“ในยามใดที่เราได้ยินเสียงหวูดรถไฟ เสียงเคลื่อนมาบนรางสู่สถานี หรือยามที่มันเคลื่อนตัวออกไป  เสียงเบรกรถ ประตูเปิด-ปิด เสียง “ฉึก-ฉัก ฉึก-ฉัก”  แม้กระทั่งเสียงผู้คนที่ผ่านไปมา หรือเสียงประกาศในสถานี มันต่างเป็นเสียงที่นำพาเราย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่สำคัญในอดีตของเรา พาเรากลับไปยังความทรงจำอันงดงาม เจ็บปวด และติดตรึงใจเหล่านั้น”

5 Centimeters Per Second

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความผูกพันและคลั่งไคล้ใหลหลงในรถไฟมากเป็นพิเศษ  อาจจะเป็นด้วยเพราะคนญี่ปุ่นมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับรถไฟมานาน และดูเหมือนว่ามันจะเป็นช่องทางการคมนาคมหลักของคนญี่ปุ่น

หลายครั้งเรามักจะพบว่ารถไฟเป็นส่วนประกอบสำคัญในภาพยนตร์หรือแอนิเมชั่นญี่ปุ่น เชื่อว่ากว่า 50% ของหนังและการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราเคยดูจะต้องมีฉากทีเกี่ยวข้องกับรถไฟอยู่ในนั้น ลองยกตัวอย่างง่ายๆเช่น  5 Centimeters Per Second หรือยามซากุระร่วงโรยของชินไค มาโคโตะ ( ผู้สร้างแอนิเมชั่นเรื่อง Your Name) ที่มาพร้อมกับห้วงอารมณ์อันโรแมนติคที่แสนเปลี่ยวเหงา ราวกับเป็นหว่องกาไวเวอร์ชั่นแอนิเมชั่น การเดินทางด้วยรถไฟ รางรถไฟ และที่กั้นรถไฟ คือส่วนประกอบสำคัญของแอนิเมชั่นเรื่องนี้มากๆ ลองนึกดูถ้าหากนิเมชั่นเรื่องนี้ขาดฉากที่เกี่ยวข้องกับรถไฟไปแล้ว ดูเหมือนว่าความรู้สึกอุ่นเศร้าที่เรามีต่อแอนิเมชั่นเรื่องนี้คงจะมลายหายสิ้นไปทันที

5 Centimeters Per Second

 

5 Centimeters Per Second

นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องอื่นๆอีกอาทิเช่น Spirited Away , Hana and Alice, The Case of hana & Alice และอีกมากมาย ภาพจำในหนังแบบว่าพระเอก/นางเอกกำลังวิ่งตามคนรักที่นั่งอยู่บนรถไฟที่กำลังเคลื่อนออกจากชานชาลา หรือภาพการร่ำลากันก่อนที่ประตูรถไฟจะปิดนี่เป็นอะไรที่แว้บขึ้นมาทันทีเลยเมื่อนึกถึงรถไฟในหนังญี่ปุ่น

Hana & Alice

The Case of Hana & Alice

Spirited Away

สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว (หรือคนชาติอื่นก็น่าจะเหมือนกันนะ) รถไฟดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ผูกโยงกับความรู้สึกโหยหาอดีต (Nostalgia) อาจจะด้วยว่ามันคือสิ่งที่เกี่ยวโยงกับการเดินทาง และการเดินทางเป็นสิ่งที่มีการมา-การไป เริ่มต้น-สิ้นสุด พบ-พราก จากลา  ในยามใดที่เราได้ยินเสียงหวูดรถไฟ เสียงเคลื่อนมาบนรางสู่สถานี หรือยามที่มันเคลื่อนตัวออกไป (เป็นความรู้สึกที่ใช้ได้ทั้งรถไฟแบบธรรมดาและรถไฟฟ้า) เสียงเบรกรถ ประตูเปิด-ปิด เสียง “ฉึก-ฉัก ฉึก-ฉัก”  แม้กระทั่งเสียงผู้คนที่ผ่านไปมา หรือเสียงประกาศในสถานี มันต่างเป็นเสียงที่นำพาเราย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่สำคัญในอดีตของเรา พาเรากลับไปยังความทรงจำอันงดงาม เจ็บปวด และติดตรึงใจเหล่านั้น

“มันคือเสียงแห่ง  “ท่วงทำนองของ “hassha” (การออกเดินทาง)”  ที่ขับกล่อมเราให้เศร้า สุข คิดถึง และระบายความรู้สึกที่ฝังตรึงไว้ในใจให้หลั่งไหลออกมา”

ในประเทศญี่ปุ่นมีกลุ่มคนที่รักในรถไฟและเสียงรถไฟ ได้รวมกลุ่มกันและสร้างสรรค์ผลงานที่เรียกว่า “oto-tetsu” ขึ้นมาโดยเกิดจากการรวมคำสองคำ คือ oto ที่แปลว่า “เสียง” และ tetsudō ที่แปลว่า “ทางรถไฟ” ซึ่งเป็นการนำเอาเสียงที่บันทึกจากรถไฟทั้งตอนที่มันเคลื่อนไหวและเสียงจากในสถานี จับมาใส่จังหวะและท่วงทำนองให้กลายเป็นบทเพลงแห่งรถไฟ

“ในตอนที่ผมขึ้นรถไฟ มันเป็นความรู้สึกที่รื่นรมย์มากที่รถไฟคันโปรดของเรา จะพาเราไปยังที่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน”

อิคาเมชิ (นามสมมติ) หนึ่งในกลุ่มผู้สร้าง โอโตเท็ตสึ ได้เล่าถึงความรู้สึกประทับใจในรถไฟให้ฟัง

“มันเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับที่คุณถูกดึงดูดจากคนที่คุณรักและพยายามวิ่งพุ่งเข้าไปหาพวกเขา”

บทเพลง โอโตเท็ตสึ จำนวนมากที่อิคาเมชิได้สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความรู้สึกแบบเดียวกันกับในเวลาที่คุณกำลังเริ่มตกหลุมรักใครสักคน ด้วยบีทที่รุกเร้าและกระชับ ความเร็วของเพลงที่มากกว่า 160 บีทต่อนาที เสียงที่เก็บมาจากรถไฟตอนกำลังวิ่งและจากในสถานีต่างถูกนำมาคลุกเคล้าเข้าด้วยกันจนออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ เป็นเสียงที่ให้ภาพพจน์และความรู้สึกจากประสบการณ์ที่เรามีร่วมกับรถไฟ

[บทเพลง Kushinai Zone プロトタイプ โดย อิคาเมชิ]

“ในการเก็บเสียงรถไฟ คุณจะต้องเอาเทปแปะไมค์ไว้ที่ลำโพงในรถไฟ”

อิคาเมชิ เล่าถึงกรรมวิธีในการเก็บเสียงรถไฟ

“ต่อไมค์เข้ากับเครื่องบันทึกเสียง เก็บมันไว้ในกระเป๋าเป้ของคุณ และคอยระวังว่าเราจะไม่ไปรบกวนการทำงานใดๆในรถไฟ และหลังจากลงรถไฟที่สถานี เราก็มาเก็บเสียงประกาศที่ดังออกมาผ่านลำโพงในสถานีต่อ หลังจากนั้นเราก็ถ่ายภาพขบวนรถไฟที่กำลังเคลื่อนตัวออกจากสถานี  เป็นการสิ้นสุดทริป จากนั้นก็แค่กลับบ้านและก็เปิดคอมพิวเตอร์ซ

ดูมีความเป็นขั้นตอนและระบบระเบียบ ราวกับการเตรียมวัตถุดิบเพื่อปรุงอาหารอันเลิศรส

The Case of Hana & Alice

ชิราคาบะ (นามสมมติอีกเช่นเคย) เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชอบการสร้างสรรค์ โอโตเท็ตสึ เขาเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบในเพลงประกอบเกมที่มีความเร็ว เร้าใจ เช่นเพลงประกอบเกม “จูบีท” เกมอาร์เขตจากค่ายโคนามิที่เล่นกับบีทดนตรี ชิราคาบะใช้ “Reaper” ซึ่งเป็น DAW (ดิจิทัล ออดิโอ เวิร์คสเตชั่น – โปรแกรมที่ไว้ใช้ทำเพลงนั่นเอง) ที่ใช้งานง่าย มาใช้ทำโอโตเท็ตสึ เพื่อทำการแม็ตช์เสียงที่เก็บมาจากรถไฟและในสถานีให้เข้ากันกับบีทเพลงที่เตรียมไว้ นอกจากนี้ชิราคาบะยังเติมบีทพิเศษที่เกิดจากการเอาเสียงเปิดปิดประตูรถไฟมาใส่เป็นบีทกลองที่เรียกว่า “door drum” ด้วย

เกม “จูบีท”

 

https://soundcloud.com/shirakaba11/jy-1

[บทเพลง テレホタイム – JYいんさいど – โดย ชิราคาบะ]

ดูเหมือนว่าความรักที่มีต่อรถไฟ กับท่วงทำนองอันเปี่ยมไปด้วยสีสันของโอโตเท็ตสึนั้นจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นเร้าให้กลุ่มคนรักรถไฟอยากลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้มากๆ อิคาเมชิ ก็เป็นคนหนึ่งที่จริงๆแล้วเรียกว่าไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับการทำเพลงมาก่อนที่จะลงมือทำโอโตเท็ตสึ ความรู้สึกมันบอกเองว่าควรจะใส่ท่วงทำนองที่รวดเร็วเหตุก็เพราะว่า “มันให้ความรู้สึกของการวิ่ง”

“เหตุผลมีสองอย่างครับ หนึ่งก็คือผมอยากจะถ่ายทอดความเร็วของรถไฟและอีกเหตุผลก็คือผมชอบเพลงจังหวะเร็วๆครับ”

อิคาเมชิ ผู้มีถิ่นเกิดอยู่ที่ฮาโกดาเตะ ชื่นชอบในรถไฟมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ การที่เขาได้มาทำเพลงจากเสียงของรถไฟนี้ เขาบอกว่าต้องขอบคุณอัลกอริธึ่มของยูทูบ

“ผมชอบดูภาพรถไฟในยูทูบมากๆเลยครับ  จนวันหนึ่งก็มีวีดิโอพวก ‘tetsudō  MAD ( ย่อมาจาก Music Anime Douga ,Douga ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า Video) [หมายเหตุ : เป็นภาพของรถไฟที่นำมาตัดต่อประกอบดนตรีที่เร้าใจ ดังเช่นในตัวอย่างด้านล่างนี้) แนะนำในช่องวีดิโอที่เกี่ยวข้อง ผมก็เลยลองดูและจากนั้นผมก็รู้สึกจนอยากทำอะไรแบบนี้ขึ้นมา และนับจากวันนั้นผมก็เดินหน้าอย่างเดียวเลย”

Play video

ส่วนชิราคาบะซึ่งตอนนี้ยังเป็นนักเรียนมัธยมปลายอยู่ ก็เข้ามาสู่วงการนี้ด้วยตัวเอง ด้วยความที่เป็นคนชอบในเสียงเครื่องยนตร์กลไกของรถไฟ เมื่อสองปีก่อนเขาก็เลยลองสร้างเพลงขึ้นมาเองจากอิทธิพลที่ได้รับจากเหล่าผู้สร้างสรรค์เพลงแนวโอโตเท็ตสึทั้งหลาย ซึ่งกำลังแพร่หลายอยู่ใน Niconico (เว็บแชร์วีดิโอของญี่ปุ่น) โดยที่ไม่มีทางรู้เลยว่าใครคือผู้บุกเบิกและเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ แต่ชิราคาบะบอกว่า จะมีวีดิโอตัวหนึ่งทีมียอดวิวสูงที่สุด ซึ่งโพสต์ไว้ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคมปี 2008 พวกเขาเลยกำหนดให้ทุกๆวันนี้ของปีเป็นวัน “Post Festival” ที่กลุ่มคนทำโอโตเท็ตสึและผู้รักรถไฟจะมารวมตัวกัน

“พวกเรามีการแลกเปลี่ยนกัน เช่นมาร่วมงานกันหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องต่างๆ”

อิคาเมชิก็ได้เสริมในประเด็นนี้ว่าการที่กลุ่มผู้สร้างมารวมตัวกัน หรือไปถ่ายภาพรถไฟด้วยกันมันทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

https://soundcloud.com/shirakaba11/center

[บทเพลง CENter!! #完成 โดย ชิราคาบะ]

หัวใจสำคัญในการทำงานโอโตเท็ตสึสำหรับผู้สร้างสรรค์ทั้งหลายนั้นคือ “ความรัก” ไม่ว่าจะเป็นรักในรถไฟ รักในการทำเพลงเกี่ยวกับรถไฟ พวกเขาต่างรู้ดีว่า พวกเขาไม่ได้แสวงหาชื่อเสียงแต่อย่างใด เพราะการได้ทำในสิ่งที่รักมันได้เติมเต็มตัวมันเองอยู่แล้ว

อิคาเมชิ มักเดินทางไปยังเมืองที่รถไฟผ่านในอนิเมะ สถานีต่างๆ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับรถไฟที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวเหล่านั้น นอกจากนี้เขายังเลือกที่จะเดินทางไปเยี่ยมเยียนกลุ่มเพื่อนเก่าด้วยการใช้เวลานานๆนั่งไปรถไฟท้องถิ่น

เขาได้เล่าถึงจุดจุดหนึ่งที่ชอบไปยืนในสถานีรถไฟท้องถิ่น ตรงจุดที่ประตูรถไฟค่อยๆปิดลง

“ รถไฟขบวนนี้ไม่ได้ให้บริการมาเป็นเวลาสามปีแล้วครับ แต่ทุกครั้งเวลาที่ผมได้มายืนอยู่ตรงจุดนี้ ผมจะหวนกลับไปคิดถึงช่วงเวลาที่ผมได้ขึ้นไปบนรถไฟขบวนนี้ทุกครั้ง และมันทำให้ผมรู้สึกว่าผมจะได้ขึ้นไปบนนั้นอีก”

ไม่รู้ว่าในบ้านเราจะมีกลุ่มคนที่รักในรถไฟและจับเสียงบรรยากาศจากรถไฟและในสถานีมาใส่ในท่วงทำนองของดนตรีบ้างรึเปล่า อยากรู้เหมือนกันนะครับว่า “เสียงของรถไฟไทย” นั้นจะเป็นอย่างไรและให้ความรู้สึกเช่นไร หากใครไปเจอเพลงแบบนี้ที่คนไทยเราทำ หรือมีใครลองทำเพลงของตัวเองขึ้นมา ก็ฝากมาแชร์ให้ฟังกันด้วยนะครับ

Hana & Alice

 

Source

https://www.japantimes.co.jp/culture/2019/05/28/music/aboard-art-sampling-japans-railways/#.XP4X2NMzZdg