มาถึงช่วงสัปดาห์สุดท้าย ส่งท้ายปลายเดือนพฤษภาย่างเข้าสู่มิถุนายน หน้าร้อนกำลังจะผ่านไปหน้าฝนก็ใกล้เข้ามา(แต่อากาศก็ยังคงร้อนอยู่ดี) ช่วงนี้จึงเริ่มมีฝนลงมาในหลายพื้นที่ อย่างน้อยก็มีสายฝนให้ชุ่มฉ่ำใจบ้าง ใครที่จะต้องเดินทางไปไหนก็ระวังฟ้าระวังฝน ด้วยนะครับ
ส่วน [สัปดาห์นี้มีอะไรฟัง] ในสัปดาห์นี้เราก็มีอัลบั้มดีๆมาแนะนำให้ได้ฟังกันถึง 4 อัลบั้ม ที่ขอแนะนำเป็นพิเศษเลยก็คือ “Atlanta Millionaires Club” จาก Faye Webster ที่เพราะมากเลย ฟังง่ายด้วย คิดว่าน่าจะถูกหูคนไทยแน่นอนครับ นอกจากนี้ยังมีอัลบั้มดีๆจาก Flying Lotus ที่ขนเพลงมากว่า 27 เพลงฟังกันให้จุใจไปเลย ส่วน Morissey อดีตนักร้องนำ The Smiths ก็หยิบจับเอาเพลงเก่ามาทำใหม่ได้น่าสนใจใช่เล่น และปิดท้ายด้วยอัลบั้มอิเล็คทรอนิคส์ไทยดีๆที่ไม่ควรพลาดจาก “Cut The Crab” ครับ
“Atlanta Millionaires Club”- Faye Webster
จดหมายรักจากใจถึงนาย Jonny
อัลบั้มที่สามจากศิลปินหญิงอัลเทอร์เนทีฟโฟล์ควัย 21 ปี นาม “Faye Webster” ที่มาพร้อมบทเพลงรักเศร้าหวานที่ผสมความป็อป โฟล์ค อาร์แอนด์บี ผสานเสียงร้องพลิ้วแผ่วหวานและแอบกวนเล็กๆในเนื้อเสียง ให้เข้ากันอย่างกลมกล่อมเต็มที่ ผ่านเสน่ห์ของเครื่องดนตรีอย่างเปียโนไฟฟ้า กีตาร์เหล็กและฮอร์น
Faye Webster นี่เป็นคนเก่งใช่เล่นนอกจากจะทำงานเพลงแล้ว เธอยังเป็นช่างภาพอีกด้วย โดยภาพสไตล์ที่เธอถ่ายส่วนใหญ่ จะเป็นภาพ portrait ของเหล่าแร็ปเปอร์ที่เธอรู้จัก Faye เติบโตมาในครอบครัวนักดนตรี อิทธิพลทางดนตรีโฟล์ค คันทรี่ และบลูกราสถูกส่งผ่านมาทางคุณแม่และคุณตาของเธอ เธอมีอัลบั้มแรกตั้งแต่อายุ 16 ขวบในชื่อ Run & Tell (2013) ที่มาในทางโฟล์คแบบเต็มๆเลย ก่อนที่จะมาเซ็นสัญญากับค่าย Awful Records และปล่อยอัลบั้มที่สองออกมาในปี 2017 โดยใช้ชื่ออัลบั้มเป็นชื่อของเธอเอง ก่อนจะมาสู่อัลบั้มที่สาม “Atlanta Millionaires Club”
บทเพลงทั้ง 10 จาก “Atlanta Millionaires Club” ถ่ายทอดเรื่องราวจากมุมมองความรักในชีวิตของเธอ โดยมีเมือง Atlanta ถิ่นอาศัยเป็นฉากของเรื่องราวในบทเพลงทั้งหมด “Why won’t you come here to visit? / Why do you only speak of it? / When will you come to Atlanta? / I want to see you here in Atlanta” เธอเอื้อนเอ่ยเพื่อให้คนรักเก่าหวนคืนกลับมายังแอตแลนต้าผ่านท่วงทำนองที่มีลีลาของดนตรีอาร์แอนด์บีในเพลง “Come To Atlanta”
ตรงใจกลางอัลบั้ม ในเพลง “Jonny” เธอส่งสารรักผ่านท่วงทำนองแผ่วหวาน “Jonny, did you ever love me? / Jonny, help me figure it out” เสียงฮอร์นที่ซึมแทรกผ่านท่วงทำนองอาร์แอนด์บีในเพลงนี้มันช่างบาดใจนัก จากนั้นเธอได้มาสรุปจบในเพลงสุดท้าย “Jonny (Reprise)” “Jonny, why couldn’t you be ready, too? / I was ready, ready to be happy / Ready for that long look that never ends/ And, now, I don’t know what to do… Goodbye, Jonny”
ดูเหมือนว่าทุกอย่างในอัลบั้มนี้จะลงตัวเต็มที่แล้ว เพราะ Faye เองก็ปรับแต่งมันจนเรียกว่า “เจ็บ” ได้ใจ เหมือนดังในเพลง “Hurts Me Too” แทร็คนี้ที่เราอยากแนะนำ ด้วยท่วงทำนองเหงาเศร้าหวานบาดใจ ที่จะต้องถูกหูผู้ฟังแน่นอน ในเพลงนี้เธอบอกว่า “And I am done changing words / Just so my songs sound prettier / I just don’t care if it hurts/ ‘Cause it hurts me too”
มั่นใจว่าทั้ง 10 เพลงจาก “Atlanta Millionaires Club” จะเป็นบทเพลงรักที่คุณจะต้องประทับใจแน่นอน
ฟัง “Atlanta Millionaires Club”
“California Son” – Morrissey
งานคัฟเวอร์ 12 บทเพลงจาก 12 ศิลปินอเมริกันในยุค 60-70 ถ่ายทอดผ่านเสียงร้องของ Morissey
ถึงแม้จะเป็นคนอังกฤษมาแต่กำเนิด และประสบความสำเร็จจากวงร็อคเลือดอังกฤษ “The Smiths” แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตนับตั้งแต่ออกจากวงมา Morissey นักร้องนำของวงเจ้าของเสียงร้องเปี่ยมเสน่ห์ที่แฟนๆยังจดจำได้ดี ก็โยกย้ายไปอาศัยอยู่ในแอลเอเป็นเวลากว่า 20 ปี ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีความคิดอยากจะรวบรวมบทเพลงที่เป็นตัวแทนของแสงตะวันสาดส่องในแคลิฟอเนียร์ถิ่นอาศัยจนออกมาเป็นอัลบั้มนี้ในที่สุด
“California Son” เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 12 ในฐานะศิลปินเดี่ยวของ Morissey อดีตนักร้องนำวง The Smiths ที่คราวนี้ได้หยิบจับเอาบทเพลงในยุค 60-70 มา 12 เพลงเพื่อเรียบเรียงและร้องใหม่ในสไตล์ของ Morissey ซึ่งมีทั้ง “Only a Pawn in Their Game” ของ Bob Dylan , “Don’t Interrupt the Sorrow” ของ Joni Mitchell , “It’s Over” ของ Roy Orbison และ “Wedding Bell Blues” งานเพลงจากปี 1966 ของ Laura Nyro ที่ได้ Billie Joe Armstrong แห่งวง Green Day มาร่วมร้องด้วย งานนี้นอกจาก Billie แล้วยังมีศิลปินคนอื่นๆมาร่วมแจมด้วยอีกมากมายทั้ง Ariel Engle, Ed Droste จากวง Grizzly Bea, LP, Lydia Night, Petra Haden & Sameer Gadhia
จะออกมาน่าฟังแค่ไหนไปพิสูจน์กันดูครับ
ฟัง “California Son”
“Flamagra” – Flying Lotus
สุดขีดขั้นแห่งอิเล็คทรอนิคส์ แจ๊ซ-ฟังก์
“Flamagra” เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่หกจากโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันนาม Steven Ellison หรือพี่บัวบิน Flying Lotus นั่นเอง ซึ่งออกมาห่างจากอัลบั้มก่อนหน้า You’re Dead! (2014) กว่า 5 ปี อัลบั้มนี้มีศิลปินมาร่วมแจมมากมาย ที่พีคที่สุดสำหรับคอหนังเลยก็คือเพลง “Fire Is Coming” ที่ได้ผู้กำกับหนังสายหลอนลึกระดับเทพอย่าง “David Lynch” มาร่วมฟีเจอร์ริ่งด้วย (หลายคนอาจยังไม่รู้ว่านอกจากทำหนังแล้ว David Lynch ยังเป็นคนทำเพลงอีกด้วย โดยมีอัลบั้มเป็นของตัวเองแล้ว 3 อัลบั้ม ยังไม่นับที่เป็นซาวด์แทร็ค อัลบั้ม Spoken Words (คือพูดบรรยายไปเรื่อย) และที่ทำร่วมกับคนอื่นรวมๆแล้วเป็นสิบอัลบั้ม) ซึ่งในแทร็คนี้พี่ก็มาแบบในแนว spoken-word เหมือนกัน โดย Ellison เริ่มต้นงานเพลงอัลบั้มนี้จากการเก็บเกี่ยววัตถุดิบตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จนได้คอนเซ็ปต์ว่าด้วยเรื่องของ “ไฟ” โดยจินตนาการถึง “ไฟที่ไม่มีวันมอดดับบนยอดขุนเขา” จนกระทั่งได้มาฟัง David Lynch พูดในงานปาร์ตี้ที่ Ellion ได้ไปร่วมด้วย จนประทับใจและอยากให้พี่ Lynch มาพูดใส่ในอัลบั้มบ้าง จนได้ร่วมงานกันในที่สุดอย่างที่เราได้ยินในเพลง “Fire Is Coming” ซึ่งจะหลอนแค่ไหนลองไปฟังกันดูนะครับ
ซึ่งนอกจาก David Lynch แล้วกองทัพศิลปินที่มาร่วมแจมด้วยก็มีตั้งแต่ Anderson Paak, George Clinton, Little Dragon, Tierra Whack, Denzel Curry, Shabazz Palaces ไปยัน Thundercat, Toro y Moi และSolange แต่ละคนสุดๆทั้งนั้นเลย
ลองฟังกันดูนะครับ รับรองจะผ่าน 27 เพลงไปแบบเพลินๆโดยไม่รู้ตัว เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่น่าจดจำ
ฟัง “Flamagra”
“Cut The Crab” – Cut The Crab
งานเพลงอิเล็คทรอนิคส์จังหวะดี-เมโลดี้ไพเราะ
เป็นอัลบั้มที่ออกมาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ตกหล่นไปยังไม่ได้แนะนำให้เพื่อนๆฟังกัน ไม่อยากให้พลาดอัลบั้มดีๆของศิลปินไทยอินดี้เลยอยากมาแนะนำให้ได้ฟังกันในสัปดาห์นี้ครับ
“Cut The Crab” เป็น EP อัลบั้มแรกจากวงอิเล็คทรอนิคส์อินดี้สายเลือดไทย สไตล์อินเตอร์นาม “Cut The Crab” ที่ทำเพลงออกมาได้ถึงซึ่งอารมณ์มากๆ เป็นการผสานองค์ประกอบของซาวด์อิเล็คทรอนิคส์ให้เข้ากับกลิ่นอายทางดนตรีที่หลากหลายได้อย่างลงตัว ในแต่ละเพลงมีการดีไซน์ให้มีรสชาติทางดนตรีที่แตกต่างกันออกไป ส่วนแขกรับเชิญที่เข้ามาเสริมรสชาติในบางเพลงนั้นก็เป็นส่วนผสมที่ใช่เลย
Cut The Crab เป็นวงที่ชอบใช้ Hardware Synth ในการทำเพลง ตัวเพลงมีจังหวะจะโคนชวนโยก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เพลงอิเล็คทรอนิคส์ที่ตึ้บแน่นอึดอัด หากแต่ผสานไว้ด้วยความหวานที่กลมกล่อมชวนเคลิบเคลิ้ม กล่าวคือเป็นเพลงที่จังหวะดีและมีเมโลดี้ไพเราะนั่นเอง ส่วนการจัดวางท่อนเพลงเพื่อเล่นกับอารมณ์ในแต่ละเพลงนั้นมีการไล่ระดับและทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว นอกจากนี้การเรียบเรียงส่วนประกอบของเครื่องดนตรีต่างๆในแต่ละเพลงก็มีความน่าสนใจไม่ว่าจะเป็นซินธ์ กลอง หรือกีตาร์ อย่างในเพลง “Try To Forget” ที่ได้ พี่ปั๊ม อพาร์ตเมนต์คุณป้า มาร่วมแจมร่ายลีลากีตาร์ นั้นก็เท่ได้ใจเลยทีเดียว
หรือจะเป็น “ไม่มีคำตอบ” (Without You) ที่เปิดมาด้วยซินธ์หวานๆ ก่อนจะถูกเติมแต่งด้วยเสียงร้องหวานใสของ ดิว Kidnapper ก็ยิ่งทำให้เพลงนี้เป็นอีกหนึ่งแทร็คที่น่าฟัง
ส่วน “ถ้าคิดเหมือนกัน” ก็เป็นอีกแทร็คหนึ่งที่อยากแนะนำเป็นการเอาดนตรีโซล อาร์แอนด์บีมาใส่ในดนตรีอิเล็คทรอนิคส์ได้แบบใช่เลย ทั้งท่วงทำนองทั้งเสียงร้องของเพลงนี้และเพลง Try To Forget นี่ชวนให้คิดถึงงานเพลงของบุรินทร์เลย แต่เป็นบุรินทร์ในเวอร์ชั่นโซลอิเล็คทรอนิคส์ และหากใครชอบสายดาร์ค หม่นๆหน่อยก็ต้อง “Things go Bad” ที่มาพร้อมซินธ์บาดใจ กับซาวด์ซินธ์ที่เลเยอร์หนึ่งวิ่งๆ อีกเลเยอร์หนึ่งหนึบหน่วง อีกทั้งเสียงร้องล่องลอยที่พร้อมจะพาอารมณ์เราให้หลุดไปในห้วงอารมณ์แห่งดนตรี
ขอเชิญไปพิสูจน์งานอิเล็คทรอนิคส์ดีๆจากศิลปินไทยใน Cut The Crab ได้เลยครับ
ฟัง “Cut The Crab”