งานสำหรับคนรักหนังสือชาวไทยคงไม่มีงานไหนใหญ่และเป็นที่เฝ้าคอยมากเท่างาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่จัดทุกช่วงเดือนเมษายน และงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ที่จะจัดทุกช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งทั้ง 2 ห้วงเวลาก็เป็นช่วงที่เด็ก ๆ จะปิดเทอม และสามารถมาเที่ยวชมหาหนังสือถูกใจกลับไปได้อย่างเต็มอิ่มด้วย โดยความพิเศษของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 24 รอบนี้ คือ การย้ายที่จัดงานจากทุกครั้งที่จะจัด ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการปรับปรุงพื้นที่ทำให้ต้องมาจัดที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นครั้งแรกด้วย โดยงานครั้งนี้จะจัดระหว่างวันที่ 2-13 ตุลาคม 2562 นี้แล้ว
เราเลยไปสำรวจบรรยากาศการจัดงานที่เปลี่ยนที่ไปในวันแรก ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรที่อัปเกรดขึ้น และมีอะไรที่ต้องระมัดระวัง เราจะมาแนะนำในนี้เลย
สถานที่จัดงาน การเดินทาง
เริ่มด้วยสถานที่การจัดงาน ตัวงานเลือกใช้พื้นที่ของ อาคารชาเลนเจอร์ 2 ที่มีความโอ่โถงและมีทางเข้างานได้ถึง 3 ทางใหญ่ นอกจากนี้การที่ห้องอยู่ในชั้น 2 ของตัวอาคารก็มีทางลาด รถยนต์ หรือ แท็กซี่ ก็สามารถขึ้นไปแวะส่งคนได้ถึงประตูทางเข้าเลยทีเดียว ส่วนสำหรับที่จอดรถนั้น ในเมืองทอง ก็มีที่จอดทั้งฟรีและเสียค่าบริการ มีทั้งในตัวอาคารและนอกตัวอาคาร อยู่หลายจุด แล้วแต่สะดวกว่าจะไปจอดที่ไหน แนะนำให้ศึกษาเรื่องค่าที่จอดให้ดีด้วยเพราะมีตั้งแต่คิดรายชั่วโมงและคิดเหมาทั้งวัน นอกจากนั้นอัตราค่าจอดก็แตกต่างกันด้วย
และสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวก็สามารถใช้บริการรถสาธารณะที่มีทั้ง รถตู้ ที่มีหลายสายสามารถมาได้จากหลายที่ ใครมาจากรถไฟฟ้าก็ลงตรง BTS หมอชิต ต่อรถตู้ได้เลย หรือใครสะดวกรถเมล์ ขสมก. ก็มีมากมายหลายสาย ทั้งยังได้จัดสายเฉพาะกิจสำหรับงานหนังสือโดยเฉพาะด้วย ลองดูทางเลือกการเดินทางจากตารางสายรถต่าง ๆ ที่มีเข้าเมืองทองด้านล่างนี้เลยครับ
ถามว่าสำหรับคนที่เคยสะดวกขึ้นรถไฟใต้ดิน MRT ถึงที่จัดงานได้เลย ครั้งนี้ก็ต้องปรับตัวพอสมควรล่ะนะเพราะเส้นทางรถทั้ง BTS และ MRT ยังไม่เชื่อมต่อมาที่นี่ในตอนนี้ แต่ในอนาคตถ้ายังจัดที่นี่อยู่ก็น่าจะสะดวกขึ้นมากเมื่อรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ
นิทรรศการพิเศษประจำงาน
เมื่อเข้ามาถึงงาน ในส่วนโถงด้านหน้าจะมีนิทรรศการที่จัดประจำ โดยปีนี้เป็นธีมที่ว่า Bring Content to Life ออกแบบเป็นทางเดินวงกลมที่จะผ่านห้องต่าง ๆ ไปชมเนื้อหาและกิจกรรมให้เล่น โดยในปีนี้จะมีใบสะสมตราประทับงาน สำหรับใช้เก็บตราประทับในแต่ละห้อง สะสมครบทุกห้องก็นำกลับไปเป็นที่ระลึกได้ โดยแต่ละห้องก็จะมีการออกแบบตราประทับไม่เหมือนกันสอดรับกับคอนเทนต์ที่นำเสนอในห้องนั้น ๆ ด้วย ข้อแนะนำ คือ ทางเดินและห้องอาจไม่ได้กว้างมากควรเลี่ยงช่วงที่คนเข้าชมมากนะครับ
จุดบริการต่าง ๆ หน้างาน
มาถึงทางเข้างานกันบ้างอย่างที่บอก ค่อนข้างโอ่โถงมีทางเข้าถึง 3 ทางใหญ่ และด้านนอกก็ยังมีจุดรับฝากของสำหรับคนข้าวของเยอะเดินหิ้วไม่ไหว และมีจุดของหายได้คืนด้วย ส่วนตู้เอทีเอ็มสำหรับคนที่อยากกดเงินเพิ่มก็จะมีอยู่ตรงบริเวณด้านหน้านี่เองครับ
และบริเวณหน้างาน ก็ยังมีบอร์ดขนาดใหญ่แสดงรายชื่อและหมายเลขของแต่ละสำนักพิมพ์ว่าอยู่จุดใดกันบ้าง ปีนี้ก็ยังใช้ตัวอักษรภาษอังกฤษกับตัวเลขระบุแต่ละบูธเช่นเคย แนะนำ ว่าตรวจดูเป้าหมายให้ดีก่อนเข้างานนะครับว่าอยุ่จุดไหน อย่างลืมว่าปีนี้จัดที่ใหม่ เราจะยังไม่ชินว่าสำนักพิมพ์โปรดเราจะไปตั้งตรงไหนในงาน นอกจากนั้นในบอร์ดนี้ยังจะมีการแจ้งอีเวนต์บนเวทีกลาง และตารางกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย มาดูกันได้
ทั้งนี้สามารถไปดูรายชื่อบูธต่าง ๆ และเลขบูธทางเว็บก่อนได้ที่นี่เลย https://pubat.or.th/มหกรรมหนังสือ2562/รายชื่อสำนักพิมพ์/
ภายในฮอลล์จัดแสดง
มาถึงไฮไลต์ในการเดินครั้งนี้แล้ว นั่นคือในส่วนการจัดแสดงหนังสือ ต้องบอกว่าเรามีข้อแนะนำเต็มไปหมดเลยสำหรับคนที่ไปเดินครั้งแรก เพราะปีนี้จะจัดรวมทุกโซนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยในฮอลล์ใหญ่จะมีบูธเรียงรายเป็นแถวเป็นแนวเต็มไปหมดคล้ายโซนพลานารี่ฮอลล์เดิมที่ศูนย์สิริกิติ์ ก็สะดวกดีไม่ต้องหลีกหลบขึ้นลงบันไดไปมาหลายพาแนลแบบศูนย์สิริกิติ์ โดยในนี้จะมีการจัดแบ่งเป็น 7 โซน ตามประเภทหนังสือ ไล่จากทางเข้าไปประกอบด้วย
- หนังสือทั่วไป – จิปาถะเลยครับอันนี้ มีตั้งแต่อ่านเล่น ปรัชญา ความรู้ ประวัติศาสตร์ ให้กำลังใจ ฯลฯ
- การศึกษา – แนวสำหรับครู และแนะนำการสอบ
- หนังสือเก่า – ร้านมือสอง ร้านของเก่า หนังสือหายาก
- หนังสือต่างประเทศ – หลากสไตล์ต้นฉบับแบบไม่แปลไทย
- หนังสือเด็กและสื่อการศึกษา – หนังสือเรียน หนังสือให้ความรู้ ของเล่น ฯลฯ
- นิยาย/วรรณกรรม – อีกหนึ่งโซนฮิตไม่ต้องสืบเลย คนแน่นแน่นอน
- การ์ตูน/วัยรุ่น – นี่ก็โซนคับคั่งหนาแน่น แถวจ่ายตังค์ยาวเฟื้อยจริง ๆ นอกจากหนังสือการ์ตูน ไลท์โนเวล ยังมีของขายของที่ระลึกจากการ์ตูน รวมถึงฟิกเกอร์โมเดล ด้วย
โซนพิเศษภายในงาน
และยังมีโซนอำนวยความสะดวกอื่น ๆ เข้ามาด้วยทั้ง โซน Kerry รับส่งหนังสือกลับบ้านไม่ต้องหิ้วเอง ที่หลาย ๆ ปีก่อนจะเคยคุ้นกับบริการของทางไปรษณีย์ไทยปีนีก็เป็นเคอร์รี่มาแทน โซนนวด นี่ก็ช่วยบรรดาผู้ปกครอง/ผู้สูงวัย ได้มาผ่อนคลายและปล่อยลูกหลานเดินกันไปไม่เบื่อไม่ต้องคอยกันไปมา โซนอาหาร ก็มีบูธอาหารและที่นั่งพอประมาณ ซึ่งต้องบอกว่าคนเต็มแทบตลอดเวลา โดยด้านหลังก็มีร้านอาหารประจำของทางฮอลล์บริการด้วยก็จัดกันตามสะดวกครับ
ปัญหาที่เจอจากการลองเดินจริง และข้อแนะนำผู้มาเดิน
ข้อสังเกตจากการเดินจริง แนะนำเลยครับว่างงทิศแน่นอน เพราะทั้ง 4 ด้านของฮอลล์คล้ายกันมาก และด้วยขนาดที่กว้างขวางทำให้จับจุดสังเกตแลนด์มาร์กไกล ๆ อย่างประตูทางเข้า หรือเวทีกลางลำบาก อีกอย่างที่ทำให้งงหนักเพราะฮอลล์มีลักษณะเกือบจัตุรัสทำให้กะทิศทางลำบากเพราะแค่หลงดูหนังสือในบูธเพลิน รู้ตัวอีกทีก็จับทิศยากแล้วว่าเดินมาจากแถวไหนทางไหน ซึ่งเดิมไม่ค่อยเป็นปัญหามากเพราพลานารีฮอลล์ของศูนย์สิริกิติ์จะวางตัวแบบผืนผ้าทำให้เราพอจับทิศจากด้านแคบและกว้างของแถวบูธได้
ซึ่งงานก็พยายามช่วยโดยการมีป้ายแขวนสูง ๆ บอกทิศของโซนต่าง ๆ ในฮอลล์ ก็บอกว่าพอช่วยได้เหมือนกัน อย่างน้อยรู้ว่าถ้าหันหลังให้ป้ายแขวนบอกโซนเราจะหันหน้าไปทางประตูทางออกแน่ ๆ ช่วยให้นึกทิศในผังออกง่ายขึ้น
สำหรับร้านค้าสำนักพิมพ์ที่มาร่วมในปีนี้ไม่แน่ใจว่าน้อยลงหรือไม่แต่ความรู้สึกคือเหมือนน้อยลง อาจด้วยการจัดพื้นที่รวมทำให้ไม่รู้สึกว่ามีหลายโซนมากเหมือนที่ศูนย์สิริกิติ์ โดยร้านใหญ่ ๆ ก็มากันครบไม่ต้องห่วงเลยครับ แต่สำหรับร้านเล็กร้านน้อยที่เคยมาร่วมนั้นไม่แน่ใจว่ามาครบไหมเหมือนกัน ก็ไม่กล้าพูดว่าพิษการเสื่อมถอยของวงการธุรกิจสิ่งพิมพ์จะส่งผลมาถึงงานนี้หรอกนะครับ ใครลองไปงานแล้วพอระบุได้ช่วยบอกหน่อยแล้วกันว่างานใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงหรือเท่าเดิม
โดยสรุป มีสิ่งที่ดีขึ้น ทั้งสถานที่ที่สะอาด ทันสมัยห้องน้ำดีมีหลายจุด มีบริการครบครัน ฝากของ แจ้งของหาย มีนวดไทย เป็นสัดส่วนดี และที่ดีสุดคือไม่ต้องขึ้นลงบันไดไปมาหลายโซน ผู้สูงอายุก็เดินได้ง่าย ข้อเสียก็มีอย่างที่บอกคือหลงทิศง่าย โซนที่คนฮิต ๆ ทางดูแคบไปหลายจุด โซนอาหารไม่เพียงพอ จุดนั่งพักก็ควรมีมากกว่านี้ และการเดินทางยังไม่สะดวกมากนัก ก็เชื่อว่าเราคงต้องมาที่นี่อีกหลายปี คิดว่าน่าจะมีการปรับปรุงและจัดงานได้สนุกน่าเดินมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ วันนี้ก็แนะนำบรรยากาศวันแรก และบอกทิปต่าง ๆ ที่พอสังเกตได้แล้ว หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับคนไปเดินครั้งแรกครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส