แม้ว่าเหล่าแฟนพันธุ์แท้ของ Star Wars ยุคดั้งเดิมที่ติดตามมาตั้งแต่ไตรภาคที่สร้างครั้งแรกยุค 70-80 มาจนถึงไตรภาคที่ 2 ในยุคต้น Millennium จะออกมาส่งเสียงเซ็งแซ่ว่า The Last Jedi (2017) ภาค 8 คือภาคที่ห่วยแตกที่สุด และทรยศจิตวิญญาณของ George Lucas ไปเสียหมดสิ้น (อย่างเช่น การได้เห็นเจ้าหญิงเลอาเหาะในอวกาศ อย่างกับเป็นแม่นางอึ้งย้งในมังกรหยก หรือการถอดจิตมาสู้ของลุคที่แฟน ๆ งงว่า เจไดไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนในภาคไหน ๆ ไม่นับอาการเป็นตาแก่เพี้ยน ๆ จอมหงุดหงิดจน “เสียลุค” ที่เคยมีมาแต่กาลก่อน)
เอาเข้าจริง ๆ ไตรภาคต้นกำเนิดเรื่องราวยุคปี 2000 ก็เคยได้รับข้อครหาเดียวกันว่า ทำได้ไม่ถึงกับความคลาสสิกของไตรภาคแรกสุด รวมถึงสถานการณ์บนตาราง Box Office ของภาค 8 ก็ดูแย่ลงจากภาค The Force Awakens (2015) ที่ทำรายได้รวมทั่วโลกได้ลดลงจาก 2,068 ล้านเหรียญฯ เหลือแค่ 1,332 ล้านเหรียญฯ
แน่นอนว่าแฟนบอยทั้งหลายโจมตี Disney ว่าทอดทิ้งแฟนดั้งเดิม เพื่อมุ่งไปเอาใจฐานแฟนคลับยุคใหม่ มองเห็น Star Wars เป็นหนังแมส ๆ ที่หาทางทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายของเล่น มากกว่ารักษาจิตวิญญาณพื้นฐานของแนวคิดต่อต้านสงครามด้วยสันติ อันเป็นแก่นหลักของเจไดที่แฝงสอนคติธรรมในหนังมาตั้งแต่แรก อย่างไรก็ดี แฟนบอยเหล่านี้ก็อาจต้องมีเงิบกันบ้าง เมื่อผู้ชมทั่วไปในยุคนี้ต่างให้การตอบรับต่อหนังอย่างดี ด้วยการจองซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ล่วงหน้าหลังจากปล่อยตัวอย่างสุดท้ายออกมาเมื่อไม่นานนี้ ชนิดที่ทำลายสถิติ Avengers: End Game ที่เป็นสถิติสูงสุดเดิม หากนับจากยอดขายวันแรกเหมือนกัน Rise of the Skywalker สามารถขายตั๋วได้สูงกว่าถึง 45% และขณะนี้นักวิเคราะห์ก็ประเมินกันว่า รายรับเปิดตัว 3 วันแรกจะอยู่ที่ 185-225 ล้านเหรียญฯ และปิดโปรแกรมฉายที่ 550-750 ล้านเหรียญฯ กันเลยทีเดียว (น้อยกว่าภาค The Force Awakens / Endgame แต่มากกว่า Last Jedi / Black Panther)
ทำไมแฟนบอยและกีคทั้งหลายถึงไม่ชอบ Star Wars ไตรภาคล่าสุด?
หลายเสียงของนักวิจารณ์ที่ไม่ชอบ Star Wars หลังจาก Lucas Film ออกจาก Fox มาอยู่ใต้ชายคา Disney ต่างให้เหตุผลว่า หนังขาดการวิพากษ์สังคมอย่างที่เคยเป็น (ต้องไม่ลืมว่าในยุค 70-80 ตอนที่ไตรภาคแรกสร้างและออกฉาย ผู้คนในสังคมยังอยู่ในยุคสมัยต่อต้านสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ ส่งทหารไปปฏิบัติการทำลายล้างชาวเวียดนามและล้มเหลวกลับประเทศตัวเองไป นอกจากนั้นกลิ่นกรุ่นของไอสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังไม่จางสนิท ทั้งหมดนั้นจึงเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ Star Wars หยิบไปเล่าเรื่องของจักวรรดินิยมและกลุ่มกบฏกลุ่มเล็ก ๆ ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความถูกต้อง) ตัดภาพมาที่ The Force Awakens ที่โดนข้อหาทำซ้ำและลอกเลียนแบบ A New Hope (1977) แบบที่ไม่ได้คิดสร้างสรรค์ใหม่ แต่กลับเน้นบอกเล่าเพื่อปูทางไปภาคต่อไปมากกว่า แต่ The Last Jedi ก็มาเจอข้อหาที่หนักกว่าตามที่เล่าไปแล้ว
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มแฟนบอยที่มีชื่อเสียงหน่อยอย่างกลุ่มที่ชื่อ “Fandom Menace” (ตั้งชื่อล้อตามภาค Episode 1: Phantom Menace (1999)) ก็แสดงความเห็นโจมตี Star Wars ไตรภาคปัจจุบัน “มากเกินไป” และอาจจงใจ “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” หรือเรียกแขกจากคนดูยุคปัจจุบันว่า มันจะอะไรกันนักหนา? เพราะในเรื่องก็ยังมีจุดเด่นอยู่ที่การเชิดชูความสามัคคีเหล่ากบฏที่ต่อสู้กับความอยุติธรรมจากจักรวรรดิ (ตามท้องเรื่องดั้งเดิม) แถมยังมีตัวเด่นเป็นผู้หญิง ซึ่งถูกใจเหล่าชาวเฟมินิสต์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยมีตัวละครผู้หญิงเป็นตัวละครหลักในหนังสงครามดวงดาวมาก่อน นอกจากนี้ ก็เหมือนเป็นการเรียกร้องความสนใจของแฟนบอยที่จะออกมาโจมตีการสร้างหนังเรื่องใหม่ (รวมถึงซีรีส์ทาง Disney+ ที่กำลังจะเริ่มฉายเรื่องแรกคือ The Mandalorian ซีรีส์ทุนสร้าง 100 ล้านเหรียญฯ ที่ทุนสร้างพอ ๆ กับหนังใหญ่และกำลังจะเข้าฉายเดือนหน้านี้) อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากวิเคราะห์ดูดี ๆ แล้วจะเห็นว่า ข้อกล่าวหาของกลุ่มแฟนบอยมักจะไม่มีน้ำหนักและไม่น่าเชื่อถือเลยเป็นส่วนใหญ่
ความสามารถของกลุ่มแฟนบอยในการ “บอยคอตต์” หนังสักเรื่อง
สิ่งที่ทำให้แฟน Star Wars กลุ่มนี้พุ่งเป้าภารกิจเพื่อทำให้รายได้ของหนังภาคล่าสุดไม่เป็นไปตามเป้าหรือล้มเหลว คงมีกรณีตัวอย่างจากกลุ่มแฟนบอยของหนังหลายเรื่อง ที่โหมกระพือกระแสให้คนดูกลุ่มทั่วไปรู้สึกว่า ขนาดแฟนบอยยังผิดหวัง เราจะไปดูหนังกันทำไม? กลุ่มนักวิจารณ์ชื่อ alt-right เคยทำสำเร็จมาแล้วกับการออกมาวิพากษ์วิจารณ์หนังอย่าง Alita: Battle Angel หนังลูกรักอีกเรื่องของ James Cameron ที่ปลุกปั้นอยู่นานปี ก่อนจะล้มเหลวขาดทุนและแทบจะไม่มีโอกาสได้สร้างภาคต่อแน่นอนแล้ว มีการวิเคราะห์กันว่า ผลจากการออกมาบอยคอตต์ของแฟนพันธุ์แท้กลุ่มนี้ ส่งผลให้รายได้ 3 วันแรกที่เข้าฉายของหนังลดลงกว่าที่ค่ายหนังคาดไว้ถึง 55%
ความสำเร็จของการบอยคอตต์หนัง Star Wars ของแฟนบอย ปรากฏให้เห็นกันอย่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีการสร้างกระแสต่อต้านหนังภาคแยก Solo: A Star Wars Story (2018) ซึ่งถือเป็นหนังที่ทำรายได้น้อยที่สุดในบรรดาหนัง Star Wars ทุกเรื่อง จนถึงขนาด Disney ที่ในตอนนั้นวางแผนจะสร้างหนัง Star Wars ภาคหลักและภาคแยกต่อเนื่องกันชนิดปีเว้นปี (เหมือนที่มี Rogue One มาคั่นซึ่งประสบความสำเร็จทางรายได้มาก แม้จะเป็นเรื่องราวต้นฉบับที่ไม่ได้เป็นภาคต่อจากเรื่องไหนมาก่อน) ถึงกับยุติโครงการสร้างหนังภาคแยกเดี่ยวทั้งหมดของ Boba Fett และ Obi-Wan (แฟน ๆ ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะได้มาสานต่อพัฒนาเป็นซีรีส์ทาง streaming อย่าง Disney+ แล้วเรียบร้อย) เอาเข้าจริง ๆ แม้ว่าหนังจะสนุกระดับวัดวา แต่ปัญหาจากความชุลมุนที่ค่ายหนังเข้าไปแทรกแซงงานของผู้กำกับเดิมอย่าง Phil Lord และ Chris Miller (The Lego Movie) จนขอถอนตัวตอนเหลือเวลาถ่ายทำจอีกแค่ 3 สัปดาห์ก็จะปิดกล้องอยู่แล้ว และให้ Ron Howard (The Da Vinci Code, Rush, Apollo 13) มารับหน้าที่ต่อ ก็เลยทำให้หนังไปไม่สุดสักทางว่าจะตลกหรือจริงจัง นี่จึงน่าจะเป็นสาเหตุของความล้มเหลวหลักที่กลุ่มแฟนบอยมาขอเกาะกระแสเหยียบซ้ำหนังให้จมดินมากกว่า
ทำไมการบอยคอตต์ Rise of the Skywalker จึง (น่าจะ) ล้มเหลว?
ถ้าถามกลุ่ม Fandom Menace เราก็จะได้เหตุผลจากพวกเขาในทำนองว่า จริง ๆ แล้ว Disney เองนั้นแหละที่ใช้กลเม็ดในการซื้อตั๋วล่วงหน้าของหนังไว้เองก่อนเยอะ ๆ เพื่อให้คนดูทั่วไปรู้สึกว่า หนังได้รับความนิยมจากการซื้อตั๋วจำนวนมากจนแห่ไปซื้อตาม (ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เอาชนะกลุ่มแฟนบอยที่ตั้งใจจะบอยคอตต์หนัง Captain Marvel ไปแล้วรอบนึงตอนต้นปี)
นอกจากนั้น จะว่าไปแล้วความต้องการจริง ๆ ของกลุ่มแฟนบอยก็ไม่ได้อยากจะทำให้หนังถึงกับล้มเหลว เพียงแค่อยากจะสนุกกับหนัง Star Wars ในรสชาติเดิม ๆ หรือแนวทางที่พวกเขาเห็นว่าน่าจะเป็น Disney เองนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการพยายามทำให้ภาคปิดท้ายของไตรภาคนี้ออกมาดีที่สุด โดยการดึง J.J. Abrams ผู้กำกับภาค The Force Awakens กลับมา แทนที่จะเป็น Colin Trevorrow (Jurassic World) ที่ถูกวางตัวไว้แต่แรกแต่สุดท้ายถอนตัวไป ก่อนจะมีข่าวว่าจะให้ Rian Johnson มาสานต่อเรื่องราวจาก Last Jedi จนถูกกระแสต่อต้าน จึงให้ Johnson ไปคุมการเปิดไตรภาคใหม่ไปเลยดีกว่า ซึ่ง Abrams เองก็น่าจะกลับมาแก้ไขข้อผิดพลาดรวมถึงทำให้เรื่องราวเข้ารูปเข้ารอยได้ดีที่สุด เพราะ Abrams ก็คุมหนังใหญ่ ๆ ให้สนุกมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง (Star Trek, Mission Impossible)
ท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์ที่น่าจะส่งผลดีต่อ Disney ก็คือกระแสตีกลับต่อกลุ่มแฟนบอย เมื่อนักวิจารณ์หลายเจ้าออกมาแสดงความเห็นต่อตัวอย่างหนังสุดท้ายที่ออกมาล่าสุดว่า หนังน่าจะคืนฟอร์มและกลับไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องกว่า 2 ภาคที่ผ่านมา นอกจากนี้ความพยายามของกลุ่มบอยคอตต์ก็เริ่มถูกลากไส้เช่นกัน เมื่อพบว่ามีการปั่นยอดชมและยอดไลก์ในคลิปของตัวเองบ้าง ใช้ชื่อบัญชีในสื่อ social ซ้ำบ้าง ซึ่งจากจำนวนหลักพันหรือหลักหมื่นของแฟนบอยกลุ่มนี้ ก็ไม่น่าจะส่งผลต่อกลุ่มผู้ชมทั่วไปนับล้าน ๆ ที่ยังไงก็ตาม คงรอดูบทสรุปของสงครามดวงดาวดั่งการเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้ว (จน Disney คงงงว่า แฟนบอยทั้งหลายจะพยายามต่อต้านกันไปทำไมนะจ๊ะ?)
อ้างอิง CBR.com
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส