เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียคนดนตรีระดับตำนานไปอีกคนหนึ่ง นั่นคือ ชูเอา ชิลเบร์ตู (João Gilberto) ผู้บุกเบิกแนวดนตรีที่ งดงาม กลมกล่อม และผ่อนคลาย จากการผสมผสานดนตรีแซมบ้าจากบราซิลให้เข้ากันกับโมเดิร์นแจ๊สจากอเมริกา จนกลายเป็นดนตรีที่มีชื่อว่า “บอสซาโนวา” (Bossa Nova) อันแปลว่า “คลื่นลูกใหม่” หรือ “สไตล์ใหม่” ชิลแบร์ตูผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งบอสซาโนวา” (The Father of Bossa Nova) จากโลกนี้ไปในวัย 88 ปี ทิ้งเอาไว้เพียงเสียงดนตรีที่ทุกคนจะยังคงเปิดฟังมันอยู่เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม
และเพื่อเป็นการรำลึกถึงผลงานของชิลแบร์ตู ผมจึงอยากหยิบยกอัลบั้มที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จที่สุด เป็นที่จดจำที่สุด และน่าฟังมากที่สุดอัลบั้มหนึ่งของชิลแบร์ตู นั่นคือ “Getz/Gilberto (1964)” ที่ชิลแบร์ตูได้ทำร่วมกับ “สแตน เก็ตซ์ (Stan Getz)” มือเทเนอร์แซ็กระดับเทพ เจ้าของฉายา “The Sound” ที่โคจรมาพบกันเป็นครั้งแรก จนก่อเกิดเป็นผลงานระดับตำนาน นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งนักดนตรีระดับตำนานที่มาร่วมงานด้วยนั่นคือ อังโตนีอู การ์ลูช โชบิง (Antônio Carlos Jobim) หรือ ทอม โชบิง อีกหนึ่งคนดนตรีบราซิลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งบอสซาโนวา” เคียงคู่กันกับชิลเบร์ตู
ก่อนหน้าที่จะออกอัลบั้มนี้ชิลเบร์ตูได้แจ้งเกิดจากอัลบั้ม Chega de Saudade ในปี 1959 ซึ่งไม่ได้เป็นอัลบั้มแรกของเขาแต่เป็นอัลบั้มที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “อัลบั้มบอสซาโนวาอัลบั้มแรกของประวัติศาสตร์ดนตรี” และมันได้ถูกจารึกไว้ใน Grammy Hall of Fame ในปี 2000 และ Latin Grammy Awards Hall of Fame ในปี 2001 โดยมีเพลงเด่นคือเพลง “Chega de Saudade” ประพันธ์โดย ทอม โชบิง และแต่งเนื้อร้องโดย Vinícius de Moraes บันทึกเสียงครั้งแรกในปี 1957 ขับร้องโดย Elizete Cardoso ซึ่งชิลเบร์ตูเป็นคนเล่นกีตาร์ให้ ต่อมาในปี 1958 ชิลเบร์ตูจึงทำออกมาในเวอร์ชั่นของตัวเองที่ร้องเองและเล่นกีตาร์เอง
ผลงานอัลบั้มนี้และงานเพลงในแนวบอสซาโนว่าที่ปล่อยออกมาหลังจากนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับ สแตน เก็ตซ์ จนสร้างผลงานเพลงออกมาในแนวบอสซาโนว่า อัลบั้มแรกก็คือ “Jazz Samba” ในปี 1962 ที่ทำร่วมกับ “ชาร์ลี เบิร์ด (Charlie Bird)” นักกีตาร์แจ๊สชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงในการเล่นกีตาร์คลาสสิก ในแนวบอสซาโนวามาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 ซึ่งในเวลานั้นเบิร์ดเพิ่งเคยรู้จักดนตรีบอสซาโนวาเป็นครั้งแรกจากการทัวร์คอนเสิร์ตในบราซิลช่วงปี 1961 ในอัลบั้มนี้มีเพลง “Desafinado” ที่แต่งโดย โชบิง ซึ่งทำให้ดนตรีแนวบอสซาโนว่าโด่งดังไปทั่วโลก จนในที่สุดเพลงนี้ก็ได้รับรางวัลแกรมมี่ในปี 1963 ซึ่ง “Desafinado” ก็เป็นอีกหนึ่งบทเพลงในอัลบั้ม Getz/Gilberto ด้วย
ด้วยความลุ่มหลงในดนตรีบอสซาโนวาและเสียงตอบรับอันดี จึงทำให้ สแตน เก็ตซ์ มุ่งหน้าทำดนตรีในแนวทางนี้ต่ออีกหนึ่งอัลบั้ม นั่นคือ “Jazz Samba Encore!” ในปี 1963 โดยคราวนี้เก็ตซ์ได้ร่วมงานกับ ลูอีช บงฟา ( Luiz Bonfá) นักดนตรีชาวบราซิลผู้โด่งดังจากการทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Black Orpheus” ในปี 1959 งานเพลงในอัลบั้มนี้มีส่วนผสมของเพลงที่แต่งโดย โชบิง และ บงฟา ในสัดส่วนที่เท่าๆกัน และมีเพลงร้องโดย มาเรีย โทเดโร ภรรยาของบงฟาด้วย ในอัลบั้มนี้มีเพลง “Só Danço Samba” (aka “Jazz ‘n’ Samba”) ที่แต่งโดย โชบิง และเขียนเนื้อโดย Vinícius de Moraes อยู่ด้วย และเพลงนี้ก็ถูกทำในเวอร์ชั่นใหม่บรรจุไว้ใน Getz/Gilberto เช่นกัน
ภาพปกของอัลบั้มนี้ และ “Jazz Samba” รวมไปถึงอัลบั้ม Getz/Gilberto ล้วนวาดขึ้นโดย โอลกา อัลบิซู (Olga Albizu) จิตรกรหญิงแนวนามธรรม (Abstract) ชาวเปอร์โตริโก จนทำให้ทั้งสามอัลบั้มดูราวกับเป็นอัลบั้มเพลงไตรภาคเลยทีเดียว
และในที่สุด จุดเริ่มต้นของตำนานก็ได้เริ่มขึ้น ในวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 1963 เมื่อนักดนตรี 5 คน และภรรยาสาวอีก 1 คน ได้ย่างก้าวเข้าไปสู่สตูดิโอ A&R ในนิวยอร์ค โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังจะทำต่อไปนี้ จะได้กลายมาเป็นหมุดหมายหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการดนตรี
สุดยอดทีมในครั้งนี้ประกอบไปด้วย ชูเอา ชิลเบร์ตู ร้องและเล่นกีตาร์ ทอม โชบิง เล่นเปียโน สแตน เก็ตซ์ เล่นแซ็ก เซบาสติโอ เนโต เล่นเบส (มีเรื่องดราม่าชวนสับสนเล็กน้อย เพราะหากอ่านใน เครดิตจะพบว่าชื่อคนเล่นเบสเป็น ทอมมี วิลเลียม มือเบสขาประจำของเก็ตซ์ เนื่องด้วย เนโต ติดสัญญากับทาง Audio Fidelity ทำให้ต้องใช้ชื่อคนอื่นในเครดิตแทน) และ มิลตัน บานาน่า (หรือ อังโตนิอู เดอ ซูซ่า) เล่นกลอง โดยมี อัสตรุด ชิลเบร์ตู (Astrud Gilberto) ภรรยาสาววัย 23 ปีของชูเอา ชิลเบร์ตู ผู้มีความใฝ่ฝันจะเป็นนักร้องมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีโอกาส จนกระทั่งโอกาสที่เธอไม่เคยคาดคิดก็ได้มาถึงในที่สุด
อัสตรุด ชิลเบร์ตู ได้ฝากเสียงร้องเองไว้ในอัลบั้ม “Getz/Gilberto” ถึงสองเพลงด้วยกันนั่นคือ “The Girl from Ipanema” และ “Corcovado (Quiet Nights of Quiet Stars)” สำหรับ “The Girl from Ipanema” เชื่อว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักเพลงนี้ เพราะอย่างน้อยต้องเคยได้ยินสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะในร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือในลิฟต์ของโรงแรมหรู
“The Girl from Ipanema” ในเวอร์ชั่นของ อัสตรุด ชิลเบร์ตู นั้นเป็นเนื้อร้องภาษาอังกฤษ แต่งโดย นอร์แมน กิมเบล (Norman Gimbel) ผู้เขียนเนื้อเพลงเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษให้กับเพลงบราซิลมากมายหลายเพลง “The Girl from Ipanema” คือการร้องเพลงครั้งแรกในฐานะนักร้องของ อัสตรุด ชิลเบร์ตู และมันก็ทำให้ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะเพลงนี้ได้กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตไปทั่วโลก และต่อมาก็ได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขาเพลงแห่งปีอีกด้วย จากนั้นความฝันของเธอก็เป็นจริง อัสตรุดได้ทำอัลบั้มออกมาอีกมากมาย อัลบั้มแรกคือ “Getz Au Go Go” ที่เธอทำร่วมกับ สแตน เก็ตซ์ในปี 1964 ปีเดียวกันกับอัลบั้ม Getz/Gilberto มีเรื่องราวหลังจากอัลบั้มนี้จบลง เพราะ อัสตรุดได้ตกหลุมรักกับเก็ตซ์และได้ตามเขาไปยังอเมริกา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ทางดนตรีของ ชูเอา ชิลเบร์ตูกับ สแตน เก็ตซ์ต้องจบลงเพราะหลังจากนั้นทั้งคู่ก็ยังทำงานเพลงร่วมกันอีก ส่วน อัสตรุด กับ ชูเอา ก็หย่ากันในราวปี 1965 จากนั้นอัสตรุดกับเก็ตซ์ก็ดำรงความสัมพันธ์กันทั้งในฐานะคนรักและคนดนตรี แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้แต่งงานกันอาจจะด้วยสาเหตุว่าเก็ตซ์ไม่อาจทำเรื่องหย่าร้างกับภรรยาของตัวเองได้
“Getz/Gilberto” ได้เปลี่ยนชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องไปตลอดกาลโดยเฉพาะชิลเบร์ตูและโชบิง ที่งานเพลงบอสซาโนวาที่ทั้งคู่ได้ริเริ่มบุกเบิกได้กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รวมไปถึงอาชีพนักดนตรีของทั้งคู่ก็รุ่งเรืองรุ่งโรจน์นับจากนี้ โดยชิลเบร์ตูได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมีอีก 2 ครั้ง ในปี 1977 จากอัลบั้ม Amoroso ในสาขาการแสดงเพลงร้องแจ๊สยอดเยี่ยม และในปี 1988 จากอัลบั้ม Live In Montreaux ในสาขาการแสดงเพลงร้องแจ๊สยอดเยี่ยม (ชาย) จนกระทั่งในปี 2000 เขาได้รับรางวัลอัลบั้มเวิลด์มิวสิคยอดเยี่ยมจากอัลบั้ม João Voz E Violão ในที่สุด
ส่วนโชบิงนั้นหลังจากจบงานอัลบั้มนี้ไม่นานเขาก็ได้เดินทางไปอเมริกาและได้พบกับ แฟรงค์ ซินาตร้า และได้ทำงานร่วมกันจนได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ในสาขาอัลบั้มแห่งปีจากอัลบั้ม “Francis Albert Sinatra & Antonio Carlos Jobim” และสุดท้ายก็ได้รับรางวัลแกรมมีในสาขาการแสดงละตินแจ๊สยอดเยี่ยม จากอัลบั้มชุดที่ 15 ของเขา””Antonio Brasileiro” และนอกจากนี้เขายังได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จากแกรมมี่ในปี 2012 อีกด้วย
ส่วนตัวอัลบั้ม “Getz/Gilberto” เองนั้นถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ให้หลังเพียงหนึ่งปีจากที่อัลบั้มได้เผยแพร่ออกมา มันก้ได้ไปติดชาร์ต Billboard ในอันดับที่สองและติดอยู่ในลิสต์อัลบั้มขายดีเป็นเวลากว่าสองปี และในปีเดียวกันนี้มันก็ได้รับรางวัลแกรมมีในสาขาอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปีเอาชนะแนวดนตรีอื่นๆจนทำให้มันได้กลายเป็นอัลบั้มเพลงแจ๊ส-บอสซาโนว่า อัลบั้มแรกในประวัติศาสตร์ดนตรีที่ได้รับรางวัลนี้ และนอกจากนี้ยังได้กลายเป็นหนึ่งในท็อป 5 อัลบั้มขายดีที่สุดตลอดกาลของวงกาลเพลงแจ๊ส บอสซาโนว่าอีกด้วย
และนี่คืออัลบั้มที่คอเพลงแจ๊ส บอสซาโนวา รวมไปถึงคอเพลงทั่วโลกไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง และหากจะมีงานเพลงในอัลบั้มใดที่จะทำให้เราได้กลับไปรำลึกและสัมผัสความงามจากท่วงทำนองของบอสซาโนวาแจ๊สผ่านท่วงทำนองอันประณีต บรรจง กลมกล่อม และงดงามจากบิดาบอสซาโนว่า “ชูเอา ชิลเบร์ตู” ได้แล้วล่ะก็ ก็คงจะมีอัลบั้มนี้นี่ล่ะที่เหมาะสมเป็นที่สุด.
ฟัง “Getz/Gilberto”
R.I.P. João Gilberto (1931-2019) อายุ 88ปี.
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส