แม้มองเผิน ๆ เราอาจคิดว่า JOKER ไม่ได้ต่างจากหนังสร้างจากคอมิกที่หยิบฉวยตัวละครดังๆมาเล่าเรื่องให้กลายเป็นหนังยอดนิยม แถมหนัง Joker ในฉบับของ ทอดด์ ฟิลิปส์ ยังเน้นเรื่องราวให้ตัวละครโจ๊กเกอร์เป็นศูนย์กลางการเล่าเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นผลลัพธ์เมื่อคน ๆ หนึ่งถูกทำร้ายจากสังคมที่ปนเปื้อนพิษจากความโลภและความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยผ่านร่างทรงอย่าง วาคีน ฟีนิกซ์ ซึ่งจะว่าไปเมื่อเทียบกับฮีธ เลดเจอร์ ที่เน้นให้เรื่องราวเบื้องหลังตัวละครเป็นความลับที่คนดูไม่อาจล่วงรู้ วาคีน กลับอาศัยการสร้างรายละเอียดทางการแสดงเพื่อให้เข้ากับตัวละครที่สุด ซึ่งมันทั้งละเอียดอ่อนและเหมาะเจาะจนอยากชี้ชวนให้เห็นถึงรายละเอียดทางการแสดงของวาคีน ฟีนิกซ์ที่อาจพลาดกันไปในการชมครั้งแรก แต่เราขอเตือนไว้ก่อนว่ารายละเอียดในบทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหาสำคัญ
1.การหัวเราะสี่แบบ
เราอาจเคยอ่านมาจากหลายแหล่งแล้วว่า วาคีน ฟีนิกซ์ ได้พยายามหาเสียงหัวเราะที่เหมาะกับตัวละคร และก่อนหน้าหนังจะถ่ายทำผู้กำกับ ทอดด์ ฟิลิปส์ ยังเคยนำวิดีโอของคนที่มีอาการผิดปกติกับการหัวเราะมาให้เขาศึกษา แต่แท้จริงแล้วการดีไซน์รูปแบบการหัวเราะของฟีนิกซ์กลับเต็มไปด้วยรายละเอียด โดยอาจแบ่งแยกได้เป็น 4 แบบดังนี้
การหัวเราะแบบแรกเราจะเห็นแทบทั้งเรื่อง เมื่ออาเธอร์ต้องเผชิญกับความอับอาย หรือถูกสังคมเล่นงาน เขาหัวเราะอย่างทรมานซึ่ง วาคีน ฟีนิกซ์ สามารถออกแบบการแสดงออกทางกายภาพให้คนดูได้เห็นความทุกข์ทรมานจากทั้งโรคที่ตัวละครเป็น และความเศร้าเบื้องหลังเสียงหัวเราะ ซึ่งมิได้แสดงออกเพียงแค่ใบหน้าบิดเบี้ยวแต่ยังพยายามจิกคอตัวเองให้หยุดหัวเราะแต่เรากลับเห็นลูกคอของเขาสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงแล้วร่างกายก็ค่อยผ่อนพละกำลังจนเห็นความอ่อนแอที่ทำให้เห็นว่าการหัวเราะคือการลงโทษของโรคประสาทที่ตนเป็นอยู่ ยิ่งพอหนังแสดงให้เห็นโศกนาฏกรรมในอดีตของอาเธอร์ การหัวเราะดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการตอบสนองที่สมเหตุสมผล
แต่ก็ใช่ว่าหนังจะมีเพียงการหัวเราะในแบบแรกเท่านั้น แต่ฟีนิกซ์ยังออกแบบการหัวเราะอีก 3 แบบให้ อาเธอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวละครนี้มีมิติหลายชั้นกว่าที่เราคิด โดยผลจากโรคบกพร่องในการควบคุมเสียงหัวเราะ (Pathological Laughter)ทำให้นอกจากเราจะได้เห็นความทุกข์ทรมานจากการหัวเราะในแบบแรกแล้ว มันยังผลไปสู่บทสรุปของเรื่องราว หลังโจ๊กเกอร์เลือกเปิดใจยอมรับกับแม่ว่าการควบคุมเสียงหัวเราะไม่ได้กลับกลายเป็นตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ดังนั้นในฉากโศกนาฏกรรมครอบครัวเวย์น เราจะเห็นใบหน้าบิดเบี้ยวของอาเธอร์อีกครั้งแต่ความเจ็บปวดหายไปแล้ว
และหากจะบอกว่า อาเธอร์ หัวเราะด้วยความจริงใจหรือไม่ ก็ต้องมาดูการหัวเราะอีก 2 แบบโดยครั้งเดียวที่เราจะได้เห็น อาเธอร์ หัวเราะได้อย่างจริงใจคือตอนเขาจินตนาการว่าตัวเองได้ไปออกรายการของ เมอเรย์ แฟรงคลิน โดยคำพูดหนึ่งที่เขาตอบพิธีกรดังไปว่า เขาไม่เคยรู้เลยว่าความสุขของตัวเองที่แท้จริงคืออะไร แต่การได้มายืนอยู่ตรงหน้าพิธีกรคนโปรดในรายการที่ชื่นชอบคือความสุขที่เขาค้นพบจากนั้นเสียงหัวเราะที่ดูปกติที่สุดก็ปรากฎบนใบหน้าของอาเธอร์ จนกระทั่งเราได้รู้ว่า ความสุขแท้จริง ที่เขาพูดถึงเป็นเพียงจินตนาการและเขาจะได้รับรู้ความสุข (สุดอำมหิต) ได้อย่างแท้จริงก็เมื่อถึงบทสรุปของเรื่องราวที่เขาได้มาออกรายการของ เมอเรย์ แฟรงคลิน จริง ๆ
ในการหัวเราะแบบสุดท้ายคือ เสียงหัวเราะสุดหลอนที่เราได้ยินตั้งแต่ตัวอย่างหนังนั่นแหละ เป็นฉากที่ อาเธอร์กำลังเดินไปพบกับผู้จัดการคณะตัวตลกที่เขาทำงาน จากเสียงหัวเราะที่ดูฝืนทำให้เรารู้เลยว่า อาเธอร์ พยายามแค่ไหนที่จะกลมกลืนกับสังคมสุดโหดร้ายที่ทำกับเขาตั้งแต่ฉากถูกทำร้ายตอนเปิดเรื่อง เป็นการหัวเราะแบบหน้าชื่นอกตรมที่แท้จริง
2.เด็กชายที่ติดอยู่ในร่างผู้ใหญ่
จากหนังเราได้รู้ว่า อาเธอร์ มีวัยเด็กอันเลวร้ายเขาถูกแฟนของแม่ทำร้ายร่างกาย และความสดใสของวัยเยาว์ก็ถูกพรากไป แถมในตอนโต อาเธอร์ยังต้องรับหน้าที่เลี้ยงดู เพนนี ผู้เป็นแม่ทั้งที่ตัวเองแทบจะไม่มีเงินพอยาไส้จนเหมือนอาเธอร์กลายเป็นผู้ปกครองมากกว่าลูกชายเสียด้วยซ้ำ
แต่ความจริงแล้ว ร่องรอยหรือคำบอกใบ้ถึงวัยเด็กอันเลวร้ายได้ถูกเปรยก่อนเขาจะได้รู้ความจริงที่ โรงพยาบาลอาร์คาม เสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในฉากที่อาเธอร์จินตนาการให้ตัวเองอยู่ท่ามกลางคนดูในรายการเมอเรย์ แฟรงคลิน ที่นอกจากเขาจะพร่ำพรรณนาถึงความฝันที่ต้องการมาออกรายการโปรดสักครั้งแล้ว กิริยาที่ดูเหนียมอาย เอามือไพล่หลัง ยืนตัวเอียงไปเอียงมา ยังทำให้เห็นแล้วว่าในโลกความฝัน เขาก็เป็นแค่เด็กคนนึงที่ยังไม่ยอมโตเป็นผู้ใหญ่มารับรู้เรื่องราวอันโหดร้ายนั่นเอง
3.ขาเป๋ก้มหน้ารับชะตากรรม
ในฉากเปิดเรื่องสุดช็อกหลังเห็นอาเธอร์ผู้ร่ายรำเพื่อทำมาหากินในฐานะตัวตลกไม่กี่วินาที เราก็พบเขานอนให้กลุ่มอันธพาลเตะเขาเป็นกระสอบทรายเพื่อความสะใจ ซึ่งแสดงให้เห็นมลพิษทางจิตใจของชาวเมืองก็อตแธมที่ดูไร้อนาคตอย่างชัดเจน แล้วอาเธอร์ก็ลุกขึ้นมาเดินกะเผลกลากสังขารออกจากตรงนั้นอย่างน่าเวทนา
แต่เมื่อเราพบว่าแม้บาดแผลจาการถูกรุมทำร้ายจะหายไป เรากลับอาเธอร์ยังคงเดินขากะเผลกแถมยังค้อมศีรษะแบบแทบจะติดกับหน้าอกตัวเองขณะลากขาทีละข้างพาสังขารตัวเองเคลื่อนที่ไป ซึ่งชัดเจนว่ามันเป็นเพียงการแสดงเท่านั้น เพราะการยังคงอาการขาเป๋และศีรษะค้อมลงคือสัญญะของร่องรอย “แผลเก่า” และหากสังเกตดีๆ ก่อนหน้าจะกลายเป็นวายร้าย มีฉากที่ อาเธอร์ พยายามฝึกฝนท่าทางและบุคลิกจาก ชาร์ลี แชปลิน และ บัสเตอร์ คีตัน เพื่อหาท่าทางการเคลื่อนไหวที่ดูเป็นธรรมชาติก็ยิ่งชัดเจนว่าความน่าเวทนาที่ผู้คนพบเห็นก็ถือเป็นการแสดงของเขาเช่นกัน เพื่อแสดงว่าการพาตัวเองออกจากความน่าเวทนาและความทุกข์ตรมคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำให้โศกนาฏกรรมกลายเป็นสุขนาฏกรรมผ่านการแสดงแบบตัวตลกนั่นเอง
แต่หลังจากอาเธอร์เลือกจะเปลี่ยนตัวเองไปสู่ด้านมืดเราจะพบว่าเขาไม่จำเป็นต้องแสดงเพื่อขอความเวทนาจากใครอีกแล้ว เราจะสังเกตว่าเขาสามารถจ้องมองแม่ของเขาตรงๆไร้ซึ่งความกังวลใดๆ และสามารถพูดคุยกับ โซฟี ได้อย่างปกติ และยิ่งชัดเมื่อเขาต้องการบันดาลโทสะที่เขาใช้สายตาจ้องมองอย่างเคียดแค้น จนอาการขาเป๋ หัวค้อม และการแต่งเป็นตัวตลกได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนอาเธอร์เป็นโจ๊กเกอร์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
4.กลายเป็นตัวละครไร้ลมหายใจ
แม้ส่วนใหญ่แล้วตัวละครอาเธอร์ก็ต้องหายใจตามปกตินั่นแหละแต่มีบางฉากที่ วาคีน ฟีนิกซ์ เลือกจะไม่หายใจเพื่อเพิ่มความตึงเครียดให้ซีนนั้น ๆ โดยซีนแรกที่ชัดเจนมาก ๆ คือซีนที่นักสังคมสงเคราะห์มาบอกเขาว่าต่อไปนี้ อาเธอร์จะไม่ได้มาพบเพื่อบำบัดทางจิตเวทย์และไม่ได้รับยาเพื่อรักษาอาการของเขาอีกแล้วเนื่องจากงบประมาณถูกตัด อาเธอร์ ยิ้มอย่างเจ็บปวดแล้วเริ่มเล่าเรื่องที่แม่ของเขาสอนให้ทำใบหน้าให้เปื้อนยิ้มอยู่เสมอ แต่ขณะพูดเขากลับไม่หายใจ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าอึดอัดเข้าไปใหญ่เพราะคนปกติหากเจอเหตุการณ์ชวนช็อคมักจะมีภาวะ “ระบายลมหายใจเกิน” หรือ Hyperventilation แต่เนื่องจากอาเธอร์ถูกฝึกให้เก็บกดความรู้สึกไว้ใต้รอยยิ้มเสมอดังนั้นการหยุดลมหายใจของตัวเองจึงเป็นวิธีหนึ่งในการเก็บซ่อนความเจ็บปวดไว้ภายใน
และในอีกฉากหนึ่งที่อาเธอร์เลือกจะ “ไม่หายใจ” คือหลังอาเธอร์รู้ความจริงในวัยเด็กจนนำเขาไปสู่การทำ มาตุฆาต เขาเลือกจะไม่หายใจขณะนำหมอนกดที่ใบหน้าของแม่เพียงเพื่อไม่ให้ใครได้ล่วงรู้ความรู้สึกของเขา
5.เรื่องเล่าที่ไม่อาจเชื่อได้จากอาเธอร์
เมื่ออาเธอร์สังหารลูกจ้างบริษัทเวย์นเอนเตอร์ไพร์สที่ทำร้ายเขาบนรถไฟใต้ดินได้กลายเป็นการยกระดับการมีตัวตนในโลกของความจริงอันโหดร้าย นั่นทำให้ก่อนหน้านี้ที่เขาเคยบอกกับเดบราว่าไม่เคยแน่ใจว่าตัวเองมีตัวตนจริงบนโลกหรือไม่ได้กลายเป็นคำบอกใบ้ว่าต่อไปนี้ คนดูอาจต้องใช้วิจารณญานเอาเองว่าจะเชื่อเรื่องที่อาเธอร์เล่าต่อไปได้หรือไม่.
ซึ่งหนังเองก็มีกลวิธีเพื่อบอกเล่าว่าเรื่องราวของอาเธอร์บ่อยครั้งก็ไม่อาจเชื่อถือได้ โดยเฉพาะ 3 ศพแรกที่อาเธอร์สังหารด้วยปืนลูกโม่โคลต์ดีเทคทีฟสเปเชียล .38มม. ที่ความจริงบรรจุได้ 6 นัด แต่ในหนังเองอาเธอร์กลับเหนี่ยวไกไปได้ 7 นัด ซึ่งนัดที่เกินมาเราอาจโบ้ยว่าเป็นความผิดของทีมงานหรือหากมองในแง่กลวิธีการเล่นกับเส้นแบ่งความจริงความลวงมันก็เข้ากันได้พอดีกับเรื่องเล่าอาเธอร์ที่เราอาจไว้ใจไม่ได้เต็มที่นัก
ยิ่งไปกว่านั้นในฉากท้ายๆที่หนังตัดสลับระหว่างเหตุฆาตกรรมพ่อแม่บรูซ เวย์น กับ ใบหน้าอาเธอร์ที่กำลังดื่มด่ำกับชีวิตใหม่ท่ามกลางจลาจลซึ่งเป็นการเบลอเส้นแบ่งความจริงความลวงได้เห็นภาพเพราะเอาเข้าจริงแล้ว อาเธอร์อาจไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวด้วยซ้ำ แต่หนังก็ใช้ทั้งปมที่อาเธอร์แค้นพ่อของบรูซและการเปลี่ยนตัวเองมาเป็นโจ๊กเกอร์ของอาเธอร์ในการล่อหลอกคนดูให้เห็นความเกี่ยวโยงของสองเหตุการณ์จนปั่นป่วนการรับรู้ของคนดู.
หรือกระทั่งการแต่งหน้าเป็นตัวตลกของอาเธอร์เองที่หนังเลือกให้แม้แต่ในซีนเดียวกัน แต่หากสังเกตดี ๆ การแต่งหน้าของอาเธอร์กลับมีรายละเอียดที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนมันเล่นตลกกับการรับรู้ทางสายตาของคนดู ไม่ต่างจากอาเธอร์ที่เล่นกับความเชื่อของคนดูในเรื่องราวของเขาได้อย่างปั่นป่วนและชวนคิดทีเดียว
6.อาเธอร์คือนักลอกเลียน
ในการสัมภาษณ์ของวาคีน ฟีนิกซ์ ได้กล่าวถึงการนำอาการของโรคบกพร่องในการควบคุมเสียงหัวเราะมาสร้างตัวละครโจ๊กเกอร์ และหนึ่งในการตอบสนองของคนเป็นโรคดังกล่าวอย่างหนึ่งคือการ ลอกพฤติกรรมผู้อื่น ซึ่งหลายครั้งหลายคราที่เราเห็นอาเธอร์ลอกเลียนพฤติกรรมคนอื่น.
เมื่ออาเธอร์ต้องไปอยู่ท่ามกลางคนอื่น เขามักมีพฤติกรรมเลียนแบบที่รับมาจากบุคคลรอบข้าง เช่นตอนแกรีถูกล้อเรื่องที่เป็นคนแคระ อาเธอร์ก็แค่นหัวเราะเลียนแบบคนอื่น ๆ ในห้องที่เป็นฝ่ายล้อเลียนแม้จะดูเป็นเสียงหัวเราะที่ดูปลอมแค่ไหนก็ตาม หรือตอนโซฟีมาที่ห้องแล้วพิงประตู เขาก็ยืนพิงประตูตามเธอ หรือกระทั่งการเรียนรู้ที่จะเป็นเดี่ยวไมโครโฟน ขาก็ลอกมุกคนอื่นใส่สมุด รวมถึงลอกคำตอบคนอื่น ๆ เพื่อเตรียมตัวออกรายการของแฟรงคลิน เมอเรย์
และในซีนที่ชวนเสียวสันหลังที่สุด ในฉากสังหารแฟรงคลิน เมอเรย์ ขณะถ่ายทอดสด เขาก็ยังเลียนแบบการพูดของพิธีกรดังอย่างแฟรงคลินทั้งการพูดแบบเน้นคำ ลากเสียง จนดูเหมือนกำลังล้อเลียนพิธีกรที่ตนถือเป็นไอดอลต้นแบบของตน ซึ่งนั่นเปลี่ยนให้โศกนาฏกรรมดังกล่าวกลายเป็นเพียงหนึ่งในการแสดงของเขาเท่านั้นเอง ซึ่งก็เป็นแสดงที่เป็นการลอกพฤติกรรมและล้อเลียนไปในตัว
และหากสังเกตให้ดีบริเวณเหนือกระจกที่อาเธอร์ใช้แต่งหน้าเป็นตัวตลก จะมีข้อความ You Look Mah-Velous ซึ่งเป็นวรรคทองของ เฟอร์นานโด ลามาส์ ดาวตลกยุค 50 และบิลลี คริสตัล เองก็เคยหยิบยืมมุกนี้ใช้ในรายการ Saturday Night Live ในยุค 80 ดังนั้นเราจะเห็นได้อีกว่า อาเธอร์ สามารถหยิบยืมมุกคนอื่นมาเล่นในโลกความเป็นจริง
7.สีสันบนตัวอาเธอร์
แม้คอสตูมของ Joker ในคอมิกจะมีหลากหลายให้คนทำหนังเลือกมาหยิบใช้ โดยเฉพาะชุดสูทสีม่วง เชิ้ตเขียวอันแสนคุ้นตา แต่สำหรับอาเธอร์ในหนัง JOKER แล้ว กลับเลือกที่มาจากความรู้สึกของตัวละคร โดยในซีนหนึ่งที่ อาเธอร์ ได้บอกกับนักบำบัดว่าเขารู้สึกเหมือนว่า อาร์คาม เหมือนบ้านที่แท้จริงของเขา และหนังก็เลือกให้ผนังของ อาร์คาม เป็นสีส้ม ซึ่งตรงกับสีเสื้อกั๊กของเขา ส่วนพื้นและท่อในอาร์คามเป็นสีน้ำตาลแดง ซึ่งตรงกับเสื้อสูทของเขา ดังนั้น สีส้ม และ น้ำตาลแดง ที่อาเธอร์เลือกใส่จึงเท่ากับสีของบ้านที่เขารู้สึกผูกพันด้วยมากที่สุด ซึ่งก็คือ อาร์คาม นั่นเอง
8.แจ็กเกตคุมผู้ป่วยทางจิต
ตลอดเรื่องเราจะเห็นอาเธอร์ในร่างของชายผู้ผ่ายผอม หนังหุ้มกระดูก เสียจนเป็นห่วงนักแสดงอย่างวาคีน ฟีนิกซ์ ที่ออกมายอมรับว่าการเข้าถึงตัวละครโจ๊กเกอร์ส่งผลต่อสภาพจิตใจเขาไม่น้อย ยังไม่นับรวมซีนหนึ่งที่เราเห็นเขาทำหลังค่อม เอามือไพล่ไปด้านหลังขดงอจนเห็นกระดูกปูดโปน ซึ่งแม้ไม่ได้อธิบายถึงเหตุผลชัดเจนแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีที่มาที่ไป
ในไดอารีมุกของอาเธอร์ เขาได้เขียนว่า แจ็กเกตที่น่าอึดอัดที่สุดคือ แจ็กเกตคุมผู้ป่วยทางจิต (Straightjacket) ดังนั้นเขาจึงพยายามหาพื้นที่ที่เขาจะอยู่ได้อย่างสบายตัวสบายใจ ไม่ว่าจะเป็นการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในตู้เย็น (ซึ่งก็ดันมีลูกบิดประตูเหมือนห้องขังใน อาร์คาม อีกที) หรือการแสดงออกว่าตัวเองอยากอยู่ที่อาร์คาม ถึงขั้นสารภาพความผิดแต่ไม่มีใครสนใจ ทั้งที่อาร์คามเหมือนบ้านที่เขาต้องการอยู่ที่สุด
ดังนั้นในโลกนอกอาร์คามที่เขายังทำบิดงอตัวเองอยู่ก็เป็นการสะท้อนว่า แม้ไม่ได้อยู่ในอาร์คามแต่ชะตาชีวิตก็ยังจับเขาใส่แจ็กเกตคุมผู้ป่วยทางจิตอยู่ มันทั้งอึดอัดและปราศจากอิสรภาพนั่นเอง
9.ทำตัวเองให้ใหญ่โต
จากหนังทำให้เห็นว่าการเต้นเป็นการแสดงถึงอิสรภาพของอาเธอร์ หรือเมื่อเขาสัมผัสได้ถึงความสุขบางอย่าง และยังเป็นพิธีกรรมในการประกาศการมีตัวตนของอำนาจเพศชายในตัวเอง และยังใช้ในการสงบจิตใจและเตรียมตัวเพื่อไปออกในรายการของแฟรงคลิน เมอเรย์.
แต่รายละเอียดของท่าเต้นกลับบอกรายละเอียดที่ลึกกว่าแค่การแสดงความรู้สึกเพราะการเคลื่อนไหวที่พลิ้วไหวราวนักบัลเลต์ และท่าทางที่แสดงออกกลับทำให้ อาเธอร์ ดูยิ่งใหญ่กว่าตัวตนจริงๆของเขา ทั้งการยกแขนสูงและเคลื่อนไหวอย่างบ้าคลั่งประหนึ่งสัตว์ป่าประกาศอำนาจ เป็นการสร้างตัวตนให้คนมองเห็นเขาในโลกความเป็นจริง โดยเฉพาะในรายการของแฟรงคลิน เมอเรย์ ที่มีแต่คนพร้อมมองข้ามและเหยียบหัว การเต้นของเขาจึงเป็นพิธีกรรมประกาศเจตนารมย์ของตัวเอง.
นอกจากการเต้นแล้ว หนังยังใช้กล้องมุมต่ำถ่ายให้ตัว อาเธอร์ ดูยิ่งใหญ่ขึ้นหลังจากเราได้รับรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโซเฟียเป็นเพียงจินตนาการฝันหวาน และเขาก็เลือก “จัดการ” กับเธอ แล้วเดินออกมาตามทางเดิน กล้องได้ถ่ายอาเธอร์จากมุมต่ำทำให้เห็นว่าเขาไม่จำเป็นต้องเต้นหรือเสแสร้งว่าตัวเองยิ่งใหญ่แค่ไหนอีกแล้ว
10.คราบบุหรี่
อาเธอร์ เฟลค เป็นตัวละครที่สูบบุหรี่จัดมาก จนตอนท้ายเมื่อกล้องจับภาพที่มือและเล็บจะเห็นคราบสีส้ม ๆ จากนิโคติน ซึ่งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ยังเป็นมากกว่าแค่การสร้างคาแรกเตอร์ให้ตัวละคร
ในหลาย ๆ ฉากที่เขาสูบบุหรี่สามารถบ่งบอกได้ถึงเหตุและผลในการกระทำรวมถึงใช้แบ่งแยกความจริงความลวงอีกด้วย เพราะในบรรดาฉากแฟนตาซีทั้งหมด ไม่มีช่วงไหนเลยที่อาเธอร์จะเอาบุหรี่เข้าปาก ขัดแย้งกับเวลาเขาอยู่คนเดียวที่ปากของเขาไม่เคยขาดบุหรี่เลยซึ่งแสดงให้เห็นช่วงเวลาอันตึงเครียดที่อาเธอร์ต้องเผชิญ
เนื่องจากอาเธอร์ไม่สามารถแยกความจริงและความฝันได้ด้วยตัวเองจึงใช้พฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นตัวโทเทมแบ่งความจริงความฝันเพราะการสูบบุหรี่เป็นเพียงพฤติกรรมทำลายตัวเองที่อาเธอร์ใช้ต่อรองในการเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แต่ไม่ได้มีเพียงบุหรี่เท่านั้นแต่ยังมีบางซีนที่เราเห็นอาเธอร์พยายามเช็กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริงหรือความฝันกันแน่เช่นตอนที่โพรดิวเซอร์โทรศัพท์เชิญอาเธอร์ไปร่วมรายการของเมอเรย์แฟรงคลิน เขายังตบหน้าตัวเองเบา ๆ เพื่อเช็กว่านี่เป็นความจริง หรือกระทั่งบางครั้งเราก็เห็นเขาเตะขาไปมาอย่างแรงก็เพื่อเช็กว่าตัวเองอยู่ในความเป็นจริงหรือไม่ จนพฤติกรรมที่เขาต้องคอยเช็กว่าอยู่ในความจริงหรือความลวงได้กลายเป็นรากฐานของพฤติกรรมของเขาไปโดยปริยาย.
ที่มา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส