หลัง Joker เข้าฉายบ้านเราตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา เสียงในโซเชียลมีเดีย ต่างแสดงความเป็นห่วงผู้ชมที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตรุนแรงเนื่องด้วยเนื้อหาที่เล่าผ่านตัวละครที่มีอาการทางจิตไม่ปกติอย่าง อาร์เธอร์ เฟล็กซ์ แต่ในขณะเดียวกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกาประเทศผู้สร้างหนังเองกลับพูดถึงประเด็นเรื่องความรุนแรงที่หนังนำเสนอและถึงขั้นบอกว่า จำเป็นด้วยหรือที่ JOKER ต้องมาฉายโรงในปีนี้! WHAT THE FACT ขอรวบรวมประเด็นอันเป็นที่ถกเถียงและขอชวนผู้อ่านร่วมแสดงทรรศนะกันครับ
เหตุสลดที่ โรงหนังออโรร่า ยังหลอกหลอน!
เหตุกราดยิงขณะฉายหนัง The Dark Knight Rises ที่โรงหนัง ออโรร่า รัฐโคโลราโดวันที่ 20 กันยายน 2012 ที่ทิ้งผู้เสียชีวิต 12 คน และบาดเจ็บถึง 70 คน ไว้เป็นบาดแผล โดย เจมส์ โฮล์มส์ ฆาตกรได้ถือ โจ๊กเกอร์ เป็นไอดอลส่วนตัว ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่านอกจากเขาจะก่อเหตุสลดเลียนแบบพฤติกรรมอาชญากรตัวพ่อแล้ว ที่ห้องพักเขาเองยังมีการวางกับดักระเบิดซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเลียนแบบโจ๊กเกอร์โดยตรง และหลังผ่านเหตุสลดมา 7 ปี หลังตัวอย่างหนังเผยแพร่ออกมาก็ย่อมนำฝันร้ายมาสู่เหล่าญาติเหยื่อกราดยิงออโรร่าและชาวอเมริกันอย่างช่วยไม่ได้
โดยทางญาติของเหยื่อได้ส่งจดหมายเปิดผนึก A letter on Tuesday เรียกร้องให้ วอร์นเนอร์ บราเธอรส์ สนับสนุนเงินให้แก่กองทุนควบคุมอาวุธปืนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อกราดยิง รวมถึงเลิกสนับสนุนนักการเมืองที่รับเงินจากองค์กรที่สนับสนุนการครอบครองปืนเสรีอย่าง National Rifle Association และแม้ทางวอร์นเนอร์จะตอบรับพร้อมบอกว่าทางสตูดิโอได้บริจาคเงินสนับสนุนกองทุนควบคุมอาวุธปืนมาโดยตลอด แต่ความเป็นห่วงกังวลว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยก็ยังไม่จางหายไป และล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 30 กันยายนก่อนหน้าหนังจะฉายทางเอฟบีไอและกองทัพสหรัฐ ก็ได้เตรียมความพร้อมด้วยการส่งกองกำลังรักษาความปลอดภัยยังโรงหนังต่าง ๆ เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย และในขณะที่โรงหนังส่วนใหญ่ยังตอบรับ JOKER เข้าฉายปกติ แต่โรงหนังออโรร่าเองขอปฏิเสธและประกาศว่าทางโรงจะไม่ฉาย JOKER อย่างแน่นอน
ความรุนแรง..ความรับผิดชอบของคนทำหนังจริงหรือ?
หลังกองทัพสหรัฐออกมาตำหนิเรื่องความรุนแรงในหนัง JOKER จนผู้กำกับ ทอดด์ ฟิลลิปส์ ออกมาแก้ต่างว่าที John Wick ที่ฆ่าคนโหดๆ เป็นร้อย ๆ ศพทำไมไม่ถูกตำหนิบ้าง จากข้อถกเถียงนี้ หากมองในแง่ ประเภทของภาพยนตร์แล้วคำแก้ต่างของ ทอดด์ ฟิลลิปส์ อาจไม่ได้มีน้ำหนักนัก เพราะในขณะที่ John Wick อยู่ในประเภทหนังแอ็กชันล้างแค้น และมูลเหตุจงใจอย่างหมาของเมียรักถูกฆ่าก็เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับเพื่อชำระล้างหนี้แค้นดังกล่าว แต่ในขณะที่ JOKER ถูกนำเสนอในฐานะหนังดราม่า วิเคราะห์ตัวละคร (Character Study) การที่คนดูได้เห็น คนโรคจิตที่มีชีวิตอันน่าสงสารทั้งถูกกระทืบ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม แถมยังลากเรื่องชนชั้นมาพูดถึง กลับกลายเป็นภาพเปรียบเทียบชีวิตของเหล่าผู้ก่อเหตุกราดยิงจนอาจทำให้หนังไปจุดชนวนความรุนแรงครั้งใหม่ได้
แต่ในขณะเดียวกัน หากเราจะให้ความเป็นธรรมกับ JOKER จากประวัติศาสตร์เองแรงบันดาลใจของฆาตกรบางครั้งก็อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในสื่อโดยตรง อย่างชาร์ลส์ แมนสัน ที่เราเพิ่งได้ดูหนังที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุฆาตกรรมสลดไปใน Once upon a time in Hollywood ก็บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากเพลงของเดอะบีเทิลส์ อัลบั้ม White Album หรือกระทั้งหนังสือ The Catcher in the Rye ก็เคยถูกเชื่อมโยงกับคดีฆาตกรรมต่าง ๆ นับไม่ถ้วนมาแล้ว
แม้ทางวอร์นเนอร์เองอาจจะยึดคติ ศิลปะที่ดีต้องพูดความจริงและหยิบเหตุการณ์จริงบนโลกมานำเสนอเพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของกาลเวลา แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสำหรับญาติหรือผู้เคยเป็นเหยื่อเหตุการณ์กราดยิงแล้วย่อมต้องแสดงความเป็นห่วงเป็นธรรมดา
เลื่อนฉาย THE HUNT ความรับผิดชอบของสตูดิโอยูนิเวอร์แซลที่ทางวอร์นเนอร์ ถูกทวงถาม
ด้วยเหตุโศกนาฏกรรมกราดยิงที่ เดย์ตัน และ เอลปาโซ ส่งผลให้ผู้คนต่างพุ่งเป้ามาที่ความรุนแรงและอันตรายของปืนในสื่อจน ยูนิเวอร์แซล ผู้จัดจำหน่าย The Hunt หนังเกมล่าคนของอภิสิทธิ์ชนที่เคยมีกำหนดฉาย 27 กันยายน ตัดสินใจประกาศเลื่อนฉายหนังไปอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมาผิดกับ JOKER ที่ทางวอร์นเนอร์ยังคงวันฉายเดิมไว้ นำมาสู่การตั้งคำถามของสื่อมวลชนบางกลุ่มว่าทำไมวอร์นเนอร์ถึงไม่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการเลื่อนฉายหนังไปก่อนเหมือนยูนิเวอร์แซล
เรื่องนี้หากมองอีกแง่ในฐานะคนสร้างงานศิลปะ วอร์นเนอร์เองก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ “การเซ็นเซอร์ตัวเอง” แบบเดียวกับยูนิเวอร์แซล โดยทาง ทอดด์ ฟิลลิปส์ และผู้สร้างต่างยืนยันว่าเนื้อหาในโจ๊กเกอร์มุ่งสะท้อนการเมืองว่าหากมนุษย์ถูกจับไปอยู่ในสังคมที่เป็นพิษ สังคมนั้นๆ ก็จะผลิตคนอย่างโจ๊กเกอร์ออกมา ซึ่งหนังแบบนี้ฮอลลีวูดเองก็เคยผลิตมาในยุค 60-70 โดยเฉพาะ Taxi Driver หนังที่คนดูเชื่อว่า JOKER ได้รับอิทธิพลมาเต็ม ๆ
แฟนอันตราย ขู่ฆ่านักวิจารณ์ JOKER และการเฝ้าระวังของโรงหนัง
ด้านการตอบรับ JOKER ของนักวิจารณ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ หลังจากหนังคว้ารางวัลสิงโตทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เวนิซมาได้ คนดูย่อมต่างคาดหวังกับคุณภาพและคำวิจารณ์ของหนัง แต่ผลปรากฎว่าคะแนนจาก rottentomatoes เว็บไซต์ยอดนิยมสำหรับเช็กเรตติงกลับดิ่งลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบันอยู่ที่ 69% หลังเปิดตัวแรงที่ 87% โดยคำวิจารณ์ส่วนใหญ่เน้นไปที่การวิพากษ์ความไม่สมเหตุสมผลระหว่างความรุนแรงของโจ๊กเกอร์กับสภาพสังคมและการเมืองอันฟอนเฟะของก็อตแธมที่หนังพยายามยัดเยียด จนไม่สามารถโน้มน้าวชักจูงให้เชื่อได้มากนักและเกิดผลกระทบต่อเนื่องเมื่อแฟนหนังเลือกจะโจมตีกลับนักวิจารณ์ แถมบางคนยังตอกกลับได้รุนแรงเหลือเกินด้วย
อลิซซา วิลคินสัน นักวิจารณ์เว็บไซต์ VOX ที่ได้ข้อความขู่ฆ่าหลังเธอให้คะแนนโจ๊กเกอร์แค่ 2.5 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่แค่ความไม่พอใจต่อตัวนักวิจารณ์แต่คำขู่ฆ่ายังไปในทางปกป้องตัวละครนำอย่าง อาร์เธอร์ เฟล็กหรือ โจ๊กเกอร์ ซึ่งมีโพรไฟล์เป็นคนจิตหลอน โดดเดี่ยว และรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมจนสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองควงปืนไปก่อความรุนแรงต่อสาธารณะชน ซึ่งบังเอิญก็ไปตรงกับข่าวที่ทางสื่อของกองทัพอย่าง สตาร์สแอนด์สไตรป์ส (Stars and Stripes) ที่รายงานว่ามีความเคลื่อนไหวของเนื้อหาอันตรายจนน่าเป็นห่วงบน เว็บใต้ดิน ที่ผุดขึ้นมาก่อนหนังจะฉาย 1 สัปดาห์ ซึ่งทำให้หน่วยงานรัฐของเท็กซัสและเอฟบีไอจับตาเฝ้าระวังโรงหนังก่อนฉายวันที่ 4 ตุลาคม นอกจากนี้พนักงานโรงหนังยังบอกกับ อลิซซา ด้วยว่าโรงหนังหลายเครือสั่งห้ามคนดูไม่ให้ ใส่หน้ากาก แต่งกายเลียนแบบ หรือนำปืนของเล่นเข้ามาในโรงหนัง ซึ่งถือเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์การกราดยิงที่เข้มงวดมาก
กล่าวโดยสรุปแล้วในทางทฤษฎีภาพยนตร์ก็เป็นที่ยอมรับกันมาช้านานว่าภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อคนดูโดยเฉพาะในเชิงจิตวิทยา ที่เราเข้าโรงหนังมืดๆ แล้วถูกบังคับ(หรือเต็มใจก็ตาม) ในการชมภาพที่เกิดจากแสงสว่างเดียวที่ฉายบนจอเปรียบเทียบได้กับทฤษฎีถ้ำของเพลโต (Plato’s Cave) ที่มนุษย์ถูกจับไปอยู่ในถ้ำแล้วถูกบังคับให้ดูภาพเงาที่ตกกระทบบนผนังถ้ำ ซึ่งภาพที่เห็นก็เป็นข้อมูลเดียวที่มนุษย์ได้รับ และเมื่อได้รับก็เกิดความเชื่อเพียงด้านเดียวจากข้อมูลที่อยู่บนผนังถ้ำหรือบนจอ ซึ่งนั่นก็ทำให้เนื้อหาของภาพยนตร์สามารถทำให้คนดูสุข เศร้า สนุก หรือจิตตกได้ และกับ JOKER เราอาจต้องดูต่อไปว่าหนังจะส่งอิทธิพลต่อคนดูในแง่ใดบ้าง และจะเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าใจซ้ำรอยหรือไม่.
ข้อมูลอ้างอิงประกอบการเขียน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส