มือกีตาร์ระดับตำนาน “Dick Dale” เจ้าของฉายา “ราชากีตาร์เซิร์ฟ” ผู้บุกเบิกแนวดนตรีเซิร์ฟร็อค และเจ้าของบทเพลงฮิต “Misirlou” ที่ใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction ได้ถึงแก่ชีวิตแล้วด้วยวัย 81 ปีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตนั้นยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ ดิค เดล นั้นป่วยด้วยโรคไต เบาหวานและมะเร็งมาเป็นเวลานานแล้ว
Dick Dale มีชื่อจริงว่า Richard Anthony Monsour เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคมปี1937 ที่บอสตัน เขามีเชื่อสายเลบานิสจากทางฝั่งพ่อและโปลิช–เบลารุสเซียนจากทางฝั่งแม่ เดลได้พัฒนาแนวทางการเล่นกีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองด้วยการผสานอิทธิพลของดนตรีร็อคกับดนตรีในวัฒนธรรมตะวันออกกลางอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของเขา
ในตอนเด็ก เดลเริ่มต้นจากการเรียนเปียโนตั้งแต่อายุเก้าขวบ โดยมีคุณป้าเป็นคนสอนและเริ่มเล่นทรัมเป็ตกับอูคูเลเล่โดยมีเพลงแรกที่เล่นคือ “Tennessee Waltz” โดยมีความฝันว่าจะเดินตามรอยของศิลปินอเมริกันคันทรี่ Hank Williams ก็เลยควักเงินเก็บซื้อกีตาร์ในราคา 8 เหรียญจากเพื่อน อีกคนที่มีอิทธิพลต่อการเล่นดนตรีของเดล ก็คือคุณลุงของเขาที่สอนให้เขาเล่นกลองตูเบเรกิ (Toubeleki) และอู๊ด (Oud)
เมื่อเดลได้กีตาร์มาเขาก็เล่นและเรียนรู้กับมันจนชำนาญ สไตล์การเล่นของเขาผสานไว้ทั้งการเล่นลีดและริธึ่ม ทำให้มันมีส่วนผสมของการเล่นกลองอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าอิทธิพลการเล่นนี้เขาได้รับมาจากการเล่นกลองตูเบเรกินั่นเอง รวมไปถึงการเล่นดีดสลับแบบรวดเร็วด้วย เดลบอกว่าทุกเครื่องดนตรีที่เขาเล่นล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลมาจาการเล่นกลองตูเบเรกิ
เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นอายุ 17 ปี ครอบครัวของเขาก็ย้ายไปอยู่ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย พ่อของเขาทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศ ส่วนเขาก็กลายไปเป็นนักเล่นกระดานโต้คลื่น จากนั้นบรรยากาศของชายทะเล วัฒนธรรมเซิร์ฟ รวมไปถึงความสนใจในวัฒนธรรมดนตรีของอาราบิคก็ได้หลอมรวมจนกลายเป็นแหล่งกำเนิดของดนตรีเซิร์ฟจากตัวตนของเดลนั่นเอง
เดลกล่าวว่า “มันมีพลังอันล้นเหลือที่ผมรับรู้ได้ในขณะที่ผมเล่นเซิร์ฟและพลังนั่นเองที่ผมถ่ายทอดมันออกมาผ่านการเล่นกีตาร์ของผม” การเล่นกีตาร์ของเดลนั้นจึงสะท้อนประสบการณ์ของการเล่นเซิร์ฟและพลังของหมู่ชนที่อาศัยอยู่ในแถบมหาสมุทร
ในปี 1961 เดลเริ่มเล่นดนตรีสดตามชายหาดของเมือง Balboa ในตอนใต้ลอสแองเจลิส ที่ซึ่งเขาได้พัฒนาการเล่นกีตาร์ดีดตบแบบจังหวะกลอง (Percussive Style) และในช่วงนี้นี่เองที่เขาได้รับฉายาว่า “Dick Dale” จาก Guy Norris “Texas Tiny” Cherry คาวบอยร่างยักษ์ เพราะเขาเห็นว่าชื่อนี้เหมาะดีต่อการเป็นนักร้องคันทรี่
เดลได้นำเอาสเกลดนตรีที่ไม่ใช่ของทางฝั่งตะวันตกมาผสมผสานในการเล่นของเขาด้วย เขามักจะชอบใส่เอฟเฟครีเวิร์บจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ในการเล่นเซิร์ฟกีตาร์ของเขาในเวลาต่อมา อีกเอกลักษณ์หนึ่งของเดลคือ การเล่นกีตาร์มือซ้ายตอนเริ่มแรกเดลฝึกหัดเล่นกีตาร์ด้วยมือขวาเหมือนคนทั่วไปก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนมาเล่นมือซ้าย แต่ไม่ได้สลับตำแหน่งของสาย จึงทำให้การเล่นกีตาร์ของเขาเป็นแบบกลับหัวกลับหาง และเล่นไต่ไปตามเฟร็ตบอร์ดแทนที่จะใช้นิ้วทาบจากล่างขึ้นบน
นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษที่ 60 เดลยังได้เป็นบุคคลสำคัญต่อพัฒนาการของกีตาร์ Fender Stratocaster อีกด้วย“ทุกสิ่งที่ออกมาจากหัวของลีโอ เฟนเดอร์นั้นผ่านการทดสอบจากผมหมดเลย” เขาเสริมต่อว่า “หากมันทนต่อการลงทัณฑ์จากผมได้ มันก็เหมาะที่จะให้ใครต่อใครเล่นมันได้ ดังนั้นผมก็เลยระเบิดแอมป์ไปกว่า 50 ตัว ด้วยเหตุนี้พวกเขาก็เลยเรียกผมว่าบิดาแห่งเฮฟวี่เมทัล”
ด้วยส่วนผสมของการเล่นแอมป์เสียงดังและใช้สายเบอร์ใหญ่ทำให้เขาได้รับฉายาว่า “บิดาแห่งเฮฟวี่เมทัล” และหลังจากระเบิดแอมป์ของ Fender ไปหลายตัวแล้ว ในที่สุดลีโอ เฟนเดอร์และเฟรดดี ทาวาเรสก็ได้พบปัญหาของการปรับเสียงแอมป์ให้ดังกว่าเสียงกรี๊ดของคนดู จากการสังเกตการเล่นของเดลที่ Balboa ทั้งคู่ก็เลยไปหาบริษัทผลิตลำโพง เจมส์ บี แลนซิ่งและขอให้ทำลำโพง 15 นิ้วซึ่งต่อมาได้กลายเป็นลำโพงรุ่น JBL D130F หรือที่รู้จักกันในนาม Single Showman Amp จากส่วนผสมของกีตาร์ Fender Stratocaster และ Fender Showman Amp ได้ทำให้เดลสามารถเล่นด้วยเสียงที่ดังได้โดยไม่ประสบปัญหาแบบที่ผ่านมา
จากนั้น “เซิร์ฟร็อค” แนวดนตรีที่เดลเป็นผู้บุกเบิก ก็ได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษที่ 60 และได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับมือกีตาร์ไฟฟ้าทั้งหลายและได้ส่งอิทธิพลต่อมาอีกกว่า 5 ทศวรรษ
สำหรับเพลง “Misirlou” บทเพลงที่เสมือนตัวแทนของเดลนั้น เขาได้ดัดแปลงมันมาจากเพลงโฟล์คกรีก โดยปรับให้เล่นเร็วขึ้นและเล่นบนกีตาร์ด้วยเทคนิคสายเดียว ซึ่งได้รับความนิยมตั้งแต่เดลเล่นโชว์เป็นครั้งแรกในรายการ Ed Sullivan Show เมื่อปี 1962 ซึ่งต่อมาในปี 1994 เควนติน ทารันติโน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังก็ได้นำมันมาใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง Pulp Fiction ของเขาและหลังจากนั้นเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงอมตะสุดคลาสสิคตลอดกาลไปเลย
“การได้เพลง Misirlou มาเป็นเพลงเปิดเรื่องของหนัง มันช่างเป็นอะไรที่เฉียบจริงๆ” ทารันติโตกล่าว “มันให้ความรู้สึกว่าเรากำลังดูหนังเอพิค หนังที่มันมีสเกลใหญ่ๆ และมันทำให้เรารู้สึกว่าหนังทั้งเรื่องจะดำเนินไปแบบนั้น”
เรื่องราวของเพลง “Misirlou” นั้นมีที่มาอันยาวนาน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1927 นักดนตรีชาวกรีกเชื้อสายอิสตันบุลนามว่า Tetos Demetriades ได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่อเมริกาและเริ่มบันทึกเสียงบทเพลงชิ้นหนึ่งที่เขาจดจำได้จากวัยเด็ก บทเพลงนั้นคือ “Misirlou”
“Misirlou” นั้นแปลว่า “สาวอียิปต์” มันเป็นเพลงโฟล์คที่มีความวาบหวามในท่วงทำนอง และเล่นด้วยสไตล์ที่เรียกว่า “Rebetiko” (รูปแบบดนตรีเฉพาะของคนกรีก อันผสมไว้ด้วยอิทธิพลของดนตรียุโรป ดนตรีโฟล์คกรีกในพื้นที่ต่างๆ ดนตรีในโบสถ์ รวมไปถึงดนตรีจากวัฒนธรรมอ็อตโตมาน ) อันเป็นที่นิยมในหมู่ชาวกรีกในเขตที่ราบสูงแอนาโตเลีย จากนั้นด้วยเมโลดี้ที่ติดหูและเป็นที่จดจำ ก็ทำให้เพลงนี้เป็นที่นิยมและถูกนำไปเล่น ไปพัฒนาเป็นอีกหลายเวอร์ชั่น อาทิเช่นในปี 1941 อีกหนึ่งนักดนตรีกรีก คือ Nikos Roubanis ก็ได้นำมันไปพัฒนาต่อในแนวทางแจ๊ซ
และกลายเป็นอีกหนึ่งบทเพลงสแตนดาร์ดแจ๊ซ ที่ความเซ็กซี่ของมันได้รับความนิยมเล่นในหมู่เลาน์จแบนด์ทั้งหลายในยุคนั้น
ต่อมา Misirlou ได้พัฒนาไปสู่การเป็น “World Music” มันถูกนำไปบันทึกเสียงโดยนักดนตรีหลากหลายเชื้อชาติ ในหลากหลายเวอร์ชั่นทั้ง Arabic , Yiddish รวมไปถึงทางฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกที่บอกว่าเมโลดี้แต่ดั้งเดิมนั้นมาจากทางนี้
จนกระทั่งมันได้เข้ามาสู่วัฒนธรรมอเมริกันและกลายมาเป็นหนึ่งบทเพลงอันเร่าร้อนของวัยรุ่นอเมริกันในทศวรรษที่ 60 ด้วย ฝีมือของดิค เดล นั่นเอง
ในช่วงบั้นปลายชีวิต เดลนั้นถูกโรคร้ายรุมเร้า เขาต้องสู้กับทั้งโรคไต โรคมะเร็งและเบาหวานในคราวเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังดื้อต่อคำแนะนำของหมอที่ให้หยุดพักและเลิกเล่นดนตรี โดยมีภรรยา “ลาน่า” และลูกชาย “จิมมี่” เป็นกำลังใจและเป็นผู้ที่ทำให้เขามีแรงใจในการกลับมาเล่นดนตรีจวบจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต.
R.I.P. “DICK DALE ” (1937-2019)
Source
https://www.ft.com/content/b80c0a32-048c-11e5-adaf-00144feabdc0
https://en.wikipedia.org/wiki/Dick_Dale
https://www.theguardian.com/music/2019/mar/17/dick-dale-dies-aged-81-misirlou-pulp-fiction
https://www.mercurynews.com/2019/03/17/dick-dale-king-of-the-surf-guitar-dead-at-81/