“Yesterday, all my troubles seemed so far away
Now it looks as though they’re here to stay
Oh, I believe in yesterday”

บทเพลง “Yesterday” จากวงสี่เต่าทอง The Beatles ได้รับยกย่องว่าเป็นบทเพลงที่มีการคัฟเวอร์มากที่สุดในประวัติศาสตร์ จากการเก็บสถิติในปี 2017 พบว่ามีเวอร์ชันคัฟเวอร์ของเพลงนี้มากกว่า 2,200 เวอร์ชัน !! ซึ่งในวันนี้ผมอยากจะแนะนำคัฟเวอร์เวอร์ชันของเพลงนี้ให้เพื่อนๆได้ฟังกัน แต่จะให้แนะนำทั้ง 2,200 เวอร์ชันก็คงจะต้องใช้เวลาสักปีนึงจึงจะแนะนำได้หมด เพราะฉะนั้นในวันนี้จึงคัดสรรมาฝากกัน 10 เวอร์ชันด้วยกัน ซึ่งมีหลากหลายแนวเลยครับทั้งโซล แจ๊ส โฟล์ก บอสซาโนวา และอีกมากมาย

ซึ่งแต่ละสไตล์แต่ละศิลปินก็จะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เป็นการผสมผสานความเป็นตัวเองให้เข้ากับงานเพลงของ เดอะ บีเทิลส์ ได้อย่างน่าสนใจ รับรองเลยว่าไม่มีผิดหวังแน่นอนครับ งั้นเราไปเริ่มกันที่เวอร์ชันแรกกันเลยดีกว่า


Marvin Gaye (1970)

Play video

คัฟเวอร์สุดไพเราะจาก มาร์วิน เกย์  สุดยอดนักร้องนักดนตรีโซลในตำนาน เจ้าของฉายา “เจ้าชายแห่งโมทาวน์” และเจ้าของบทเพลงสุดประทับใจ ”What’s Going On” และ “Let’s Get It On”

เกย์ ได้คัฟเวอร์เพลง “Yesterday” ไว้ในอัลบั้ม “That’s the Way Love Is” ซึ่งมีเพลงคัฟเวอร์เพราะๆของศิลปินคนอื่นๆที่เกย์นำมาตีความตามแบบฉบับของตัวเองอีก เช่น “Groovin'” ของ the Young Rascals (“Groovin'”), “I Wish It Would Rain” ของ the Temptations และ “Abraham, Martin & John” ของ Dion

สำหรับ “Yesterday” ในเวอร์ชันนี้ เกย์ได้เติมความหวานเศร้าในแบบของดนตรีโซลลงไป โดยถ่ายทอดอารมณ์ผ่านเสียงร้องเปี่ยมอารมณ์อันอ่อนไหวแต่แฝงไว้ด้วยความหนักแน่นของเขา ยิ่งทำให้มันเป็นบทเพลงที่เศร้าเหงาลึก แต่ก็มีความโรแมนติกอย่างงดงามและชี้ชวนให้ใจเราเฝ้าย้อนนึกไปถึงอดีตอันอ่อนหวาน ที่กำลังห่างไกลออกไปสมดังชื่อเพลง “Yesterday”


Ray Charles (1968)

Play video

 

สุดๆไปเลยกับเวอร์ชันนี้ของเรย์ ชาร์ลส ที่ได้วงออร์เคสตรามาร่วมบรรเลงด้วยในงานคอนเสิร์ตปี 1988 ที่ประเทศออสเตรเลีย บอกเลยว่ายิ่งใหญ่ได้อารมณ์แบบสุดๆ

ซึ่งเรย์ ชาร์ลส์ได้คัฟเวอร์เพลง “Yesterday” ลงไว้ในอัลบั้ม “Ray Charles Invites You to Listen” ไว้ตั้งแต่ปี 1967 ซึ่งเสน่ห์ของเวอร์ชันนี้ก็คือน้ำเสียงแหบเสน่ห์ของเรย์ชาร์ลส กับสำเนียงการออกเสียงคำว่า “Yesterday” แบบมีเสียง “ช” จนฟังเป็น “เยชเชอร์เดย์” ฟังแล้วก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบ

Play video


Bob Dylan and George Harrison (1970)

 

Play video

 บ็อบ ดีแลน เคยไม่แยแสกับเพลง “Yesterday” มาก่อน และได้พูดไว้ว่า “ถ้าคุณเดินเข้าไปในหอสมุดรัฐสภา คุณจะพบเพลงที่ดีกว่านี้อีกเพียบเลย มันมีเพลงเป็นล้านๆ แบบ ‘Michelle’ และ ‘Yesterday’ ที่เขียนขึ้นใน Tin Pan Alley”

ถึงแม้ปากจะเอ่ยไปแบบนั้น แต่ในเดือนพฤษภาคมปี 1970  ดีแลนกับจอร์จ แฮร์ริสันหนึ่งในสมาชิกสี่เต่าทองก็ได้มาแจมกันที่สตูดิโอแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก โดยคัดเลือกเพลงมาเล่นกันหลากหลายซึ่งในนั้นก็มีเพลง “Yesterday” อยู่ด้วย โชคดีที่เรามีโอกาสได้ฟังเพลงนี้กัน ถึงแม้มันจะไม่เคยเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการเลย

ในเวอร์ชันนี้นอกจากมีบ็อบ ดีแลน เล่น กีตาร์ ฮาร์โมนิกา และร้องนำแล้วก็จะมี แฮร์ริสัน เล่นกีตาร์และร่วมร้องด้วย โดยมี Charlie Daniels เล่นเบส  Russ Kunkel ตีกลองและ Bob Johnston เล่นเปียโน การได้ฟังบ็อบ ดีแลนร้องเพลงนี้ในสไตล์ดิบๆ ของเขามันก็แปลกดีไปอีกแบบ แถมยังฟีเจอริ่งกับจอร์จ แฮร์ริสันด้วยแล้ว ยิ่งดีงามใหญ่


Elvis Presley (1970)

Play video

 

เอลวิส เพรสลีย์ เคยร้องเพลง “Yesterday” เอาไว้และบรรจุในอัลบั้มแสดงสดปี 1970 ที่มีชื่อว่า “On Stage” ในอัลบั้มนี้มีเพลงทั้งหมด 10 เพลงนอกจาก “Yesterday” แล้วก็ยังมีเพลงคัฟเวอร์จากศิลปินคนอื่นๆอีกเช่น “Proud Mary” ของ Creedence Clearwater Revival , “Sweet Caroline” ของ Neil Diamond และ “Runaway” ของ Del Shannon

เสน่ห์ของ Yesterday ในเวอร์ชันของเอลวิสก็คงเป็นที่สไตล์การร้องและน้ำเสียงหล่อเหลาอันเป็นเอกลักษณ์ของเขานั่นเอง ชอบในการแบ่งวรรคเน้นอารมณ์ของเอลวิสจริงๆ อย่างเช่นการร้องทอดเสียงคำว่า “Know” ในท่อน “Why she had to go I don’t know she wouldn’t say” แล้วไปรวบจังหวะตรงคำว่า she wouldn’t say มันช่างดูเท่จริงๆ หรือการร้องทอดเสียงยาวข้ามไปเชื่อมกับอีกท่อน เช่นการร้องคำว่า “play” ในท่อน “Yesterday, love was such an easy game to play” ยาวไปจนเชื่อมกับคำว่า “Now” ในท่อน “Now I need a place to hide away” แสดงให้เห็นถึงการเก็บลม การควบคุมลมและทักษะการร้องของเอลวิสที่เจ๋งเลยทีเดียว รวมไปถึงท่อน “I said something wrong” ที่แทนที่จะร้องว่า “I said” เอลวิสก็ใช้วิธีการพูดคำว่า “I must say that” เขาไปแทน ฟังดูแล้วก็เท่ไปอีกแบบนะครับ


Frank Sinatra (1969)

Play video

 

วิธีหนึ่งที่จะทำให้เพลงพอปกลายเป็นเพลงสแตนดาร์ดแจ๊สก็คือ การให้ แฟรงก์ ซินาตรา นำมาคัฟเวอร์นั่นเอง  ซึ่งสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นกับ “Yesterday” ในเวอร์ชันที่ขับร้องโดย แฟรงก์ ซินาตรา ซึ่งถูกบรจุไว้ในอัลบั้ม “My Way” สตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 56 !! ของนักร้องเสียงนุ่มนวลชวนฝันคนนี้ ซึ่งในอัลบั้มนี้นอกจากจะมี Yesterday แล้วก็ยังมี  “Mrs. Robinson” ของโฟล์กดูโอ Simon & Garfunkel ด้วย

ใครอยากฟัง Yesterday แบบฉ่ำๆในสไตล์แจ๊สล่ะก็เวอร์ชันนี้คือสิ่งที่คุณไม่ควรพลาดครับ


Boyz II Men (1994)

Play video

 

คราวนี้มาสาย R&B กันบ้างกับเวอร์ชันของ Boyz II Men ที่ร้องเอาไว้ในสไตล์ อะแคปเปลลา อาร์แอนด์บี ที่บอกเลยว่าทั้งโดดเด่นและน่าฟังสุดๆ  ซึ่งบทเพลงนี้ถูกบรรจุเอาไว้ในอัลบั้ม “II” สตูดิโออัลบั้มชุดที่สามในปี 1994 ซึ่งมีเพลงฮิตของวงอย่าง “I’ll Make Love to You” และ”On Bended Knee” อยู่ด้วย


Perry Como (1966)

Play video

 

เวอร์ชันบอสซาโนวาก็มีมาเหมือนกันครับ เมื่อ เพอร์รี โคโม นักร้องอเมริกันเชื้อสายอิตาลีที่มาพร้อมน้ำเสียงนุ่มนวลชวนเคลิบเคลิ้ม ได้นำเอา “Yesteday” มาจับใส่ไว้ในท่วงทำนองแบบบอสซาโนวาสบายๆที่ฟังแล้วชวนผ่อนคลายยิ่งนัก เพลงนี้ถูกบรรจุไว้ในอัลบั้ม “Lightly Latin” ของโคโมในปี 1966


Wes Montgomery (1968)

Play video

 

คราวนี้มาแบบเวอร์ชันบรรเลงกันบ้าง เวอร์ชันนี้เป็นผลงานของเวส มอนต์โกเมอรี่ มือกีตาร์แจ๊สระดับตำนานผู้เชี่ยวชาญการใช้นิ้วเล่นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่หยิบจับเอาเพลง “Yesterday” มาบรรเลงด้วยลีลากีตาร์สุดพลิ้ว บรรจุไว้ในอัลบั้ม “Road Song” ในปี 1968 ซึ่งนอกจากจะมีเพลงนี้แล้วยังมีเพลงของ The Beatles อีกเพลงคือ “I’ll Be Back”  นอกจากนี้ยังมีเพลง “Scarborough Fair/Canticle” ของ Simon & Garfunkel ด้วย  แต่ทั้งนี้ขอให้ระวังความสับสนไว้นิดครับ เวลาค้นหาเพลง “Yesterday” ในเวอร์ชันของมอนต์โกเมอรี่ เพราะจะไปเจอเพลง “Yesterdays” ที่คัฟเวอร์มาจากงานเพลงของ “เจอโรม เคิร์น” ในปี 1933 แทน (สังเกตได้ตรงตัว “S” ที่ต่อข้างท้าย เพราะ Yesterday ของ The Beatles จะไม่มีตัว S)


Chet Atkins (1966)

Play video

 

อีกหนึ่งเวอร์ชันบรรเลงสุดไพเราะจาก เชต แอทกินส์ เจ้าของฉายา “Mr. Guitar“และ “The Country Gentleman” นักดนตรีในสไตล์โฟล์ก คันทรี่ ที่มีลีลาการเรียบเรียงและบรรเลงบทเพลงด้วยกีตาร์อย่างล้ำลึกเหลือร้าย และแน่นอนเมื่อ “Yesterday” ตกมาอยู่ในมือของเขา มันจะไม่พลิ้วได้อย่างไร

โดยในเวอร์ชันนี้มาจากอัลบั้ม Chet Atkins Picks on the Beatles ในปี 1966 ที่แอทกินส์คัดเลือกเพลงของ The Beatles มาบรรเลงในสไตล์ของตัวเองถึง 12 เพลง ซึ่งอัลบั้มนี้ได้ จอร์จ แฮร์ริสันสมาชิกสี่เต่าทองผู้ซึ่งชอบใช้กีตาร์ซิกเนเจอร์ของแอทกินส์รุ่น “Gretsch Chet Akins Country Gentleman” มาเป็นคนเขียนไลเนอร์โน้ตให้กับอัลบั้มนี้ด้วย


Himesh Patel (2019)

Play video

 

มาที่เวอร์ชันสุดท้ายและเป็นเวอร์ชันล่าสุด จากฝีมือการบรรเลงของ ฮิเมช พาเทล นักแสดงหนุ่มจากภาพยนตร์เรื่อง “Yesterday” ผู้รับบทเป็น แจ็ก มาลิก หนุ่มนักดนตรีไส้แห้งที่หลังจากประสบอุบัติเหตุ และตื่นขึ้นมาพบว่าคนทั้งโลกนี้ไม่มีใครรู้จัก The Beatles เลย ไม่ว่าจะสืบค้นอย่างไร เปิดกูเกิลหาแค่ไหนก็ไม่เจอข้อมูลอะไรเกี่ยวกับ The Beatles เลย  ด้วยเหตุนี้เขาก็เลยสมอ้างนำเอาเพลงของ The Beatles มาบรรเลงให้โลกนี้ได้รู้เองซะเลย

“Yesterday” คือหนึ่งในภาพยนตร์ที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและความงดงามซึ่งส่งผ่านมาจากบทเพลงของ The Beatles  ซึ่งในหนังเรื่องนี้เราจะได้ฟังบทเพลงของ The Beatles ผ่านการร้องเอง บรรเลงเองของพาเทล ซึ่งถือว่าเขาถ่ายทอดออกมาได้ร่วมสมัยและเข้าถึงอารมณ์เพลงมาก สำหรับคนที่รักในเสียงดนตรี รวมไปถึงบทเพลงของ The Beatles จะต้องประทับใจและหลงใหลในภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแน่นอน

หนังเรื่อง “Yesterday” ตอนนี้ยังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ อยากให้ไปชมกันเยอะๆ เป็นหนึ่งในหนังที่ไม่ควรพลาดเลยจริงๆ ยิ่งคนที่รักในเสียงเพลงและวง The Beatles นี่คือหนังที่คุณต้องดูอย่างแท้จริงครับ !!

 

Source

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส