มาพบกันอีกครั้งใน [สัปดาห์นี้มีอะไรฟัง] ประจำสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคมนะครับ สำหรับในสัปดาห์นี้ก็ยังคงมีงานเพลงดีๆมาแนะนำให้เพื่อนๆได้ฟังกันเช่นเคย ซึ่งทั้งสี่อัลบั้มที่มาแนะนำในสัปดาห์นี้นี้ก็เป็นผลงานใหม่จากศิลปินที่รู้จักกันดีอยู่แล้วทั้งนั้นเลย ซึ่งจะมีอัลบั้มใดของศิลปินคนไหนนั้น เราไปลองดูลองฟังกันเลยครับ
“Spirit” – RHYE
ผลงานอัลบั้มล่าสุดจาก RHYE ศิลปินที่มาพร้อมแนวดนตรีแบบ R&B /POP ผสาน Soul กับท่วงทำนอง ล่องลอยเคลิบเคลิ้ม ชวนฝัน ให้บรรยากาศเหมือนมีหมอกจางๆและควันปกคลุมตลอดเวลา
กลับมาคราวนี้ RHYE , ซึ่งก็คือหนุ่มนักดนตรีและโปรดิวเซอร์ชาวแคนาเดียน Mike Milosh กับเพื่อนคู่หู นักดนตรีชาวแดนิช Robin Hannibal ได้กลับมาอีกครั้งพร้อมท่วงทำนองอันเซ็กซี่ นุ่มนวล ชวนฝัน ในแบบที่เราคุ้นเคย หากแต่คราวนี้ Rhye ได้ขยับใกล้เข้ามาสู่ห้วงลึกภายในจิตใจมากขึ้น โดยในงานชิ้นนี้ Milosh ได้ถ่ายทอดช่วงเวลาของการสะท้อนตัวตนจากข้างใจ กลั่นกรองถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงทั้ง 8 แทร็ค ที่ทำให้งานเพลงใน “Spirit” มีความเป็นอัตวิสัยที่โดดเด่นชัดเจนกว่างานชิ้นก่อนๆที่ผ่านมา แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่งานประกาศศักดาแห่งตัวตน หากแต่เป็นการเปิดเปลือยตัวตนอย่างอ่อนโยน สง่างาม และลุ่มลึก ผ่านเสียงร้องนุ่มแผ่วหวานราวเสียงหญิงสาว และดนตรีที่มีความน้อยแต่มาก
“เปียโน” คือเครื่องดนตรีที่เป็นพระเอกของงานในอัลบั้มนี้ หากจะมีเครื่องดนตรีอื่นอย่างกีตาร์หรือเครื่องสาย ก็ทำได้เพียงรับบทสมทบ ซึ่งแนวคิดในการทำเพลงอัลบั้มนี้เกิดขึ้นจากการที่ Milosh ได้รับเปียโนจากแฟนสาวที่ตั้งใจนำมันมาเพื่อเซอร์ไพรซ์เขา จากนั้นในทุกๆเช้าเขาจะตื่นขึ้นมาเล่นเปียโนตัวนี้ และไอเดียในการทำเพลงก็เริ่มต้นขึ้นมาจากจุดนี้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้งานเพลงในอัลบั้มนี้เสมือนหนึ่งเป็นการอุทิศให้แด่เปียโนและแฟนสาวของเขานั่นเอง
และด้วยการที่ Milosh เริ่มแต่งเพลงมาจากเปียโนจึงทำให้เขามีไอเดียที่จะร่วมงานกับศิลปินที่ใช้เปียโนเป็นรากฐานในการทำงานด้วยเช่นกัน อาทิเช่น Ólafur Arnalds เจ้าพ่อดนตรีแอบเบียนต์ ที่มาร่วมสร้างสีสันด้วยกันในเพลง “Patience” ที่เล่าเรื่องของความอดทนที่จำเป็นในยามห่างไกลจากคนรัก
ตลอดช่วงเวลา 28 นาทีจากบทเพลงทั้ง 8 นั้น ไม่มีความน่าเบื่อหรือหน่วงหนืดอะไรเลย ทุกบทเพลงต่างถูกร้อยเรียงมาอย่างสมเหตุผล กลมกลืน กลมกล่อม และรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของ Rhye เอาไว้ได้อย่างชัดเจน ทั้งเสียงร้องและท่วงทำนอง โดยแต่ละเพลงก็ต่างใส่ลูกเล่นเอาไว้ให้มีความน่าสนใจและทำเอาเราเพลิดเพลินไปจนจบการเดินทางเข้าสู่ห้วงลึกแห่งตนอันงดงามนี้
ฟัง “Spirit”
“Here Comes The Cowboy” – Mac DeMarco
ในอัลบั้มก่อนของ Mac DeMarco นักดนตรีหนุ่มแคนาเดียนจาก L.A. ผู้อารมณ์ดีขี้เล่นคนนี้ ได้เล่าเรื่องราวส่วนตัวทั้งการเติบโตและความสัมพันธ์ในครอบครัวผ่านท่วงทำนองเนิบช้า ชิลๆ หวานๆ กลับมาคราวนี้กับผลงานในอัลบั้มเต็มชุดที่ 4 Here Comes the Cowboy ยิ่งชิลกว่าเดิมอีก โดยเดมาร์โค ได้ถ่ายทอดมันผ่านไอเดียเรื่อง “Cowboy”ซึ่งเขามองว่าคาวบอยคือกลุ่มคนที่มีความเท่ ความแมน แบบไม่เสแสร้งแกล้งทำ มีความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ซึ่งงานเพลงในอัลบั้มนี้ก็ดูเหมือนว่าจะมีคาแร็คเตอร์แบบนั้น
ใน “Finally Alone” และ “Hey Cowgirl” เดมาร์โค ถ่ายทอดความปรารถนาที่อยากจะหลบเร้น หลีลี้ออกมา โดยทั้งสองเพลงมีการเล่นกีตาร์ที่ดิบเด่น เสียงดังฟังชัด คลอไปกัยลูกสแนร์นุ่มๆเป็นจังหวะคลอไป และแน่นอนมันคงไม่ใช่อัลบั้มของเดร์มาโคหากมันไม่ได้มีเพลงรักอยู่ด้วย “K” กับ “Heart to Heart” คือสองเพลงรักหวานฉ่ำในแบบฉบับของเดมาร์โค ที่หวานและเพราะมาก และหากจะมีเพลงไหนที่ดูคาวบอยที่สุดมันก็คงจะเป็น “Little Dogs March” ที่มาพร้อมท่วงทำนองเนิบๆ มีเสียงตบเท้าดังกุบกับๆ เหมือนเสียงเดินของม้า ฟังแล้วให้ภาพคาวบอยบนหลังม้าที่ดุ่มเดินไปท่ามกลางพื้นที่รกร้างยามตะวันรอน
ฟัง “Here Comes The Cowboy”
“Oh My Messy Mind” EP – James Bay
ในปี 2015 เจมส์ เบย์นักร้องนักแต่งเพลงหนุ่มจากอังกฤษได้เปิดตัวอย่างงามสง่าด้วยอัลบั้ม Chaos and the Calm ผ่านท่วงทำนองในสไตล์วินเทจบลูส์ ร็อคและป็อป สามปีต่อมาเบย์ไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิมหากแต่ได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆกับงานเพลงในอัลบั้ม Electric Light ที่มีความเป็นอัลเทอร์เนทีฟ อาร์แอนด์บี ผสานด้วยโพสต์พังค์ ฟังค์ร็อค ได้อารมณ์ไปอีกแบบ
กลับมาคราวนี้ในอัลบั้ม EP ชุดล่าสุด กับสี่บทเพลงใน Oh My messy Mind เบย์ได้กลั่นกรองประสบการณ์และทักษะในการร้องการเล่น และเขียนเพลงออกมาอย่างเต็มที่อีกครั้ง บทเพลงเปิดอย่าง “Peer Pressure” ที่ได้นักร้องสาว Julia Michaels มาฟีเจอริ่งนั้นเป็นตัวอย่างอันดี ที่ทำให้เห็นถึงผลงานคุณภาพและการกลับไปสานต่อในแนวทางที่เบย์เคยวางไว้ใน Chaos and the Calm แต่ได้เพิ่มความเข้มข้น ให้เหมาะสมต่อการเล่นไลฟ์ที่ใหญ่ขึ้นๆไปเรื่อยๆ ตลอดการเดินทางที่ผ่านมาของเบย์
“Bad” บทเพลงห้วงอารมณ์เศร้าและเสียงร้องบาดลึกของเบย์ ที่เขาร้องปล่อยออกมาสุดอารมณ์ ใน “Rescue” เบย์ได้รวมเอาความรักในดนตรีบลูส์ใส่ไว้กับท่วงทำนองของฮิปฮอปและกอสเปล และปิดท้ายด้วยบัลลาดนุ่มๆเหงาๆ ที่เบย์ขับขานความเหงาคละเคล้ากับเสียงเปียโนอุ่นใน “Break My Heart Right”
ฟัง “Oh My Messy Mind”
“Sometimes It’s Something, Sometimes It’s Nothing At All” – Passenger
หลังจาก “Let Her Go” Passenger หรือในชื่อจริงว่า “ไมเคิล เดวิด โรเซ็นเบิร์ก” ก็ไม่ได้รับแสงสปอตไลท์อีกเลย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผลงานของเขาเสื่อมคุณภาพลงแต่อย่างใด หากแต่เขายังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานในแนวทางที่เขาเชื่ออย่างต่อเนื่องต่อไป
หลายคนมองว่าเพลงของ Passenger มีความซ้ำซากจำเจ ฟังกี่เพลงกี่อัลบั้มก็เหมือนเดิม ซึ่งเราก็ไม่เถียงแต่อย่างใด แต่เรากลับมองว่าในขณะที่ดนตรีในแต่ละเพลง และในแต่ละอัลบั้มของ Passenger มีความคล้ายคลึงกันมาก สิ่งที่เราจะไปโฟกัสได้กลับกลายเป็นเนื้อหาของแต่ละบทเพลง ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ถือได้ว่ายังไงงานเพลงของ Passenger ก็มีความน่าสนใจ เหมือนเราได้ฟังเรื่องเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไปในแต่ละเพลง และแต่ละอัลบั้ม ผ่านเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์และท่วงทำนองแบบอะคูสติคโฟล์คกับการเกากีตาร์เพราะๆที่เราเคยหูกันดีอยู่แล้ว
อย่างไรเสียงานเพลงของ Passenger ก็ยังคงเป็นงานที่งดงาม ไพเราะ และชี้ชวนให้เรามองเห็นโลกในด้านที่สดใสแบบไม่ได้ฟุ้งฝันหากแต่สะท้อนภาพความเป็นจริงเหล่านั้นออกมา ทำให้มันเป็นผลงานที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง
อ้อ แถม Passenger ยังเป็นคนใจบุญด้วยอีกนะ เพราะกำไร 100% จากรายได้ในอัลบั้มนี้ เขาขอมอบให้กับองค์กร Shelters ในอังกฤษ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลช่วยเหลือคนไร้บ้านอีกด้วย
ฟัง “Sometimes It’s Something, Sometimes It’s Nothing At All”