ในทุก ๆ ปีวันแม่แห่งชาติของไทยเราจะตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่เก้า ของปวงชนชาวไทย ในช่วงเวลานี้ตามโรงเรียนก็จะมีการจัดงานวันแม่และมีกิจกรรมทำร่วมกัน นอกจากจะเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ แล้วก็ยังเป็นการย้ำเตือนให้ลูก ๆ ได้ระลึกถึงพระคุณของแม่ด้วย

โดยในกิจกรรมทั้งหลายที่ได้จัดขึ้นนั้นดนตรีหรือบทเพลงถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ในช่วงเวลานี้ของทุกปีเราก็จะได้ยินเพลงที่มีความไพเราะ อบอุ่น ซาบซึ้งและมีความหมายที่ดีในแต่ละที่ แต่ละช่วงเวลาก็อาจจะเลือกเปิดเพลงแตกต่างกันไป จำได้ว่าในตอนที่เราเป็นเด็กเพลงที่เราได้ยินบ่อย ๆ ที่คลาสสิกที่สุดก็คือ “ค่าน้ำนม” จากนั้นก็จะมีเพลง ”อิ่มอุ่น” ของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง จนมาเป็นเพลง “แม่” ของ โลโซ ไล่มาเรื่อย ๆ จนถึงยุคนี้อีกเพลงหนึ่งที่ได้ยินบ่อยมากก็คือ “เรียงความเรื่องแม่” ซึ่งเป็นเพลงที่เศร้ามาก ๆ เป็นที่น่าสนใจที่บ้านเรามีเพลงที่พูดถึงแม่อยู่หลายเพลง และแต่ละเพลงก็สะท้อนแง่มุมแตกต่างกันออกไป ซึ่งพอมองในภาพรวมก็เป็นภาพสะท้อนที่ดีที่ทำให้เราได้เห็นสายสัมพันธ์ความรักจากแม่สู่ลูกจากลูกสู่แม่ในหลากหลายเรื่องราว อารมณ์ และความรู้สึก

เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติปีนี้เราจะกลับมาลองมองเพลงเหล่านี้ด้วยความช่างสังเกตและศึกษาเรื่องราวของเพลงเหล่านี้อย่างละเอียดลึกซึ้งอีกสักนิด ลองไปดูกันว่าแต่ละเพลงนั้นมีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรมีแง่มุมไหนที่น่าสนใจโดยจะไล่เรียงจากเพลงที่มาก่อนจนถึงเพลงล่าสุดเพื่อให้เห็นพัฒนาการเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกผ่านบทเพลงวันแม่เหล่านี้

วันแม่แห่งชาติ 

ก่อนที่จะไปพูดถึงบทเพลงเหล่านี้เรามาดูประวัติของวันแม่แห่งชาติก่อน วันแม่แห่งชาตินั้นจะตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปีอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว แต่เดิมนั้นวันแม่แห่งชาติไม่ได้เป็นวันที่ 12 สิงหาคมมาแต่แรก หากแต่เป็นวันที่ 15 เมษายน  โดยเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้ประกาศรับรองเอาไว้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2493 ซึ่งอยู่ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อมาในปีพ.ศ. 2519 จึงได้เปลี่ยนแปลงวันแม่ใหม่โดยย้ายมาเป็นวันที่ 12 สิงหาคมซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันนี้จึงได้กลายเป็นทั้งวันที่เฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่านและเป็นวันแม่แห่งชาติภายในวันเดียวกันเลย

เอาละครับทีนี้เรามาเริ่มกันที่บทเพลงที่น่าจะเป็น “บทเพลงประจำวันแม่” เพลงแรกของบ้านเรากันดีกว่าซึ่งเพลงนั้นก็คือเพลง…


ค่าน้ำนม (2492)

เพลงค่าน้ำนมถือว่าเป็นเพลงที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่บทเพลงที่นิยมร้องและเปิดในงานวันแม่ ซึ่งเพลงนี้ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2492 หนึ่งปีก่อนที่จะประกาศให้วันแม่แห่งชาติเป็นวันที่ 15 เมษายน ในปี 2493 เชื่อว่าหลังจากนั้นเพลง “ค่าน้ำนม” ก็คงกลายเป็นเพลงประจำวันแม่โดยทันที เพราะช่วงนั้นคงไม่มีเพลงใดที่มีความเหมาะสมเท่ากับเพลงนี้อีกแล้ว

เพลง “ค่าน้ำนม” แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลง นักเขียนบทละครที่มีผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมากจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของไทย” เพลงนี้ขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ เย็นแข และเป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับทั้งครูไพบูลย์และชาญ เย็นแขมาก ๆ

ครูไพบูลย์ (ซ้าย) ชาญ เย็นแข (ขวา)

สำหรับครูไพบูลย์ เพลงนี้ครูได้แต่งให้กับมารดาของตน คือ นางพร้อม ประณีต ซึ่งดูแลครูไพบูลย์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่วัยหนุ่มจนท่านเสียชีวิตในวัย 70 กว่าปี ถึงแม้ครูไพบูลย์จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน ซึ่งได้รับความรังเกียจจากบุคคลทั่วไป แต่สำหรับแม่บังเกิดเกล้าของครูแล้วท่านไม่เคยรังเกียจเลย

สำหรับชาญ เย็นแข เพลงค่าน้ำนมถือว่าเป็นบทเพลงแรกที่ชาญ เย็นแข ได้ร้องบันทึกเสียงซึ่งแต่เดิมนั้นเพลงนี้จะถูกร้องโดย บุญช่วย หิรัญสุนทร แต่ก่อนที่จะมีการบันทึกเสียง บุญช่วย หิรัญสุนทร เกิดป่วยขึ้นมาจึงร้องไม่ได้ ครูสง่า อารัมภีร ผู้ควบคุมวงดนตรีศิวารมณ์ที่มาช่วยในการบันทึกเสียงครั้งนี้ จึงเสนอให้ชาญ เย็นแขซึ่งเป็นลูกศิษย์มาขับร้องแทน โดยในการบันทึกเสียงนั้นครูสง่า อารัมภีรเป็นผู้เล่นเปียโน บันทึกเสียงเพียงไม่กี่ครั้งก็ใช้งานได้เลย เพลงนี้เรียบเรียงเสียงประสานโดย สง่า อารัมภีร และ ประกิจ วาทยกร ซึ่งเป็นบุตรชายของพระเจนดุริยางค์

บทเพลงค่าน้ำนมได้รับการยกย่องว่าเป็นเพลงที่เป็นรากฐานของเพลงลูกทุ่ง ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยในปี 2532 ด้วยท่วงทำนองอันไพเราะอ่อนหวานและเนื้อหาที่งดงามอันสะท้อนให้เห็นถึงพระคุณของแม่ทำให้บทเพลงนี้ได้กลายเป็นบทเพลงสุดคลาสสิกประจำวันแม่แห่งชาติ ซึ่งมั่นใจเลยว่าจะยังคงเป็นอยู่อย่างนี้เสมอไปไม่ว่าจะมีเพลงไหนเกิดขึ้นมาใหม่อีกเท่าไหร่ก็ตาม

 

แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง

ที่เฝ้าหวง ห่วงลูกแต่หลังเมื่อยังนอนเปล

แม่เราเฝ้าโอ้ละเห่

กล่อมลูกน้อยนอนเปลไม่ห่างหันเห ไปจนไกล

 

บทเพลงนี้มีการเล่าเรื่องในลักษณะเป็นการระลึกถึงพระคุณของแม่ ว่าแม่เป็นผู้มีบุญคุณอันใหญ่หลวงเลี้ยงดูเราตั้งแต่เล็กจนโตเพราะฉะนั้นเราควรคิดพิจารณาให้ดีว่า “ค่าน้ำนม” แม่นี้มีคุณค่ามากแค่ไหนหลังจากนั้นจึงเกิดการรู้คุณและพยายามที่จะตอบแทนพระคุณแม่ให้ดีที่สุด

 

ครวญคิดพินิจให้ดี

ค่าน้ำนมแม่นี้

จะมีอะไรเหมาะสม

โอ้ว่าแม่จ๋า ลูกคิดถึงค่าน้ำนม

เลือดในอกผสม กลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกดื่มกิน

 

Play video


ใครหนอ (2498)

เพลง”ใครหนอ” ก็เป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่ถูกใช้ในงานวันแม่อยู่บ่อย ๆ เพลงนี้เป็นเพลงที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับที่สองรองจากเพลงค่าน้ำนม โดยบทเพลงนี้ขับร้องโดยคุณสวลี ผกาพันธ์ุ ส่วนคำร้องและทำนองนั้นเขียนขึ้นโดยครูสุรพล โทณะวณิก บันทึกเสียงครั้งแรกในปี 2498 แต่รู้หรือไม่ว่าบทเพลงนี้มีที่มาที่น่าสนใจมาก ๆ เลย เชื่อว่าทุกคนจะต้องคิดว่าเพลงนี้คือเพลงที่พูดถึงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกอย่างแน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่าที่จริงแล้วเพลงนี้เป็นเพลงรักและเป็นความรักแบบชายหญิงด้วย!

 

ใครหนอ เห็นเรา เศร้าทรวงใน

ใครหนอ เอาใจปลอบเราเรื่อยมา

ใครหนอ รักเราดังดวงแก้วตา

รักเขากว้างกว่า พื้นพสุธา นภากาศ

 

สวลี ผกาพันธุ์

 

สุรพล โทณะวณิก

 

ตามที่รู้กันว่าผู้แต่งเพลงนี้คือครูสุรพล โทณะวณิก ส่วนคนขับร้องนั้นคือคุณสวลี ผกาพันธ์ุ ซึ่งหลายคนคงได้รู้เรื่องราวความรักที่ครูสุรพลมีต่อคุณเชอร์รี่หรือคุณสวลี ซึ่งได้ถูกเผยแพร่ออกไปเมื่อช่วงปีที่แล้ว เมื่อตอนที่คุณสวลีได้เสียชีวิต เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อตอนวัยเด็กครูสุรพลนั้นยังเป็นเด็กขายน้ำ เดินไปจีบนักเรียนหญิง สาวน้อยน่ารักคนหนึ่งซึ่งก็คือคุณเชอรี่ สวลี ผกาพันธ์ุ ที่หน้าโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม จนโดนให้ออกไม่ให้ขาย หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ไม่ได้พบกันอีกจนได้กลับมาพบกันอีกครั้งตอนโต ตอนที่คุณสวลีเป็นนักร้องและครูสุรพลได้เป็นนักแต่งเพลง ครูสุรพลชอบคุณสวลีเสมอมาและยังครองตัวเป็นโสดอยู่ แต่คุณสวลีนั้นสุดท้ายแล้วก็มีคนรักเป็นพนักงานธนาคารออมสินและได้แต่งงานกัน ในวันหนึ่งครูสุรพลไปดูมวยที่สนามมวยราชดำเนินก็คิดถึงคุณสวลีขึ้นมา ก็นั่งริมฟุตบาท แล้วแต่เพลง “ใครหนอ”ขึ้นมา โดยหวังไว้ในใจว่าจะให้คุณสวลีร้อง แต่สุดท้ายคุณสวลีก็ไม่ยอมร้อง เพราะรู้ว่าเป็นเพลงที่แต่งมาจีบตน ครูสุรพลก็เลยใช้ไม้ตายด้วยการเติมคำว่า “คุณพ่อคุณแม่” ลงไปในเนื้อเพลง ทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลงความรักของพ่อและแม่ คุณสวลีก็เลยยอมร้องเพลงนี้ในที่สุด

 

ใครหนอ รักเรา เท่าชีวัน (เท่าชีวัน)

ใครหนอ ใครกันให้เราขี่คอ (คุณพ่อ คุณแม่)

 

ใครหนอ ชักชวนดูหนังสี่จอ

รู้แล้วละก็ อย่ามัวรั้งรอ ทดแทนบุญคุณ

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีบางท่อนที่ชวนสงสัยเช่น “ใครกันให้เราขี่คอ” หรือ “ใครหนอชักชวนดูหนังสี่จอ” ซึ่ง “หนังสี่จอ” นั้นก็คือ “มุ้ง” นั่นเอง โดยมีการเปรียบเปรยลักษณะการที่พ่อแม่นอนเล่นนอนคุยกับลูกในมุ้งชวนดูแสงเงาที่ลอดผ่านมากระทบกับผนังมุ้งทั้งสี่ ซึ่งพอมาดูตรงนี้รวมไปถึงท่อนที่ตามมาอย่าง “รู้แล้วละก็ อย่ามัวรั้งรอ ทดแทนบุญคุณ” ก็เชื่อว่าครูสุรพลน่าจะมีความจงใจทำให้กลายเป็นเพลงเกี่ยวกับความรักของพ่อและแม่ขึ้นมาจริง ๆ และน่าจะเป็นช่วงครึ่งแรกของเพลงมากกว่าที่เป็นเพลงที่มาจากความรักของครูสุรพล  ต้องถือว่าเพลงนี้เป็นเพลงวันแม่ที่แปลกและแตกต่างจากเพลงอื่น ๆ เลยทีเดียว หนึ่งก็คือที่มาของเพลง สองก็คือมิติความรักในเพลง อย่างน้อยเพลงนี้ก็เหมือนจะเป็นเพลงวันแม่เพลงเดียวที่พ่อเข้ามามีส่วนร่วมด้วยในเพลง

 

Play video


อิ่มอุ่น (2537)

“อิ่มอุ่น” เป็นเพลงที่แต่งขึ้นโดย พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ตามคำขอของอาจารย์หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศิริราชเมื่อปีพ.ศ. 2534 ซึ่งเป็นหัวหน้าของพี่สาวของพี่จุ้ย ซึ่งในตอนนั้นทางโรงพยาบาลกำลังทำโครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็เลยอยากได้เพลงที่สื่อให้เห็นถึงความสำคัญของ “นมแม่” โดยที่มาของชื่อเพลงนั้นมาจากลักษณะของการให้นมแม่ซึ่งแม่ต้องตระกองกอดแล้วช้อนตัวลูกขึ้นมาแล้วจึงให้นมลูก ซึ่งไม่ได้ทำให้ลูก ”อิ่ม”อย่างเดียวแต่ ทำให้ลูก “อุ่น” ด้วย

ศุ บุญเลี้ยง

เพลงอิ่มอุ่นนี้บันทึกเสียงครั้งแรกอยู่ในอัลบั้ม “รับแขก” ของพี่จุ้ย ในปีพ.ศ. 2537 ซึ่งคนที่ร้องเพลงนี้ก็คือคุณชลลดา เตียวสุวรรณ (คนเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “เด็กหอ” “วัยอลวน 4”) แต่หลังจากนั้นก็ถูกนำมาทำเป็นเวอร์ชันต่าง ๆ ซึ่งรวมไปถึงเวอร์ชันที่พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ร้องเองด้วย

 

อุ่นใด ๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม

อุ่นอกอ้อมแขนอ้อมกอดแม่ตระกอง

รักเจ้าจึงปลูก รักลูกแม่ย่อมห่วงใย

ไม่อยากจากไปไกล แม้เพียงครึ่งวัน

 

ให้กายเราใกล้กัน ให้ดวงตาใกล้ตา

ให้ดวงใจเราสองเชื่อมโยงผูกพัน

 

ลักษณะเด่นของเพลงอิ่มอุ่นคือมุมมองในการเล่าซึ่งเพลงนี้มีลักษณะการเล่าจากแม่ไปสู่ลูก เหมือนจะเป็นเพลงเดียวในกลุ่มเพลงวันแม่ที่เป็นการร้องจากฝั่งแม่ ซึ่งบทเพลงวันแม่ส่วนใหญ่จะเป็นการร้องจากฝั่งลูกนอก จากนี้ยังมีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือในท่อนแรกของเพลง “อิ่มอุ่น” จะมีอยู่คำหนึ่งที่มีการร้องแตกต่างกันนั่นคือท่อนที่ร้องว่า “อุ่นใดใดโลกนี้มิมีเทียบเทียม” ซึ่งในหลายเวอร์ชันที่เป็นนักร้องคนอื่น ๆ ที่นำเพลงนี้ไปร้องใหม่มักจะเปลี่ยนจากคำว่า “มิ” เป็น “ไม่” ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุผลอาจจะเป็นเพราะเรื่องของภาษา “ไม่” อาจจะเป็นคำที่ใช้เป็นปกติ เป็นภาษาพูดมากกว่า

บทเพลงนี้ได้ทำหน้าที่เป็นบทเพลงวันแม่มาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้วโดยในปีนี้พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยงได้จัดงานอิ่มอุ่นอวอร์ดขึ้นโดยมีความต้องการที่จะแบ่งค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ทางปัญญาจากบทเพลงนี้ให้ปรับเปลี่ยนเป็นรางวัลช่วยเหลือบุคคลตัวเล็ก ๆ ที่ทำเรื่องดีมีประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ได้รับการมองเห็นหรือสนับสนุนให้ได้มีกำลังใจช่วยให้โลกนี้”อิ่ม” และ “อุ่น” ต่อไป

 

อิ่มใดๆ โลกนี้มิมีเทียบเทียม

อิ่มอกอิ่มใจ อิ่มรักลูกหลับนอน

น้ำนมจากอก อาหารของความอาทร

แม่พร่ำเตือนพร่ำสอน สอนสั่ง

 

ให้เจ้าเป็นเด็กดี ให้เจ้ามีพลัง

ให้เจ้าเป็นความหวังของแม่ต่อไป

 

ใช่เพียงอิ่มท้อง

ที่ลูกร่ำร้องเพราะต้องการไออุ่น

อุ่นไอรัก อุ่นละมุน

ขอน้ำนมอุ่นจากอกให้ลูกดื่มกิน…

Play video


แม่ (2541)

เพลง”แม่”ของโลโซถือว่าเป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากและคนมักจะร้องกันโดยทั่วไป ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นวันแม่ โดยเพลงนี้ถูกบรรจุเอาไว้ในอัลบั้มที่สองของโลโซคืออัลบั้มที่มีชื่อว่า “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” ในปี 2541 โดยเพลงแม่เป็นแทร็คที่ 10 ก่อนแทร็คสุดท้ายของอัลบั้ม จุดเด่นของบทเพลงแม่ของโลโซก็คือเป็นเพลงที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ของชาวร็อกจากวงโลโซผ่านน้ำเสียงสุดอารมณ์และเสียงกีตาร์บาดใจจากพี่เสก โลโซ โดยเนื้อหาของเพลงเป็นการพูดถ่ายทอดจากมุมมองของลูกที่คิดถึงแม่ที่อยู่ห่างไกลกัน เพราะว่าลูกนั้นจากถิ่นฐานบ้านเกิดมาสู่เมืองใหญ่จนพบกับผู้คนหลากหลายทั้งร้ายดี เลยรู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยวใจและคิดถึงบ้านอยากจะกลับไปบ้านไปหาแม่ ไปกอด ไปกราบแม่ สัมผัสความรักจากแม่ ความรักในแบบที่เขาไม่เคยได้รับจากคนในเมืองกรุงเลย

 

ป่านนี้ จะเป็นอย่างไร

จากมาไกล แสนนาน

คิดถึง คิดถึงบ้าน

จากมาตั้งนาน เมื่อไรจะได้กลับ

 

แม่จ๋า แม่รู้บ้างไหม

ว่าดวงใจ ดวงนี้เป็นห่วง

จากลูกน้อย ที่แม่ห่วงหวง

อยู่เมืองหลวง ศิวิไลซ์ ไกลบ้านเรา

 

คิดถึงแม่ขึ้นมา น้ำตามันก็ไหล

อยากกลับไป ซบลงที่ตรงตักแม่

ในอ้อมกอดรักจริง ที่เที่ยงแท้

ในอกแม่ สุขเกินใคร

 

ทั้งอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมา ทั้งภาษาที่ใช้ และการเล่าเรื่องที่กระทบใจใครหลาย ๆ คนจึงทำให้เพลงนี้กลายเป็นเพลง “แม่” ที่อยู่ในใจชาวไทยตลอดมา

Play video


 เรียงความเรื่องแม่ (2548)

อาจกล่าวได้ว่า เพลง “เรียงความเรื่องแม่” เป็นเพลงที่ใหม่ที่สุดในกลุ่มเพลงที่นิยมเปิดในงานวันแม่ ซึ่งเพลงนี้มีความพิเศษอย่างมากในหลายหลายแง่มุม หนึ่งเลยก็คือผู้ขับร้องเพลงนี้ไม่ใช่นักร้อง นักดนตรีหากแต่เป็นเด็กชายจากสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆและเด็กหญิงจากสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ส่วนคำร้องนั้นแต่งโดยสุทธิพงษ์ สมบัติจินดา ทำนองโดย วุฒิชัย สมบัติจินดา และเรียบเรียงโดย อนุชา อรรจนาวัฒน์ เป็นหนึ่งในบทเพลงจากอัลบั้มพิเศษ “คิดถึงแม่ เรียงความเรื่องแม่”  (2548) ซึ่งเป็นปีที่สองต่อจากอัลบั้มพิเศษ “คิดถึงแม่” (2547) ซึ่งผลิตโดย ค่ายเพลง “อะบอริจินส์” ในเครืออาร์เอส ซึ่งมีสโลแกนเท่ ๆ เวลาพูดถึงผลงานเพลงของค่ายว่าเป็น “ผลิตผลชนเผ่าอะบอริจินส์” ที่ผลิตขึ้นในปี 2547 เป็นอัลบั้มพิเศษ ที่ทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักและเทิดทูนในพระคุณของแม่ผ่านเสียงร้อง จากศิลปินในค่าย  “อะบอริจินส์”  12 ชีวิตผ่าน 10 บทเพลงพิเศษ จากลูกสู่แม่

“คิดถึงแม่ เรียงความเรื่องแม่” ได้สานต่อกระแสความรักระหว่างแม่-ลูกให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยรวบรวมเรื่องราวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกผูกพันระหว่างแม่กับลูก เรื่องราวเล็ก ๆ ที่ชวนให้คิดถึงแม่ ในมุมมองที่แตกต่างตามประสบการณ์ เน้นให้คนฟังเกิดความรู้สึก คิดถึงแม่ มากขึ้น ในทุก ๆ เวลาของชีวิต ไม่ใช่เฉพาะคนที่อยู่ไกลห่างจากแม่เท่านั้น

ถ่ายทอด 9 บทเพลงโดย 9 ศิลปิน อย่าง แดน – วรเดช ดานุวงศ์, บีม – กวี ตันจรารักษ์, ฟิล์ม – รัฐภูมิ โตคงทรัพย์, เม – จีระนันท์ กิจประสาน, เอ๊ะ – ศศิกานต์ อภิชาติวรศิลป์, พดด้วง – ณพชร ว่องชาญกิจ, นาธาน โอมาน, โฟร์ท – นฤมล จิวังกูร และ ปุ้ย – ชิสา ทะวะลัย

โดยมีบทเพลงพิเศษ เป็นเพลงที่ 10 ก็คือ “เรียงความเรื่องแม่” นั่นเอง

โดยเนื้อหาของทุกเพลงจะมีแง่มุมที่แตกต่างกันออกไปแต่ลักษณะการเล่าจะเหมือนกันคือเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกจากลูกไปถึงแม่ แต่ที่เป็นที่นิยมที่สุด ใช้เปิดมากที่สุด พิเศษที่สุดก็คือเพลง “เรียงความเรื่องแม่” นั่นเอง ซึ่งเหตุผลที่เพลงนี้ได้รับความนิยมส่วนหนึ่งก็มาจากท่วงทำนองและอารมณ์ของเรื่องราว แต่ที่สำคัญที่สุดคือมุมมองการเล่าของเพลงนี้ ซึ่งเล่าเรื่องจากเด็กที่ถูกครูให้เขียนเรียงความเรื่องของแม่โดยให้ส่งในวันพรุ่งนี้ สำหรับเด็กทั่วไปมันอาจจะไม่ยากนัก แต่สำหรับเด็กที่ไม่เคยมีแม่ เค้าจะเขียนมันขึ้นมาได้อย่างไร กอดแม่อุ่นจริง ๆ หรือไม่ ความรู้สึกนั้นเป็นอย่างไร เค้าไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นบทเพลงนี้จึงถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่ขาดแม่ออกมาได้อย่างละเอียดอ่อนลึกซึ้งและชี้ชวนให้เราเข้าใจเด็กน้อย ๆ เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเนื้อเพลงก็บรรยายออกมาได้แบบเห็นภาพ เกิดความรู้สึกมาก ๆ แถมได้เสียงร้องจากน้อง ๆ ด้วย เรายิ่งรู้สึกสะเทือนใจ พูดได้เลยว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่เปิดขึ้นมาเมื่อไหร่ยากนักที่น้ำตาจะไม่ไหลออกมา

 

คุณครูสั่งให้เขียน เรียงความเรื่องแม่ฉัน บอกให้ส่งให้ทันวันพรุ่งนี้

มันยากจัง ทำไม่ไหว หนูแม่ไม่มี แล้วจะเขียนให้ดียังไง

 

เป็นห่วง ก็ไม่รู้ ดูแล ก็ไม่คุ้น กอดแม่อุ่นจริงจริง มันจริงไหม

พร้อมหน้ากัน ทานอาหาร เคยมีแค่ฝันไป ไม่มีเพลงกล่อมใด ไม่มี

 

ห่มผ้าไม่เคยอุ่นเลย กอดหมอนไม่เคยอุ่นใจ นอนหลับไปอย่างเดียวดายทุกที

ไม่มีอะไรจะเขียน ให้ครูได้อ่านพรุ่งนี้ บนหน้ากระดาษก็เลอะน้ำตา

 

ถ้าแม่ฟังอยู่ ไม่ว่าแม่อยู่ไหน ไม่ว่าแม่เป็นใคร ช่วยส่งรักกลับมา

ถ้าแม่ฟังอยู่ คิดถึงหนูหน่อยนะ หนูขอสัญญาว่า หนูจะเป็นเด็กดี

 

Play video

 

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับเรื่องราวเบื้องหลังของบทเพลงเหล่านี้ ซึ่งพอได้รู้แล้วน่าจะทำให้รู้สึกประทับใจหรือซาบซึ้งกับบทเพลงเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งบทเพลงเหล่านี้นอกจากจะถ่ายทอดมุมมองอันน่าประทับใจแล้วยังนำพามาซึ่งอารมณ์และความรู้สึกที่เมื่อฟังครั้งใดก็ทำให้เราได้หวนกลับไปนึกถึงสัมผัสอันอบอุ่นและความรักที่บริสุทธิ์ที่แม่มีให้กับเราเสมอมา เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติในปีนี้ ก็ขอให้ทุกคนมีความสุขกับช่วงเวลาดี ๆ และมีค่ากับคุณแม่ของเราทุกคนนะครับ

 

 

Source

Sanook

วิกิพีเดีย”ค่าน้ำนม” 

วิกิพีเดีย “อิ่มอุ่น”

The Standard Pop

siamdara

พร่างเพชรในเกร็ดเพลง

RS THETIMEMACHINE

mixmagazine

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส