โดยปกติแล้วหนังที่มีศักยภาพสานต่อเป็นแฟรนไชส์ได้ยาว ๆ มีต้นฉบับเป็นนิยายดังหรือหนังสือการ์ตูน หรือเป็นที่อยู่ในจักรวาลใด ๆ ก็มักจะมีการสอดแทรกจุดเชื่อมโยงกับหนังเรื่องอื่น อ้างอิงถึงต้นฉบับ หรือแอบหยอดอะไรไว้เพื่อเป็นการสดุดีต่อบุคคลสำคัญหรือคาแรกเตอร์สำคัญ เหล่านี้เราเรียกว่า “อีสเตอร์เอ้ก” ซึ่งหนังในช่วง 10 ปีให้หลังมานี่ เริ่มมีการสอดแทรกอีสเตอร์เอ้กในหนังมากขึ้น เป็นความสนุกร่วมกันระหว่างผู้สร้างและแฟนพันธุ์แท้ของหนังว่าจะมองเห็นกันครบถ้วนหรือไม่

และเมื่อ Spider-man : Far From Home มาถึง ในฐานะที่เป็นหนังอันดับที่ 23 ในจักรวาลมาร์เวล แถมยังทำหน้าที่สะพานเชื่อมเฟส 3 ไปเฟส 4 หนังยิ่งมีอีสเตอร์เอ้กมากเป็นพิเศษทั้งที่อ้างอิงถึงหนังเรื่องที่ผ่านมารวมถึงการทิ้งเชื้อไว้ให้สานต่อในหนังเรื่องต่อไป และนี่คืออีสเตอร์เอ้กหลัก ๆ ที่เราสังเกตเห็นแล้วหยิบมาฝากกัน

1.ความสัมพันธ์ของเน็ด และ เบ็ตตี้

เนื้อหาในภาคนี้ ละม้ายกับเหตุการณ์ในหนังสือการ์ตูนบ้างบางส่วน อย่างน้อยก็ในเรื่องความสัมพันธ์ของเน็ดและเบ็ตตี้ ที่ภาคนี้บทของเบ็ตตี้ดูมีบทบาทมากขึ้นเมื่อเธอคบหากับเน็ดในช่วงสั้น ๆ , ส่วนเบ็ตตี้ในหนังสือการ์ตูนนั้นเธอเป็นแฟนกับพีเตอร์ พาร์กเกอร์ ด้วยนะ แต่เป็นช่วงสั้น ๆ พอเลิกรากับพีเตอร์ เบ็ตตี้ ก็ไปคบกับเน็ด แล้วจริงจังกันถึงขั้นแต่งงานกัน , เบ็ตตี้ เป็นตัวละครหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในจักรวาลสไปเดอร์แมน ในจักรวาลอื่น Earth-78227 เบ็ตตี้ได้กลายเป็น Spider-Girl

2.ตั้งใจฟังคำคมของเบ็ตตี้สิ

ในภาคนี้หนังเปิดเรื่องด้วยคลิปสดุดีซูเปอร์ฮีโร่ที่โรงเรียนมัธยมทำขึ้น หลังคลิปจบเราก็ได้เห็นว่า เบ็ตตี้ แบรนต์ เธอรับหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวในช่องทีวีของโรงเรียน และอธิบายให้คนดูเข้าใจว่า เหตุการณ์ใน End game ที่ชีวิตครึ่งจักรวาลหายไป 5 ปี แล้วโผล่กลับมานั้น เรียกว่า “The Blip” เธอปิดท้ายรายการด้วยคำคมสวย ๆ ว่า “time to move on to the next phase of our lives” ถึงเวลาที่เราจะต้องเดินหน้าต่อไปในเฟสใหม่ของชีวิตเรา แน่นอนว่าประโยคนี้ถูกเขียนขึ้นมาให้สอดคล้องกับสถานะของหนัง Spider-man : Far From Home ที่ทำหน้าที่ปิดท้ายหนังมาร์เวลเฟส 3 และส่งไม้ต่อให้กับหนังเฟส 4

3.เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นให้หลัง Avengers : End Game 8 เดือนนะจ๊ะ

หยิบมาบอกกล่าวกันอีกที เพราะอาจจะมีใครพลาดรายละเอียดจุดนี้ไป ก่อนดูหนัง ทุกคนรู้กันดีแล้วว่า Spider-man : Far From Home เล่าสถานการณ์สืบเนื่องจาก Avengers : End Game และทำหน้าที่่สรุปปริศนาที่ ค้างคาไว้บางส่วน และในช่วงรายงานข่าวต้นเรื่องโดยเบ็ตตี้ แบรนต์ เช่นกัน ที่เธอระบุไว้ชัดเจนว่าผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลา 8 เดือนพอดี นับจากเหตุการณ์หลัง The Blip

4.”ครัช โฮแกน”อีสเตอร์เอ้กระดับแฟนพันธุ์แท้

ในฉากที่แฮปปี้เอาเช็กมามอบให้กับพีเตอร์ พาร์กเกอร์ และ ป้าเมย์ หลังเวทีในงานการกุศล ด้านหลังของแฮปปี้จะมีโปสเตอร์ปรากฏชื่อของ “โจเซฟ ครัชเชอร์ โฮแกน” เขาคือตัวละครสำคัญในจักรวาลสไปเดอร์แมนในเวอร์ชั่นหนังสือการ์ตูน ครัช โฮแกน ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือการ์ตูน Amazing Fantasy Spider-Man No. 15 ปี 1963 เขาคือนักมวยปล้ำที่ขึ้นสังเวียนต่อสู้กับพีเตอร์ พาร์กเกอร์ ในช่วงแรก ๆ ที่พีเตอร์ เพิ่งพบว่าตัวเขามีพลังพิเศษ

5.เห็นชื่อ “เพ็ปเพอร์ พอตต์”กันมั้ย

ในฉากนี้เช่นเดียวกัน บนเช็กใบยักษ์ที่แฮปปี้เอามามอบให้ป้าเมย์เพื่อบริจากการกุศลนั้น ลายเซ็นบนเช็กก็เป็นชื่อ “”เพ็ปเพอร์ พอตต์” เช็กนี้นำจ่ายในนามของ Stark Relief Foundation กองทุนนี้ก่อตั้งโดย โทนี่ สตาร์ค และ เพ็ปเพอร์ พอตต์ เป็นกองทุนการกุศลเพื่อพลเรือนที่ประสบเคราะห์ภัยจากการต่อสู้เพื่อปกป้องโลกของเหล่า อเวนเจอร์ส

6.กระเป๋าเดินทางที่พีเตอร์ พาร์คเกอร์ใช้เป็นของลุงเบ็น

พีเตอร์ จัดกระเป๋าเดินทางเพื่อไปทัศนศึกษายุโรป เสี้ยววินาทีที่เขาปิดกระเป๋าเดินทางลง จะเห็นตัวอักษรย่อ “BFP” อยู่ด้านหน้ากระเป๋า นั่นคือตัวย่อจากชื่อ Ben F. Parker ซึ่งเป็นชื่อเต็มของลุงเบ็นนั่นเอง

7.เคว็นติน เบ็ก อ้างว่าเขามาจาก Earth-833

ในฉากที่เคว็นติน เบ็ก หรือ มิสเตอริโอ แนะนำตัวกับ พีเตอร์ พาร์กเกอร์ เขาอ้างว่าเขามาจากจักรวาลอื่นที่ชื่อว่า Earth-833 แม้ภายหลังจะมีการเผยว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องโกหกที่เคว็นตินแต่งขึ้น แต่จักรวาล Earth-833 นั้นมีอยู่จริงในจักรวาลหนังสือการ์ตูนมาร์เวล และในจักรวาลนี้ก็มี สไปเดอร์-แมน ชื่อ วิลเลียม แบรดด็อก เขาเป็นสไปเดอร์-แมน จากประเทศอังกฤษ ซึ่งรู้จักกันในฉายานามว่า Spider-UK วิลเลียมเป็นคนรวบรวมสไปเดอร์แมนจากต่างจักรวาลมารวมกลุ่มกันในนาม Warriors of the Great Web เรื่องราวของวิลเลียม แบรดด็อก ใกล้เคียงกับเรื่องที่ เคว็นติน เบ็ก เล่าอยู่จุดหนึ่งก็คือ โลกของเขาถูกทำลายและมีเพียงตัวเขาที่มีชีวิตรอด

8.ครั้งแรกที่มีการเอ่ยชื่อ Captain Marvel

เราต่างเห็น กัปตันมาร์เวล กันมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในหนัง Captain Marvel และอีกครั้งใน Avengers : End Game แต่รู้มั้ยว่าในหนังทั้ง 2 เรื่องนั้น ไม่มีการเอ่ยชื่อ Captain Marvel ในหนังเลย เพราะทุกคนต่างเรียกชื่อจริงของเธอว่า แครอล เดนเวอร์ส ไม่บอกก็ไม่น่ามีใครสังเกตหรอกเนอะ แต่พอมาถึง Spider-man : Far From Home เราได้ยินบทสนทนาระหว่าง พีเตอร์ พาร์กเกอร์ กับ นิก ฟิวรี่ ในช่วงที่นิก พยายามมอบหมายภารกิจใหม่ให้เขา แล้วพีเตอร์ก็บ่ายเบี่ยงด้วยการเสนอให้นิก ไปขอความช่วยเหลือจาก Captain Marvel แทน และนี่คือการเอ่ยชื่อฉายานามซูเปอร์ฮีโร่ของแครอล เดนเวอร์ครั้งแรกในจักรวาลมาร์เวล

9.นิก ฟิวรี่ สะดุ้งหน่อยนึง ตอนที่พีเตอร์ พาร์กเกอร์ เอ่ยชื่อ Captain Marvel

ในฉากเดียวกันนี่แหละ เมื่อพีเตอร์ เอ่ยชื่อ Captain Marvel มีใครสังเกตเห็นอาการของนิก ฟิวรี่กันมั้ย เขาจะสะดุ้งนิดนึงก่อนจะบอกปัดว่า “อย่าได้เอ่ยชื่อเธอขึ้นมา” ซึ่งตอนนั้นใครที่รู้สึกว่าผิดสังเกตก็อาจจะมีข้อสงสัยค้างใจว่าทำไมนิกถึงพูดแบบนั้น ทั้งที่นิกกับแครอล เดนเวอร์ส ก็นับว่ามีความผูกพันกันยาวนานกว่าสมาชิกอเวนเจอร์สคนอื่น ๆ เสียด้วยซ้ำ ถ้าใครไม่ได้อยู่ดูฉากหลังเครดิตจบตัวที่ 2 ก็จะไม่รู้บทเฉลยที่ต่อเนื่องกับฉากนี้ นั่นก็เพราะนิก ฟิวรี่ ที่ปรากฏตัวมาทั้งเรื่องคือร่างปลอมตัวของทาลอส มนุษย์ต่างดาวชาวสครัลล์ ที่เคยมีอดีตพิพาทกันมายาวนานกับกัปตันมาร์เวล

10.The Elementals อสูรธาตุทั้ง 4 คือวายร้ายในเวอร์ชั่นหนังสือการ์ตูน

แม้ว่าในหนังจะเผยออกมาว่า อสูรธาตุทั้ง 4 คือวายร้ายที่ไม่มีตัวตนจริง เป็นเพียงภาพโฮโลแกรมที่มิสเตอริโออุปโลกน์ขึ้น แต่อสูรธาตุทั้ง 4 ในเวอร์ชั่นหนังสือการ์ตูนนั้นมีปรากฏอยู่จริง อสูรธาตุทั้ง 4 ในคอมิกนั้นประกอบด้วย Hydron, Magnum, Hellfire, และ Zephy ทั้ง 4 ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือ Supernatural Thrillers #8 1974 เป็นอสุรกายที่ข้ามมาต่างจักรวาลจริง ๆ แต่ในการ์ตูนนั้นโดนกำจัดโดย Ms.marvel

11.binarily augmented retro-framing (B.A.R.F.)

มีจุดเชื่อมโยงระหว่าง Spider-man : Far From Home กับ Captain America: Civil War เมื่อเคว็นติน เบ็ก เผยตัวตนว่าเขาคืออดีตพนักงานของสตาร์ก เทคโนโลยี ลูกน้องของโทนี่ สตาร์ก ที่คอยดูแลระบบปฏิบัติการที่ชื่อว่า B.A.R.F. ย้อนไปในหนัง Captain America: Civil War โทนี่ สตาร์ก เอ่ยถึงชื่อ B.A.R.F. ในระหว่างการบรรยายให้กับนักศึกษา MIT ฟัง ว่านี่คืออุปกรณ์ที่จะช่วยลบล้างความทรงจำอันเลวร้ายในอดีตได้

12.วิลเลียม กินเตอร์ ริวา ตัวละครจาก Ironman (2008)

ในฉากเดียวกันที่ เคว็นติน เบ็ก เผยว่าเขาคืออดีตพนักงานของสตาร์ก เทคโนโลยี เขายังชี้ไปที่เพื่อนร่วมทีมของเขาหนึ่งในนั้นคือ วิลเลียม กินเตอร์ ริวา อ้างถึงความกดดันตอนทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ในสตาร์ก เทคโนโลยี ก็โดนกดขี่จาก โอบาเดียห์ สเตน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง สตาร์ก เทคโนโลยี รับบทโดย เจฟฟ์ บริดเจ็ส และเป็นตัวร้ายใน Ironman (2008) และผู้รับบทวิลเลียม กินเตอร์ ริวา ก็คือ ปีเตอร์ บิลลิงสบีย์ คนเดียวกันที่เคยรับบทนี้เมื่อ 11 ปีที่แล้ว

13.เพลงเปิดในหนัง Ironman (2008)

ฉากเปิดในหนัง Ironman (2008) โทนี่ สตาร์ก โชว์ประสิทธิภาพของมิสไซล์ เจริโช ให้กับเหล่าผู้บัญชาการทหารดู ในฉากนี้ใช้เพลง “Back in Black” ของ AC/DC มาประกอบและถูกอ้างอิงว่าเป็นเพลงโปรดของ โทนี่ สตาร์ก ซึ่งเพลงเดียวกันนี้ล่ะที่แฮปปี้เอามาเปิดในเครื่องบินเจ็ต ตอนที่พีเตอร์ พาร์กเกอร์ กำลังสร้างชุดสไปเดอร์-แมน เวอร์ชั่นอัปเกรด แล้วพีเตอร์ ก็เอ่ยขึ้นมาว่า โอ้ว ผมชอบเพลงของเล็ด เซพเพลิน เป็นมุกที่ยิงทิ้งไม่มีการอธิบายว่าพีเตอร์มั่ว ใครเข้าใจก็เก๊ตไป ไม่เข้าใจก็ปล่อยเลยตามเลย

Play video

14.ป้ายทะเบียนรถ “TASM 143”

ในช่วงสุดท้ายของหนัง หลังจัดการกับมิสเตอริโอแล้ว พีเตอร์ พาร์กเกอร์ กับ เอ็มเจ ก็มาจูจุ๊บกันบนสะพาน ในฉากนี้มีแฟนหนังตาดีมองเห็นรถบนสะพานคันหนึ่งติดป้ายทะเบียน TASM 143 ซึ่งอ้างอิงไปถึงหนังสือการ์ตูน The Amazing Spider-Man No. 143 วางแผงเมื่อ เมษายน 1975 เหตุที่ต้องอ้างอิงถึงเล่มนี้ก็เพราะเนื้อหาในเล่มนี้ 1.พีเตอร์ กับ เอ็มเจ จูจุ๊บกันครั้งแรก 2.พีเตอร์ เดินทางไปเที่ยวยุโรป

15.สัญลักษณ์ใต้อาคารสตาร์ก ทาวเวอร์

ในฉากจบตอนที่สไปเดอร์-แมน โหนใยไปหาเอ็มเจ เขาผ่านอาคารสตาร์ก ทาวเวอร์ ด้านล่างของอาคารจะมีป้ายเขียนว่า phase1 , phase2 , phase3 แล้วใกล้ ๆ กันนั้นก็จะมีเครื่องหมายคำถาม ? ทั้งหมดนี้ก็เหมือนกับความหมายสื่อว่าจักรวาลหนังมาร์เวลได้ผ่าน เฟส1-2-3 มาแล้ว และจะมีอะไรเกิดขึ้นใน เฟส4

16.วันเกิดพีเตอร์ พาร์กเกอร์

ในช็อตหนึ่งที่โคลสอัปให้เห็นพาสปอร์ตของพีเตอร์ พาร์กเกอร์ ก็ช่างมีแฟนตาไวมองเห็นวันเกิดของพีเตอร์ได้ทัน ในนั้นระบุว่าเกิดวันที่ 10 สิงหาคม วันนี้สำคัญอย่างไร 10 สิงหาคือวันแรกที่สไปเดอร์แมนปรากฏตัวครั้งแรกบนหนังสือการ์ตูนของมาร์เวลฉบับAmazing Fantasy #15 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 1962

17.สไปเดอร์แมน แดง-ดำ

ชุดเวอร์ชั่นอัปเกรดของสไปเดอร์-แมน ที่ใส่ในต่อสู้ช่วงท้ายเป็นสีแดง-ดำ การที่เลือกสีนี้เหมือนกับเป็นการคารวะต่อชุดสไปเดอร์-แมน ดีไซน์แรก ที่สตีฟ ดิตโก เป็นคนออกแบบ เขาเขียนให้ชุดของสไปเดอร์-แมน เป็นสีแดง-ดำ จนเมื่อเขาวางมือไปทำงานเรื่องอื่นต่อ แล้วนักเขียนคนอื่นมารับหน้าที่เขียนสไปเดอร์-แมน ต่อ จึงเปลี่ยนสีชุดให้สดใสขึ้นเป็น แดง-น้ำเงิน

เป็นไงครับ 17 อีสเตอร์เอ้ก เห็นกันกี่จุด ถ้าเห็นไม่ครบ ต้องไปดูอีกสักรอบนะ แล้วตามสังเกตให้ครบกัน