“Once Upon a Time … in Hollywood” เป็นภาพยนตร์เรื่องที่เก้าจากผู้กำกับจอมขี้โม้ บ้าพลัง ทำหนังได้มันสุดๆอย่าง เควนติน ทารันติโน (Quentin Tarantino) ที่คราวนี้ขนเอาดาราดังมาประชันฝีมือกันเพียบทั้ง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ, แบรด พิตต์, อัล ปาชิโน, มาร์โกต์ ร็อบบี้, ดาโกตา แฟนนิง, ทิโมธี โอลิแฟนต์, เจมส์ มาร์สเดน, เคิร์ต รัสเซล, อีมิล เฮิร์ซ ,ลุค เพอร์รี และอีกมากมาย

โดยครั้งนี้ทารันติโนจะพาเราย้อนกลับไปในปี 1969  ผ่านเรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุสะเทือนขวัญคดีฆาตกรรมแมนสัน กับเรื่องราวสุดสะเทือนใจที่เกิดขึ้นกับดาราสาว แชรอน เทต (มาร์โกต์ ร็อบบี) [ภรรยาของผู้กำกับชื่อดัง โรมัน โปลันสกี] โดยมี ริค ดาลตัน (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) ดาราหนังคาวบอยชุดทางทีวี และ คลิฟฟ์ บูธ (แบรด พิตต์) สตันต์แมนคู่หูของเขา เป็นตัวละครที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อมารับบทเพื่อนบ้านของแชรอน เทต ซึ่งก็น่าสนใจว่าทารันติโนจะเอาตัวละครที่สร้างขึ้นมาใหม่ มาป่วนอะไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในอดีต ซึ่งจากสไตล์ของเขาแล้วมันต้องกดดันแสบสัน ตลกร้าย วายป่วง อย่างแน่นอน

ความเจ๋งอย่างหนึ่งของหนังเรื่องนี้ก็คือการเล่าเรื่องที่เรารับรู้อยู่แล้วว่าปลายทางมันจะเป็นเช่นไร เปรียบเสมือนกับ​ “ทฤษฎีระเบิด” ของผู้กำกับระดับตำนาน อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ที่กล่าวว่าการที่ผู้ชมรู้ว่ามีระเบิดซ่อนอยู่ใต้โต๊ะและเรารู้ว่ามันจะระเบิดเมื่อไหร่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือมันได้สร้างความกระวนกระวายใจให้กับผู้ชม ซึ่ง “Once Upon a Time … in Hollywood” ก็คงจะเป็นแบบนั้นเช่นกัน และการสร้างอารมณ์ลุ้นกดดัน หรือเรื่องไม่คาดฝัน นี่ก็เป็นสิ่งที่ทารันติโนเชี่ยวชาญมากๆเสียด้วย

ทารันติโน ดิคาปริโอ และ พิตต์ บนหน้าปก Esquire

เรื่องราวของ “Once Upon a Time … in Hollywood”  เป็นเหตุการณ์ในอดีตที่มีช่วงเวลากำหนดแน่นอนนั่นคือในปี 1969  ทารันติโนและ แมรี รามอส (Mary Ramos) music supervisor ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเข้าขากันดีกับทารันติโน เพราะทำงานด้วยกันมาหลายเรื่องแล้วทั้ง Kill Bill ทั้งสองภาค , Django Unchained  หรือ The Hateful Eight เป็นต้น  จึงได้กำหนดทิศทางเพลงประกอบที่จะนำมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าไม่ให้เป็นเพลงที่ปล่อยมาหลังปี 1969 จะเป็นเพลงที่อยู่ในปีนั้น หรือจะมาก่อนหน้านั้นก็ไม่มีปัญหา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ได้บรรยากาศของช่วงเวลานั้นอย่างแท้จริงนั่นเอง (แต่จะมีอยู่สองเพลงที่เกินปี 1969 มาคาดว่าอาจจะเป็นเพลงที่เปิดในช่วงเวลาหลังจากเหตุการณ์หลักของเรื่อง)

Mary Ramos

สำหรับทารันติโนแล้วนอกจากการดูหนังก็มีการฟังเพลงนี่ล่ะที่เขารักเป็นชีวิตจิตใจ ดังนั้นไอเดียทั้งหมดนี้จึงเริ่มต้นที่บ้านพักในฮอลลีวูดของทารันติโนในห้องที่เขาเรียกมันว่า “record room“ เพราะมันเต็มไปด้วยแผ่นเสียงมากมายหลากหลายแนว ถูกจัดวางไว้เป็นหมวดหมู่เต็มห้องไปหมด  และทุกๆครั้งที่ทารันติโนกับรามอสจะเริ่มงานกัน ก็มักจะมาเริ่มต้นที่ห้องนี้เสมอ ห้องที่ทารันติโนจะฟุ้งไอเดียต่างๆให้รามอสฟังก่อนจะเดินไปหยิบแผ่นเสียงวางลงบนเครื่องเล่นและจรดเข็มเล็กๆลงไป แล้วปล่อยให้เสียงนั้นซึมแทรกผ่านหูเข้ามา

อัลบั้มซาวด์แทร็กของภาพยนตร์เรื่องนี้ออกวางแผงในวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมาวันเดียวกับวันฉายที่อเมริกา (ส่วนประเทศไทยนั้นวางวันฉายไว้เป็นวันที่ 12 กันยายนนี้) มีบทเพลงทั้งหมด 31 เพลงดังรายชื่อต่อไปนี้ พร้อมปีพ.ศ.ที่เพลงนั้นปล่อยออกมา ให้ได้ดูกันด้วยว่าเพลงแต่ละเพลงนั้นมาจากปีไหน


  1. Treat Her Right – Roy Head & The Traits (1965)
  2. Ramblin’ Gamblin’ Man – The Bob Seger System (1968)
  3. Hush – Deep Purple (1968)
  4. Mug Root Beer Advertisement – KHJ
  5. Hector – The Village Callers (1968)
  6. Son of a Lovin’ Man – Buchanan Brothers (1969)
  7. Paxton Quigley’s Had the Course (from the MGM film Three in the Attic) – Chad & Jeremy (1968)
  8. Tanya Tanning Butter Advertisement – Bristol Myers
  9. Good Thing – Paul Revere & The Raiders (1966)
  10. Hungry – Paul Revere & the Raiders (1966)
  11. Choo Choo Train – The Box Tops (1968)
  12. Jenny Take a Ride – Mitch Ryder and the Detroit Wheels (1965)
  13. Kentucky Woman – Deep Purple (1968)
  14. The Circle Game – Buffy Sainte-Marie (1967)
  15. Mrs. Robinson – Simon & Garfunkel (1968)
  16. Numero Uno Cologne Advertisement – I Profumi di Capri
  17. Bring a Little Lovin’ – Los Bravos (1966)
  18. Suddenly / Heaven Sent Advertisement – Harold E.Weed / Dana Classic Frangances
  19. Vagabond High School Reunion – KHJ
  20. KHJ Los Angeles Weather Report – KHJ
  21. The Illustrated Man Advertisement / Ready For Action- Various Artists
  22. Hey Little Girl – Dee Clark (1959)
  23. Summer Blonde Advertisement – Coty Inc.
  24. Brother Love’s Traveling Salvation Show – Neil Diamond (1969)
  25. Don’t Chase Me Around (from the MGM film GAS-S-S-S) – Robert Corff (1970)
  26. Mr. Sun, Mr. Moon – Paul Revere & the Raiders (feat. Mark Lindsay) (1969)
  27. California Dreamin’ – Jose Feliciano (1968)
  28. Dinamite Jim (English Version) – I Cantori Moderni di Alessandroni (1966)
  29. You Keep Me Hangin’ On (Quentin Tarantino Edit) – Vanilla Fudge (1967)
  30. Miss Lily Langtry (cue from The Life and Times of Judge Roy Bean) – Maurice Jarre (1972)
  31. KHJ Batman Promotion – KHJ

ก่อนที่จะไปฟังทั้งอัลบั้มแบบเต็มๆ ตอนนี้เรามาพรีวิวสัก 5-6 เพลง เป็นตัวอย่าง พร้อมด้วยรายละเอียดของฉากที่มันไปปรากฏตัวอยู่ (แบบไม่สปอยล์)

Treat Her Right – Roy Head & The Traits (1965)

Play video

 

เพลงนี้เป็นเพลงที่มาพร้อมจังหวะสนุกๆ เหมาะแก่การปลุกผู้ชมจากหน้าจอโทรศัพท์ให้หันกลับมาดูหนัง เป็นการปูอารมณ์ผู้ชมให้พร้อมที่จะเจอในสิ่งที่รออยู่ในหนัง แถมยังมีเรื่องที่น่าสนใจว่าหนึ่งในคนแต่งเพลงนี้คือ Gene Kurtz เพิ่งได้รับเครดิตจากการแต่งเพลงนี้ไม่เมื่อไม่นาน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับเขาที่เพลงนี้ถูกนำมาใช้

 

Hungry – Paul Revere & the Raiders (1966)

Play video

เพลง “Hungry” จะปรากฏอยู่ในฉากที่แชรอน เทต พบกับชาร์ลส์ แมนสันเป็นครั้งแรก เพลงนี้ถูกเลือกด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เพราะว่า เทอร์รี เมลเชอร์ (ลูกชายของดอริส เดย์ นักร้องนักแสดงหญิงเจ้าของเสียงในเพลง Que Sera Sera) ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวง Paul Revere & the Raiders เป็นคนที่อาศัยอยู่ที่ Cielo Drive house อันเป็นสถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมสะเทือนขวัญ และนอกจากนี้เขายังมีสายสัมพันธ์กับครอบครัวของชาร์ลส์ แมนสันด้วย

 

Son of a Lovin’ Man – Buchanan Brothers (1969)

Play video

 

เพลงนี้จะมาในฉากงานปาร์ตี้ที่เพลย์บอยแมนชั่น มันเป็นเพลงแดนซ์ที่ยอดเยี่ยมมาก เป็นเพลงที่หายากและไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไหร่ แต่แน่นอนมันอยู่ใน “record room” ของทารันติโน  ซึ่งรามอสได้เล่าให้ฟังว่าหลายครั้งเวลาทั้งคู่ตกลงกันว่าจะใช้เพลงนั้นเพลงนี้ในหนัง พวกเขามักพบว่าหลายครั้งแผ่นเสียงมักอยู่ในสภาพ “เก่ากึ๊ก” ดังนั้นเลยต้องมีการตามล่า หาและซื้อแผ่นเสียงแผ่นใหม่ที่สภาพดีกว่านี้มาใช้

 

The Circle Game – Buffy Sainte-Marie (1967)

Play video

 

“The Circle Game” เวอร์ชันนี้เป็นงานคัฟเวอร์จากเวอร์ชันดั้งเดิมของ โจนี มิตเชลล์ โดยนักร้องนักแต่งเพลงหญิงแนวโฟล์คผู้ให้ความสำคัญกับเรื่องของชนพื้นเมืองในอเมริกา เพลงนี้ปรากฏตัวในฉากแชรอน เทตหยุดรถรับสองสาวฮิปปี้ที่กำลังโบกรถอยู่ โดยในฉากนี้จะมีมองทาจนำเสนอความอ่อนหวานและเบื้องลึกในชีวิตของแชรอน เทต

 

California Dreamin’ – Jose Feliciano (1968)

Play video

 

บทเพลงดังที่ใช้ประกอบหนังหลายเรื่อง รวมไปถึง Chucking Express ของ หว่อง กาไว ผู้กำกับในดวงใจของทารันติโน เพลงนี้เวอร์ชันแรกเป็นของ Barry McGuire แต่ไปดังตอนเวอร์ชันต่อมาของ The Mamas and the Papas  ส่วนเวอร์ชันที่ใช้ในหนังเป็นงานคัฟเวอร์ของ โฮเซ เฟลิเซียโน นักร้องนักแต่งเพลงชาวเปอร์โตริโก ปรากฏในฉากที่มีตัวละครตัวหนึ่งกำลังเล่นเพลง “Straight Shooter” ด้วยเปียโน จากนั้นเสียงเพลง California Dreamin’ จากการบรรเลงของโฮเซ เฟลิเซียโน ก็ค่อยๆดังขึ้น รามอสบอกว่าการใช้เพลงที่ถูกใช้บ่อยๆในหนังถือเป็นเรื่องควรระวัง เพราะมันจะกลายเป็น “วอลเปเปอร์” ไปและคนจะไม่ค่อยสนใจมัน แต่การใช้เพลงแบบนี้ในเวอร์ชันที่แปลกใหม่ จะทำให้มันสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้

 

You Keep Me Hangin’ On – Vanilla Fudge (1967)

Play video

 

เพลง You Keep Me Hangin’ On แต่เดิมเป็นของ The Supremes วงโซลจากค่าย Motown  แต่ทารันติโนกับรามอสเลือกใช้มันในเวอร์ชันของ Vanilla Fudge วงอเมริกันร็อกจากลองไอแลนด์ แต่ถูกนำไปยืดให้ช้าลง ปรับนั่นแต่งนี่ เจือกลิ่นเมทัลและไซคีเดลิคหลอน กลายเป็นเวอร์ชัน Quentin Tarantino Edit  เพื่อให้เหมาะกับฉากที่มีความรุนแรงฉากหนึ่งในหนัง (น่ะ!)

เอาล่ะๆ ก่อนที่จะรู้มากไปกว่านี้ เก็บใจไว้รอดูหนังเต็มๆในวันที่ 12 กันยากันดีกว่า ส่วนตอนนี้มาฟังซาวด์แทร็กแบบเต็มๆรอกันไปก่อนนะครับ

 

Apple Music

Spotify

 

Source

Inside Tarantino’s ‘Once Upon a Time in Hollywood’ Soundtrack

Every Song In Once Upon A Time In Hollywood

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส