ก้าวเข้าสู่เดือนเมษาหน้าร้อน (อันระอุ) กันแล้ว วันนี้เราก็มีอัลบั้มดีๆมาแนะนำให้ฟังกันเย็นๆคลายร้อน เป็นอัลบั้มที่ออกใหม่ช่วงปลายเดือนที่แล้ว หนึ่งในนั้นก็มีอัลบั้มจากศิลปินในยุค 70 ที่เราอาจจะเรียกว่าเป็น “lost album” ก็ได้ เป็นเรื่องโชคดีที่เรามีโอกาสได้ฟังในวันนี้ นั่นคือ “You’re The Man” ของ Marvin Gaye นอกจากนี้ก็มีอัลบั้มแรกในชีวิตของศิลปินสาวสุดแนว Billie Eillish และ 3 หนุ่มหน้ามนคนอินดี้ในนาม Wallows กับงานเพลงดีๆของพวกเขา รวมไปถึงอัลบั้มล่าสุดที่แปลกใหม่และน่าสนใจของวงดนตรีอินดี้ญี่ปุ่น Suchmos
“The Anymal” – Suchmos
ผลงานล่าสุดสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 4 ของ Suchmos วงดนตรีอินดี้ญี่ปุ่นที่เพิ่งมาเล่นคอนเสิร์ตในบ้านเราเมื่อปลายปีที่ผ่านมาในงาน Big Mountain Music Festival บนเวที Egg Stage
Suchmos เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มวัยรุ่นในโยโกฮาม่าประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 6 คน ได้แก่ ซู (HSU)— โคะสุกิ ฮายาตะ (เบส) ไทคิง (Taiking)— โทซึกะ ไทคิ (กีตาร์) ซากุระอุจิ ไทเฮ (คีย์บอร์ด) ยนซุ(Yonce)— คะไซ โยสุเกะ (ร้องนำ, กีตาร์) เคซี (KCEE)— โอฮาระ ไคคิ (ดีเจ) และ OK—โอฮาระ เคนโตะ (กลอง) งานเพลงของพวกเขา คือส่วนผสมระหว่างแนวดนตรีที่หลากหลายทั้งร็อก แจ๊ซ เอซิดแจ๊ซ โซล ฟังก์ R&B รวมไปถึงอัลเทอร์เนทีฟร็อค ฮิปฮอป และ นีโอโซลด้วย ทำให้งานดนตรีของพวกเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ฟังเพลินและมีเสน่ห์ หากยังไม่รู้จักพวกเขาและอยากลองลิ้มชิมรสเสียงดนตรีของพวกเขาดู เราขอแนะนำเพลง Stay Tune , Miree , Mint และ Pinkvibes ดู
Suchmos ออกสตูดิโออัลบั้มมาแล้ว 3 อัลบั้มได้แก่ The Bay (2015) , The Kids (2017) และ The Ashtray (2018) “The Anymal” (2019) จึงเป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่สี่ของวง ซึ่งวงได้กำลังพยายามที่จะพาดนตรีของพวกเขาไปในทิศทางใหม่ที่ยังไม่เคยไป แรกเริ่มเลยคือ ความยาวของเพลงแต่ละเพลง เช่นเปิดมาเพลงแรก “water” ก็ปาไป 7 นาทีกว่าแล้ว รวมๆแล้วทั้งหมดอัลบั้มมี 12 เพลงความยาวรวมคือ 74 นาทีหรือชั่วโมงกับอีก 14 นาทีนั่นเอง ถือว่ายาวมากเลยทีเดียว อีกองค์ประกอบของความใหม่ในงานของ Suchmos ก็คือ การกลับไปนำเอากลิ่นอายทางดนตรีของคลาสสิคร็อค ไซคีเดลิคร็อค และบลูส์ที่ทำให้เรานึกถึงศิลปินเช่น Led Zeppelin , Beatles ยุคไซคีเดลิค หรือ Joe Cocker เป็นต้น มาผสมผสานกับรูปแบบเฉพาะทางดนตรีของพวกเขาได้อย่างน่าสนใจ
คิดว่าหากใครชอบหรือคิดถึงงานเพลงในยุคนั้น เราว่าอัลบั้มนี้ถือว่าดีเลยทีเดียว แต่อาจจะแปลกใหม่หน่อยสำหรับแฟนของ Suchmos ยังไงลองฟังแทร็คที่น่าสนใจในอัลบั้มอย่าง “Water” , “In The Zoo” , “Why” และ “Roll Call” ดูก่อนได้ครับ
ฟัง “The Anymal”
“Nothing Happens” – Wallows
Wallows คือวงอเมริกันอัลเทอร์เนทีฟอินดี้หน้าใหม่ ที่มีสมาชิกหน้าคุ้นอยู่สองนาย หนึ่งก็คือ Dylan Minnette ผู้รับบทนาย Clay Jensen พระเอกหน้าจ๋อยจากซีรีย์เรื่องเยี่ยม 13 Reasons Why ซึ่งงานนี้ก็มารับบทนักร้องนำ มือกีตาร์ริธึ่มและมือคีย์บอร์ดของวง ส่วนอีกนายคือ Braeden Lemasters ที่รับบทนักร้องอีกคนของวง ควบด้วยมือลีดส์กีตาร์และมือเบส ผู้ที่เราอาจเคยเห็นหน้าเห็นตามาจากภาพยนตร์เรื่อง Easy A , และบางบทบาทที่อาจเคยผ่านตาแต่อาจจำหน้าไม่ได้เพราะเล่นตั้งแต่เด็ก เช่น ซีรีย์ NCIS และ Six Feet Under (ที่เขาเล่นตั้งแต่อายุ 9 ขวบ)
สำหรับ “Nothing Happens” อัลบั้มเปิดตัวของ Wallows ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกสามนาย คือ Dylan Minnette , Braeden Lemasters และ Cole Preston (มือกลอง) นั้นไม่ใช่งานขายความหล่อแน่ๆ แต่มีอะไรดีๆอยู่พอตัว
การที่สมาชิกทั้งสามของ Wallows เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ทั้งสามได้เคยมีประสบการณ์ร่วมกันมากมาย อีกทั้งการมองโลกและทัศนคติของทั้งสามชีวิตยังได้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันและหลอมรวมเป็นหนึ่งจนถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงใน “Nothing Happens” ที่บรรจุไว้ด้วยเรื่องราวและห้วงอารมณ์ความรู้สึกของวัยรุ่นที่กำลังจะข้ามผ่านช่วงวัยที่พวกเขาผูกพันไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่รออยู่ในอนาคตอันใกล้ได้อย่างมีรสชาติ ผ่านท่วงทำนองดนตรีแบบอัลเทอร์เนทีฟอินดี้ที่มีสีสันหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละบทเพลง ที่สะท้อนโลกของวัยรุ่นได้อย่างงดงาม
ลองฟังบทเพลงในอัลบั้มนี้อย่าง Are You Bored Yet? ที่ได้ศิลปินอินดี้สาวอย่าง Clairo เจ้าของบทเพลงฮิต “Pretty Girl” มาร่วมฟีเจอริ่งด้วย
หรืออีกเพลงคือ “Scrawny” ที่เพิ่งปล่อย MV ออกมาเมื่อไม่นานนี้
ฟัง “Nothing Happens”
“When We All Fall Asleep, Where Do We Go?”-Billie Eilish
อัลบั้มแรกในชีวิตของสาวอินดี้สุดแนว Billie Eilish ที่ปัจจุบันเจ้าตัวเพิ่งจะมีอายุแค่ 17 ปีเท่านั้นเอง นับว่าเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่อนาคตไกลของวงการเลยล่ะ
ด้วยการออกสตาร์ทตั้งแต่อายุยังน้อยด้วยวัยเพียง 14 ปีกับเพลง “Ocean’s Eyes” ที่เธอและพี่ชายอัพโหลดลง soundcloud เพียงเพื่อจะส่งงานให้ครูสอนเต้นของเธอ กลับได้กลายเป็นปรากฏการณ์และทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จัก จนกลายมาเป็นศิลปินเต็มตัวในวันนี้ที่มีผลงานน่าประทับใจมากมายทั้ง Six Feet Under, Bellyache, Watch, Copy Cat , Bored หนึ่งในเพลงประกอบซีรีส์13 Reasons Why และ Lovely ที่ได้ Khalid มาร่วมร้องด้วย
นอกจากงานเพลงจะน่าประทับใจแล้วตัวตนของเธอก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน กับลุคแบบสตรีทและการทำหน้านิ่งตลอด ไม่เคยยิ้มเลยเวลาถ่ายรูป (เอ๊ะ นี่มันเนื้อคุ่ The Toys รึเปล่าเนี่ย 55) ซึ่งเธอให้เหตุผลว่ามันทำให้เธอดูอ่อนแอและไร้พลัง แถมยังตั้งชื่ออิสตราแกรมของตัวเองได้อย่างสุดแนวอีกด้วยว่า @wherearetheavocados นี่ล่ะอินดี้ตัวจริง
มาถึง “When We All Fall Asleep, Where Do We Go?” สมศักดิ์ศรีแก่การเป็นอัลบั้มแรกของศิลปินสาวคนนี้ จริงๆ เพราะมันได้เปิดเปลือยและสะท้อนตัวตนของเธอออกมาในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะด้านงดงาม แปลกประหลาด โดดเดี่ยวเปล่าเปลี่ยว เห็นแก่ตัว และการหมกมุ่นครุ่นคิดในตัวตน ผ่านงานดนตรีและภาพลักษณ์ของความเป็นศิลปินป็อปในอารมณ์แบบโกธิคเล็กๆ อันมีส่วนผสมของความงามและความดาร์คผสานกันไป นี่ล่ะใช่เลยความเป็น Billie Eilish !
ลองฟังเพลงเปียโนบัลลาดผ่านเสียงร้องอารมณ์หม่นเศร้าของเธอในเพลง “when the party’s over”
และ “bad guy” ป็อปแทร็คโดนๆที่เพิ่งปล่อย MV สีสันจัดจ้านมาเมื่อไม่กี่วันนี้
ฟัง “When We All Fall Asleep, Where Do We Go?”
“You’re The Man” – Marvin Gaye
นี่คืออัลบั้มที่สูญหายไปของ มาร์วิน เกย์ อัลบั้มที่ควรจะได้ออกในปี 1972 แต่ก็นับว่าโชคดีที่เรามีโอกาสได้ฟังในวันนี้
หลังจากที่มาร์วิน เกย์ได้ออกอัลบั้ม ‘What’s Going On’ ในปี 1971 ท่ามกลางบรรยากาศของสังคมอเมริกันภายหลังสงครามเวียดนาม บทเพลงของเขาก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่สำคัญของประวัติศาสตร์วงการดนตรี อีกทั้งบทเพลง ‘What’s Going On’ จากอัลบั้มนี้อันมีสารสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดสันติภาพขึ้นมาบนโลกใบนี้ ก็ได้เป็นอีกหนึ่งคลื่นสำคัญที่ทำให้ผู้คนบนโลกใบนี้ได้ตระหนักถึงคุณค่าของสันติภาพ ของความสงบ อันควรเริ่มต้นจากในใจของเราและขยายไปสู่ทุกแห่งหนบนโลกใบนี้
บทเพลงของมาร์วิน เกย์คือตัวอย่างหนึ่งที่ดีของศิลปินที่ถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนสังคมที่เข้มข้นจริงจัง ผ่านท่วงทำนองดนตรีที่ไม่ทิ้งแสงแห่งความหวังและเสียงของความสุข และ ‘You’re The Man’ คือก้าวเดินต่อมาที่เกย์ตั้งใจจะมอบไว้ให้โลกนี้ หากแต่ว่าด้วยความเป็นบทเพลงที่มีสารสำคัญเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่ง Berry Gordy บอสของโมทาวน์ค่ายเพลงต้นสังกัดที่มีปัญหากับเกย์ (จากกรณีหลากหลายก่อนหน้านี้ อาทิเช่น การเอารัดเอาเปรียบ หรือ ควบคุมศิลปินจนเกินไป) เกรงว่าจะมีปัญหาอีกทั้งยังมองว่าบทเพลงนี้ขาดเมโลดี้ที่ “เย้ายวนใจ”ในแบบที่ ‘What’s Going On’ มี (รวมไปถึงอาจเคืองๆเกย์จากการประท้วงในหลายๆเรื่องก่อนหน้านี้) จึงออกมากดดันสถานีวิทยุทั้งหลายให้ยกเลิกการเปิดเพลงของเกย์ จึงทำให้ ‘You’re The Man’ ต้องถูกพับไปก่อน
ดังนั้นบทเพลงทั้ง 17 เพลงใน ‘You’re The Man’ ที่เราได้ฟังในปี 2019 นี้จึงประกอบไปด้วยงานเพลงชั้นดีจากมาร์วิน เกย์ เป็นงานรวมซิงเกิ้ลดีๆที่ไม่ได้ปล่อยออกมาของเขา รวมไปถึงงานเพลงในเวอร์ชั่นรีมิกซ์ จาก Salaam Remi โปรดิวเซอร์ของ Amy Winehouse รวมอยู่ด้วย
เป็นที่น่าสนใจว่าสิ่งที่เกย์พูดในยุคของประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน จะสามารถใช้ร่วมบริบทในยุคของโดนัล ทรัมป์ได้ จนดูราวกับว่าเกย์นี้มีทัศนวิสัยของศิลปินที่กว้างไกล อันสามารถสร้างผลงานที่ไม่สามารถจำกัดไว้ด้วย “กาละ” ได้
“We don’t wanna hear no more lies
About how you planned a compromise
We want our dollar value increased
That employment to, to rise
The nation’s taxation
Is causin’ all, all of this inflation
Don’t give us no peace sign
Turn around, rob the people blind”
แค่ท่อนนี้จากเพลง “You’re The Man” ก็ซึ้งแล้ว
บทเพลงเหล่านี้คือภาพสะท้อนของพลเมืองอเมริกัน (โดยเฉพาะคนผิวสี) ที่ดำรงอยู่ในยุคของความไม่แน่นอนของนิกสัน (และทรัมป์) รวมไปถึงความอยุติธรรมทั้งหลายประดามีที่พวกเขาต้องประสบพบเจอ (ซึ่งคนไทยเราหากฟังเพลงในอัลบั้มนี้ก็คงรู้สึกซาบซึ้งได้ไม่แพ้กัน 555)
ด้วยเหตุนี้ “You’re The Man” จึงเป็นอัลบั้มที่ควรค่าแก่การฟัง และเป็นการดีที่คนในยุคนี้จะเชื่อมต่อกับคนในยุคนั้นด้วยบทเพลงที่งดงามไร้กาลเวลา ซึ่งศิลปินได้รังสรรค์ผ่านท่วงทำนองอันงดงามและละเอียดอ่อนอันประกอบไว้ด้วยดวงใจของความห่วงใยในเพื่อนร่วมชาติและผองชนทั้งหลายในโลกใบนี้
ฟัง “You’re The Man”