กลายเป็นกระแสใหญ่โตเลยทีเดียวเมื่อ ลุงตู่ หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แนะนำให้อ่านหนังสือการเมืองเรื่อง แอนิมอล ฟาร์ม (Animal Farm) ผลงานของ จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษ จนทำให้เราถึงกับต้องไปหามาอ่าน และได้แต่สงสัยว่าทำไม ท่านนายกฯถึงอยากให้เราคนไทยอ่านหนังสือเล่มนี้นัก จนทำให้หลายฝ่ายออกมาตีความวัตถุประสงค์ในครั้งนี้ รวมไปถึงศึกษาหาความหมายที่ซ่อนไว้ในหนังสือเล่มนี้
หากพูดถึง แอนิมอล ฟาร์ม ของ จอร์จ ออร์เวลล์ แล้วคงต้องบอกว่านี่คือหนังสือที่เราควรจะต้องอ่านสักครั้งในชีวิต (ถึงแม้จะไม่มีใครแนะนำก็ตาม) แอนิมอล ฟาร์ม เป็นนวนิยายสั้นเชิงอุปมานิทัศน์ที่เขียนโดยจอร์จ ออร์เวลล์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 (ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองใกล้สิ้นสุด) นิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซียและการครองอำนาจของสตาลิน โดยใช้สัตว์เป็นตัวดำเนินเรื่อง ออร์เวลล์ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตยมองว่าสหภาพโซเวียตนั้น “ปกครองอย่างโหดร้าย” และเขาใช้นิยายเรื่องนี้เพื่อเสียดสีการปกครองของสตาลิน รวมถึงความพยายามอันน่ากลัวของสตาลินในการสร้างกรรมสิทธิ์ร่วมในพื้นที่เกษตรกรรมของสหภาพโซเวียต อันเป็นผลให้ชาวโซเวียตต้องเสียชีวิตหลายล้าน โดยออร์เวลล์ได้มีการเปรียบเทียบสัตว์ทั้งหลายให้กลายเป็นภาพแทนคนลักษณะต่างๆในสังคม อาทิเช่น หมู (ชื่อนโปเลียน) เป็นตัวแทนของผู้ปกครองแบบเผด็จการ อีกา เสียดสีนักบวชในศาสนาคริสต์ว่ามีลักษณะชอบประจบสอพลอเจ้านาย เวลาเจ้านายพูดอะไรก็จะเออออห่อหมกด้วยเหมือนลูกขุนพลอยพยัก และมีลักษณะเจ้าเล่ห์ไว้ใจไม่ได้ หรือ ม้า ที่เปรียบกับกลุ่มคนผู้จงรักภักดีและไม่เคยตั้งคำถามใดๆต่อผู้นำ ก้มหน้าก้มตาทำงานหนัก หวังให้ฟาร์มก้าวหน้า เพื่อที่ชีวิตม้าเองก็จะได้ดีขึ้น
นวนิยายเรื่องนี้ได้ส่งอิทธิพลต่องานศิลปะในแขนงอื่นๆมากมาย ซึ่งรวมไปถึงดนตรีด้วย ที่มีงานที่ได้รับแรงบันดาลใจหรือมีการอ้างอิงถึงนวนิยายเรื่องนี้มากมาย เช่น เพลง “Animal Farm” ของ The Kinks , “Optimistic” ของ Radiohead หรือ “Ballad of a Thin Man” ของ บ็อบ ดีแลน และแน่นอนคอนเซ็ปต์อัลบั้มของ Pink Floyd ที่ชื่อว่า “Animals” (1977) ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้
“Animals” เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 10 ของวงโปรเกรสซีฟ ร็อคจากอังกฤษนาม Pink Floyd อัลบั้มนี้บันทึกเสียงกันในปี 1976 แต่ออกเผยแพร่ในปี 1977 โดยคอนเซ็ปต์ของเพลงในอัลบั้มนี้ก็คือการนำเสนอการวิจารณ์สังคมและระบอบการปกครองในประเทศอังกฤษช่วงปลายยุค 70 โดยซุกซ่อนความหมายไว้ภายในเนื้อหาเพลง โดยอิงนวนิยายเรื่อง “แอนิมัล ฟาร์ม” เป็นแก่น นอกจากนี้ยังมองได้ว่าอัลบั้มนี้มีการวิจารณ์ระบอบทุนนิยมด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากภาพหน้าปก ที่เป็นภาพโรงงานไฟฟ้าแบตเตอร์ซี (Battersea Power Station) และมีหมูอ้วนสีชมพูลอยอยู่บนฟ้า จัดทำโดยกลุ่มฮิปก์โนซิส (Hipgnosis) สะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมที่นำไปสู่วัฒนธรรมการผลิตและบริโภคที่ครอบงำวิถีชีวิตของคนในยุคนั้น (ซึ่งก็รวมถึงในยุคนี้ด้วยเหมือนกัน) โดยแนวคิดของอัลบั้มนี้มาจากโรเจอร์ วอเทอร์ส (Roger Waters) มือเบสและคนเขียนเพลงหลักของวง ซึ่งเริ่มมีอิทธิพลต่องานเพลงของ Pink Floyd มาตั้งแต่คอนเซ็ปต์อัลบั้ม Wish You Were Here (1974) และค่อยๆนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งและการไม่พอใจจากเพื่อนร่วมวง จนนำไปสู่การลาออกของวอเทอร์สในปี 1984
“Animals” เป็นอัลบั้มที่มีส่วนผสมของดนตรีฮาร์ดร็อคมากกว่าอัลบั้มอื่นๆของ Pink Floyd และเป็นอัลบั้มสุดท้ายที่มีท่อนบรรเลงยาวเหยียดอีกทั้งยังมีบทเพลงยาวเกิน 10 นาทีขึ้น เป็นอัลบั้มชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงรอยต่อระหว่างยุคการทำเพลงเป็นทีมของ Pink Floyd กับยุคที่วอเทอร์สเป็นแกนกลางในการทำเพลงทั้งหมด ซึ่งเราจะเห็นได้จากที่อัลบั้มก่อนๆ เดวิด กิลมอร์ (David Gilmour) มือกีตาร์ของวงจะเป็นนักร้องนำหลักตั้งแต่เข้ามาแทน ซิด แบเร็ตต์ (Syd Barrett) ในปี 1968 แต่ใน “Animals” เราจะเห็นว่าบทบาทในการร้องของกิลมอร์ถูกลดลงไปและปรากฏเสียงร้องเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งในอัลบั้มเท่านั้น นอกนั้นแล้วร้องโดยวอเทอร์สทั้งหมด
อัลบั้ม “Animals” มีความยาวทั้งหมด 41.41 นาที ประกอบไปด้วยบทเพลงทั้งหมด 5 เพลงแบ่งออกเป็น 2 แผ่น แผ่นแรกมีสองเพลง คือ “Pigs on the Wing (Part 1)” ความยาว 1:25 นาที และ “Dogs” ยาว 17:03 นาที ส่วนแผ่นที่สองมี 2 เพลง คือ “Pigs (Three Different Ones)” ยาว 11:25 นาที “Sheep” ยาว 10:25 นาที และปิดท้ายด้วย “Pigs on the Wing (Part 2)” 1.23 นาที
เนื้อหาของบทเพลงในอัลบั้มนี้จะถูกสะท้อนผ่านลักษณะนิสัยของสัตว์ 3 ประเภท ได้แก่ หมู หมา และแกะ ซึ่งเป็นตัวแทนคนแต่ละประเภทในสังคม (เป็นลักษณะการอุปมานิทัศน์แบบเดียวกับใน แอนิมอล ฟาร์ม)
“Dogs” เป็นบทเพลงที่ยาวที่สุดในอัลบั้ม มีต้นกำเนิดมาจากเพลงใหม่ที่ Pink Floyd เล่นตอนทัวร์คอนเสิร์ตของอัลบั้ม “Wish You Were Here” เป็นบทเพลงอะคูสติคกลิ่นแจ๊ซที่แต่งโดยกิลมอร์ชื่อว่า “You Gotta Be Crazy” ซึ่งต่อมาได้ถูกทำให้ช้าลงและเปลี่ยนเนื้อร้องแต่งนู่นเติมนี่จนกลายเป็นเพลง “Dogs” ในที่สุด
“Dogs” ไม่เพียงเป็นบทเพลงที่โดดเด่นจากอัลบั้ม “Animals” เท่านั้น หากแต่ยังโดดเด่นในท่ามกลางบทเพลงทั้งหลายของ Pink Floyd ด้วยทางเดินคอร์ดที่แปลกใหม่จากเดวิด กิลมอร์ ผสานไปกับเสียงออร์แกนและซินธ์ที่บรรเลงโดยมือคีย์บอร์ด ริชาร์ด ไรท์ (Richard Wright) ช่วยเติมเสริมความเข้มข้นให้กับบทเพลงในช่วงสามท่อนร้องแรก และจากนั้นเสียงกีตาร์อันเร้าใจก็สอดแทรกซึมผ่านเข้ามาท่ามกลางท่วงทำนองที่กำลังบรรเลงอยู่ ซึ่งนี่ล่ะคือลายเซ็นอันชัดเจนที่เรามักจะพบในบทเพลงที่แต่งโดยกิลมอร์ ค่อยๆไล่อารมณ์ก่อนที่จะมาพีคด้วยท่อนโซโล่ จากนั้นในช่วงกลางเพลงก็บรรเลงซินธ์ยาวและมีเสียง “หมาเห่า” ผสมเข้ามา (ในทุกเพลงจะมีเสียงสัตว์ชนิดนั้นๆใส่เข้าไปในเพลง) และแน่นอนเสียงร้องของวอเทอร์สกับเนื้อเพลงอันลุ่มลึกของเขาก็เร้าอารมณ์และสื่อสารความหมายของมันได้เป็นอย่างดี
เมื่อพิจารณาจากเนื้อร้องในเพลงเราจะพบว่า “Dogs” เป็นภาพแทนของชนชั้นกลางในสังคมทุนนิยมที่มักชอบฉกฉวย กอบโกยผลประโยชน์เมื่อมีโอกาส (When you’re on the street / You gotta be able to pick out the easy meat / with your eyes closed / And then moving in silently, down wind and out of sight) หน้าไหว้หลังหลอก ต่อหน้าทำยิ้ม ทำพูดดี พอหันหลังให้เมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะเอามีดมาแทงข้างหลังเราอยู่เสมอ (You have to be trusted by the people that you lie to / So that when they turn their backs on you /You’ll get the chance to put the knife in) และสุดท้ายต่อให้กอบโกยไปเท่าไหร่มันก็ไม่ช่วยอะไร พอแก่ตัวแล้วก็ต้องตายอย่างโดดเดี่ยวหรือไม่ก็โดนมะเร็งพรากชีวิตไป (And in the end you’ll pack up and fly down south /Hide your head in the sand /Just another old man /All alone and dying of cancer)
“Sheep” หรือ เจ้าแกะ นั้นเป็นอีกเพลงที่มีมาก่อนแล้วตั้งแต่ทัวร์ “Wish You Were Here” ในปี 1974 ในตอนนั้นมันเป็นเพลงบรรเลงที่มีชื่อว่า “Raving and Drooling” ต่อมาได้ปรับแต่งให้เป็นเพลงที่เร้าใจและใช้กีตาร์กับซินธ์เป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีเบสจากวอเทอร์สและกลองโดยนิค เมสัน (Nick Mason) ควบคลอไปด้วยอย่างหนึบแน่น โดยเล่าเรื่องของเจ้าแกะที่เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานหรือกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่างในสังคมที่ต้องเชื่อฟังผู้นำ หาเช้ากินค่ำไปตามประสาแกะน้อยเชื่องๆ โดยมักถูกพวก “หมา” คอยหาเรื่องและเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ (Harmlessly passing your time in the grassland away / Only dimly aware of a certain unease in the air /You better watch out /There may be dogs about /I’ve looked over Jordan and I have seen /Things are not what they seem… What do you get for pretending the danger’s not real/Meek and obedient you follow the leader/Down well-trodden corridors into the valley of steel)
บทเพลงบรรเลงไปเรื่อยจนถึงท่อนเบรก ที่อารมณ์เพลงเปลี่ยนไป ด้วยห้วงอารมณ์ที่หลอนขึ้นพร้อมกับเสียงอ่านข้อความจากไบเบิลโดยนิค เมสันมือกลองที่มีการใส่เอฟเฟคปรับแต่งเสียงลงไป (ตั้งแต่ท่อน The Lord is my shepherd, I shall not want…ไปจนถึง And then we’ll make the bugger’s eyes water)
ก่อนที่จะพาเราไปกระหน่ำต่อในท่อนส่งท้าย ซึ่งตรงกับเนื้อหาของเพลงในช่วงที่ เจ้าแกะทำการต่อสู้กับพวกหมานั่นเอง (Have you heard the news? / The dogs are dead! /You better stay home /And do as you’re told /Get out of the road if you want to grow old)
และในที่สุดก็ถึงเพลง “หมู” ทั้งสาม สำหรับหมูแรกและหมูปิดท้าย “Pigs On the Wing (Part 1&2) ”มันเป็นเหมือนปฐมบทและมัชฌิมบท ด้วยรูปแบบการเล่าเรื่องที่ง่ายๆสั้นๆ (1.25 กับ 1.23 นาที) ผ่านดนตรีโฟล์คในสไตล์บ็อบ ดีแลน ที่ปรับทำนองให้ช้าลงและเปลี่ยนเสียงร้องเป็นโรเจอร์ วอเทอร์ส
ส่วนเพลงหมูที่เป็นไฮไลท์เลยคือ “Pigs (Three Different Ones)” ที่อยู่ตรงกลางอัลบั้มและมาพร้อมความยาว 11:25 นาที เปิดมาก็เจอเสียงร้อง อูด อูด ของเจ้าหมูเลย เพลงนี้โดดเด่นด้วยลูกเล่นของท่วงทำนองเสียงซินธ์และกีตาร์ของกิลมอร์รวมไปถึงเอฟเฟคเท่ๆมากมายที่ใส่เข้ามาตลอดเพลง และที่พีคเลยก็คือท่อนโซโล่กีตาร์ที่กิลมอร์ใช้เอฟเฟคทอล์ค บ็อกซ์ (Talk Box) ผสานเข้าไปด้วย จนฟังดูราวกับเสียง “หมูเกรี้ยวกราดสบถ” โคตรได้อารมณ์เลย !!!
ส่วนเนื้อหาของเพลงนั้นเป็นการพูดถึง “กลุ่มนายทุนผู้มั่งคั่งและผู้มีอำนาจในสังคม” โดยเปรียบคนกลุ่มนี้กับ “หมู” ที่วันๆเอาแต่กินๆๆๆๆ จนอ้วนอิ่มหมีพีมัน กอบโกยผลประโยชน์คอรัปชั่นกันไป (เอ๊ะ!) โดยหารู้ไม่ว่านี่ไม่ใช่วิถีของความสุขแต่กลับเป็นหนทางแห่งความทุกข์โดยแท้แต่คนพวกนี้หารู้ตัวไม่ (น่ามสารเค้านะครับ) (When you’re down in the pig mine / You’re nearly a laugh /You’re nearly a laugh /But you’re really a cry)
และนี่ก็คือ “Animals” มหากาพย์ของบรรดาเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้พิสูจน์ตนเองผ่านกาลเวลาแล้วว่ามันคือหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของ Pink Floyd จากองค์ประกอบที่ลงตัวระหว่างเนื้อหาและดนตรี ทั้งเสียงกีตาร์อันยอดเยี่ยมและน่าทึ่งจากกิลมอร์ บวกด้วยการผสมเสียงต่างๆให้แปลกใหม่น่าสนใจและสอดคล้องไปกับความหมายในเนื้อร้องผ่านการเขียนอันลุ่มลึกของวอเทอร์ส นี่คืออีกหนึ่งอัลบั้มที่ควรค่าแก่การรับฟัง เคียงข้างและโดดเด่นไม่แพ้ Dark Side of The Moon (1973) หรือ The Wall (1979) ที่ทุกคนรู้จักกันดีเลย นอกจากนี้ในแง่หนึ่ง “Animals” อาจเปรียบได้ดัง แอนิมอล ฟาร์มที่ถูกย่อยและแปรสภาพให้เล่าเรื่องผ่านเสียงดนตรีที่มีสีสันยิ่งเพิ่มมิติแห่งความลุ่มลึกและชี้ชวนให้เราขบคิดในสารัตถะของมันนั่นเอง
ฟัง “Animals”
Source
ลุงตู่แนะนำให้อ่าน ! ฟังเรื่องย่อ “Animal Farm” ใน 5 นาที – Workpoint News
https://www.silpa-mag.com/culture/article_33490
https://www.thaipost.net/main/detail/37275
https://en.wikipedia.org/wiki/Animal_Farm
https://annex.fandom.com/wiki/Animal_Farm_in_popular_culture
https://en.wikipedia.org/wiki/Animals_(Pink_Floyd_album)