แม้จะผ่านมาถึง 25 ปีแล้ว ซึ่งนับเป็นเวลายาวนานมาก ถ้าเป็นชีวิตคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในวันที่หนังออกฉาย วันนี้ก็เรียนจบเข้าสู่วัยเบญจเพสไปแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นหลาย ๆ คนที่รักในหนังเรื่องนี้ก็ยังจำความสุข ความประทับใจในขณะที่ได้ชมหนังเรื่องนี้อย่างไม่ลืมเลือน รวมไปถึงตัวละครที่มีเสน่ห์หลาย ๆ ตัว ได้ยิ้มให้กับมิตรภาพของคู่ซี้ต่างวัยต่างสีผิวอย่างแอนดี้และเรด ได้เสียน้ำตาให้กับคุณลุงบรูคส์ ที่มาพ้นโทษในวัยชรา ได้ช็อกกับชะตากรรมของไอ้หนูทอมมี่ ที่เป็นลูกศิษย์ที่แอนดี้ภาคภูมิใจ ได้สะใจกับบทลงทัณฑ์ของพัสดีจอมโฉด และอีกหลากหลายความประทับใจ แต่ที่ทุกคนรู้สึกไม่ต่างกันก็คือนี่คือหนังที่ทำให้เรายิ้มไปกับฉากจบ แม้หนังจะจบไปแต่ยังทิ้งค้างไว้ด้วยความอิ่มเอมใจ ให้ความสุขกับทุกคนที่ได้ดู
The Shawshank Redemption ออกฉายในปี 1994 เป็นปีแห่งปรากฏการณ์หนังคุณภาพของฮอลลีวู้ด เพราะนอกจากมี The Shawshank Redemption แล้วยังมี Forrest Gump , Pulp Fiction และ The Lion King ออกฉายด้วยในปีนั้น ซึ่งทุกเรื่องมีคุณภาพสมควรแก่รางวัลออสการ์ทั้งสิ้น แต่ก็ต้องหลีกทางให้กับ Forrest Gump ในที่สุด
ถึงแม้ไม่ได้คว้ารางวัลใด ๆ แต่ The Shawshank Redemption ก็เป็นหนังในดวงใจของผู้คนทั่วโลกรวมถึงคอหนังชาวไทยอีกมาก แต่ก็ไม่น่าเชื่อที่หนังเจ๊งในวันที่ออกฉาย แต่กลับมาฮิตในตอนที่ออกมาเป็นวิดีโอ และถูกกล่าวขวัญต่อเนื่องมานับตั้งแต่วันนั้น The Shawshank Redemption ยังทำให้ แฟรงค์ ดาราบอนต์ กลายเป็นผู้กำกับมีชื่อเสียง แม้ว่านี่จะเป็นผลงานกำกับหนังยาวเรื่องแรกในชีวิตเขา
และนี่คือหลากหลายเกร็ดน่าสนใจ ที่อ่านจบแล้ว อาจจะทำให้คุณอยากเปิด The Shawshank Redemption ดูอีกรอบก็เป็นได้
1.ฉากที่แอนดี้เริ่มเข้าไปพูดคุยกับเรดครั้งแรก ในขณะที่เรดกำลังเขวี้ยงรับเบสบอลกับเพื่อนอยู่นั้น แม้ในหนังจะเป็นแค่ฉากสนทนาสั้น ๆ แต่ในการถ่ายทำจริงนั้น มอร์แกน ฟรีแมน ต้องยืนเขวี้ยงบอลอยู่อย่างนั้นตลอด 9 ชั่วโมง จนกว่าผู้กำกับแฟรงค์ ดาราบอนต์ จะพอใจกับภาพที่ได้ ผลปรากฏว่า มอร์แกน ฟรีแมน มาเข้าฉากวันรุ่งขึ้นในสภาพแขนซ้ายคล้องเชือกไว้กับคอ เพราะแขนเคล็ดจากการเขวี้ยงบอลเป็นเวลานาน
2.ตอนที่แอนดี้ได้ย้ายมาช่วยงานห้องสมุดกับลุงบรูคส์ ฉากนี้เราได้เห็นแอนดี้เดินเข้าห้องสมุดมา แล้วเจ้าเจคอีกาคู่ใจของลุงบรูคที่เฝ้าอยู่หน้าประตูก็ร้องทัก “แกว๊ก” แอนดี้ก็หันไปคุยกับเจค “ว่าไงเจค บรูคอยู่ไหนล่ะ” ก็เป็นฉากธรรมดาที่เราดูผ่าน ๆ ไป ไม่ได้มีอะไรให้สะดุดความสนใจนัก แต่เอาเข้าจริงไอ้ฉากธรรมดา ๆ เนี่ย ไม่ได้ผ่านไปง่าย ๆ นะ เพราะตอนถ่ายทำนั้น ทิม รอบบินส์ เดินเข้าฉากมาเจ้าเจคมันไม่ร้องทักตามคาดน่ะสิ ก็เพราะมันเป็นอีกาธรรมดา ไม่ได้ผ่านการฝึกมาแต่อย่างใด กลับกลายเป็นว่า ทิม รอบบินส์ ต้องใช้ไหวพริบแก้ไขปัญหานี้เอง ทิม ยืนเฝ้าสังเกตอาการของเจค ว่ามันจะร้องตอนไหนยังไง เขารอดูทีท่ามัน พอใกล้ที่มันจะร้องทิมก็เดินเข้าไปแล้วหยุดอยู่ข้างหน้ามัน พอเจคร้อง “แกว๊ก” ทิมจึงเริ่มต้นพูดบททักทายของเขา ทำเอาผู้กำกับแฟรงค์พอใจชื่นชมกับวิธีการของทิมอย่างมาก
3.หนังใช้ทุนสร้างไปมากถึง 25 ล้านเหรียญ แต่ทำรายได้จากโรงฉายเพียงแค่ 18 ล้านเหรียญ แต่พอหนังได้เสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากถึง 7 รางวัล ทำให้หนังเป็นที่สนใจขึ้นมา แล้วก็กลายเป็นปรากฏการณ์ตอนที่เป็นวิดีโอในร้านเช่า กลายเป็นหนังที่มียอดเช่าสูงที่สุดตลอดกาล ทางค่ายวอร์นเนอร์ ถึงกับต้องผลิตวิดีโอเรื่องนี้ถึง 320,000 ตลับ เพื่อส่งให้ทั่วถึงทุกร้านเช่าวิดีโอทั่วสหรัฐฯ
4.มุกตลกร้ายที่เราเห็นบ่อยในหนังคือการที่เรดพากเพียรขอทัณฑ์บนครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วก็โดนปั๊มตรายาง “ปฏิเสธ” เสียทุกครั้ง ในเอกสารขอทัณฑ์บนนี้ จะมีภาพของเรดในวัยหนุ่มแปะอยู่อย่างเห็นได้ชัด แต่ตัวจริงในภาพนี้ก็คือ อัลฟองโซ ฟรีแมน ลูกชายของมอร์แกน ฟรีแมน นั่นเอง
5.สตีเฟน คิง ขายสิทธิ์ในการสร้างเป็นภาพยนตร์ให้กับแฟรงค์ ด้วยมูลค่าจิ๊บ ๆ แค่ 1,000 เหรียญ พอหนังเสร็จสมบูรณ์ สตีเฟน คิง ไม่ได้เอาเช็กใบนั้นไปขึ้นเงิน แต่เอาไปใส่กรอบ พร้อมข้อความหยอก ๆ ว่า “เก็บไว้เผื่อแกต้องการใช้เงินไว้ประกันตัว รักนะ. สตีฟ” แล้วส่งกลับไปให้แฟรงค์ ดาราบอนต์
6.แม้จะเป็นหนังที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้กำกับมือใหม่ แต่ก็เป็นหนังที่ดัดแปลงจากนิยายของสตีเฟน คิง ซึ่งเป็นหลักประกันเพียงพอถึงคุณภาพของหนัง ก็ทำให้นักแสดงแถวหน้าในวันนั้นต่างสนใจบท แอนดี้ ดูเฟรนส์ ซึ่งมีทั้ง ทอม แฮงก์ , เควิน คอสต์เนอร์ , ทอม ครูซ , นิโคลาส เคจ , จอห์นนี เด็ปป์ และ ชาร์ลี ชีน , ทอม แฮงก์ สนใจอย่างมาก แต่คิวงานชนกับ Forrest Gump ส่วนเควิน คอสต์เนอร์ ก็สนใจเช่นกันแต่เขาก็ตัดสินใจเลือกหนังฟอร์มยักษ์ในเวลานั้น Waterworld (1995) แทน
7.ไม่ใช่แค่บท”แอนดี้”ที่เป็นที่สนใจของนักแสดงชายแถวหน้า บท”เรด”ก็เป็นที่สนใจของนักแสดงชายรุ่นใหญ่แถวหน้าในวงการเช่นกัน รายชื่อที่แสดงความสนใจในบทนี้ก็มี คลินต์ อีสต์วู้ด, พอล นิวแมน, โรเบิร์ต เรดฟอร์ด และ แฮริสัน ฟอร์ด แต่ละคนล้วนยอดฝีมือทั้งนั้น แต่ก็แค่นั้นล่ะ เพราะในใจของแฟรงค์ ดาราบอนต์ นั้นหมายมั่นว่าจะต้องเป็น มอร์แกน ฟรีแมน เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรตรงกับภาพลักษณ์ที่สตีเฟน คิง บรรยายไว้ในนิยายเลย เรด ในนิยายเป็นชายไอริชวัยกลางคน มีผมแดงแต่เริ่มกลายเป็นสีเทาแล้ว แต่แฟรงค์ ชอบในบุคลิกที่ดูอบอุ่นน่าเชื่อถือของมอร์แกน และน้ำเสียงแหบลึกของเขา แต่แฟรงค์ก็ยังแอบอ้างอิงถึงตัวตนของ”เรด”ในนิยายไว้ในหนังด้วย ในตอนที่แอนดี้ถามเรดว่า “ทำไมคุณถึงชื่อเรดล่ะ?” เรดก็ทำหน้าคิดแล้วก็ตอบว่า “คงเพราะชั้นเป็นไอริชมั้ง” มันเป็นมุกที่ล้อคนไอริชครับ เพราะคนไอริชส่วนใหญ่จะมีผมสีแดง แต่ผมมอร์แกนไม่มีตรงไหนแดงเลยนะ
8.แฟรงค์ ดาราบอนต์ เป็นนักเขียนบทภาพยนตร์ที่มีผลงานสร้างชื่อมาตั้งแต่ปลายยุค 80s อย่างเช่น The Fly II (1989) , The Blob (1988), Nightmare on Elm Street 3: Dream Warriors (1987) ซึ่งเดิมทีเขาก็คาดหวังเพียงแค่ดัดแปลงนิยายของสตีเฟน คิง เป็นบทภาพยนตร์เท่านั้น พอเขียนบทเสร็จ ร็อบ ไรเนอร์ ได้อ่านบทของแฟรงค์แล้วชื่นชอบอย่างมาก และต้องการกำกับเอง ร็อบวางตัว แฮริสัน ฟอร์ด ในบท”เรด” และ ทอม ครูซ ในบท “แอนดี้” ก็เป็นชอยส์ที่น่าสนใจนะ
จะว่าไปร็อบ ไรเนอร์ ก็เป็นผู้กำกับที่เหมาะกับแนวหนังมาก เพราะเขาเคยกำกับ Stand By Me (1986) อีกหนึ่งหนังที่ดัดแปลงจากนิยายของสตีเฟน คิง มาแล้ว และกลายเป็นหนังอมตะทรงคุณค่าไปอีกเรื่อง ร็อบ ขอซื้อบทภาพยนตร์ The Shawshank Redemption จากแฟรงค์ด้วยตัวเลขสูงถึง 2.5 ล้านเหรียญ ซึ่งแฟรงค์ก็สนใจ แต่ก็ยังสองจิตสองใจ เขามาใคร่ครวญอีกทีว่านี่คือโอกาสครั้งสำคัญที่เขาจะได้ลองพิสูจน์ฝีมือตัวเองในฐานะผู้กำกับดูสักที
9.บทกัปตันแฮดลีย์ เป็นอีกบทที่แฟนหนัง The Shawshank Redemption จดจำกันได้ดีในฐานะผู้คุมที่โคตรโหด หน้านี้โผล่มาทีไรมีหวาดกันหมดว่าใครจะโดนเล่นงานอีก กัปตันแฮดลีย์ รับบทโดยแคลนซี บราวน์ นักแสดงบทตัวร้ายขาประจำของฮอลลีวู้ด ด้วยบุคลิกและหน้าตาของเขาที่ดูร้ายมาแต่ไกล แคลนซีเล่าว่า ผู้คุมเรือนจำมาชวนเขาหลายครั้งว่าให้ไปลองทำงานกับพวกเขาดูสิ จะได้เข้าถึงบทบาทของผู้คุมเรือนจำได้มากขึ้น แต่แคลนซีก็ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลว่า เขามั่นใจในภาพลักษณ์ของเขาว่าโหดพอที่จะทำให้คนดูเกลียดได้ และไม่ต้องการให้ภาพลักษณ์ของผู้คุมจริงมาทำให้การตีความบทบาทของเขาไขว้เขว
10.มีเรื่องขำ ๆ เกี่ยวกับชื่อเรื่องเดิมของหนัง เพราะว่าสตีเฟน คิง ตั้งชื่อเรื่องไว้ว่า “Rita Hayworth and Shawshank Redemption” เชื่อว่าหลายคนยังจำได้นะว่า ริตา เฮย์เวิร์ธ เป็นดาราสาวสวยที่บรรดานักโทษได้ชมหนังในเรือนจำแล้วก็หลงใหลเธอไปตาม ๆ กัน แม้แต่แอนดี้เองยังให้เรดซื้อโปสเตอร์ขนาดใหญ่ของ ริตา เฮย์เวิร์ธ มาแปะผนังห้องของเขา
พอมีข่าวออกไปว่าทางสตูดิโอกำลังสร้างหนังเรื่อง “Rita Hayworth and Shawshank Redemption” ทำให้บรรดาเอเยนต์เข้าใจผิดว่าจะสร้างหนังชีวประวัติของริตา เฮย์เวิร์ธ ดาราฮอลลีวู้ดที่มียุครุ่งเรืองในช่วง 1940s ก็เลยส่งบรรดานักแสดงหญิง และซูเปอร์โมเดลมาออดิชันบท ริตา เฮย์เวิร์ธ กันมากหน้าหลายตา แฟรงค์ จึงต้องตัดชื่อริตา เฮย์เวิร์ธ ออกจากชื่อหนังเสีย
11.สมาคมเมตตาสัตว์แห่งอเมริกา (American Humane Association) เป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างกวนใจบรรดาผู้สร้างหนังฮอลลีวู้ดพอสมควร แม้แต่ในกองถ่าย The Shawshank Redemption ทางสมาคมก็มาสอดส่องในขณะถ่ายทำ เพราะมีการใช้อีกาจริงมารับบท “เจค” ด้วย สมาคมไม่ได้เจ้ากี้เจ้าการแค่ตัวอีกา แต่ยังกล่าวหาว่ากองถ่ายโหดร้ายที่เอาหนอนเป็นมาให้อีกากิน เดือดร้อนถึงทีมงานต้องไปหา “หนอนที่ตายด้วยเหตุทางธรรมชาติ” มาให้อีกากิน….โอ๊ย
12.แอนดี้ถามเรดถึงสาเหตุที่เขาต้องโทษ เรดก็ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “ชั้นโดนข้อหาฆาตกรรม” คนดูไม่ได้รู้รายละเอียดเบื้องหลังว่าเรดทำผิดอะไรมา แต่ในนิยายได้อธิบายไว้ละเอียดว่า เรดวางแผนฆ่าภรรยาตัวเอง เพื่อหวังเงินประกัน เรดตัดสายเบรกรถของเขาเอง ในวันที่ภรรยายืมรถของเขาไป แต่บังเอิญในวันนั้นภรรยาของเรดชวนเพื่อนบ้านหญิงและลูกชายของเธอติดรถไปด้วย ทำให้อุบัติเหตุนั้นคร่าไปถึง 3 ชีวิต เป็นผลให้เรดต้องโทษตลอดชีวิตถึง 3 รอบ
13.ผู้กำกับแฟรง ดาราบอนต์ ได้แอบโผล่มาในหนังด้วย ไม่ต้องพยายามนึกนะครับว่าแสดงเป็นใคร ตอนไหน เพราะว่าเขาโผล่มาแค่”มือ” ในตอนต้นเรื่องมีภาพโคลสอัป มือของแอนดี้ขณะใส่ลูกกระสุนลงในปืน และอีกครั้งตอนท้ายเรื่องเมื่อแอนดี้ ปีนไปสลักชื่อของเขาบนคานเพดาน ทั้ง 2 ฉากนี้เป็นการถ่ายทำเพิ่มหลังปิดกล้องไปแล้ว แฟรงค์บอกว่าเขาเหมาะสมที่สุดแล้ว ที่จะใช้มือตัวเองในฉากเหล่านี้ เพราะเขารู้ดีที่่สุดว่าจะต้องทำมืออย่างไร
14.หนังยกกองไปถ่ายกันที่โรงเรียนดัดสันดานเก่า ในเมืองแมนส์ฟิลด์ รัฐโอไฮโอ ที่เลิกใช้ไปนานหลายแล้วอยู่ในสภาพทรุดโทรม ทีมงานต้องบูรณะกันยกใหญ่ก่อนจะใช้ถ่ายทำจริง ที่น่าปวดหัวอีกเรื่องคือโรงเรียนนี้ดันตั้งอยู่ใกล้ฐานทัพอากาศโอไฮโอ ก็เลยมีเครื่องบิน C130 ขึ้นลงอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นปัญหาเสียงรบกวนขณะถ่ายทำ
15.พอชาวบ้านแมนส์ฟิลด์รู้ว่ามีการมาถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับคนคุก แล้วต้องการตัวประกอบในบทคนคุกจำนวนมาก ชาวบ้านก็กระตือรือร้นมาเสนอตัวอยากเล่นหนังจำนวนมาก แต่พอเอาเข้าจริง คนนั้นก็ไม่ว่าง คนนี้ก็สะดวกแค่วันนั้น วันนี้ ซึ่งไม่เข้าทางกับการถ่ายหนังเกี่ยวกับนักโทษที่จะต้องเข้าฉากต่อเนื่อง ทีมงานเลยจบปัญหาด้วยการไปหาตัวประกอบจำนวนมากมาจาก”บ้านกึ่งวิถี” ( Halfway House เป็นที่พักอาศัยชั่วคราวในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของนักโทษที่ได้รับการพักการลงโทษ หรือนักโทษที่พ้นโทษเพราะจำคุกครบกำหนดโทษ หรือนักโทษที่พ้นโทษเพราะได้รับลดวันต้องโทษจำคุกแต่ไม่มีผู้อุปการะ)
16.ในฉากบนรถบัสขนนักโทษคันที่มาส่งตัวทอมมี วิลเลียมส์ เข้าเรือนจำ ชายคนที่นั่งเบาะหลังต่อจากทอมมี คือเดนนิส เบเคอร์ เขาเป็นอดีตผู้คุมที่โรงเรียนดัดสันดาน โอไฮโอ สถานที่ที่กองถ่ายมาใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำหลักนี่แหละ
17.ฉากที่แอนดี้คลานในท่อน้ำทิ้งนั้น ในหนังพยายามสื่อให้เข้าใจได้ว่าในท่อนั้นสกปรกและเหม็นมาก เพราะเต็มไปด้วยอุจจาระและของเสีย ทีมงานจึงต้องตกแต่งภายในท่อให้เต็มไปด้วยโคลนดำ วัตถุดิบที่นำมาทำเป็นขี้โคลนนั้นก็คือ ช็อกโกแลต ขี้เลื่อย น้ำเชื่อม คลุกรวมกัน ทุกวันนี้ท่อนั้นยังมีกลิ่นของช็อกโกแลตอยู่เลย
18.ฉากจบของเรื่องเมื่อแอนดี้ได้พบกับอิสรภาพ เขาใช้ชีวิตหรูด้วยการขับรถเปิดประทุนในเมืองซีฮัวตาเนโค ในเม็กซิโก รถคันที่แอนดี้ขับคือ Pontiac GTO สีแดง ปี 1969 ซึ่งผิดหลักความเป็นจริง เพราะเหตุการณ์ในหนังถูกกำหนดให้เกิดขึ้นในปี 1965 รถคันนี้ยังไม่ถูกผลิตออกมา แฟรงค์ ดาราบอนต์ ก็มาแก้ต่างว่า ความตั้งใจเดิมของเขาคือให้แอนดี้ขับรถมัสแตงปี 1965 แต่ทางผู้บริหารสตูดิโอเป็นคนเลือกให้แอนดี้ขับ Pontiac GTO คำสั่งผู้ใหญ่อย่าขัดนะ
19.แฟรงค์ ดาราบอนต์ เป็นนักเรียนในกลุ่ม Dollar Baby เป็นโครงการของสตีเฟน คิง ที่ริเริ่มในปี 1977 ซึ่งเขาอนุญาตให้นักเรียนวิชาภาพยนตร์ สามารถจ่ายเงินค่าเรื่องสั้นของเขาในราคา 1 ดอลลาร์ แล้วเลือกเรื่องสั้นของเขาไปทำหนังสั้นได้ ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า โครงการ Dollar Baby สิ้นสุดในปี 1996 มีนักเรียนในกลุ่มนี้ 19 คน และคนแรก ๆ ในกลุ่มนี้ก็คือ แฟรงค์ ดาราบอนต์ ที่เลือกเรื่องสั้น”The Woman in The Room”ไปทำเป็นหนังสั้น ผลงานของแฟรงค์เรื่องนี้เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ตัวอาจารย์มาก และนั่นคือจุดเริ่มต้นพันธะสัญญาระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์คนโปรด ในข้อตกลงที่ว่าเขาอนุญาตให้แฟรงค์ ดาราบอนต์ นำเรื่อง”The Shawshank Redemption”ไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ได้ในอนาคต แล้วแฟรงค์ ดาราบอนต์ ก็ได้ใช้สิทธิ์นั้นจริง ๆ
20.บทแอนดี้ ดูเฟรนส์ นั้นโดนขังคุกมืดอยู่หลายครั้ง ทิม รอบบินส์ จึงพยายามเตรียมพร้อมสำหรับบทนี้ ด้วยการลองเข้าไปอยู่ในคุกมืดสักครู่หนึ่ง เพื่อลองซึมซับความรู้สึกที่ถูกขังอยู่ภายในนั้น เมื่อทิมออกมาเขาก็บอกว่าเขาไม่มีทางเข้าถึงความรู้สึกของคนที่ถูกขังจริง ๆ ได้ เพราะว่าการที่เขาเข้าไปอยู่นั้นเขาเข้าไปด้วยความสมัครใจ ต่างกับผู้ที่ถูกคุมขังเพราะโดนลงโทษจริง