วันนี้เปิด Google มา สิ่งที่พบคือ Google Doodle ที่เป็นภาพแอนิเมชันของชายคนหนึ่งกำลังถือกีตาร์อยู่ดูแล้วเท่ดี กดไปจึงได้พบว่าวันนี้คือวันเกิดครบรอบอายุ  94 ปีของ “B.B.King” เจ้าของสมญา “ราชาเพลงบลูส์” ผู้มีสำเนียงกีตาร์บาดจิตและเสียงร้องบาดใจ ซึ่งปู่ B.B. เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 ในวัย 90 ปี ทิ้งไว้เพียงชื่อเสียงขจรไกลและผลงานมากมายที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว

Play video

 

ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้รำลึกถึงนักดนตรีบลูส์ผู้เป็นตำนานท่านนี้ ที่นอกจากผลงานของปู่ B.B. จะเป็นที่น่าจดจำแล้ว เรื่องราวชีวิตเกือบจะถึงศตวรรษของเขาก็เร้าใจไม่แพ้กัน  what the fact ขอพาเพื่อนๆไปสัมผัสกับหลากเรื่องน่ารู้ของราชาเพลงบลูส์ “B.B.King” คนนี้กันครับ


“บี.บี คิง” ชื่อนี้ท่านได้แต่ใดมา


 

เรารู้สึกว่าชื่อ  “บี.บี คิง” นี้เป็นอะไรที่เท่มาก แต่ความเท่นั้นไม่ได้ลอยมาเฉยๆ มันย่อมมีที่มาของมัน และสำหรับชื่อ “บี.บี คิง” ก็เช่นกัน

“บี.บี คิง”  เกิดมาด้วยชื่อเสียงเรียงนามแท้ๆว่า  ไรลีย์ บี.คิง” (จริงๆก็ดูเท่ตั้งแต่ตอนนี้แล้วนะ) เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายนปี 1925 เป็นบุตรของนายอัลเบิร์ตและนางนอรา เอลลา คิง เกษตรกรผู้หว่านไถบนที่ดินเช่าจากเจ้าของที่ บนดินแดนของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi Delta)

เมื่ออายุได้ 4 ขวบปี แม่ของบี.บี.ก็ทิ้งลูกน้อยตามต้อยไปกับชายคนใหม่ ซึ่งคนที่รับเลี้ยงดู บี.บี. ต่อมาก็คือ Elnora Farr คุณยายแท้ๆของบี.บี.นั่นเอง

young B.B.King

บี.บี. คิง วัยหนุ่ม

ชีวิตของ บี.บี. เริ่มสัมผัสเสียงดนตรีจากการได้ร้องเพลงกอสเปลในโบสถ์ที่ Elkhorn Baptist Churchในเมือง  Kilmichael ใกล้กับบ้านของยาย และได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับดนตรีและกีตาร์จากการไปโบสถ์นี่ล่ะ จนกระทั่งอายุ 12 ปี บี.บี.ก็ได้มีกีตาร์ตัวแรกของตัวเองในราคา 15 เหรียญ  (แต่บางแหล่งข่าวบอกว่ากีตาร์ตัวแรก บี.บี.ได้มาจาก บัคก้า ไวต์ ญาติฝ่ายแม่ที่เป็นนักดนตรีบลูส์ที่มีชื่อเสียงและเป็นคนที่ถ่ายทอดวรยุทธ์เพลงบลูส์ให้แก่ บี.บี.)

หลังจากนั้นหนุ่มน้อย บี.บี. ก็ทำงานขับรถแทรกเตอร์ในไร่ไป ฝึกเล่นดนตรีไป บ้างก็ไปเล่นกับนักดนตรีในโบสถ์ บ้างก็ไปเล่นตามซอกมุมต่างๆของท้องถนน  จนในที่สุดก็ได้ทิ้งเรือกสวนไร่นาโบกรถไปสู่ Memphis เมืองแห่งเสียงดนตรี จนได้มาทำงานในสถานีวิทยุ WDIA ในรายการ “Sepia Swing Club” ที่ซึ่ง บี.บี.ได้รับฉายาว่า “Beale Street Blues Boy” ซึ่งต่อมามันได้ถูกย่อให้เหลือแค่ “Bee Bee” และกลายมาเป็น “B.B.” ในที่สุด

บี.บี.คิง ขณะทำงานที่ WDIA

บี.บี.คิง ขณะทำงานที่ WDIA


ผู้ถ่ายทอดวิชามาร “เพลงของปีศาจ”


เป็นเรื่องเศร้าใจในวัยเยาว์นัก ที่ บี.บี.ถูกแม่ห้ามไม่ให้ร้องเพลงบลูส์ด้วยเหตุผลที่ว่ามันเป็น “เพลงของปีศาจ” ( ในภายหลังแม่คงเสียใจมากที่ลูกชายตัวเองได้กลายเป็น “ราชาปีศาจ” ไปแล้ว) แต่ถึงอย่างนั้น บี.บี. ก็กระเสือกกระสนไปสู่หนทางแห่งปีศาจจนได้ เพราะว่ามีญาติคนหนึ่งที่ชื่อว่า “บัคก้า ไวต์ (Bukka White)” ซึ่งเป็นนักดนตรีบลูส์ระดับตำนานคนหนึ่ง และเขาคนนี้นี่ล่ะที่เป็นบุคคลสำคัญที่ถ่ายทอดวิชามารให้แก่หนุ่มน้อย บี.บี. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแต่งตัว หรือวิธีดันสายกีตาร์ให้บาดใจจนกลายเป็นลายเซ็นในการเล่นของ บี.บี. ในที่สุด

“ถ้าหากเอ็งอยากจะเป็นนักร้องเพลงบลูส์ที่ดีแล้วล่ะก็”

บัคก้าเปิดประเด็นกับ บี.บี.

“ผู้คนพร้อมที่เหยียดหยามเอ็งเสมอ เพราะฉะนั้นจงแต่งตัวให้เหมือนกับเวลาที่เอ็งจะไปขอกู้เงินที่แบงก์ เข้าใจมั้ย”

บัคก้า ไวต์ ผู้ถ่ายทอดวิชามารให้แก่ บี.บี.คิง

บัคก้า ไวต์ ผู้ถ่ายทอดวิชามารให้แก่ บี.บี.คิง

 

บี.บี.คิง กับชุดแบบ "ใส่ไปกู้เงินธนาคาร"

บี.บี.คิง กับชุดแบบ “ใส่ไปกู้เงินธนาคาร”

และนั่นก็คือสิ่งที่ บี.บี. จำจนขึ้นใจและปฏิบัติตามนั้นตราบจนกระทั่งสิ้นลมหายใจ เพราะฉะนั้นไม่ว่า บี.บี.จะไปเล่นที่ไหนภาพที่เราเห็นก็คือชายผิวดำตัวใหญ่ในชุดสูทสุดเนี้ยบนั่นเอง

บี.บี. ได้รับอิทธิพลการเล่นมาจากไวต์อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะลูกเล่นการสไลด์กีตาร์ ด้วยการใช้แท่งเหล็กสไลด์กีตาร์รูดขึ้นลงไปมาตามสายกีตาร์ จนมีเสียงหวีดหวิวหวีดหวิวนั่นเอง แต่ บี.บี. พบว่าตัวเองนั้นเล่นสไลด์กีตาร์ไม่ค่อยเก่ง แต่สามารถทำเสียงแบบนั้นได้ด้วยการ “ดันสาย” กีตาร์แทน และนั่นก็คือลูกเล่นที่กลายเป็นลายเซ็นของ บี.บี. ในกาลต่อมา ในทุกวันนี้ลูกดันสายของบี.บี.คือหนึ่งในแบบฝึกหัดชั้นเลิศของนักเล่นกีตาร์ทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพทั้งหลาย

30 ปีให้หลัง หลังจากที่ บี.บี. ได้รับการถ่ายทอดวิชามารจากไวต์แล้ว ทั้งคู่ก็ได้กลับมาพบกันอีกครั้งบนเวทีคอนเสิร์ต New Orleans Jazz และ Heritage Festival ในปี 1973


นักร้องคนโปรดของ บี.บี. คิง คือ แฟรงก์ ซินาตรา


ขณะที่ทางด้านการเล่นกีตาร์คนที่มีอิทธิพลต่อ บี.บี. คือ บัคก้า ไวต์  , บลายนด์ เลมอน เจฟเฟอร์สัน และอื่นๆ ทางด้านการร้องบี.บี. กลับชอบนักร้องสายพอปแจ๊สเสียงนุ่มอย่างสุภาพบุรุษโลกไม่ลืม “แฟรงก์ ซินาตรา” ที่บี.บี.รู้สึกว่าไม่มีใครร้องเพลงบัลลาดได้นุ่มนวลชวนฝันเท่าซินาตราอีกแล้ว

“ผมนี่ล่ะแฟนตัวยงของซินาตราเลย ไม่มีใครร้องเพลงบัลลาดได้นุ่มนวลเท่าเขาอีกแล้ว”

“ผมมักจะเอาอัลบั้ม In the Wee Small Hours วางไว้ใต้หมอนทุกๆคืนเวลาผมนอนหลับ”

(เป็นวิธีเดียวกันกับนักเรียน นักศึกษาที่มักเอาหนังสือตำราไว้ใต้หมอนเวลานอนหลับโดยหวังว่ามันจะออสโมซิสเข้าสู่สมอง)

ปกอัลบั้ม In The Wee Small Hours

ปกอัลบั้ม In The Wee Small Hours


กีตาร์คู่ใจในตำนาน “Lucille” ไม่ได้มีอยู่ตัวเดียวนะ


พอพูดถึงที่มาของชื่อกีตาร์สุดเพราะ “ลูซิล (Lucille)” นั้น มันจะต้องเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราววีรกรรมสุดระทึกที่เล่าขานสืบต่อกันมา เหตุเกิดในคืนวันหนึ่งในขณะที่บี.บี.เล่นดนตรีอยู่ในแดนซ์คลับแห่งหนึ่งใน Arkansas ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้จนทำให้บี.บี. นักดนตรี และผู้คนในนั้นต่างรีบวิ่งหนีออกมา ซึ่งต่อมา บี.บี.นึกได้ว่าตนลืมกีตาร์ไว้บนเวที จึงได้ตัดสินใจวิ่งฝ่ากองไฟเข้าไปเอากีตาร์ออกมา  หลังจากที่ได้ช่วยชีวิตเจ้ากีตาร์สุดรักไว้ได้แล้ว บี.บี.จึงได้รับรู้เรื่องราวที่มาของเหตุเพลิงไหม้ว่าเกิดจากชายหน้ามืดสองคนที่ไฝว้กันเพราะผู้หญิงสาว(สวยรึเปล่าไม่รู้) คนหนึ่งที่ชื่อว่า “ลูซิล” จนไปโดนถังน้ำมันก๊าซสำหรับใส่ฮีตเตอร์ล้มลงจนทำให้ไฟไหม้ทั้งฮอลล์ พอได้ยินดังนั้นบี.บี.ก็เลยเกิดพุทธิปัญญานึกขึ้นได้ว่าควรตั้งชื่อเจ้ากีตาร์ตัวนี้ว่า  “ลูซิล” เพื่อเป็นอนุสรณ์คอยเตือนให้ “ไม่ทำอะไรโง่ๆอีก” (คงหมายถึงความโง่สองประการ หนึ่งคือความโง่ของไอ้หนุ่มสองคนนั่น สองคือ ความโง่ของบี.บี.เองที่เกือบจะต้องเสียชีวิตไปเพราะเรื่องโง่ๆแล้ว”)

เจ้า "ลูซิล" ของ บี.บี.คิง

เจ้า “ลูซิล” ของ บี.บี.คิง

พอพูดถึงกีตาร์ “ลูซิล” ทุกคนจะต้องนึกถึงกีตาร์ Gibson ES-355 ตัวที่บี.บี.ใช้เป็นประจำแน่นอน แต่แท้ที่จริงแล้วเจ้าลูซิลที่พูดถึงในวีรกรรมระห่ำฝ่าเพลิงนรกนี้มันคือ  Gibson L-30 ซึ่งต่อมาเลิกผลิตไปในปี 1943 บี.บี.เลยมาใช้ ES-355 แทน และหลังจากนั้นก็มีเจ้าลูซิลไปแล้วกว่า 40 ตัว !!!


ได้ดีเพราะขี่แทรกเตอร์


บี.บี.คิง ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 แต่ถูกปลดประจำการออกมาหลังจากผ่านการฝึกเบื้องต้นไปแล้ว เนื่องจากทักษะการขับรถแทรกเตอร์ของ บี.บี. นั้นเป็นที่ต้องการในภาวะสงครามซึ่งไม่ใช่ในฐานะทหารแต่เป็นในฐานะพลเรือน และเจ้าทักษะการขับรถแทรกเตอร์อันเอกอุนี้นี่เองที่ในเวลาต่อมามันคือตัวการที่ทำให้บี.บี.ต้องทิ้งเรือกสวนไร่นาและเดินไปตามเส้นทางแห่งเสียงดนตรีแทน

บี.บี.คิงกับรถแทรกเตอร์

บี.บี.คิงกับรถแทรกเตอร์

เหตุที่บี.บี.ต้องออกไปจากฟาร์มนั้นก็เป็นเพราะว่า ในคืนวันหนึ่งบี.บี.เอารถแทรกเตอร์ของเจ้านายขับออกไป และดันไปทำปล่องไฟของรถหัก ด้วยความกลัวที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย บี.บี.ก็เลยตัดสินใจในคืนนั้นเลยว่าจะไป Memphis แต่ด้วยความเป็นลูกผู้ชายตัวจริงในเวลาต่อมา บี.บี.คิงก็ได้กลับมาชดใช้ค่าเสียหายที่ตนเองได้ทำไว้ (นี่สิลูกผู้ชายตัวจริง บี.บี.คิง!!)


บี.บี.คิงเคยทำงานทั้งปีไม่มีพัก !!


 ด้วยชื่อเสียงอันโด่งดังและฝีมืออันไร้เทียมทานจึงทำให้ บี.บี.คิงมีคิวงานแน่นตลอด อย่างเช่นในปี 1956 บี.บี.ต้องทำงานทุกวันตลอดทั้งปี โดยเล่นคอนเสิร์ตไปกว่า 342 ครั้งและต้องทำงานบันทึกเสียงถึง 3 เซสชั่น บี.บี.คิง เป็นหนึ่งในนักดนตรีที่มีสถิติการเล่นแสดงสูงที่สุดในโลก กว่า 60 ปีบนถนนสายดนตรี บี.บี.แสดงไปแล้วกว่า 15,000 ครั้ง !!!


บี.บี.คิง ชอบซิ่งเครื่องบินไปเล่นคอนเสิร์ต !!


บี.บี.คิงได้รับใบอนุญาตขับขี่เครื่องบินในปี 1963  และมักจะขับเครื่องบินไปเล่นคอนเสิร์ตหลายต่อหลายครั้ง จนมาหยุดเอาเมื่อย่างเข้าวัย 70 เพราะครอบครัวขอร้องให้หยุดเนื่องจากกลัวเรื่องปัญหาสุขภาพ


รางวัลหรอ ? ได้จนเบื่อแล้ว


 ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาของ บี.บี.คิง ได้รับรางวัลแกรมมีไปทั้งหมด 15 ครั้ง จากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งหมด 30 ครั้ง ถือได้ว่าบี.บี.เป็นนักดนตรีบลูส์ที่ได้รับรางวัลแกรมมีสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัล  Grammy Lifetime Achievement Award และ Grammy Hall of Fame Award จากเพลง “The Thrill Is Gone” ด้วย

บี.บี.คิงกับรางวัลแกรมมี

บี.บี.คิงกับรางวัลแกรมมี

ไม่เพียงแต่ได้ด้านดนตรีเท่านั้น บี.บี.คิงยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้ง Berklee College of Music, Tougaloo (Mississippi), Brown และ Yale รวมไปถึงรางวัล Kennedy Center Honors  ในปี 1995 ที่มอบให้แก่ผู้ที่อยู่ในสายงานศิลปะการแสดงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอเมริกัน


ชีวิตของ  บี.บี. มีเรื่องเกี่ยวกับเลข 15 อีก


 นอกจากจะได้รับรางวัลแกรมมีถึง 15 ครั้งแล้ว ยังมีเรื่องอื่นอีกที่ บี.บี ต้องเกี่ยวข้องกับเลข 15 นั่นคือ จำนวนของลูกๆ และภรรยา ซึ่งบี.บี.มีลูกทั้งหมด 15 คนจากภรรยาทั้งหมด 15 คนไม่ซ้ำกัน !!! (นี่สิลูกผู้ชายตัวจริง บี.บี.คิง !!)

ลูก 15 เมีย 15 !!


บี.บี.คิง ไม่เคยเล่นกับร้องในเวลาเดียวกัน


 บี.บี.คิงไม่เคยฝึกร้องและเล่นกีตาร์ในเวลาเดียวกันเลย เขาคือคนที่ดันสายกีตาร์ได้บาดจิตและขับขานบทเพลงออกมาได้บาดใจ แต่เขาไม่เคยทำสองอย่างนี้พร้อมกัน หากลองสังเกตดีๆในบทเพลงของเขาจะมีรูปแบบการเล่นแบบ “Call and Response” คือ การร้องเรียกและร้องรับ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีบลูส์ นั่นคือ จะร้องและเล่นสลับกันไป เหมือนฝ่ายหนึ่งขานมา อีกฝ่ายก็ขานรับอะไรประมาณนี้

มันเป็นไปดั่งเช่นที่ บี.บี.คิงเคยกล่าวไว้ว่า

“เมื่อผมร้อง ผมร้องมันด้วยจิตใจ”

“แต่ในนาทีต่อมาเมื่อผมหยุดร้องด้วยปากของผม ผมจะร้องมันต่อด้วยการเล่นเจ้าลูซิลแทน”


หากพูดถึง บี.บี.ต้องนึกถึงเพลงนี้ “The Thrill Is Gone”


 ถึงแม้ว่า “The Thrill Is Gone” จะเป็นหนึ่งในเพลงฮิตของบี.บี.คิง และเป็นบทเพลงที่ทำให้เขามีชื่อเสียง ได้รับรางวัลและเป็นที่จดจำมาโดยตลอด แต่มันก็ไม่ได้เป็นเพลง original ของเขา แท้จริงแล้ว The Thrill Is Gone  ถูกเขียนขึ้นโดยนักดนตรีบลูส์จาก West Coast  นาม Roy Hawkins และ Rick Darnell ในปี 1951  ซึ่งได้ขึ้นชาร์ตอันดับที่หกของ Billboard R&B ในปี 1951  ต่อมาในปี 1970 บี.บี.ก็ได้นำเพลงนี้มาบันทึกเสียงใหม่จนกลายเป็นเพลงฮิตสุดคลาสสิกในที่สุด

ตอนแรก บี.บี.คิง บันทึกเสียงเพลงนี้หลายต่อหลายครั้งแต่ก็ยังไม่ถูกใจเสียที  จนทำให้เช้าตรู่วันหนึ่ง Bill Szymczyk โปรดิวเซอร์ของบี.บี. (ที่เคยทำงานกับ The Eagles มาแล้ว ) ต้องโทรมาในเวลาตีสี่ เพื่อบอกทางแก้ปัญหาให้บี.บี.ว่า “มันต้องใส่เสียงเครื่องสายลงไป” มันถึงจะเจ๋ง ซึ่งในภายหลัง บี.บี. ได้บอกว่า เล่นโทรมาเวลาตีสี่ ไม่ว่าไอเดียอะไรก็เอาทั้งนั้นล่ะ  แต่ผลที่ออกมามันก็ได้พิสูจน์แล้วว่าไอเดียนี้มันใช้ได้จริงๆ

“The Thrill Is Gone” ในเวอร์ชันของบี.บี.คิง เป็นเพลงบลูส์ 12 ห้องเล่นในคีย์ B ไมเนอร์บนจังหวะ 4/4  ตัวเพลงมีการบันทึกเสียงสุดเฉียบและมีการใส่เสียงเครื่องสายเติมลงไปทำให้มันมีความโดดเด่นแตกต่างจากเพลงต้นฉบับ รวมไปถึงเพลงก่อนๆของบี.บี.เองด้วย และมันก็ได้กลายเป็นเพลงฮิตถล่มทลายของบี.บี.คิงในที่สุดและทำให้ได้รับรางวัลแกรมมีในสาขา Best Male R&B Vocal Performance  ในปี 1970

Play video


ใครๆก็อยากเล่นดนตรีกับ บี.บี. คิง


 บี.บี.คิง เป็นนักร้องนักดนตรีที่ใครๆก็ยกย่องชื่นชม และเอาเขาเป็นเยี่ยงอย่าง ครั้งหนึ่งจอห์น เลนนอนแห่งวงสี่เต่าทอง The Beatles เคยกล่าวไว้ว่า

“ผมปรารถนาที่จะเป็นอย่างบี.บี.คิง”

“ถ้าคุณเอาผมไปไว้ใกล้ๆกับ บี.บี.คิง ผมจะกลายเป็นไอ้งั่งตัวจริงเลยล่ะ”

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีนักดนตรีหลายคนที่ไม่กลัวการเป็นไอ้งั่ง และคว้าโอกาสดีๆที่จะได้เล่นดนตรีกับ บี.บี.คิง ซึ่งนักดนตรีเหล่านั้นก็ทั้งรุ่นใหญ่อย่าง จอร์จ แฮร์ริสัน (อีกหนึ่งสมาชิกของสี่เต่าทอง) อีริก แคลปตัน  วง U2  จิมมี เพจ แห่ง Led Zeppelin และ เจฟฟ์ เบค  แห่ง The Yardbirds  หรือจะเป็นรุ่นเล็กอย่าง จอห์น เมเยอร์ ที่ได้รับอิทธิพลความบลูส์มาจาก บี.บี.คิง แบบเต็มๆ รวมไปถึงในช่วงหนึ่งที่เขาออกทัวร์คอนเสิร์ตกับวงทรีโอและต้องเล่นเพลงบลูส์ตลอด เขามักใส่หูฟังและเปิดเพลงของ บี.บี.คิง ฟังก่อนขึ้นเล่นเสมอ

Play video

Play video

“Three O’clock Blues” อีกหนึ่งเพลงฮิตของ บี.บี. คิงที่เวอร์ชันนี้มี อีริก แคลปตันมาแจมด้วย

หรือจะเป็น “The Thrill Is Gone” เวอร์ชันนี้ที่ได้ เทรซี แชปแมน มาแจมด้วยบอกเลยว่าแจ่มสุดๆ !!

Play video


และนี่ก็คือหลากเรื่องราวของ “ราชาเพลงบลูส์” คนนี้ ที่เสียงดนตรีและเรื่องราวของเขาจะอยู่ในใจเราไปตลอดกาล

ราชาเพลงบลูส์ B.B.Kings

Source

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส