คำเตือน : มีสปอยล์นะครับใครยังไม่ได้ชมโปรดระวัง !!!
ในที่สุดมหากาพย์การต่อสู้อันยาวนานของเหล่าอเวนเจอร์ก็มาถึงบทสรุปในภาคสุดท้ายที่มีชื่อว่า “Avengers: Endgame” เรื่องราวทั้งหลายได้คลี่คลายและสรุปเรื่องราวได้อย่างซาบซึ้งและตราตรึงยิ่งนัก
หนึ่งในองค์ประกอบที่มีส่วนช่วยให้ผู้ชมได้เข้าถึงอารมณ์ของเรื่องราวในภาพยนตร์ และชะตาชีวิตของเหล่าตัวละครก็คือบทเพลงประกอบ ซึ่งเพลงประกอบของหนังเรื่องนี้มีอยู่ด้วยกันสองส่วน หนึ่งคืองานเพลงออริจินัลซาวด์แทร็คจากนักประพันธ์เพลงชั้นเยี่ยม อลัน ซิลเวสทรี (Alan Silvestri) ที่เคยฝากผลงานไว้ในภาพยนตร์สุดประทับใจอย่าง “Forrest Gump” รวมไปถึงภาพยนตร์ของ Marvel หลายเรื่อง อาทิเช่น Captain Ameria , Avengers ภาคแรก และภาค Infinity War
อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้เลย คือ บทเพลงประกอบที่ถูกคัดสรรมาเพื่อใส่เอาไว้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งบทเพลงที่ดีนั้นนอกจากจะช่วยยกระดับอารมณ์ของฉากนั้นๆแล้ว ยังช่วยเล่าหรือเติมเต็มในส่วนของเรื่องราวได้อีกด้วย เชื่อว่าหลายคนอาจจะสะดุดใจและนึกสงสัยว่าเพลงเหล่านี้มีเพลงอะไรบ้าง และมันมีความหมายอย่างไรต่อเรื่องราวใน “Avengers: Endgame” ผมว่าเราไปหาคำตอบกันเลยดีกว่าครับ
1. Traffic, “Dear Mr. Fantasy” (1967)
ช่วงเวลาทศวรรษที่ 60 ของอเมริกา คือ ช่วงเวลาแห่งบุปผาชน ยุคสงครามเวียดนาม บรรยากาศบ้านเมืองนั้นเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่านและความทุกข์ทรมาน กลัดกลุ้มรุมเร้า คนอเมริกันต้องถูกส่งไปรบในสงครามที่พวกเขาไม่อยากรบ และดูเหมือนว่าสงครามที่เกิดขึ้นใน Avengers การสู้รบระหว่างเหล่าฮีโร่กับธานอส ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
ในช่วงเปิดเรื่องของ Avengers: Endgame ตั้งแต่ที่โลโก้ของมาร์เวลโผล่ขึ้นมา เพลงที่ดังขึ้นมาในตอนนั้นก็คือ บทเพลงที่มีชื่อว่า “Dear Mr. Fantasy” งานเพลงในปี 1967 ของวง Traffic ดูเหมือนว่าเนื้อหาของเพลงจะเข้ากันได้ดีกับเรื่องราวใน Endgame ที่ทุกคนกำลังอยู่ในห้วงแห่งความเศร้าและหวังที่จะมีสิ่งใดมาปลุกเร้าให้พวกเขาหลุดพ้นจากห้วงเวลานี้เสียที
“Dear Mr Fantasy, play us a tune, something to make us all happy, do anything, take us out of this gloom, sing a song, play guitar, make it snappy, you are the one who can make us all laugh, but doing that you break out in tears.”
“โอ้ คุณ แฟนตาซี โปรดเล่นบทเพลง อะไรก็ได้ที่ทำให้เรามีความสุข ทำอะไรก็ได้ที่พาเราไปจากความเศร้านี้ จงขับขาน เล่นกีตาร์ อย่างแคล่วคล่อง คุณเป็นเพียงคนเดียวที่จะทำให้เราหัวเราะได้ แต่ด้วยการทำเช่นนั้นคุณคงต้องหลั่งน้ำตา”
ซึ่งไอเดียที่มาของเพลงนี้นั้น ได้เกิดขึ้นจากบรรยากาศแห่งยุคฮิปปี้ทศวรรษที่ 60 ซึ่ง Steve Winwood มือกีตาร์ของวงได้เล่าว่า
“จิตวิญญาณเดิมแท้ของสิ่งทั้งหลายได้ถูกจับใส่ไว้ในบทเพลงนี้ ที่ไม่มีสิ่งใดพิเศษเลยทั้งเมโลดี้ คอร์ดที่ใช้ และอะไรต่อมิอะไร ทุกอย่างมันดูเรียบง่ายไปหมด เนื้อเพลงนั้นก็แสนเรียบง่ายแถมทั้งเพลงยังร้องซ้ำไปมาถึงสามครั้ง เราไม่รู้สึกถึงความแข็งแรงของมันเลย จนกระทั่งเราทำมันเสร็จ ซึ่งเป็นตอนที่เราเริ่มรู้สึกถึงความหมายที่แท้จริงของมัน”
-
The Kinks, “Supersonic Rocket Ship” (1972)
เพลงนี้มาในตอนที่ฮัคและร็อคเก็ตเดินทางไปยังนิวแอสการ์ด มันเป็นบทเพลงในปี 1972 จาก The Kinks หนึ่งในตำนานวงร็อคของอังกฤษ
“Supersonic Rocket Ship” ดูเหมือนว่าจะเป็นเพลงที่เป็นภาคต่อจากซิงเกิ้ลที่ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้สองสามปีนั่นคือ “Apeman” เพราะว่าทั้งสองเพลงต่างพูดถึงความปรารถนาที่จะออกจากปัญหาในโลกสมัยใหม่ ในขณะที่ ตัวละครในเพลง “Apeman” อยากที่จะหนีกลับไปสู่วิถีชีวิตแบบยุคหินและใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ ผู้เล่าเรื่องใน “Supersonic Rocket Ship” นั้นอยากที่จะหนีออกไปจากโลกนี้เลย ไปค้นหาสถานที่ที่ไม่มีพลเมืองชั้นสอง มีแต่ความเท่าเทียมและไม่มีการกดขี่คนกลุ่มน้อย “Nobody’s gonna travel second class / There’ll be equality / And no suppression of minorities.”
ซึ่งเหตุผลที่เพลงนี้ถูกใส่ไว้ในฉากที่ฮัคและร็อคเก็ตเดินทางไปยังนิวแอสการ์ดนั่นก็คงเป็นเพราะว่าหนึ่งเลยคือท่วงทำนองของเพลงที่มีกรู๊ฟแบบดนตรีแคริบเบียน ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นเมืองท่าชายทะเลของนิวแอสการ์ด นอกจากเหตุผลนี้ก็คงเป็นด้วยเนื้อหาของเพลงที่ว่าด้วยการหลบลี้หนีปัญหา ไปอยู่ใต้ร่มชายของที่ที่เราปรารถนา ซึ่งก็เหมือนกับธอร์ที่เหนื่อยล้ากับศึกสงครามและการสูญเสียที่ผ่านมานั่นเอง
-
Rolling Stones, “Doom and Gloom” (2012)
“Doom and Gloom”เป็นเพลงล่าสุดที่แต่งโดย มิค แจ๊คเกอร์และคีธ ริชาร์ด โดยถูกใส่ไว้เป็นโบนัสแทร็คหนึ่งในสองเพลงจากอัลบั้ม Grrr! ในปี 2012 เนื้อเพลงมีการพูดถึงปัญหาสังคม เช่นปัญหาเศรษฐกิจ และการพบเจอกับความหวังที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ได้นั่นก็คือหญิงสาวคนหนึ่งนั่นเอง (เนื้อเพลงนี้ท่อนแรกมีการอ้างอิงไปถึงเรื่องราวในซีรีย์ HBO เรื่อง True Blood ด้วย)
I had a dream last night
That I was piloting a plane
And all the passengers were drunk and insane
I crash landed in a Louisiana swamp
Shot up a horde of zombies
But I come out on top
What’s it all about?
Guess it just reflects my mood
Sitting in the dirt
Feeling kind of hurt
ซึ่งแจ็คเกอร์บอกว่าเพลงนี้มันเป็นเพลง “ร็อคที่เร่าร้อนที่ทำให้คุณอยากลุกขึ้นมาเต้น และมันไม่ได้เศร้าอะไรเลยว่ะ ! แถมมันยังสนุกและทำเสร็จง่ายๆเลย”
เพลงนี้ถูกใช้ในตอนที่เหล่าอเวนเจอร์ได้ใช้เครื่องสร้างมิติควอนตัมย้อนเวลากลับไปในอดีต ซึ่งทีมของกัปตันอเมริกาได้ไปโผล่ที่สมรภูมิรบกับเหล่าสัตว์ประหลาดในนิวยอร์ค และในตอนนั้นเองที่บทเพลงนี้ได้บรรเลงขึ้นมา ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาของเพลงที่พูดถึงความสับสนอลหม่านในสังคมและความหวาดกลัวที่มีต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้
-
Steppenwolf, “Hey Lawdy Mama” (1970)
มาต่อกันที่อีกเพลงที่สะท้อนบรรยากาศของยุคสมัย ซึ่งถูกใช้ในฉากที่แสตน ลี ปรากฏตัวมาเป็น cameo ครั้งสุดท้าย ในขณะที่เขากำลังสั่งสอนเหล่าทหารหาญทั้งหลายให้ “make love, not war,” อันมีเพลง “Hey Lawdy Mama” ของ Steppenwolf เป็นฉากหลังซึ่งพาเรากลับไปในบรรยากาศของยุคสงครามเวียดนามอีกครั้ง
เพลงนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเพลงแรกที่ใช้อุปกรณ์ที่มีชื่อว่า “Talk Box” ซึ่งเป็นเอฟเฟคกีตาร์ที่ใช้เสียงของเราทำโดยเราจะทำเสียงผ่านท่อสายยางที่ส่งตรงมาจากเอฟเฟคกีตาร์ในขณะที่เรากำลังเล่นกีตาร์ไปด้วย ซึ่งเราจะได้ยินจากท่อนโซโล่เอาท์โทรของเพลงนี้ หลังจากเพลงนี้ออกมาคนที่ทำให้เจ้าเอฟเฟคกีตาร์ “Talk Box” เป็นที่นิยมก็คือ Peter Frampton และ Joe Walsh สองนักร้องนักกีตาร์และนักแต่งเพลงชาวอเมริกันนั่นเอง
-
Harry James and His Orchrestra และ Kitty Kallen , “It’s Been a Long, Long Time” (1945)
คงไม่มีเพลงประกอบไหนที่ชวนซาบซึ้งใจและทำให้เราได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศอันโรแมนติคที่เหมาะกับการเป็นช่วงเวลาปิดม่านลงของภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมเรื่องนี้อีกแล้ว
เพลง “It’s Been a Long, Long Time” เป็นบทเพลงแจ๊ซจากปี 1945 บันทึกเสียงโดย Harry James มือทรัมเป็ตชื่อดังและวงออเครสตร้าของเขา และมี Kitty Kallen เป็นผู้ขับร้อง เพลงนี้ถูกเปิดในฉากที่ สตีฟ โรเจอร์ หรือพี่แคปของเราได้เดินทางกลับไปยังอดีต และเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่กับหญิงคนรัก เพ็กกี คาร์เตอร์ โดยทั้งคู่ได้โอดกอดและเต้นรำเคียงคู่เคล้าคลอกันไป
ซึ่งยุคที่พี่แคปของเราย้อนกลับไปนั้นก็คือทศวรรษที่ 40 ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงดังที่ไต่ขึ้นอันดับหนึ่งของชาร์ตเพลงในปี 1945 จึงทำให้มันเป็นเพลงดังเพลงหนึ่งในยุคนั้น ดังนั้นการที่พี่แคปจะเต้นกับ เพ็กกี โดยมีเพลงนี้เป็นบรรยากาศจึงเป็นการเหมาะที่สุดแล้ว (จริงๆแล้วเพลงนี้เคยถูกใช้ใน Captain America: Winter Soldier ด้วย โดย Nick Fury เป็นคนเปิดมันในตอนที่เข้าไปในอพาร์ตเมนต์ของแคป)
นอกจากนี้เนื้อหาของเพลงนี้ยังเกี่ยวกับเหล่าทหารที่เดินทางกลับมาจากสงคราม (ช่วงนั้นเป็นสงครามโลกครั้งที่สองปี 1945 คือปีที่สิ้นสุดสงครามพอดี) ซึ่งมันช่างเหมาะเจาะกับพี่แคปที่เพิ่งกลับจากการรบกับธานอสและเหล่าร้าย อีกทั้งเนื้อเพลงสุดโรแมนติคอย่างในท่อน “Never thought that you would be standing here so close to me”. ไม่คิดเลยว่าในวันนี้คุณจะมายืนอยู่ใกล้กับผมได้ถึงเพียงนี้ ก็ช่างเข้ากันได้ดีอะไรขนาดนี้ อีกทั้งในวินาทีที่เพ็กกีกำลังอึ้งกับภาพของชายหนุ่มคนรักที่ยืนอยู่ตรงหน้าเธอก็ได้เอ่ยออกมาว่า “It’s been so long, so long.” มันช่างยาวนานเหลือเกิน นานเหลือเกิน ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเพลงและเรื่องราวในบทเพลงสุดโรแมนติคเพลงนี้นั่นเอง
และด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นบทสรุปจบที่แสนประทับใจและจะตราตรึงอยู่ในใจของพวกเราไปตราบนานแสนนาน
Source