เพลงกับหนังถือเป็นของคู่กัน ในจังหวะที่เรื่องราวชีวิตของตัวละครกำลังเผยตัวของมันออกมา ในจังหวะนั้นเสียงดนตรีก็ทำหน้าที่ขับกล่อม ขับเน้น ส่งจังหวะ ละเลงอารมณ์ให้คลุ้งกระจายไปในความรู้สึก จวบจนเรื่องราวเหล่านั้นได้จบลง แม้ผ่านวันคืนไปนานเท่าไหร่ หากได้หวนระลึกกลับมาภาพและเสียงเหล่านั้นยังคงตราตรึง บ้างเกิดรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หรือรอยน้ำตา
เพลงในหนังไม่เพียงแต่เผยความนัยของใจตัวละคร เปิดเผยห้วงอารมณ์อันซ่อนอยู่ในส่วนลึกของใจ หากแต่การใส่มานั้นยังต้องคำนึงถึงจังหวะ ความกลมกล่อม และลงตัวอีกด้วย
ในวันนี้ผมจะพาไปสัมผัสกับช่วงเวลาอันเป็นเวทมนต์ที่บทเพลงผสานกับเรื่องราวในภาพยนตร์ได้อย่างวิเศษ สำหรับ [ดูหนังฟังเพลง] ในครั้งแรกนี้ขอเปิดด้วยเพลงเพลงนี้และฉากฉากนี้ครับ
เพลง “Come Here”
ศิลปิน Kath Bloom
จากภาพยนตร์เรื่อง Before Sunrise (1995) กำกับโดย ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์
ฉาก ยืนฟังเพลงด้วยกันในตู้ทดลองแผ่นเสียง
“There’s wind that blows in from the north
And it says that loving takes this course
Come here
Come here”
เมื่อหัวเข็มถูกวางจรดลงไปบนแผ่นเสียงอย่างนุ่มนวล เสียงเพลง “Come Here” ของ Kath Bloom ก็ดังขึ้นสองหนุ่มสาวที่เพิ่งรู้จักกันไม่นาน ต่างยืนเก้อเขินเคียงกัน พลางยิ้มเอียงอาย ลอบมองซึ่งกันและกัน ส่วนข้างในใจของทั้งคู่นั้นท่วงทำนองแห่งรักกำลังบรรเลงเพลงของมันอยู่
นี่คือหนึ่งในฉากที่โรแมนติคที่สุดในโลกภาพยนตร์ เป็นความโรแมนติคที่ไร้คำพูด หากแต่อิ่มเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก
“Have I never laid down by your side
Baby, let’s forget about this pride
Come here
Come here”
เสียงร้องที่จริงใจของนักร้องสาว Kath Bloom ผสานเสียงดนตรีโฟล์คที่ฉ่ำเย็น ส่งเสียงเชื้อเชิญให้หนุ่มสาวปล่อยใจให้เป็นธรรมชาติ ไหลไปกับลำธารแห่งรัก ที่กำลังไหลผ่านดวงใจของคนทั้งคู่
…
ในปี 1995 หนุ่มหน้าใสนาม เจสซี (อีธาน ฮอว์ค) ตัดสินใจเดินเข้าไปทักสวยสวยชาวฝรั่งเศสผู้นั่งลำพังอยู่บนรถไฟขบวนเดียวกันกับเขา เธอชื่อว่า เซลีน (จูลี เดลฟีย์) ทำความรู็จักกันผ่านบทสนทนาเชิงปรัชญาตามประสาวัยรุ่น ผู้ค้นหาความหมายของชีวิต เขาชวนเธอทิ้งจุดหมายและลงรถไฟไปด้วยกัน ณ เวียนนา หนึ่งในเมืองโรแมนติคของยุโรป ใช้เวลาด้วยกันหนึ่งวันก่อนแสงตะวันจะขึ้นในเช้าวันถัดไป วันที่เรื่องราวความรักอาจสิ้นสุดลงเมื่อแสงของวันใหม่มาเยือน
สุดท้ายแล้วมันไม่ได้จบลง มันอาจขาดช่วง ทิ้งรอย แต่ได้รับการสานต่อในเวลาต่อมา 9 ปีให้หลังกับ Before Sunset และ อีก 9 ปีกับ Before Midnight ทั้งตัวละครและนักแสดงต่างเติบโตไปพร้อมกัน ก้าวผ่านช่วงวัยวันแห่งความฝันและชีวิต
เรื่องราวสุดโรแมนติคนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริงในชีวิตของ ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ได้พบกับหญิงสาวนางหนึ่ง ณ ฟิลาเดลเฟีย เธอมีชื่อว่า เอมี่ แลร์ฮัลพ์ต (Amy Lehrhaupt) เขาได้ใช้เวลากับเธอตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงหกโมงเช้า เดินเที่ยว พูดคุยจนกลายเป็นความประทับใจและความทรงจำไม่รู้ลืม จนมันได้กลายเป็นต้นธารแห่งแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้
แต่แล้วในปี 1994 ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะถ่ายทำ เธอก็ได้เสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุรถมอร์เตอร์ไซต์ด้วยวัยเพียง 24 ปี ลิงค์เลเทอร์ผู้ไม่รู้เรื่องนี้ได้แต่เฝ้าฝันว่าเธออาจมาปรากฏตัวในวันใดที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ออกฉาย
ลิงค์เลเทอร์ กว่าเขาจะรู็ความจริงว่าเธอได้จากโลกนี้ไปแล้ว ก็ในปี 2010 และนั่นเองที่ทำให้เขาตัดสินใจได้ว่า เขาจะต้องสร้างภาคต่อภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้งเพื่ออุทิศมันให้แด่เธอ และนั่นก็คือ “Before Midnight” นั่นเอง
…
เคธ บลูม เป็นนักร้องนักแต่งเพลงโฟล์คหญิงชาวอเมริกันจาก Litchfield , คอนเน็คติกัต มีผลงานมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 ปัจจุบันเธอยังคงเล่นดนตรีและมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Before Sunrise พบบทเพลงของบลูมในช่วงทศวรรษที่ 90 ด้วยความประทับใจในน้ำเสียงและท่วงทำนองโฟล์คที่เรียบง่ายและงดงามของเธฮ เขาจึงหยิบเอาเพลง “Come Here” มาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ออกฉายในปี 1995 และด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการที่ลิงค์เลเทอร์นำเพลงของเธอไปใช้ บลูมเลยนำแรงบันดาลใจนี้มาเขียนบทเพลงใหม่และออกผลงานเดี่ยวอัลบั้มแรกในรอบสิบปีของเธอ อันมีชื่อว่า “Come Here: The Florida Years” ในปี 1999
เธอเป็นคนที่ค่อยข้างขี้อาย ทั้งๆที่มีผลงานมากมายและต้องแสดงดนตรีต่อหน้าสาธารณชนหลายครั้ง แต่เธอก็ไม่เคยคุ้นชินกับมันเสียที เธอชอบที่จะเล่าเรื่องราวของเธอผ่านบทเพลงเสียมากกว่า ไม่น่าแปลกเลยที่เพลงของเธอถูกใช้ในฉากที่มีบรรยากาศของความเขินอายห่มคลุมอย่างนารักและอบอุ่น
จากการที่มีคุณพ่อเป็นนักเป่าโอโบมือฉกาจ แวดล้อมไปด้วยบรรยากาศของเสียงดนตรี เธฮจึงมีมันอยู๋ในหัวใจ เธอชอบที่จะเขียนและเล่าเรื่องราวผ่านบทเพลงและเสียงร้องของเธอ ด้วยท่วงท่าและลีลาที่เป็นธรรมชาติ “ดิบ” คำนี้อาจใช้บรรยายถึงความตั้งใจของเธอได้ดี เป็นความดิบที่มอบความ “สุข” ให้กับผู้ที่ได้ฟัง
“ความเรียบง่ายก่อให้เกิดความจริง
สิ่งใดที่จริง สิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่มาจากใจ”
เสียงร้องอุ่นๆของเธอ และเนื้อเพลงที่มีน้ำเสียงเชื้อชวนใกล้ชิด
“No, I’m not impossible to touch
I have never wanted you so much
Come here
come here,”
เข้ากันได้อย่างมหัศจรรย์กับช่วงฉากในภาพยนตร์ เสียงร้องของเธอนั้นเป็นส่วนผสมที่สมดุลระหว่างความดิบและความเร่งเร้า
เธอกล่าวว่า เธอมักมีสำนึกของความเร่งเร้าอยู่เสมอ มันเป็นความรู้สึกที่เราพึงมีเพื่อแข่งขันกับเวลาในชีวิต ที่ลดน้อยถอยลงไปอยู่ตลอดเวลา
เฉกเช่นเดียวกับเวลาที่เจสซีและเซลีนมี พวกเขาเร่งเร้าและรุ่มร้อน (ในท่วงทำนองที่อบอุ่น นุ่มนวล)
“เมื่อเรายังเยาว์ เราแข็งกล้า เรามุ่งมั่นฟันฝ่าเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ปรารถนา
แต่เมื่อเวลาผันผ่าน เมื่อความชราค่อยๆมาเยือน เราฉลาดขึ้น ลุ่มลึกขึ้น
และจังหวะของเราก็แผ่วช้าลงเพื่อพบสมดุล ณ จุดนี้”
…
เสียงเพลงดังขึ้น สองหนุ่มสาวยืนเคียงกันในบูธลองแผ่นเสียงของร้านขายแผ่นเสียงใน เวียนนา เอียงอาย แย้มยิ้มเล็กๆ และลอบมองกันด้วยใจระทึก
ที่นั่นมีแต่ความเงียบงัน มีเพียงเสียงเพลงเท่านั้นที่บรรยายความรู้สึกของคนทั้งคู่ได้ดีที่สุด มันได้คลี่เผยความนัยแห่งใจของทั้งสอง เปิดเปลือยมันออกมาอย่างงดงาม ภาพและเสียงนั้นยังคงตราตรึง สถิตอยู่มิรู้ลืม
ที่มา
http://www.chattanoogapulse.com/music/features/the-timeless-music-of-kath-bloom/