อุลตร้าแมน คือตัวละครสมมติในกลุ่ม “ยอดมนุษย์” ที่เป็นหนึ่งในผลผลิตจากประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเหล่ามนุษย์แปลงทั้งหลายที่บ้านเรารู้จักกันในชื่อ “ไอ้มดแดง” และ “ขบวนการ 5 สี” อุลตร้าแมน ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 1966 ถึงวันนี้ก็มีอายุ 55 ปีแล้ว แม้วันนี้อุลตร้าแมน จะไม่เป็นที่นิยมเท่ากับยุครุ่งเรืองเมื่อ 30 – 40 ปีที่แล้ว แต่การตกทอดทางวัฒนธรรมก็ทำให้ภาพลักษณ์ของ อุลตร้าแมน เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างแม้กระทั่งเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่ อุลตร้าแมน จะถูกหยิบมาอ้างอิงแทนความหมายของ “วีรบุรุษผู้พิทักษ์” ความสงบสุขของชาวโลก
อุลตร้าแมน จัดได้ว่าเป็น “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่ทรงคุณค่าอันดับต้น ๆ ของโลก ตั้งแต่ เอจิ ซึบุรายะ ได้ให้กำเนิด อุลตร้าแมน ตัวแรกมาเมื่อปี 1966 แล้วสานต่อความนิยมมาจนทุกวันนี้ในนามของ ซึบุรายะ โพรดักชัน มีสมาชิกในครอบครัวอุลตร้าแมนมากถึง 36 รายชื่อ ชื่อเสียงของอุลตร้าแมนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะแถบเอเซีย สานต่อไปเป็นสื่อต่าง ๆ มากมายทั้งหนังสือการ์ตูน , ภาพยนตร์ , ดีวีดี , ฟิกเกอร์สำหรับเด็กเล่น ขายลิขสิทธิ์ให้ไปเป็นลวดลายบนผลิตภัณฑ์อีกมากมายทั้งเสื้อผ้า และสินค้าเพื่ออุปโภค บริโภค สามารถสร้างรายได้รวมให้กับ ซึบุรายะ โพรดักชันมากถึง 7,4xx ล้านเหรียญ
วันนี้อุลตร้าแมนกลับมามีบทบาทบนสื่อโซเชียลบ้านเราอีกครั้ง กลายเป็นข้อพิพาทในข้อที่ว่า “เหมาะสม” หรือไม่ เมื่ออุลตร้าแมนถูกหยิบมาใช้ในงานศิลปะเชิงพุทธศิลป์ มีทั้งผู้ที่เห็นชอบสนับสนุนงานศิลปะชุดนี้ และอีกกลุ่มที่มองว่าเป็น”การลบหลู่” บทความนี้จะไม่ออกความคิดเห็น แต่จะหยิบเรื่องราวเกี่ยวกับ “อุลตร้าแมน” ในแง่มุมที่น่าสนใจและหลายคนน่าจะไม่เคยรู้มาเล่าสู่กันฟัง
1.แปลงร่างเป็นอุลตร้าแมนได้ 3 นาที
อุลตร้าแมนจะมีร่างมนุษย์ที่ดำเนินชีวิตประจำวันบนโลกมนุษย์ แต่เมื่อสัตว์ประหลาดบุกโลก เขาจะแปลงร่างเป็นยอดมนุษย์ร่างยักษ์ออกไปจัดการสัตว์ประหลาด มีระยะเวลาในร่างอุลตร้าแมนจำกัดเพียง 3 นาทีเท่านั้น ที่เขาจะต้องจัดการสัตว์ประหลาดให้จงได้ อุลตร้าแมนเกือบทุกตัวจะมี อัญมณีเรืองแสง ติดอยู่กลางหน้าอก เป็นมาตรวัดพลังงานของอุลตร้าแมน และจะเตือนระยะเวลาที่อยู่ในร่างอุลตร้าแมน เมื่อพลังงานเต็มอัญมณีจะเป็นสีฟ้า แต่ถ้าโดนสัตว์ประหลาดโจมตีสูญเสียพลังงานก็จะกลายเป็นสีแดง อุลตร้าแมนสามารถชาร์จพลังงานได้จากการรับแสงอาทิตย์ จึงเป็นสาเหตุให้พวกเขาได้ชื่อว่า “อุลตร้าแมน” นั่นเอง
2.เป็นหนึ่งในวัฒนธรรม พอปคัลเจอร์ ในเอเซียและทั่วโลก
กระแสความนิยมของ อุลตร้าแมน ได้แทรกซึมไปในทุกสังคมและวัฒนธรรมทั้งในเอเซียและทั่วโลก เราสามารถสังเกตเห็นแรงบันดาลใจจากอุลตร้าแมนออกมาในหลาย ๆ สื่อ แม้กระทั่งในยุคปัจจุบัน ที่พอยกตัวอย่างได้ก็อย่างเช่น ยอดมนุษย์ชื่อ เจ็ต จากัวร์ หุ่นยนต์ยักษ์ที่เป็นคู่ปรับกับ ก็อดซิลลา หรือถ้าข้ามไปฝั่งอเมริกาก็ใน BEN 10 แอนิเมชันสุดฮิต ที่เด็กชายสามารถแปลงร่างเป็นสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้ถึง 10 ร่างและหนึ่งในนั้นคือ Way Big มนุษย์ต่างดาวร่างยักษ์ที่ภาพลักษณ์ดูละม้ายกับอุลตร้าแมนอยู่มาก
3.ท่าไม้ตายของอุลตร้าแมนคือการยิงพลังแสง
อุลตร้าแมนทุกตัวจะมีอาวุธเหมือนกันคือ “ยิงพลังแสง” ออกมาจากแขน พวกเขาจะวางแขนซ้ายขวางหน้าอก แล้วยกแขนขวาตั้งขึ้น วางศอกไว้บนแขนซ้าย แล้วหันหน้าแขนไปทางศัตรู ด้วยท่านี้อุลตร้าแมนจะยิงพลังแสงทำลายรุนแรงออกมาจากหน้าแขนเข้าใส่ศัตรู อุลตร้าแมนแต่ละตัวจะมีชื่อเรียกลำแสงนี้ต่าง ๆ กันไป เช่น อุลตร้าแมน เอซ จะใช้ชื่อว่า “เมทัลเลียม เรย์” ส่วนอุลตร้า เซเว่น จะเรียกว่า “เอเมเรียม เรย์”
4.ทุกตอนจะมีสัตว์ประหลาดยักษ์ออกมาให้ปราบ
วายร้ายของอุลตร้าแมน จะมาในรูปแบบของสัตว์ประหลาดยักษ์ ที่มีความสุขกับการกระทืบบ้านเรือน ในยุคก่อน ๆ ก็อาจจะดูน่ากลัว แต่พอมาดูในวันนี้ก็ดูแล้วตลกดี แต่มาถึงยุคปัจจุบันนี้เราจะมีศัพท์เฉพาะเรียกบรรดาสัตว์ประหลาดยักษ์เหล่านี้ว่า “ไคจู” แม้ว่าบรรดาไคจูพวกนี้จะโดนอุลตร้าแมนสังหารไปตอนละตัว แต่ก็มีหลาย ๆ ตัวที่คงเป็นที่จดจำมาทุกวันนี้อย่างเช่น zetton , Gamora, Dada และ Baltan
5.ไม่ได้รับความนิยมมากนักในโลกตะวันตก
ด้วยสาเหตุของกระบวนการแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะลองใส่ซับไตเติ้ล หรือการพากย์เสียงใหม่ แต่ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกัน ถ้าแปลข้อความตามต้นฉบับญี่ปุ่นเป๊ะ ชาวอเมริกันก็ดูไม่เข้าใจ แต่พอมีการปรับเนื้อหา หรือบางมุกให้เข้ากับคนอเมริกันก็ดูจะสื่อความหมายผิดไปจากเดิมมากมาย เคยมีบริษัท 4Kids Entertainment ได้ซื้อลิขสิทธิ์ อุลตร้าแมน ไทกา ไปแพร่ภาพทุกเช้าวันเสาร์ แล้วพากย์เสียงอังกฤษทับ แล้วมีการปรับมุกให้เข้ากับอเมริกัน ผลคือกลายเป็นอุลตร้าแมนเวอร์ชันตลกลามกไปซะอย่างนั้น
6.อุลตร้าแมน ในอเมริกา
เมื่อการใช้อุลตร้าแมนที่ฉายในญี่ปุ่นไปเจาะอเมริกาไม่สำเร็จ ซึบุรายะก็เลยใช้กลยุทธ์ใหม่ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้สร้างหนังในอเมริกาเพื่อออกแบบอุลตร้าแมนตัวใหม่ในเวอร์ชันสำหรับแพร่ภาพในอเมริกาโดยเฉพาะ ซึบุรายะ กับ ซันไรส์ อินคอพอเรตด์ ผลิต The☆Ultraman และร่วมกับ ฮานนา-บาร์บารา ผู้ผลิตการ์ตูนทีวีรายใหญ่ของอเมริกา ออกมาในชื่อ Ultraman USA นอกจากนั้นยังร่วมกับ Dark Horse และ Viz Media ผลิตหนังสือการ์ตูนอุลตร้าแมนอีกหลายซีรีส์
7.ตัวอย่างหนังลึกลับ
ปี 2015 ซึบุรายะ ปล่อยตัวอย่างหนังความยาว 2 นาที 46 วินาที โดยไม่มีข้อมูลเพิ่มเติม เป็นฉากที่อุลตร้าแมน ออกมาสู้กับไคจู เหมือนอย่างที่เราคุ้นตากัน แต่ที่ดูแตกต่างไปคืออุลตร้าแมนในตัวอย่างนี้ไม่ใช่คนแสดงสวมชุดอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นภาพที่สร้างจาก CGI มีภาพลักษณ์ที่แปลกตาด้วยผิวที่มีรายละเอียดเหมือนผิวมนุษย์มีความมันวาว แล้วมีปากที่ขยับได้ มีการคาดเดาว่าซึบุรายะ ปล่อยตัวอย่างนี้มาดูปฏิกิริยาจากผู้ชม ก่อนจะมีแผนสร้างหนังอุลตร้าแมนเวอร์ชันใช้คนแสดงจริง แต่แล้วตัวอย่างนี้ก็ถูกลบออกไป
8.มีขบวนการ 5 สี เป็นคู่แข่ง
รายการทีวีประเภทยอดมนุษย์ที่ครองใจเด็กทั่วทั้งญี่ปุ่นก็มีเพียง อุลตร้าแมน และ ขบวนการ 5 สี ที่มีศัพท์เฉพาะว่า Super Sentai ซึ่งอิทธิพลของขบวนการ 5 สี ดูจะประสบความสำเร็จในการแพร่ขยายความยอมรับเข้าไปในอเมริกาได้ดีกว่า ถึงขนาดที่ว่าในอเมริกาก็ต้องสร้างขบวนการ 5 สีของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Power Rangers และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่ในฐานะคู่แข่งรายสำคัญ เหล่าผู้ผลิตขบวนการ 5 สี ก็ยกย่องว่า เหล่าอุลตร้าแมนคือคู่แข่งทางการค้าที่สมน้ำสมเนื้อที่สุด
9.เคยร่วมภารกิจกับไอ้มดแดง และกันดัม
หนึ่งในความฟินของแฟน ๆ ยอดมนุษย์ก็คือการได้เห็นตัวละครที่เขาโปรดปรานแต่ละเรื่องได้มาร่วมภารกิจกัน เมื่อผู้สร้างรู้ความต้องการของแฟน ๆ ก็เลยพาอุลตร้าแมนไปร่วมภารกิจกับยอดมนุษย์รายอื่น ๆ อยู่หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่มักจะไปพบกันในรูปแบบวิดีโอเกม ยอดมนุษย์ที่อุลตร้าแมนไปร่วมงานด้วยบ่อยครั้งก็คือเหล่าไอ้มดแดง และ กันดัม ออกมาในรูปแบบวิดีโอเกม ผลิตโดย Bandai Namco ในชื่อว่า the Compati Hero Series อุลตร้าแมนเคยร่วมงานกับไอ้มดแดง ในหนังทีวีตอนพิเศษชื่อ Ultraman vs. Kamen Rider
10.ภัตตาคารและร้านจำหน่ายของที่ระลึกอย่างเป็นทางการของอุลตร้าแมน
ในวันที่อุลตร้าแมนมีอิทธิพลอย่างสูงในวัฒนธรรมพอปทั่วเอเซีย ก็มีตัวแทนจากประเทศมาเลเซียในนาม Malaysian company Circle Corp มาเข้าร่วมธุรกิจกับซึบุรายะ เปิดภัตตาคารและร้านกิฟต์ช้อปใน กัวลาลัมเปอร์ เปิดบริการในปี 2017 ชื่ออาหารในร้านจะตั้งชื่อตามตัวอุลตร้าแมน และ เหล่าไคจู
นอกจากนี้ภาพลักษณ์อุลตร้าแมนยังถูกใช้นำมาประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นอีกด้วย สถานีรถไฟ โซชิกายะ-โอคูระ และบริเวณโดยรอบสถานีจะถูกสร้างและตกแต่งในธีมของอุลตร้าแมน เราจะสังเกตเห็นร้านค้า เสาไฟฟ้า รวมไปถึงรูปปั้นอุลตร้าแมน ทั่วบริเวณนี้ เหตุเพราะว่าพื้นที่นี้เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมของบริษัทซีบุรายะ การตกแต่งด้วยธีมอุลตร้าแมนก็เปรียบเสมือนการสดุดีให้กับบ้านกิดอุลตร้าแมน แล้วยังเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกด้วย
11.คดีฟ้องร้องกับไชโยโพรดักชัน
เมื่อนายสมโพธิ แสงเดือนฉาย ในนามบริษัทไชโย โพรดักชัน อ้างว่าเขามีสิทธิชอบธรรมในการถือครองลิขสิทธิ์ในการผลิต เผยแพร่และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนในประเทศต่างๆ นอกเหนือจากญี่ปุ่น พร้อมทั้งแสดงสัญญาระหว่างเขา กับ โนโบรุ ซึบุรายะ ลูกชายของเอจิ ซึบุรายะ ผู้ก่อตั้ง ที่ทำขึ้นเมื่อปี 1976 คดีมีการฟ้องร้องกันถึง 3 ศาล 3 ประเทศ ครั้งแรกในปี 1996 ศาลญี่ปุ่นตัดสินให้ โชโย โพรดักชัน เป็นฝ่ายชนะคดี ต่อเนื่องมาครั้งที่ 2 ในศาลไทยเมื่อปี 2008 ได้ตัดสินให้ทางซึบุรายะ โพรดักชัน เป็นฝ่ายชนะคดี ด้วยเหตุผลว่าเอกสารสัญญาที่นายสมโพธินำมาอ้างอิงเป็นหลักฐานนั้นไม่ใช่ของจริง แล้วยังมีคำสั่งให้ไชโย โพรดักชัน ชดใช้ค่าเสียหายให้กับทางซึบุรายะอีกด้วย และล่าสุดเมื่อปี 2017 ศาลชั้นต้นแคลิฟอร์เนีย ตัดสินให้ทางซึบุรายะ โพรดักชัน เป็นฝ่ายชนะคดี ด้วยเหตุผลว่าหลักฐานทางฝ่ายไชโย โพรดักชัน นั้นน่าจะเป็นการปลอมแปลง
12.อุลตร้าแมนก็มีหลายจักรวาลนะ (multiverse)
ไม่ใช่เพียงแค่มาร์เวล และ ดีซี นะที่จะมีบรรดาตัวละครของตัวเองที่กระจายอยู่ในหลาย ๆ จักรวาล อุลตร้าแมนก็มีเช่นกัน บางจักรวาลก็เป็นบ้านเกิดของอุลตร้าแมนหนึ่งตัว แต่บางจักรวาลก็มีหลายตัว การขยายจักรวาลของแฟรนไชส์อุลตร้าแมนเริ่มมีการกล่าวถึงในเรื่องของ Ultra Q และ Ultraman Tiga แต่พอมาถึง the Ultraman Zero film , Ultraman Zero The Movie: Super Deciding Fight! The Belial Galactic Empire ก็เท่ากับเป็นการยืนยันถึงการมีอยู่ของมัลติเวอร์ส
13.เราเกือบได้เห็น อุลตร้าแมน ในหนัง Ready Player One
สำหรับแฟนนิยาย และหลายคนที่ได้ชมหนัง Ready Player One ต่างก็รู้กันดีว่าเนื้อหาของหนังนั้นคือการหยิบบรรดาตัวละครจากวัฒนธรรมพอปในยุค 80s มาอัดแน่นไว้ในหนัง อ้างถึงนิยายต้นฉบับที่เขียนโดย เออร์เนสต์ ไคลน์ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2011 นั้น ได้บรรยายฉากท้ายเรื่องไว้ว่า โอเว็น วัตต์ พระเอกของเรื่องได้ใช้เบต้า แคปซูล แปลงร่างตัวเองเป็นอุลตร้าแมน แล้วออกไปสู้กับ เมกา ก็อดซิลลา แต่เมื่อวอร์นเนอร์ ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เขาไม่สามารถตกลงเรื่องลิขสิทธิ์การใช้ อุลตร้าแมนได้ อุลตร้าแมนก็เลยถูกแทนที่โดย The Iron Giant ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของวอร์นเนอร์เอง
14.การออกแบบภาพลักษณ์อุลตร้าแมน
อุลตร้าแมนในเวอร์ชันแรก ๆ นั้น ดูน่ากลัวไปหน่อย เอจิ ซีบุรายะ ก็เลยสั่งให้ โทรุ นาริตะ ออกแบบอุลตร้าแมนใหม่ ให้ดูมีความเป็นวีรบุรุษมากขึ้นหน่อย โทรุ ก็เลยหาแรงบันดาลใจจากการดูภาพวาดโบราณของกรีก, อียิปต์ และยุโรป แล้วเอามาผสมผสานเข้ากับมนุษย์ต่างดาวตัวสีเทาที่เราคุ้นตากัน เพราะอุลตร้าแมนก็เป็นมนุษย์ต่างดาวเช่นกัน แต่ยังคงครีบบนหัวที่เป็นเอกลัษณ์โดดเด่นไว้อย่างเดิม ส่วนเหตุที่เลือกสีเทาเงินให้เป็นสีผิวของอุลตร้าแมนนั้น เพื่อให้รู้สึกถึงการมีส่วนผสมของเทคโนโลยีขั้นสูง เพราะสีเทาเงินคือสีของยานอวกาศ ส่วนสีแดงนั้นโทรุอ้างว่าคือสีตัวแทนของดาวอังคาร
15.ได้รับรางวัลกินเนสส์
ปี 2013 กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ ได้มอบรางวัลให้กับอุลตร้าแมน ในหัวข้อเป็นรายการทางโทรทัศน์ ที่มีภาคต่อในแฟรนไชส์มากที่สุดถึง 27 ภาค ในพิธีมอบรางวัลนี้ คาร์ลอส มาร์ติเนซ ตัวแทนจากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ เป็นผู้มอบใบประกาศให้แก่ Ultraman Ginga และ ทาคุยะ เนกิชิ ที่มารับบทเป็น ฮิคารุ ไรโด หรือร่างมนุษย์ของ Ultraman Ginga
16.เคยถูกแบนในมาเลเซีย
ช่างเป็นเรื่องย้อนแย้ง ที่ภัตตาคารและกิฟต์ช้อปอุลตร้าแมนแห่งแรกตั้งอยู่ในกัวลาลัมเปอร์ แต่มาเลเซียก็ยังเป็นประเทศที่เคยแบนหนังสือการ์ตูนอุลตร้าแมน เหตุเริ่มจากอุลตร้าแมนตัวที่ชื่อ อุลตร้าแมนคิง เป็นตัวละครที่อยู่ในหนังสือการ์ตูน Ultraman: the Ultra Power มีคำบรรยายถึงตัวตนของอุลตร้าแมนคิงไว้ว่า เขาเป็นที่เคารพของเหล่าอุลตร้า เป็นผู้อาวุโสของเหล่านักรบอุลตร้า เปรียบได้กับ “อัลลอฮ์” ปัญหามาจากคำว่า อัลลอฮ์ นี่แหละ ที่ทำให้ชาวมาเลเซียน ในฐานะประเทศมุสลิมที่เคร่งครัดเกิดความขุ่นเคือง ที่เอาคำที่พวกเขาใช้กับพระเจ้า มาใช้กับตัวการ์ตูนอุลตร้าแมน ก็เลยมีคำสั่งให้แบนหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ซะ
17.เคยมาเซอร์ไพรส์บอยแบนด์ N’Sync
ปี 2003 วงบอยแบนด์ดังสุดในยุคนั้นคือวง N’Sync ขนาดที่ว่าพวกเขาต้องไปเดินสายโชว์ตัวในญี่ปุ่น ระหว่างที่ไปโชว์ตัวในรายการทีวีของญี่ปุ่นรายการหนึ่ง คริส เคิร์กแพทริก 1 ใน 5 สมาชิก ที่มักพูดถึงว่าตัวเขาชื่นชอบอุลตร้าแมนมาตั้งแต่เด็ก พิธีกรในรายการนี้ก็เลยได้สอบถามถึงเรื่องนี้ เคิร์กก็ได้เล่าความรู้สึกพร้อมทำท่าปล่อยแสงอุลตร้าบีมประกอบไปด้วย จากนั้นทางรายการก็ทำเซอร์ไพรส์ด้วยการเชิญ อุลตร้าแมนออกมาทักทาย 5 หนุ่ม N’Sync ปิดท้ายด้วยการโชว์เพลง It’s Gonna Be Me
18.มูลนิธิอุลตร้าแมน
ด้วยภาพลักษณ์ของเหล่าอุลตร้าแมน คือเหล่าวีรบุรุษผู้มาช่วยโลก ด้วยความคิดนี้ทางบริษัทซึบุรายะ เลยถือโอกาสก่อตั้งมูลนิธิในชื่อ the Ultraman Foundation เพื่อมุ่งหวังทำเรื่องดี ๆ ให้กับโลกมนุษย์จริง ๆ เฉกเช่นปณิธานของเหล่าอุลตร้าแมน ตั้งแต่ปี 2011-2017 มูลนิธิอุลตร้าแมนได้สร้างประโยชน์มากมาย ได้เข้าบรรเทาภัยจากภัยธรรมชาติหลายครั้ง ได้มอบเงินช่วยเหลือพื้นที่ห่างไกล ช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ด้อยโอกาส ได้ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการสาธารณะมากมาย
19.อุลตร้าแมนเริ่มต้นจากการเป็นซีรีส์สยองขวัญ
ด้วยแรงบันดาลใจจากซีรีส์ The Twilight Zone ของอเมริกาที่เล่าเรื่องราวลึกลับแบบจบในตอน เอจิ ซึบุรายะ ก็เลยเอาไอเดียนี้มาสร้างซีรีส์ในแบบเดียวกันที่ญี่ปุ่น ใช้ชื่อว่า Ultra Q แต่ละตอนก็จะให้บรรดาตัวละครเอกได้พบกับเรื่องราวลึกลับเหนือธรรมชาติ เจอผีบ้าง เจอมนุษย์ต่างดาวบ้าง มีทั้งหมด 28 ตอน แต่มีอยู่ตอนหนึ่งที่ตัวเอกของเรื่องได้เจอสัตว์ประหลาดยักษ์ แล้วกลายเป็นตอนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เอจิ ซึบุรายะ ก็เลยหยิบเอาไอเดียนี้มาขยายความต่อ ด้วยการใส่วีรบุรุษเข้าไปในเนื้่อหาให้มาจัดการกับสัตว์ประหลาดยักษ์ กลายเป็นที่มาของ “อุลตร้าแมน”