ในช่วงที่การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา ทุกพรรคต่างหยิบนโยบายต่าง ๆ เข้ามาฟาดฟันหวังโกยคะแนนเสียงกลับสู่ตนให้ได้มากที่สุด และก็มาถึงคราวของวงการภาพยนตร์ที่ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ร่วมกับมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “อนาคตหนังไทยหลังการเลือกตั้ง Thai Movie After Election” ในวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก 8 พรรคการเมือง
- พรรคเศรษฐกิจใหม่ : คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ
- พรรคประชาธิปัตย์ : คุณอลงกรณ์ พลบุตร
- พรรคอนาคตใหม่ : คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
- พรรครวมพลังประชาชาติไทย : คุณเถกิง สมทรัพย์
- พรรคชาติไทยพัฒนา : คุณรัฐชทรัพย์ นิชิด้า
- พรรคสามัญชน : คุณอนุสรณ์ สร้อยสงิม
- พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย : คุณธนพร ศรียากูร
- พรรคพลังท้องถิ่นไทย : รัฐภูมิ โตคงทรัพย์
พรรคเศรษฐกิจใหม่ : คุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ
มาในคอนเซ็ปต์เปิดบันเทิงไทย สู่บันเทิงโลก
โดยยกตัวอย่างว่าเมื่อก่อนวงการภาพยนตร์ไทยบูมมาก ปีหนึ่งมี 365 วัน มีหนังเปิดกล้องมากกว่าวันละ 1 เรื่อง แต่ปัจจุบันซบเซาลงไปมาก จากอยากชื่นชมคนทำหนังที่ยังยืนหยัดอยู่จนถึงทุกวันนี้ กระนั้นก็อยากให้ถามศักยภาพตัวเองด้วยว่าดีพอและพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับวงการสื่อที่ไร้พรหมแดน โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่มีโอกาสจากโลกภายนอกรออยู่เสมอ โดยเค้าพร้อมที่จะผลักดันคนไทย หนังไทย ให้ไปสู่เวทีระดับโลกให้ได้
พรรคประชาธิปัตย์ : คุณอลงกรณ์ พลบุตร
เตรียมยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของนโยบาย เศรษฐกิจสร้างสรรค์
และเผยแนวทางในการพัฒนาหนังไทยในอนาคตดังนี้
- ยกระดับเงินในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้ถึง 50,000 ล้านบาท
- เพิ่มขีดความสามารถให้กับคนในวงการภาพยนตร์ทุกฝ่ายเพื่อการแข่งขันในตลาดโลก
- เป็นศูนย์กลางภาพยนตร์ในเอเชียให้ได้ โดยอาศัยนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย
- เพิ่มการส่งออกภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก
- เพิ่มสัดส่วนหนังไทย และหนังต่างประเทศในโรงภาพยนตร์ให้ได้สัดส่วน 50/50
พรรคอนาคตใหม่ : คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
เปิดประเด็นได้น่าสนใจโดยมุ่งเป้าไปที่รากของคนดู
เน้นให้คนดูได้ดูหนังที่หลากหลาย เพื่อไม่ให้เกิดการผลิตซ้ำ ซึ่งจะเริ่มจากการปรับแก้การศึกษาตั้งแต่วัยเด็ก โดยให้เด็กได้มีโอกาสเรียนวิชาสุนทรียภาพของศิลปะตั้งแต่เล็ก ๆ และสิ่งสำคัญคือต้องไม่ฆ่าตัดตอนทางจินตนาการของเด็กอย่างเด็ดขาด! เพิ่มให้มีการดูหนังร่วมกันของครูและนักเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดต่อกันและกัน
ผลักดันให้รัฐเข้าไปช่วยเหลือคนทำหนัง โดยหวังให้สนับสนุนจนหนังเสร็จในทุกขั้นตอน ไม่ใช่ช่วยเหลืออย่างครึ่งกลาง ๆ นอกจากนี้ยังอยากผลักดันให้มีโรงหนังชุมชน ที่มีราคาถูก ให้สิทธิ์นักเรียน นักศึกษาได้ลองทำ ได้เรียนรู้ขั้นตอน และกลวิธีเพื่อเอาหนังไปฉายในโรง เหมือนเป็นโอกาสทดลองทำหนังฉายโรง
และทั้งหมดนี้คุณธัญญ์วาริน เน้นว่า ทำได้ทันที
พรรครวมพลังประชาชาติไทย : คุณเถกิง สมทรัพย์
เสนอให้จัดตั้งองค์การมหาชนสำหรับวงการภาพยนตร์ โดยคนวงการภาพยนตร์ และมอบอำนาจทางภาพยนตร์ให้อย่างเต็มที่ เพื่อจัดการปัญหาและนำพาหนังไทยไปข้างหน้าด้วยตัวเอง พร้อมเตือนว่าตอนนี้โอกาสจากโลกภายนอกกำลังจะเข้ามา ตัวอย่างเช่น Netflix มาถ่ายทำที่ประเทศไทย โดยมีออริจินัลซีรีส์ไทยด้วย ดังนั้นคนไทยมีความสามารถมากพอจะรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามาได้มากน้อยแค่ไหน
พรรคชาติไทยพัฒนา : คุณรัฐชทรัพย์ นิชิด้า
“5 ปีของน้อง กับ 5 ปีของผมไม่เท่ากัน เราจะไม่ยอมขโมยเวลาของเด็กรุ่นใหม่มาใช้”
โดยผลักดันให้เด็กได้จัดการ ได้สร้างด้วยตัวเอง เช่นถ้าหากเด็กอยากจะขอทุนทำหนัง ก็ให้เสนอบทกันเข้ามา แล้วเราจะให้รัฐและผู้กำกับไทยเก่ง ๆ ประเมินว่าจะให้ทุนเท่าไหร่ และช่วยเหลือด้านใดได้บ้าง
พรรคสามัญชน : คุณอนุสรณ์ สร้อยสงิม
“เราต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ” ก่อนที่คุณอามจะเริ่มกล่าวถึง 10 สิ่งที่อยากเห็นหลังการเลือกตั้ง
- สถานที่ราชการต้องให้กองภาพยนตร์ถ่ายทำฟรี ไม่มีใต้โต๊ะ
- สนับสนุนนักทำหนังรุ่นใหม่ และภาพยนตร์ LGBT มากกว่านี้
- ปกป้องสิทธินักทำหนังให้มีสวัสดิการเท่าอาชีพอื่น
- มีระบบ Box Office อย่างจริงจังในประเทศไทย
- เลิกการแบนหนัง และทำการแบ่งเรตติ้งหนังและเซนเซอร์หนังให้ชัดเจนและเหมาะสมกว่านี้
- ภาพยนตร์ควรเป็นสินค้าส่งออกมากกว่านี้
- ควรมีเทศกาลหนังไทยที่ยิ่งใหญ่ จริงจัง เป็นของตัวเอง
- ลดภาษีหนังต่างประเทศหรือคนที่จะเข้ามาถ่ายทำในประเทศน้อยลง
- มีแพลตฟอมเหมือน Netflix สำหรับหนังไทยและให้ดูฟรี
- เวทีหนังในระดับนักศึกษาควรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ถกเถียงมุมมอง กันมากกว่านี้ เช่นฉายหนังแลกเปลี่ยนกัน และช่วยกันวิเคราะห์ วิจารณ์เพื่อสร้างผลงานที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย : คุณธนพร ศรียากูร
“พ.ร.บ. แบบนี้จะทำให้สิ่งที่เราคิดกันในวันนี้ 100 ปีก็ไม่ได้เกิด”
คุณธนพรเน้นย้ำถึงความโปร่งใสในกลไกและกระบวนต่าง ๆ โดยตั้งคำถามว่าทุนมากทุนน้อย เราเข้าถึงการขอทุนทำหนังได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีส่วนร่วมในการเซนเซอร์หนัง หรือเข้าถึงกติกาการเซนเซอร์ว่ามีข้อบังคับอะไรบ้าง พร้อมทวงถามถึงการผูกขาดการค้าภาพยนตร์ โดยได้ไปยื่นหนังสือถึงรัฐให้ตรวจสอบเกี่ยวกับความโปร่งใสในเรื่องนี้ด้วย… นอกจากนี้ยังทิ้งท้ายให้ทบทวบเกี่ยวกับการเก็บภาษีของคนทำอาชีพเกี่ยวกับศิลปะ แบบฟรีแลนซ์ ให้เกิดความเหมาะสบด้วย
พรรคพลังท้องถิ่นไทย : รัฐภูมิ โตคงทรัพย์
คุณฟิล์มได้เน้นย้ำว่าประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งในเรื่องของความครีเอทีฟ โลเคชั่น หรือบท เพียงแต่ขาดการสนับสนุนที่ดีพอจากภาครัฐ จึงอยากให้รัฐเข้ามาช่วยเปิดโอกาสและพัฒนาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบท และงบประมาณในการถ่ายทำ
เพราะที่ผ่านมาจะวนเวียนอยู่ 3 คำคือ (ขอ) ยาก / (เรื่อง) เยอะ / (ได้) น้อย
ทั้งนี้ยังกล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านนั้น หนังของเค้าคือการส่งออกทางวัฒนธรรม จึงมุ่งหวังให้หนังไทยไปถึงจุดนั้นได้บ้าง โดยยกตัวอย่างว่า ละครบุพเพสันนิวาสนั้น ทำให้ตลาดน้ำที่กำลังจะตาย กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ดังนั้นถ้าภาพยนตร์ไทยเรามีคุณภาพ ก็อาจจะยิ่งช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นได้
รวมทั้งจัดถึงงานเทศกาลที่จะให้นายทุนและคนทำหนังได้มีโอกาสมาพูดคุยกันเพื่อความเป็นไปได้ในการร่วมสร้างหนังในอนาคต
และปิดท้ายด้วยการทำแอบพลิเคชั่นเข้ามาช่วยให้คนรากหญ้ามาดูหนังมากขึ้น เช่นดูหนังจะได้สิทธิพิเศษบางอย่างเพิ่มขึ้น เป็นต้น
โดยหลังจากนี้ก็เป็นที่น่าสนใจว่าอนาคตวงการหนังไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร เพราะจากที่ฟังมามีหลายแนวคิดที่น่าสนใจจริง ๆ ดังนั้นเราได้แต่ภาวนาว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศไทย ก้าวไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิมจริง ๆ สักที
ดูคลิปการเสวนาตัวเต็ม คลิก
ขอบคุณรูปภาพจากเฟซบุ๊ก สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย