 ปีแล้ว นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อปี 2531 เป็นต้นมา แต่ด้วยว่าพระองค์พระชนมายุมากแล้วประกอบกับพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นักจึงมีพระราชประสงค์จะสละราชสมบัติ จนในที่สุดรัฐสภายอมออกกฎหมายพิเศษยินยอมให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติได้ แต่เป็นกฎหมายที่ระบุเฉพาะเจาะจงพระองค์เดียวเท่านั้น ทำให้พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์แรกในรอบเกือบ 200 ปีที่ทรงสละราชสมบัติ
ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับช่วงเวลานี้ ด้วยการระลึกถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาในยุคเฮเซของตน ดังเช่นในโลกโซเชียลมีเดีย ก็มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนให้ “คนยุคเฮเซ” มาร่วมแลกเปลี่ยนความทรงจำอันแสนสุขในช่วงศักราชเฮเซกัน
ณ จุดนี้จึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่มีนัยสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งสำหรับวงการเพลงก็ด้วยเช่นกัน
ในปีสุดท้ายของศักราชเฮเซนี้ ดูเหมือนว่าวงการเพลงญี่ปุ่นจะมีทิศทางที่น่าสนใจ น่าสนใจในแง่ที่ว่ามันมีความกำกวมหรือแปลกประหลาดหลายประการ อาจเป็นเพราะการเติบโตขึ้นของเทคโนโลยีสื่อ อาทิเช่น youtube แอพลิเคชั่นต่างๆ หรือ โซเชียลมีเดีย รวมไปถึงสตรีมมิ่งทั้งหลาย
มันเป็นช่วงเวลาที่แปลกประหลาดสำหรับวงการเพลง การวัดอันดับชาร์ตเพลงดูเหมือนว่าจะไม่สามารถบอกได้ว่าเพลงใดฮิตหรือไม่ฮิตสำหรับนักฟังเพลงในประเทศและต่างประเทศจริงๆ และที่น่าแปลกไปกว่านั้นก็คือเพลงญี่ปุ่นที่ไปฮิตในต่างประเทศกลับกลายเป็นเพลงที่มีอายุกว่า 30 ปีแล้ว !!! ดูเหมือนว่าบรรยากาศทิศทางวงการเพลงในยุคนี้จะมีส่วนผสมของการหวนระลึกถึงอดีตกับการก้าวไปข้างหน้าผสมผเสปนเปกันไป ราวกับเรากำลังดูหนังเรื่อง “Back To The Future” อย่างไรอย่างนั้นเลย
นามิเอะ อามุโระ (Namie Amuro) ศิลปินสาวที่ถือได้ว่าเป็นราชินีเพลงป็อปของญี่ปุ่น เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญในปีนี้ เนื่องจากในเดือนกันยายนเธอประกาศที่จะยุติบทบาทในธุรกิจบันเทิง ตลอดระยะเวลาอันยาวนานเธอได้ฝากบทเพลงอันไพเราะไว้มากมายมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เธอจึงไม่ได้เป็นแต่เพียงซูเปอร์สตาร์คนหนึ่ง หากแต่เป็นหนึ่งในนิยามของคำว่า เจ-ป็อป ในขณะที่ยุคเฮเซกำลังจะจบลงเธอก็กำลังจะยุติบทบาทของเธอด้วยเช่นกัน โดยเธอได้ทิ้งทวนบทบาทการเป็นศิลปินเจ ป็อปหญิงในระดับตำนานด้วยอัลบั้มรวมเพลงฮิตตลอดกาลของเธอในชื่อว่า “Finally” และมีทัวร์ Namie Amuro Final Tour 2018 ~Finally~
นอกจากอามุโระแล้วยังมีศิลปินคนอื่นๆอีกที่เป็นศิลปินที่มีผลงานมาอย่างยาวนานและยังคงได้รับความนิยมอยู่ หรือนัยหนึ่งชาวญี่ปุ่นได้หวนกลับไประลึกถึงและฟังเพลงของพวกเขาอยู่เรื่อยๆ ในจำนวนนี้ก็มี Southern All Stars ที่อัลบั้มรวมเพลงของพวกเขาในปีนี้ติดอันดับหนึ่งในอัลบั้มขายดีที่สุด นอกจากนี้วงเจ ป็อปอันดับต้นๆของวงการอย่าง Mr. Children ที่เพิ่งออกสตูดิโออัลบั้มชุดใหม่ “Juuryoku to Kokyu (Gravity and Respiration” ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
นอกจากนี้ในปีนี้ยังเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองของหลายวง อาทิเช่นวงไอดอลสุดคลาสสิคของญี่ปุ่นอย่าง Morning Musume และบริษัทแม่คือ Hello! Project ได้ฉลองครบรอบ 20 ปีในปีนี้ ส่วนนักร้องสาวอุทาดะ ฮิคารุ ก็มีผลงานใหม่ “Hatsukoi” ออกมาในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่เธออยู่ในวงการมาครบ 20 ปีพอดิบพอดี ซึ่งเหมือนเป็นการมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเธอ สังเกตได้จากการตั้งชื่ออัลบั้มใหม่นี้ว่า “Hatsukoi” ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “First Love” อันเป็นอัลบั้มแรกของเธอและเป็นผลงานที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักเธอ
แต่ที่น่ามหัศจรรย์ใจเลยก็คือการมาของแอพยอดฮิตในโทรศัพท์จากจีน TikTok ที่เป็นแอพคลิปสั้นความยาว 15 วิ ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลกรวมถึงญี่ปุ่นด้วย แอพนี้ได้นำเอาเพลงเก่าๆกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หนึ่งในนั้นก็คือ “Megumi no Hito” ของ Koda Kumi
กระแสของ TikTok ช่วยให้เกิดเทรนด์ทางดนตรีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ใช้ youtube ในการค้นหาเพลงเก่าๆเหล่านี้ฟัง ซึ่ง Oricon ชาร์ตไม่สามารถเก็บข้อมูลตรงส่วนนี้ได้ ดังนั้นการที่แอพ TikTok ช่วยเพิ่มความนิยมในเพลงเก่าๆจึงไม่อาจถูกวัดด้วยระบบชาร์ตเพลง
ในปัจจุบันนี้ช่องทางในการเผยแพร่เพลงมีมากขึ้น ศิลปินอินดี้ญี่ปุ่นหลายคนก็ได้เติบโตขึ้นมา เพลงของพวกเขาและเธอสามารถหาฟังได้ผ่านทางสตรีมมิ่งทั้งหลาย แนวเพลงก็มีความหลากหลายมากขึ้น หลายชื่อเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่บรรดาแฟนเพลงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Haru Nemuri , Aimyon , Chai , Kenshi Yonezu และอีกมากมาย
youtube เองก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คนทั้งโลกได้ทำความรู้จักกับเพลงญี่ปุ่น หนึ่งในปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองคือการกลับมาได้รับความนิยมของเพลงในยุค 80 โดยเฉพาะแนว City Pop (ของไทยเราก็ได้วง Polycat ทำอัลบั้มที่มีชื่อว่า “Doyobi No Terebi” ซึ่งเหมือนเป็นการคารวะแด่ดนตรีแนวนี้ ) ที่มีเพลง Plastic Love ในปี 1984 ของ Mariya Takeuchi เป็นแกนนำในการนำพาคนจากอีกซีกโลกให้ได้รู้จักกับบทเพลง City Pop และบทเพลงเก่าๆของญี่ปุ่น
อีกหนึ่งบทเพลงที่กำลังได้รับความนิยมและเป็นกระแสไวรัลกันไปทั่วก็คือเพลง “U.S.A.” ของวงบอยแบนด์จากญี่ปุ่น “Da Pump” ที่มีคนเข้ามาดู MV เพลงนี้ในยูทูบจนยอดวิวถล่มทะลาย นอกจากนี้ยังทำคลิป cover ท่าเต้นสุดแนวตามเพลงนี้อีกด้วย
“U.S.A.” ของ Da Pump เหมือนเป็นการกึ่ง cover มาจากเพลง Eurobeat สุดแดนซ์เวอร์ชั่นดั้งเดิมของ Joe Yellow ในปี 1992 โดยมีการเปลี่ยนเนื้อเพลงให้เป็นภาษาญี่ปุ่นและเปลี่ยนเนื้อหาให้เป็นบริบทของญี่ปุ่นเอง ส่วนท่าเต้นนั้นก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่าเต้นสุดฮาในเพลง Shoot ของศิลปินฮิป ฮอปชาวอเมริกัน BlocBoy JB
ต่อไปนี้คือ 5 บทเพลงที่เป็นเสมือนสัญญาณของวงการเพลงญี่ปุ่นในอนาคต
Haru Nemuri —‘Sekai o Torikaeshite Okure’
เส้นแบ่งพรมแดนของคำว่าแนวเพลง (genre) ดูเหมือนว่าจะเริ่มรางเลือนอย่างเห็นได้ชัดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ศิลปินรุ่นใหม่หลายๆคนเริ่มหยิบจับเอาแนวดนตรีทั้งเก่าทั้งใหม่มาผสมผสานกัน ให้แปลกใหม่ออกไปตามแนวทางของตัวเอง (จริงๆมันก็เป็นเอกลักษณ์ของสังคมโลกยุคหลังสมัยใหม่อยู่แล้ว ที่มีการหยิบยืมเอาแรงบันดาลใจจากงานที่มีมาก่อนมาหลอมรวมเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ภาพยนตร์หรือดนตรี) งานเพลงของศิลปินสาว Haru Nemuri น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีของการเลือนแนวเพลงต่างๆ งานเพลงของเธอมีทั้งส่วนผสมของร็อค ฮิป ฮอป บีท มิวสิค รวมไปถึงนอยซ์ มิวสิคด้วย และเพลงนี้เหมือนจะเป็นการสรุปตัวตนของเธอได้ค่อนข้างชัดเจนเลยทีเดียว
Izone — ‘La Vie en Rose’
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสวงเกิร์ลกรุ๊ปในเอเชียเปรียบได้ดั่งคลื่นยักษ์ที่ถาโถมไปทั่วไม่เพียงแต่ในแถบทวีปเอเชียเท่านั้นหากยังไปไกลถึง อเมริกา ยุโรปและทั่วโลก Izone เป็นหนึ่งในวงเหล่านั้น ที่สาดซัดไปทั่วชายฝั่งของทวีปทั้งหลายทั่วโลก วงนี้เป็นวงเกาหลีแต่มีสมาชิกจากวงไอดอลกรุ๊ป AKB48 อยู่ด้วยสามคน คือ ซากุระ นาโกะ และฮิโตมิ
Division All Stars — ‘Division Battle Anthem’
ไม่ว่าใครจะไป ใครจะมาแต่ว่า Anime ก็ยังคงอยู่ยั้งยืนยงอยู่เสมอ ส่วนแร็ป ฮิปฮอปก็กำลังมาแรงสุดๆ ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลก การที่สองอย่างนี้มาอยู่รวมกันในโปรเจ็ค HYPNOSIS MIC อันเป็นโปรเจ็คดวลไมค์ประชันเพลงแร็พ รวมนักพากย์ชายเสียงดีร่วมกับคาแรกเตอร์หนุ่ม2D สุดเท่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ทีมจาก 4 ย่านดังของเหล่าวัยรุ่น ได้แก่ อิเคบุคุโระ ชินจูกุ โยโกฮาม่า และชิบูยะ ในนาม “Division All Stars” นั้นเป็นอะไรที่สุดยอดและมีความสุดแสนจะญี่ปุ่นมากๆ
Aimyon — ‘Let the Night’
นักร้องนักแต่งเพลงสาวชาวญี่ปุ่น Aimyon เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่น่าจับตามอง ณ ขณะนี้ และเป็นความหวังใหม่ของวงการเจ ป็อป “Let The Night” เป็นเพลงเจ ป็อปในแบบที่เราคุ้นเคย หากแต่มีส่วนผสมของความร่วมสมัยทั้งในดนตรีและเนื้อหา นอกจากนี้ช่องทางการเผยแพร่ที่กว้างไกลทั้งใน youtube และสตรีมมิ่งทั้งหลายก็ช่วยให้พวกเราเข้าถึงผลงานของศิลปินรุ่นใหม่เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
Mariya Takeuchi — ‘Plastic Love’
นี่คือปรากฏการณ์สุดเซอร์ไพรซ์ที่งานเพลงจากปี 1984 ดังไกลมาถึงปี 2018 เป็นเพราะกระแสความนิยมที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นใน youtube (ก่อนนี้มีคลิปเพลงนี้แบบไม่ official ที่มียอดวิวกว่า 200 ล้านวิว ซึ่งตอนนี้ได้โดนแจ้งการละเมิดลิขสิทธิ์ไปแล้ว ซึ่งคนแจ้งก็ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นคนที่ถ่ายภาพของ Mariya ที่ถูกใช้ประกอบในคลิปทั้งหลายของเพลง Plactic Love นั่นเอง) ด้วยท่วงทำนองและน้ำเสียงที่สดใส กับกรู๊ฟที่ชวนโยกชวนย้ายส่ายอารมณ์เพลินใจไปกับบทเพลง ทำให้กระแสความนิยมในเพลง City Pop ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในต่างประเทศ เหมือนจะเป็นอะไรที่ชาวตะวันตกรู้สึกเซอร์ไพรซ์มากเพราะ ถึงแม้มันจะเป็นเพลงป็อป ฟังก์ โซลในแบบที่ประเทศของพวกเขามีหากแต่เมื่อเติมเมโลดี้ เสียงร้องในภาษาญี่ปุ่น และกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นลงไป มันจึงได้รสชาติที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง
และนี่ก็คือสีสันใหม่ๆ (รวมไปถึงสีสันเก่าที่กลับมาใหม่) ที่เหมือนจะเป็นแสงสว่างนำทางวงการเพลงของญี่ปุ่นให้สว่างไสวต่อไปในอนาคต
ที่มา
https://www.japantimes.co.jp/culture/2018/12/18/music/saying-goodbye-heisei-u-s/#.XCG-Ys8zbVo