ในทุกวันนี้เป็นที่รู้กันว่าดนตรีนั้นส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเราอย่างแน่นอน อย่างเช่นในเวลาที่เรากำลังขับรถฟังเพลงในวิทยุไปเพลินๆ ในยามเช้ากับเพลงเบาๆสบายๆอารมณ์ก็พลอยแจ่มใสไปด้วย แต่ทันใดนั้นพี่ดีเจก็ตัดอารมณ์ด้วยการปล่อยเพลงเศร้าออกมาเป็นเพลงต่อไป ทันใดใจก็หวนไปคิดถึงเรื่องเก่าๆ และก็พาลเศร้าขึ้นมาซะอย่างนั้น สำหรับคนทั่วไปเรื่องแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่นานอารมณ์ทั้งหลายก็จะแปรเปลี่ยนไป เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าหากเราคือคนที่กำลังเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) อยู่ล่ะ การจัดการกับอารมณ์ที่ผุดขึ้นมานั้นคงไม่ง่ายแน่นอน
จากงานวิจัยที่เคยตีพิมพ์เอาไว้เมื่อ 2-3 ปีก่อน ที่มีการเผยว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะเลือกหาสิ่งที่เศร้ามาเร้าอารมณ์มากกว่าจะหาอะไรที่สุขสนุกสนาน ในตอนนั้นเราเข้าใจกันไปว่าพวกเขาคงอยากจะหาอะไรที่มาดำรงรักษาเอาไว้ซึ่งอารมณ์เศร้าเหล่านั้น ทำไม ? เพื่ออะไร ? เราได้แต่สงสัย และในวันนี้เราก็ได้รับคำตอบใหม่ ที่อาจทำให้เราเข้าใจคนที่เป็นโรคซึมเศร้าดีขึ้นกว่าเดิม
จากงานวิจัยชิ้นใหม่ที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร Emotion ได้พาเราไปไกลกว่าข้อสรุปเดิมที่ว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักเลือกฟังเพลงเศร้าเพราะว่าอยากรักษาอารมณ์เศร้านั้นไว้ ด้วยการชี้ให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วคนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้อยากเก็บอารมณ์เศร้านั้นไว้ หากแต่รู้สึกว่าเพลงเศร้าเหล่านั้นทำให้พวกเขาสงบลงและรู้สึกดีขึ้นต่างหาก !!!
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา นำทีมโดย Sunkyung Yoon ได้ทำการวิจัยกับนักศึกษาปริญญาตรีเพศหญิงจำนวน 76 คน ในจำนวนนี้มีคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 38 คน และ ไม่ได้เป็นโรคจำนวน 38 คนเท่ากัน โดยแบ่งการวิจัยออกเป็นสองขั้นตอน ในขั้นตอนแรกได้ดำเนินตามกรอบของข้อสมมติฐานจากงานวิจัยเดิมที่ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้ที่ว่าคนเป็นโรคซึมเศร้ามักชอบฟังเพลงเศร้า ด้วยการให้ผู้ถูกทดสอบฟังคลิปเสียงความยาว 30 วินาทีโดยตัดจากเพลงเศร้า (ซึ่งมีเพลง “Rakavot” ของ Avi Balili และเพลง “Adagio for Strings” ของ Samuel Barber” ซึ่งเพลงหลังนี้ได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็น “เพลงที่เศร้าที่สุดในโลก”) เพลงสุขและเพลงกลางๆ จากนั้นให้ผู้ถูกทดสอบบอกว่ามีความรู้สึกอยากจะฟังเพลงอะไรในกลุ่มนี้อีกครั้ง ผลการวิจัยออกมาสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ว่าผู้เป็นโรคซึมเศร้ามักมีแนวโน้มที่จะเลือกฟังเพลงเศร้ามากกว่าผู้ที่มีสภาวะอารมณ์ปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม มีสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากผลของงานวิจัยในครั้งก่อน ทีมของ Yoon ได้มีการสอบถามผู้ถูกทดสอบว่าทำไมพวกเธอถึงเลือกที่จะฟังเพลงเศร้าอีก ผู้ถูกทดสอบส่วนใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้าได้ให้คำตอบว่าพวกเธอเลือกเช่นนั้นเพราะว่ามันทำให้พวกเธอรู้สึกผ่อนคลาย สงบ และ ความเศร้าทุเลาลง !!!
ส่วนที่สองของงานวิจัยได้ทำการทดสอบด้วยเพลงตัวอย่างชุดใหม่ จำนวน 84 คู่ความยาว 10 วินาทีประกอบไปด้วยเพลงบรรเลงประกอบภาพยนตร์ เพลงที่ฟังแล้วมีความสุข เพลงเศร้า เพลงที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว เพลงกลางๆและเพลงที่มีพลังขับเคลื่อนสูงและต่ำ และเช่นเดิมเมื่อผู้ถูกทดสอบได้ฟังคลิปเสียงจบแล้ว ผู้วิจัยก็จะสอบถามว่าเพลงไหนที่พวกเธออยากฟังซ้ำอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้พวกเธอจะได้ฟังคลิปเสียงทั้งหมดซ้ำอีกครั้งแล้วให้ตอบคำถามว่าแต่ละเพลงให้ความรู้สึกอย่างไรกับพวกเธอ คราวนี้ทีมวิจัยได้ค้นพบว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มในการเลือกฟังเพลงเศร้าและเพลงที่มีพลังขับเคลื่อนต่ำ ในตอนที่ผู้ถูกทดสอบได้ฟังคลิปเสียงซ้ำอีกครั้ง พวกเธอได้รายงานว่าเพลงเหล่านั้นทำให้พวกเธอรู้สึกมีความสุขมากขึ้นและเศร้าน้อยลง ซึ่งผลการวิจัยในครั้งนี้แย้งกับผลของงานวิจัยในครั้งก่อนที่ว่าคนเป็นโรคซึมเศร้ามักจะอยากฟังเพลงเศร้าเพื่อรักษาอารมณ์เศร้านั้นเอาไว้
แต่ถึงอย่างนั้นการศึกษาในครั้งนี้ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าทำไมคนที่เป็นโรคซึมเศร้าถึงรู้สึกว่าเพลงเศร้าและเพลงที่พลังงานต่ำนั้นทำให้รู้สึกดีขึ้น ซึ่งจริงๆแล้วเราก็มักจะรู้สึกว่าในยามที่เราย่ำแย่และเศร้ามอง เพลงที่มีท่วงทำนองรวดเร็ว สนุกสนานนั้นอาจจะไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจได้ง่ายกว่าในยามปกติ ซึ่งในเวลาที่เรากำลังดิ่งนั้นเพลงที่เหมาะน่าจะเป็นเพลงเบาๆสบายๆมากกว่า ซึ่งมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาในเวลาใกล้ๆกันนี้ ได้ทำการสำรวจว่าทำไมคนทั่วไปถึงชอบที่จะฟังเพลงเศร้าในยามที่เรากำลังรู้สึกเศร้า ซึ่งผู้ถูกทดสอบได้ให้คำตอบว่าพวกเขาเลือกฟังเพลงเศร้าเพราะว่ามันเหมือนกับเป็น “เพื่อนที่เข้าใจเรา” นั่นเอง
สำหรับงานวิจัยจากทีมของมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดานั้นถือว่าได้ทำให้เราเข้าใจความคิด ความรู้สึกและจิตใจของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นการศึกษาในคนกลุ่มเล็กและเป็นผู้หญิงทั้งหมด รวมไปถึงทำการทดสอบกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น (เพราะคลิปเสียงนั้นมีความยาวไม่เกินครึ่งนาทีเลย) Yoon และทีมจึงมีความเห็นเสริมว่าการศึกษาเรื่องนี้ต่อไปนั้นสิ่งที่ควรค้นหาต่อไป คือคำตอบของคำถามที่ว่า “อะไรกันแน่คือเหตุผลที่แท้จริงที่คนเป็นโรคซึมเศร้าเลือกที่จะฟังเพลงเศร้า” เพื่อขยายขอบเขตความเข้าใจต่อยอดจากผลการวิจัยในครั้งนี้ที่สรุปว่า
“คนเป็นโรคซึมเศร้านั้นเลือกที่จะฟังเพลงเศร้าเพราะว่าอยากรู้สึกสงบลงมากกว่าที่จะอยากรักษาความเศร้านั้นไว้”
Source