ถึงคราวฮีโรต้องออกมาปราบเหล่าร้ายแล้วสินะ
หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จัก อินทรีแดง แต่สำหรับคนที่มีชีวิตเติบโตจนสามารถชมภาพยนตร์ไทยมาได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2013 น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก อินทรีแดง เอาจริง ๆ คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็จะต้องเคยเห็นอินทรีแดงออกมาผาดโผนปราบองค์กรผิดกฎหมายมาบ้างแล้ว ในจอภาพยนตร์เมื่อปี 2553
อินทรีแดงเป็นบทประพันธ์ของ เศก ดุสิต เขาได้เริ่มเขียนอาชญนิยายชุดอินทรีแดงขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2489 วางตลาดเป็นนิยายปกอ่อน 6เล่มจบ มีพระเอกชื่อ โรม ฤทธิไกร เป็นตัวดำเนินเรื่องแต่หลังฉากของเขาก็คือ อินทรีแดง โดยแบ่งเป็นตอน ๆ แต่ละตอนก็มีชื่อที่น่าเกรงขามด้วยกันทั้งนั้น อินทรีแดง, เล็บมังกร, กุหลาบดำ, ชาติทมิฬ, มัจจุราชคำรณ และ มังกรกระเจิง โดยมีขบวนการวายร้ายประจำเรื่องคือ ขบวนการมังกรขาว ที่ก่อวินาศกรรมจนทำให้เมืองทั้งเมืองโกลาหล หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อตอนเดียวกันว่า มังกรขาว ออกมา 7 เล่มจบ และเขียนตอนอื่น ๆ ออกมาสู่สายตาแฟน ๆ อีกมากมายเช่น พรายมหากาฬ 10 เล่มจบ, จ้าวนักเลง 12 เล่มจบ, ภูตมรณะ, ปีศาจดำ, ทับสมิงคลา, อวสานอินทรีแดง, อินทรีคืนรัง, มนุษย์ซาตานและตุ๊กตาเริงระบำ…..(ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับตุ๊กตาเริงระบำของ โสภี พรรณราย นะคะ)
เรียกได้ว่านิยายบู๊ล้างผลาญ ปราบคนพาลอภิบาลคนดี เป็นที่นิยมมาก ๆ ในสมัยนั้น ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าขนาดที่ คุณลุงเริงชัย ประภาษานนท์ เจ้าของนามปากกา เศก ดุสิต แกเคยทิ้งช่วงไปเขียนเรื่องอื่นแล้ว ยังต้องวกกลับมาเขียนอินทรีแดงอีกครั้งเพราะทนเสียงเรียกร้องของแฟนนิยายไม่ไหว
ความโด่งดังของอาชญนิยายชุดนี้ทำให้ ทัศนัยภาพยนตร์ คว้าอินทรีแดงมาลงฟิล์ม 16.มม เป็นครั้งแรกในปี 2502 โดยเลือกตอน จ้าวนักเลง มานำเสนอ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา ในการเลือกพระเอกของเรื่องในครั้งนี้เมื่อ เศก ดุสิต เจ้าของบทประพันธ์พบหน้าลุงมิตรเป็นครั้งแรกถึงกับเอ่ยปากว่า
“คุณคืออินทรีแดงของผม”
โอ้โห…เหมือนแกพบรักอ่ะค่ะ ตัวละครที่แกจินตนาการเอาไว้ ออกมายืนอยู่ตรงหน้าให้เห็นกันตัวเป็น ๆ ความเหมาะสมและลงตัวสุด ๆ กับบทอินทรีแดงของลุงมิตรทำให้แกเหมาเข่ง เป็นอินทรีย์แดงคนเดียวถึง 6 ตอน ต่อให้เปลี่ยนผู้อำนวยการสร้างมากี่ครั้งก็ตาม แต่อินทรีแดงก็ยังเป็นลุงมิตรคนเดิม เหมาคนเดียวไม่แบ่งใครมาถึง 6 ปี
ครั้งแรกที่ลงจอภาพยนตร์ คือ ปี พ.ศ. 2502 ในชื่อเรื่อง “จ้าวนักเลง” โดยทัศนัยภาพยนตร์
ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2505 ในชื่อเรื่อง “ทับสมิงคลา” โดย วชรินทร์ภาพยนตร์
ครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2506 ในชื่อเรื่อง “อวสานอินทรีแดง” โดย ดุสิตภาพยนตร์
ครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2509 ในชื่อเรื่อง “ปีศาจดำ” โดย ดุสิตภาพยนตร์
ครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2511 ในชื่อเรื่อง “จ้าวอินทรี” โดย รามาภาพยนตร์
ครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ. 2513 ในชื่อเรื่อง “อินทรีย์ทอง” โดย สมนึกภาพยนตร์ ซึ่งในตอนที่ 6 นี่เอง มิตร ชัยบัญชา เป็นผู้อำนวยการสร้างและแสดงเอง กำกับเอง
ในตอนนี้เป็นเรื่องราวของอินทรีแดงที่ต้องออกสืบหาอินทรีแดงตัวปลอม การถ่ายทำสำเร็จไปด้วยดีจนมาถึงฉากสุดท้ายที่หาดดงตาลพัทยาใต้ ในวันที่ 8 ตุลาคม 2513 เป็นฉากที่อินทรีแดงต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์เพื่อหนีตำรวจจากรังของเหล่าร้าย แต่ด้วยความไม่พร้อมของสแตนอิน มิตร ชัยบัญชา ตัดสินใจแสดงฉากนี้ด้วยตัวเองจนเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคขึ้น ตกลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ด้วยความสูง 300ฟุต เสียชีวิตทันที !!! เป็นข่าวโด่งดังชนิดที่ช็อควงการภาพยนตร์ สร้างความอาลัยรักให้กับแฟนภาพยนตร์และพี่น้องร่วมวงการเป็นอย่างมาก ในข่าวใช้คำว่า ร่างแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี ปิดม่านชีวิตพระเอกนักบู๊ ขวัญใจมหาชนที่ฝากผลงานการแสดงภาพยนตร์ไว้กว่า 266 เรื่องเพียงเท่านั้น ข่าวบอกว่า 266 เรื่องนี่เท่าที่แฟนภาพยนตร์นับได้เท่านั้นนะคะ ในความเป็นจริงแล้ว มิตร ชัยบัญชา แสดงภาพยนตร์มามากกว่านั้น นี่ถ้าแกยังมีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้แกก็คงจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติไปแล้วละค่ะ ไม่พลาดแน่ ๆ
ผู้รับบทอิทรีแดงคนต่อไปในปี พ.ศ. 2520 จึงตกมาอยู่กับ สิงหา สุริยง ในชื่อเรื่อง “บินเดี่ยว” ของวินโปรดักชันฟิล์ม
และเปลี่ยนมาเป็น กรุง ศรีวิไล ในปี พ.ศ. 2523 ในชื่อเรื่อง “พรายมหากาฬ” อำนวยการสร้างโดย พาราไดซ์ฟิล์ม มันต้องดังกันเบอร์ไหนถึงได้สร้างเป็นตอน ๆ ได้มากมายขนาดนี้ ใครต่อใครก็อยากเอาอินทรีแดงมาสร้างแล้วสร้างอีก พอลองนึกภาพดูว่า เศก ดุสิต จะยิ้มปริ่มกับความสำเร็จของตัวเองมากมายขนาดไหน ก็อดปลื้มและมีความสุขไปกับแกไม่ได้จริง ๆ ค่ะ
จนมาในปี 2531 อินทรีแดงก็มาในร่างของผู้หญิงเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชื่อเรื่อง “อินทรีผยอง” ของ วีที เอนเตอร์เทนเมนท์ ผู้รับบทนำในอินทรีผยอง สวมบทบาทเป็นลูกสาวของอินทรีแดงคือ พี่เปิ้ล-จารุณี สุขสวัสดิ์ เป็นอินทรีสาว ใส่หน้ากากอินทรีแดง เคลื่อนไหวรวดเร็ว ม้วนตัวไปมาชนิดที่นินจาฮาโตริยังสู้ไม่ได้ ความทรงจำในวัยเด็กของดิฉันบอกไว้ว่า พี่เปิ้ลเท่มากถึงมากที่สุด
เวลาผ่านไปอีกเกือบ 10 ปี จนเหล่าร้ายชักจะเหิมเกริมที่ไม่มีฮีโร่มาขัดแข้งขัดขา อินทรีแดงเลยต้องกลับมาอีกครั้ง ในปี 2540 กับชื่อเรื่อง อินทรีแดง รับบทโดย เจมส์–เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์โดย เรดดราม่า เอนเตอร์เทนเมนต์ เวอร์ชันนี้เป็นละครเย็น ออกอากาศทางช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ
13 ปีต่อมาหลังจากที่ปล่อยเหล่าร้ายให้ย่ามใจมานาน สาส์นลับก็ส่งถึงอินทรีแดงให้มาปรากฎตัวอีกครั้งในจอภาพยนตร์ โดยไฟว์สตาร์ โปรดักชัน ได้ส่ง อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม มารับบทอินทรีแดง 2553 ที่ผาดโผน เคร่งขรึม มาปราบองค์กรมาตุลี กำกับโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง
เวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน อินทรีแดงได้ถูกเทียบเชิญให้มาลงจอโทรทัศน์เป็นครั้งที่ 2 โดยบริษัท 9 บีเวอร์ฟิล์ม จำกัด ของ โอลิเวอร์ บีเวอร์ และให้ อ๋อม–อรรคพันธ์ นะมาตร์ รับบทเป็นอินทรีแดง คนล่าสุด ว้าวววววววว
อินทรีแดงเวอร์ชันนี้ จะมาในบทของเศรษฐีขี้เมา โรม ฤทธิไกร (อ๋อม–อรรคพันธ์ ) นักธุริจหนุ่มที่มีพี่ชายเป็นตำรวจ คือ สารวัตรรัชกร (สุรวุท ไหมกัน) ที่สามารถทำลายแผนของคนร้าย ช่วยชีวิตคนบริสุทธิ์ได้ แต่สารวัตรรัชกรเสียชีวิตในหน้าที่ ทำให้โรมเสียใจมาก เมื่อไม่ได้สวมหน้ากากอินทรีแดง โรมคือนักธุรกิจผู้สืบทอดกิจการพันล้านจากพ่อแม่และทำตัวเป็นเศรษฐีเจ้าสำราญ หลักลอย ใช้ชีวิตสนุกสนานเป็นพ่อพวงมาลัย ตบตาชาวบ้านไปวัน ๆ เพื่อสานต่ออุดมการณ์ของพี่ชายที่ตายไป คือการกวาดล้าง “องค์กรไป่หลง” ที่อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมทำลายผู้คน ในหน้ากากอินทรีแดง โดยมี กุหลาบดำ (เมลดา สุศรี)สาวสวยลึกลับที่เข้ามาช่วยเหลือและช่วยกันสืบพบร่องรอยของเหล่าร้าย โดยให้ความร่วมมือกับตำรวจอย่าง มนตรี (ชนะพล สัตยา) และ คงคา (อาภา ภาวิไล) มากไปกว่านั้นพวกเขาต้องพบเจอกับ ครีม (รัญดภา มันตะลัมพะ) ภูตมรณะเบอร์ 1 และ กริช (อติรุจ สิงหอำพล) ภูตมรณะเบอร์ 2 ของไป่หลง จนทำให้เขาต้องร่วมมือกันเพื่อปราบปรามลงให้ได้
อินทรีแดงเวอร์ชันนี้ จะบู๊แอ็กชันกันเดือดเลือดพล่านขนาดไหน
จะทรงพลังสมกับความเป็นอมตะแห่งอาชญนิยาย ที่สร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วหลายตอนจนโด่งดังในอดีตรึเปล่า
รอติดตามชมพร้อมกันได้ทางช่อง 7hd เร็ว ๆ นี้ค่ะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส