เผลอแป๊บเดียว ครึ่งปีแรกของปี 2562 ก็ผ่านไปแล้ว และ BNK48 ก็ไม่ปล่อยให้แฟน ๆ ได้ตัั้งตัวแต่อย่างใด ยังคงเดินหน้าถล่มแฟน ๆ ด้วยความบันเทิงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรายการจาก The Ska X BNK48 ที่ BNK48 รวมพลังกับ The Ska ปล่อยความฮาอย่างเต็มที่
ฝั่ง BNK48 นำโดยพี่เป้ ฝั่ง The Ska นำโดยพี่บี้ คอยติดตามให้ดี มันต้องแหลกกันไปข้างนึง!
หรือจะเป็นกิจกรรมรูปแบบใหม่ในงานจับมืออย่าง 1-shot video clip ที่ให้แฟน ๆ ถ่ายคลิปเม็มเบอร์คนโปรดพูดประโยคจั๊กจี้หัวใจให้เอากลับไปนอนฝัน เพลิดเพลินเจริญใจกันสุด ๆ ใครที่อยากมีประสบการณ์พิเศษแบบนี้ก็ขอเชิญไปร่วมงานจับมือที่จะยังมีอีก 2 รอบในเดือนสิงหาคมและกันยายนนะครับ
บางทีความสร้างสรรค์ของแฟน ๆ ก็พาให้สงสารเม็มเบอร์ และความสร้างสรรค์ของเม็มเบอร์ก็พาให้สงสารแฟน ๆ 55+
แต่ที่เป็นงานใหญ่อลังการเปิดประเดิมครึ่งปีหลังจะเป็นงานใดไปไม่ได้นอกจาก EVERYBODY SAYS JABAJA AT ICONSIAM งานเปิดตัว Jabaja อัลบั้มที่ 2 ของ BNK48 ที่สุราลัยฮอลล์ ชั้น 7 ไอคอนสยาม (อ่านบทความของเราได้ที่นี่ครับ)
ในงานนี้ นอกจากจะมีการแสดงครั้งแรกของเพลง Jabaja และเพลง Reborn แล้ว ยังมีการเผย MV เพลง Jabaja เป็นครั้งแรกและเผยแพร่ทาง Youtube เมื่อเวลา 19.30 น.ของวันเดียวกัน ไปชม MV กันเลยครับ
ว่าด้วย MV เพลง Jabaja
MV เพลง Jabaja บอกเล่าเรื่องราวความฝันของปูเป้ ในฝันนั้นเจ้าหญิงฟ้อนด์พาเจ้าชายปูเป้ตะลอนไปในโลกแห่งความรื่นรมย์โดยมีเม็มเบอร์ BNK48 ชวนทั้งสองเล่นการละเล่นไทยต่าง ๆ
เจ้าหญิงฟ้อนด์ต้องคอยเอามือปิดปากเจ้าชายปูเป้ไว้ไม่ให้จาม ไม่งั้นจะตื่นจากฝันซะก่อน
ซึ่ง MV นี้ได้พี่โค้ด เสือร้องไห้มากำกับ สวยงามอลังการงานสร้างจริง ๆ ครับผม
ก่อนที่จะได้มาร่วมงานกันใน MV นี้ พี่โค้ดเคยแกะโฟโต้เซ็ตเดบิว BNK48 รุ่นที่ 2 ทั้งสิ้น 81 ชุดและพาเม็มเบอร์ BNK48 ไปเที่ยวกับ Toyota ATIV มาแล้ว
การละเล่นไทยใน MV เพลง Jabaja
นอกจากจะมีจุดเด่นที่โทนสีและการประยุกต์วัฒนธรรมไทยแล้ว MV นี้ยังได้ถ่ายทอดการละเล่นไทย 4 อย่างจาก 4 ภาคด้วย มาดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
โพงพาง by มิวสิค อร แบมบู
โพงพางเป็นการละเล่นของภาคเหนือ ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น วิธีการเล่นคือ เลือกผู้เล่น 1 คนเป็น “ปลา” โดยการจับไม้สั้นไม้ยาว จากนั้นปลาจะถูกเอาผ้าผูกตาแล้วหมุน 3 รอบ ผู้เล่นคนอื่น ๆ ก็ล้อมวงรอบปลาจับมือกันเดินเป็นวงกลมพร้อมกับร้องเพลงว่า
“โพงพางเอย ปลาเข้าลอด ปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง โพงพางเอย นกกระยางเข้าลอด เสือปลาตาบอด เข้าลอดโพงพาง กินปลาเป็นหรือกินปลาตาย”
เมื่อร้องเพลงจบ ผู้เล่นที่ล้อมวงอยู่จะนั่งลงแล้วถามว่า “ปลาเป็นหรือปลาตาย” ถ้าปลาตอบว่า “ปลาเป็น” ผู้เล่นที่ล้อมวงก็จะขยับหนีได้ ถ้าปลาตอบว่า “ปลาตาย” ผู้เล่นที่ล้อมวงต้องนั่งนิ่ง ๆ จากนั้นปลาจะเดินไปจับผู้เล่นคนอื่น เมื่อจับใครได้ก็ต้องทายให้ถูกว่าคนนั้นเป็นใคร ถ้าทายถูก คนที่ถูกจับก็ต้องมาเป็นปลาแทน ถ้าทายผิด ปลาก็ต้องเป็นปลาต่อไป
หนังตะลุง by เฌอปราง โมบายล์ เจน จีจี้
หนังตะลุงเป็นมหรสพเงาของภาคใต้ แสดงโดยการเชิดรูปหนัง (แผ่นหนังที่แกะเป็นตัวละครต่าง ๆ) หน้าจอหนังที่มีไฟส่องเพื่อให้เกิดเงาประกอบบทร้องและการบรรเลงดนตรีบอกเล่าเรื่องราว
งูกินหาง by เนย แก้ว น้ำหนึ่ง
งูกินหางเป็นการละเล่นของภาคอีสาน ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น วิธีการเล่นคือ เลือกผู้เล่น 1 คนเป็น “พ่องู” และอีก 1 คนเป็น “แม่งู” พ่องูกับแม่งูจะยืนหันหน้าเข้าหากัน ผู้เล่นคนอื่น ๆ จะเป็น “ลูกงู” ไปกอดเอวต่อแถวไปข้างหลังแม่งู จากนั้นให้ร้องและทำท่าตามบทดังนี้
พ่องู: “แม่งูเอ๋ย! กินน้ำบ่อไหน?”
แม่งู: “กินน้ำบ่อโสก โยกไปก็โยกมา” พร้อมกับทำท่าโยกไปโยกมา
พ่องู: “แม่งูเอ๋ย! กินน้ำบ่อไหน?”
แม่งู: “กินน้ำบ่อหิน บินไปก็บินมา” พร้อมกับทำท่าบินไปบินมา
พ่องู: “แม่งูเอ๋ย! กินน้ำบ่อไหน?”
แม่งู: “กินน้ำบ่อทราย ย้ายไปก็ย้ายมา” พร้อมกับทำท่าย้ายไปย้ายมา
พ่องู: “กินหัวกินหางกินกลางตลอดตัว!”
จากนั้นพ่องูก็พยายามไล่จับลูกงู แม่งูก็พยายามป้องกันไม่ให้พ่องูจับลูกงูได้ เมื่อพ่องูจับลูกงูคนใดคนหนึ่งได้ ลูกงูคนนั้นก็จะออกมายืนต่างหาก เมื่อพ่องูจับลูกงูได้จนหมดก็ถือว่าจบการเล่น 1 รอบ
รีรีข้าวสาร by เจนนิษฐ์ ปัญ ตาหวาน ไข่มุก
รีรีข้าวสารเป็นการละเล่นของภาคกลาง ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น วิธีการเล่นคือ เลือกผู้เล่น 2 คนยืนหันหน้าเข้าหากันและประสานมือกันเป็นรูปซุ้ม ผู้เล่น ๆ คนอื่น ๆ กอดเอวต่อแถวกัน คนที่ยืนหัวแถวจะพาแถวเดินลอดซุ้ม ผู้เล่นร้องเพลงว่า
“รีรีข้าวสาร สองทะนานข้าวเปลือก เด็กน้อยตาเหลือก เลือกท้องใบลาน คดข้าวใส่จาน เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คอยพานคนข้างหลังไว้!”
เมื่อเพลงจบ ผู้เล่นที่เป็นซุ้มจะต้องกระตุกแขนลงเพื่อกักผู้เล่นคนสุดท้ายในแถวไว้ ผู้เล่นที่ถูกกักก็ต้องออกจากการเล่น จากนั้นก็เล่นวนไปเรื่อย ๆ จนผู้เล่นหมด
สำหรับแฟน ๆ ที่เห็นสาว ๆ เล่นแล้วนึกสนุกอยากเล่นตาม ก็เชิญนำกติกาไปเล่นได้ตามสะดวกเลยครับ นอกจากจะสนุกแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยอีกด้วยนะครับ
ส่วนอันนี้ก็รำวงเวอร์ชันโดยคณะครูของ BNK48 เบิกบานสำราญใจสุด ๆ จ้า
ย้อนรอยเพลง Jabaja
เพลง Jabaja นั้นไม่ใช่เพลงต้นฉบับของ BNK48 แต่เป็นเพลงที่เอามาจากวงพี่สาวอย่าง AKB48 อีกที
Jabaja คือเพลงหลักจาก Jabaja เมเจอร์ซิงเกิลที่ 51 ของ AKB48 ที่วางแผงเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 บทเพลงเชิญชวนให้ทุก ๆ คนปล่อยวางเรื่องแย่ ๆ และปล่อยใจออกมาสนุกกันยามหลังเที่ยงคืน เซ็นเตอร์ของเพลงนี้คือโอกาดะ นานะ หรือนาจัง เม็มเบอร์ AKB48 และกัปตัน STU48 นับเป็นครั้งแรกที่เธอได้เป็นเซ็นเตอร์ในซิงเกิลของ AKB48
เฌอปราง กัปตัน BNK48 อิงแอบนาจัง กัปตัน STU48 ขออนุญาตเหม็นความรักครับผม! (ภาพจากคอนเสิร์ต AKB48 Group Asia Festival 2019 in Bangkok วันที่ 27 มกราคม 2562)
แอบกระซิบว่านาจังและเม็มเบอร์ AKB48 จะมาเมืองไทยเดือนนี้นะครับผม
ถึงแม้เนื้อเพลง Jabaja จะบอกเล่าเรื่องราวความสนุกสนานหลังเวลาเที่ยงคืน แต่ MV ก็ถ่ายทอดความสดใสของวัยรุ่น จัดเต็มทั้งคอสตูมสีสันสดใส ชุดนักเรียน การประโคมดนตรีและซากุระที่ผลิบาน (หลังจากที่ห่างหายไปจากซิงเกิลรับฤดูใบไม้ผลิหลายปี)
นอกจากนี้ เพลง Jabaja ยังเป็นเพลงหลักในซิงเกิ้ลเพลงแรกที่มีเม็มเบอร์ที่ไม่ใช่คนญี่ปุ่นติดเซ็มบัตสึ นั่นก็คือหม่า เจียหลิง เม็มเบอร์ชาวไต้หวันนั่นเอง
เฌอปราง กัปตัน BNK48 ใส่คอสตูมเพลง Jabaja นี้ในคอนเสิร์ตก่อนงานประกาศผลการเลือกตั้งครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2561 (ภาพจาก BSスカパー!)
ส่วนคำว่า Jabaja นั้นก็ไม่ได้มีความหมายแต่อย่างใดครับ เหมือนคำว่า “สักวา” “สะบะดะเฮ่” หรือ “งู้ยยยยยยยยยยย” นั่นแหละ
คอนเสิร์ตเดี่ยวของ AKB48 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 มีชื่อว่า Jabajatte Nani? แปลว่า “Jabaja คืออะไร?”
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับ MV ใหม่ล่าสุด BNK48 ถูกใจกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าถูกใจและอยากตามไปเชียร์ก็ขอให้เตรียมตัวให้พร้อม กิจกรรมโรดโชว์กำลังจะมาแล้ว ส่วนน้อง ๆ นักเรียนก็ขอให้เตรียมลุ้นกับกิจกรรม Surprise School Tour ให้ดี ไม่แน่ BNK48 อาจจะบุกไปแสดงถึงโรงเรียนของท่านเลยครับ!
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส