เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ไปแล้วสำหรับบทสัมภาษณ์สุดเข้มข้นของโต (อดีต) นักร้องนำวงซิลลี่ฟูลส์ในรายการ “ป๋าเต็ดทอล์ก” ที่ป๋าเต็ดจับนักดนตรีที่เรายังมีเรื่องค้างคาอยากรู้ความเป็นไปเป็นไปเกี่ยวกับพวกเขาเหล่านี้ ให้ได้มานั่งคุยและตอบคำถามที่ยังค้างคาใจให้พวกเราได้รับรู้กัน

สำหรับรายการนี้ก็ได้ดำเนินไปถึง EP. 2 แล้วซึ่งเป็นเรื่องราวของ โต ซิลลี่ฟูลส์ ทั้งสองตอน ซึ่งบอกเลยว่าเผ็ดมันมาก สำคัญเลยคือมันทำให้เราได้รู้จักกับโตมากขึ้นในหลากหลายแง่มุมที่เราไม่เคยได้รู้มาก่อน

วันนี้ what the fact จึงได้ร้อยเรียงเรื่องราวจากบทสัมภาษณ์เหล่านี้ รวมถึงเติมเต็มในข้อมูลบางส่วนที่ได้พูดถึงเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เพลิดเพลินไปกับเรื่องราวเหล่านี้ได้ดีมากยิ่งขึ้น หากใครฟังจากคลิปแล้วก็สามารถย้อนกลับมาอ่านได้อีก หากใครยังไม่ได้ดูจะอ่านก่อนก็ได้ด้วยเช่นกันครับ

(บทความนี้เรียบเรียงจาก เทปสัมภาษณ์ในรายการ “ป๋าเต็ดทอล์ก”  EP.1 “โต (อดีต) ซิลลี่ฟูลส์” และข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งต่างๆ)

Play video


แทร็กที่หนึ่ง “รอยยิ้ม”

โตไม่ให้ใช้เพลงใด ๆ ประกอบการสัมภาษณ์ในครั้งนี้…

โต เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ปัจจุบันมีอายุ 44 ปี เกิดมาในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นหมอ และคุณแม่เป็นนักธุรกิจชาวอินเดีย แต่มีความชื่นชอบในกวีนิพนธ์ ชอบในการเขียนกลอน โต เป็นลูกชายคนโตและมีน้องสาวหนึ่งคน น้องชายหนึ่งคน มีประสบการณ์การเรียนในต่างประเทศแต่เด็ก ก่อนกลับมาที่ไทยในช่วงวัยรุ่นและเข้าวงการในราวอายุ 17-18 ปี ชื่อจริงของโตแต่เดิม (รวมไปถึงที่ปรากฏอยู่บนเครดิตของวงซิลลี่ฟูลส์ ) คือ “ณัฐพล พุทธภาวนา” แต่ภายหลังต่อมาเมื่อได้เข้าสู่ศาสนาอิสลามได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วีรชน ศรัทธายิ่ง”

ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่ดีจึงมีส่วนบ้างในการเป็นรากฐานของการเติบโตสู่การเป็นศิลปิน แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้โตเป็นศิลปินนั่นคือ “ชีวิตของเขาเอง” โตไม่ได้มีความสนใจในด้านดนตรีมาแต่เด็ก หากแต่เริ่มต้นในช่วงวัยรุ่น เขาไม่ได้มีความต้องการที่จะเป็นศิลปิน หากแต่มี “สาร” ที่อยากจะส่งออกไปเท่านั้น และคิดว่าดนตรีนั้นน่าจะเป็นสื่อที่ดีในการส่ง “สาร” ออกไปได้เข้าถึงใจคน ดังนั้นเนื้อหาในงานเพลงของซิลลี่ฟูลส์ช่วงแรก ๆ จึงมีความหนักหน่วงและเข้มข้น อาทิเช่นเพลง “รอยยิ้ม”

ปกเทปอัลบั้ม EP(2539) ของซิลลี่ฟูลส์

เพลง “รอยยิ้ม” เป็นผลงานจากอัลบั้ม EP ในปี 2539 ของซิลลี่ฟูลส์แบ่งออกเป็นสองภาคคือ  ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยทั้งสองภาคมีเนื้อหาเหมือนกันแต่แตกต่างกันในรายละเอียดของดนตรีที่ภาคทฤษฎีจะมีการเรียบเรียงให้เป็นดนตรีร็อกกลิ่นโปรเกรสซีฟที่เข้มข้น มีสัดส่วนรายละเอียดของดนตรีที่มีลูกเล่นน่าสนใจและชวนตื่นใจเมื่อได้ฟัง รวมไปถึงสไตล์การร้องของโตที่เป็นเอกลักษณ์อย่างโดดเด่น แปลกใหม่และน่าประทับใจ ส่วนภาคปฏิบัติจะมีบรรยากาศของความล่องลอย มีการผสานซาวด์อิเล็กทรอนิก ลดรายละเอียดของกลองลง ส่วนเบสก็ยังดุ่มเดินหนักแน่นไปตามท่วงทำนอง หากแต่ไม่ได้ขับเน้นออกมาให้พุ่งเด่น ส่วนกีตาร์ก็ทำหน้าที่เป็นตัวดำเนินคอร์ดเป็นฐานของเพลงและลดรายละเอียดลูกเล่นต่างๆลงไปแต่เติมเสริมซาวด์ที่สร้างบรรยากาศฟุ้งฝัน ล่องลอยเข้ามาผสานไปกับเสียงร้องของโตที่ภาคนี้ฟังออกมาได้ชัดเจน แม้กระทั่งเสียงสูดลมก่อนออกเสียงแต่ละวรรคแต่ละตอนซึ่งได้อารมณ์มาก มอบบรรยากาศและรสชาติที่แปลกต่างออกไปจากภาคทฤษฎี

Play video

Play video

 

“รอยยิ้ม” เป็นบทเพลงที่แสดงให้เห็นถึงลายเซ็นอันเป็นเอกลักษณ์ของซิลลี่ฟูลส์ที่จะปรากฏอยู่ในผลงานชิ้นต่อ ๆ มา นั่นคือการเป็นบทเพลงที่มีความหนักแน่น เข้มข้นแต่กลับผสานไปด้วยท่วงทำนองที่มีความไพเราะทั้งในเมโลดี้ ในแต่ละภาคส่วนของดนตรี และเนื้อร้องของบทเพลง อีกทั้งซาวด์เพลงของซิลลี่ฟูลส์ยังฟังดูทันสมัยตลอดเวลาไม่ว่าจะฟังในช่วงเวลาใดก็ตาม เนื้อหาของเพลงรอยยิ้มพูดถึง ความจริงแท้ของใจคนที่ซุกซ่อนไว้อยู่ภายใต้รอยยิ้ม บางสิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด

“รอยยิ้มยิ่งดูยิ่งรู้สึกสดใส

แต่รู้ไหม อะไร

ที่ซ่อนอยู่ข้างในข้างในนั้น”

ผลงานการเขียนเพลงนี้สะท้อนความเป็นตัวตนของโตได้อย่างชัดเจน เขาเป็นคนลุ่มลึก ช่างสังเกตและครุ่นคิด เป็นผู้ศึกษา “ความเป็นมนุษย์” ก่อนนี้หลายคนอาจคิดว่าโตเป็นคน extrovert ที่น่าจะชอบการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน สนุกสนาน เฮฮา ชอบเข้าหาผู้คน แต่แท้จริงแล้วเจ้าตัวมองว่าตนเองนั้นเป็น introvert มีโลกส่วนตัว และชอบที่จะใช้ช่วงเวลากับตัวเองในการขบคิด ไตร่ตรอง เรียนรู้ และสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากกว่า โตมักจะดีใจหากคนชื่นชอบไปที่ตัวงานมากกว่าที่จะมาสนใจในตัวตนของเขา


แทร็กที่สอง “มึงพิเศษ มึงไปก่อน”

ในช่วงวัยรุ่นโตเคยเล่นดนตรีกับสมาชิกวง AB NORMAL มาก่อนนั่นก็คือ วิสารท กุลศิริ (โอ่ง) มือกีต้าร์ และ นที แสนทวี (เก่ง) มือเบส ซึ่งเป็นเพื่อนที่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน สองคนนี้นับเป็นเพื่อนแท้ทางดนตรีและชีวิต โตบอกว่าทุกวันนี้ถึงแม้จะไม่ได้ติดต่อกัน แต่ความรู้สึกดี ๆ ยังมีอยู่ ทุกครั้งที่นึกถึงมันเป็นความรู้สึกที่ดี ๆ และสองคนนี้นี่เองที่ชักชวนให้โตได้พบกับวงซิลลี่ฟูลส์ ด้วยที่เห็นในศักยภาพและความสามารถของโตทั้งคู่จึงผลักดันให้โตก้าวเดินไปข้างหน้าต่อไป

โตกับสองสมาชิกวง Ab Normal เก่ง (คนถือเบสยืนถัดจากโต) และ โอ่ง (คนขวาสุด)

“มึงพิเศษ มึงไปก่อน”

นี่คือคำกล่าวที่เพื่อนทั้งสองมีให้กับโตในวันที่กำลังตัดสินใจว่าจะไปอยู่กับวงซิลลี่ฟูลส์หรือไม่


แทร็กที่สาม “ผิดที่ไว้ใจ”

หากลองมาดูผลงานเพลงของซิลลี่ฟูลส์จะพบว่าเพลงช้าส่วนใหญ่ของซิลลี่ฟูลส์ไม่ว่าจะเป็นเพลง “ผิดที่ไว้ใจ” “ไหนว่าจะไม่หลอกกัน” “อย่าบอกว่ารัก” “คนที่ฆ่าฉัน”  มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับบาดแผลจากความ​ “ไว้ใจ” การโดน หลอกหลวงหรือหักหลัง ซึ่งโตบอกว่ามันมาจากสิ่งที่เขามักพบเจออยู่เสมอ โตบอกว่าเนื้อหาของบทเพลงเหล่านี้ไม่ได้มาจากความรู้สึกของการโดนหลอกหากแต่เป็นความรู้สึกของการ “ไม่ไว้ใจใคร” โดยเขาเขียนเพลงเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะยืนหยัดว่าจะไม่ยอมเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นคนปลิ้นปล้อนและจะใช้บทเพลงเหล่านี้ในการเปิดโปงคนประเภทนี้

“อาจเป็นเพียงคำพูดลมๆ แล้งๆ เท่านั้น

ที่เธอพูดออกมา

ไหนว่าจะไม่หลอกกัน ไหนว่าเธอจะมีฉัน

ไหนว่าเธอจะเป็นเหมือนเก่า”

 

ไหนว่าจะไม่หลอกกัน, Candyman (2542)

 

“อย่าบอกว่ารัก อย่าบอกว่าหลง อย่าบอกฉันเลย

ถ้าใจเธอมันไม่เคย เป็นอย่างนั้น

อย่าบอกว่ารัก อย่าบอกว่าหลง อย่าบอกฉันเลย

ถ้าใจเธอมันไม่เคย ใจฉันคงไม่คอย (ความผิดหวัง)”

 

อย่าบอกว่ารัก, Candyman (2542)

 

“มันผิดที่ฉันยอมยกใจให้เธอไป

มันผิดที่ฉันยอมให้เธอเก็บไว้

มันผิดที่ฉันมองเห็นเธอด้วยหัวใจ

ผิดตรงที่ไว้ใจ ฉันมองตัวเธอผิดไป”

 

ผิดที่ไว้ใจ , Juicy (2545)

 

“ดั่งมี ใบมีดทิ่มแทง ช้าๆ

มันแทงลงไป ไม่มี ไม่มีเรี่ยวแรง

ไม่อาจแกล้ง ว่าไม่เป็นไร

อยู่ๆ ก็มีแต่น้ำตา

จิตใจก็เริ่มอ่อนล้ามลายหายไป

ช่วยบอกกันทีได้ไหม

ฉันทำสิ่งใดถึงต้องมาเจ็บช้ำ”

 

คนที่ฆ่าฉัน , Kingsize (2547)

Play video


แทร็กที่สี่ “เราเกิดมาทำไม?”

ถึงแม้จะเกิดและเติบโตในครอบครัวที่เป็นมุสลิม แต่โตได้กล่าวว่าก่อนนี้ตนเองเป็นคนไม่มีศาสนามาก่อน ยึดมั่นในอัตตา คิดว่าตนเองนั้นถูกต้องแน่นอน เอาความเชื่อมั่นในตนเองเป็นที่ตั้ง แต่ในภายหลังได้เรียนรู้ชีวิตและเกิดจุดเปลี่ยน ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญนั้นมาจากการที่ตนเองเขียนเนื้อเพลงมาก ๆ จนเกิดการความสงสัยขึ้นมาในใจว่าเรานั้น “เกิดมาทำไม?” และได้พยายามที่จะคลี่คลายรวมไปถึงค้นหาคำตอบให้กับคำถามนี้และใส่มันลงไปในบทเพลง แต่พยายามเขียนให้เบาด้วยการใช้เรื่องราวของหนุ่ม-สาว เธอ-ฉันมาเป็นตัวเคลือบแฝง เนื่องจากพูดในสิ่งที่คิดไปตรง ๆ ไม่ได้เพราะบทเพลงนั้นมันต้องขาย !

จากนั้นโตได้เริ่มต้นศึกษาประวัติและคำสอนของศาสนาต่าง ๆ จนมาพบกับศาสนาอิสลามจึงเริ่มหันมานับถือศาสนาอิสลามอย่างตั้งมั่นตั้งแต่ในช่วงที่ทำอัลบั้ม Juicy เป็นต้นมา จนเริ่มรู้สึกอึดอัด เพราะมุมมองชีวิต และมุมมองที่มีต่อการเป็นนักดนตรีนั้นเปลี่ยนไป โตมองว่านักดนตรีนั้นพยายามที่จะมีไลฟ์สไตล์แบบตะวันตก โอ้อวดความดังของตนเอง แม้แต่การเล่นดนตรีเฉย ๆ โตก็เริ่มรู้สึกอึดอัด รวมไปถึงการเขียนเพลงที่มีกรอบว่าจะต้องขาย เลยไม่สามารถสื่อสารออกไปได้ดั่งใจ

โตเริ่มแต่งเพลงไม่ออก เพราะไม่รู้จะสื่อสารออกไปอย่างไรให้ดีที่สุด เพื่อนในวงเริ่มกลัวการเข้าหาโต เพราะโตเริ่มพูดน้อยลง เริ่มสื่อสารกับเพื่อนร่วมวงน้อยลง

“บางครั้งเราไม่อยากหัวเราะ แต่เราต้องหัวเราะเพราะอยู่ในสังคม”

นี่คือความรู้สึกอึดอัดจากการไม่เป็นตัวเองของโต เขาเริ่มรู้สึกอยากอยู่คนเดียว อยากคิด อยากค้น เพื่อหาคำตอบของคำถามสำคัญข้างต้นว่า “เราเกิดมาทำไม?”


แทร็กที่ห้า “การเลิกรา”

จากซ้ายไปขวา หรั่ง โต ต้น ต่อ สมาชิกยุคคลาสสิกของซิลลี่ฟูลส์

พอถูกถามถึงเรื่องของการแยกทางกับวงซิลลี่ฟูลส์ โตไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้นัก เพราะหากพูดลงไปในรายละเอียดคิดว่าคงไม่มีใครเชื่อ โตให้เหตุผลหลัก ๆ ของการออกจากวงว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งกับข้อบัญญัติของศาสนา ซึ่งที่ผ่านมาโตได้พยายามประนีประนอมมานานแล้ว เช่นยอมเล่นในสถานที่ ที่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โตบอกว่าตนไม่รู้สึกเสียดายที่ออกมา รู้สึกโล่งใจมากกว่า

“ผมเป็นคนไม่มองข้างหลัง ไม่เสียดาย ตื่นเต้นกับสิ่งที่กำลังมา”

โตมองว่าซิลลี่ฟูลส์ไม่ใช้จุดสูงสุดของชีวิตในมุมมองของโต แต่หากเป็นในมุมมองของคนอื่น ชีวิตนี้ยังมีความสวยงามอะไรอีกมาก การได้พูดในทุกวันนี้ (ทั้งจากรายการ โต-ตาล คลิปที่ทำส่วนตัว รวมไปถึงในสถานที่และวาระโอกาสต่าง ๆ ) แล้วเปลี่ยนคนได้ โตรู้สึกว่ามันเติมเต็มมากกว่าอีก ถึงแม้อาจจะมีคนแย้งว่า บทเพลงของโตก็เปลี่ยนชีวิตพวกเขาได้เช่นกัน แต่โตกลับไม่เชื่อว่าเพลงเหล่านั้นจะเปลี่ยนคนได้ เพราะว่าไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ แต่การได้พูดในวาระต่าง ๆ ของโตนั้น โตได้พบเห็นการเปลี่ยนแปลงด้วยสายตาตนเองจึงเชื่อมั่นว่ามันเปลี่ยนคนได้จริง ในทางตรงกันข้ามบทเพลงกลับทำให้โตเห็นถึงด้านหายนะแทน เช่น การเล่นดนตรีแล้วมีคนตีกัน โตมองว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงนั้นเป็นส่วนที่ต้องรับผิดชอบ เพราะบทเพลงที่ตนเล่นไปปลุกเร้าอารมณ์ของคนเหล่านั้น เพราะบทเพลงนั้นเป็นอาวุธขับเคลื่อนทางอารมณ์ที่ร้ายแรง เพลงนั้นดึงอารมณ์ที่ควรจะถูกกดเก็บไว้ (Suppress) ให้ได้ระบายออกมา เพลงกระตุ้นใจให้เราไม่รู้สึกเป็นปกติ (Neutral) และอาจทำให้เราตัดสินใจทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดลงไปได้

เมื่อพูดถึงมิติของดนตรีในศาสนาอิสลาม โตบอกว่าหลักของอิสลามนั้นห้ามมีเครื่องดนตรี แต่สามารถ “ร้องเพลง” ได้ จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อบทเพลงที่ร้องนั้นมี “เนื้อหาที่ไร้สาระ”  โตมองว่าเพลงส่วนใหญ่นั้นเอาไว้ปลอบคน และคนเรานั้นเวลาถูกปลอบไปมาก ๆ มันจะเสียคน และโตเองก็เป็นคนที่ไม่ต้องการถูกปลอบ


แทร็กที่หก “ก้าวเดินสุดท้ายในเส้นทางสายดนตรี”

หลังจากออกจากวงซิลลี่ฟูลส์ โตยังคงทำงานเพลงต่อในนามของวง “Hangman” อันประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คนคือ โต (ร้องนำ) เกี๊ย (มือเบส), เก๋ (มือกีต้าร์), แจ๊ค (มือกีต้าร์) และแสบ (มือกลอง) โดยโตได้แต่งเนื้อเพลงมาทั้งหมด 10 เพลง จนได้ออกมาเป็นอัลบั้มแรกของแฮงแมน ใช้ชื่อว่า​ “Hangman” โดยเปิดตัวอัลบั้มเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2550 มีเพลงฮิตอย่าง ช็อกโกแลต พยายามกี่ครั้งก็ตามแต่ รักเธอหัวทิ่มบ่อ เป็นต้น เหตุผลที่โตยังคงทำงานเพลงอยู่เนื่องมาจากมารยาทและการรักษาสัญญากับผู้ใหญ่ อีกทั้งแฮงแมนยังยอมที่จะไม่เล่นในสถานที่ ที่มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตอนนั้นโตเองก็ไม่คิดว่าแฮงแมนจะเป็นอัลบั้มสุดท้ายในวงการเพลงของตนเอง อีกทั้งยังไม่อยากให้เพื่อนร่วมวงซึ่งโตมองว่า “เป็นคนรุ่นใหม่ ฝีมือดี” ต้องผิดหวัง จริง ๆ แล้วมีเรื่องที่น่าตกใจและชวนสงสัยใคร่รู้ต่อแฟนเพลงมาก นั่นคือ แฮงแมนเกือบจะมีอัลบั้มที่สองแล้ว ซึ่งโตบอกว่าเปลี่ยนแนวทางใหม่ไปเลย และเชื่อว่าแม้แต่ในเวลานี้ก็ยังไม่มีใครทำงานเพลงออกมาในรูปแบบนั้น แต่เรื่องที่น่าเศร้าก็คือ มาสเตอร์ของเพลงไม่รู้อยู่ที่ไหนแล้ว และถึงแม้จะหาเจอมันโตก็ยังไม่ได้อัดร้องลงไปอยู่ดี เพราะโตตัดสินใจที่จะเลิกเล่นดนตรีไปเสียก่อน

ปกอัลบั้ม Hangman

“จบแล้วนะ ผมไม่เอาแล้ว”

คือประโยคสั้น ๆ ที่โตเอ่ยออกมาท่ามกลางความเงียบ หลังจากที่ได้ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว ทุกคนได้แต่นิ่งอึ้ง เสียใจ แต่ก็ยอมรับการตัดสินใจของโตแต่โดยดี และโตก็ยังคงย้ำอีกครั้งว่าน้อง ๆ ในวงกลุ่มนี้นิสัยดีกันทุกคน และทุกคนรู้จักโตในแบบที่โตเป็น

Play video


แทร็กที่เจ็ด “คนในวันนั้นไม่ใช่ฉันในวันนี้”

ในช่วงสุดท้ายของคลิปสัมภาษณ์ ถือว่าเป็นหนึ่งไฮไลต์สำคัญเมื่อป๋าเต็ดได้นำคำถามที่โตเคยถูกสัมภาษณ์ไว้ในนอดีตซึ่งทีมงานได้ไปเจอมา และใช้ชุดคำถามนี้ถามโตอีกครั้งในวันนี้ ก่อนที่ในช่วงท้ายของคลิปได้มีการแสดงคำตอบที่โตเคยตอบไว้ในอดีตให้เราได้ดูกัน ซึ่งมันทำให้เราได้เห็นถึงจุดยืนในปัจจุบันของโตและธรรมชาติของความเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์ซึ่งมิได้เกิดขึ้นแต่เพียงในจิตใจของโตเท่านั้น หากแต่มันเกิดขึ้นกับเราได้ทุกคน

(เราได้นำคำตอบมาวางคู่กัน โดยด้านบนเป็นคำตอบของปัจจุบันส่วนด้านล่างเป็นคำตอบของในอดีต)

 

เพลงที่ชอบที่สุด 

“ผิดที่ไว้ใจ”

“อย่าบอกว่ารัก”

(มาจากประสบการณ์ความรักในอดีตของโต ที่โตหมดรักเธอคนนั้นแล้ว แต่ยังบอกว่ารักเพราะกลัวว่าเธอจะเสียใจ)

 

ดาราชายหญิงที่ชอบ

“ไม่ชอบดูหนัง”

“จิม แคร์รีย์ และ คาเมรอน ดิแอซ”

 

สถานที่ ที่ชอบที่สุด

“โรงเรียนไฮสคูลบนเทือกเขาหิมาลัยในสไตล์ฮอกวอตส์ที่โตไปเรียนมาในช่วงอายุ 15-16 ปี”

“แม่ฮ่องสอน”

(เป็นเส้นทางที่มักผ่านเวลาขับเวสป้าไปกับเพื่อน ๆ)

 

สถานที่ ที่ไปบ่อยในช่วงนี้

“ที่ทำงาน”  (ปัจจุบันโตตั้งบริษัท คอมปานี บี และเปิดร้าน “Company B” ขายเนื้อคุณภาพดีสำหรับคนรักเนื้อ)

“ห้องซ้อมดนตรี”

 

เกลียดอะไรที่สุด

“การโกหกตัวเอง”

“เกลียด…คนที่ไม่ให้เกียรติผม”

 

กลัวอะไรที่สุด

“พระเจ้า” (การกลัวพระเจ้าทำให้เราไม่กล้าทำชั่ว เพราะพระเจ้ารู้ทุกเรื่องที่เราทำ)

“อกหัก” (ไม่อยากเริ่มใหม่ ไม่อยากเสียเวลา)

 

อาหารที่ชอบ

“เนื้อวัว”

 

ผลไม้ที่ชอบ

“ลำไย กล้วย” (โตเป็นคนชอบทานหวาน)

“มังคุด ลำไย มะพร้าว”

 

เรื่องที่เสียใจที่สุด

“ถ้ารู้ตัวว่าทำร้ายจิตใจใคร จะเสียใจไปตลอด”

“เลิกกับแฟน”

 

เรื่องที่ดีใจที่สุด

“ไม่มีดีใจที่สุด เสียใจที่สุดมานานแล้ว” (เมื่อดีใจมาก ๆ มันก็น่ากลัวที่ต่อไปเราอาจจะเสียใจมาก ๆ ได้เช่นกัน)

“แฟนเพลงอินกับเพลงซิลลี่ฟูลส์” (สีหน้าของคนที่อินทำให้ผมดีใจ)

 

สัตว์เลี้ยงที่ชอบ

“แมว”

“แมว”

(เป็นคำถามเดียวที่ตอบตรงกันเป๊ะ)

 

นิสัยที่โดดเด่น

“โกหกตัวเองไม่ได้”

“ตรงและแรง บวกโรแมนติก” (ไม่มีใครไม่ชอบถ้าอยู่กับผม)

 

ความรักคืออะไร

“ความรักคือการทำกับคนอื่นเหมือนที่เราอยากให้คนอื่นทำกับเรา”

“ไม่พูดดีกว่า ผมว่าความรักมันคือความรู้สึก เป็นความรู้สึกว่านี่คือรัก…”

 

(อ่านบทสัมภาษณ์โต ซิลลี่ฟูลส์ ตอนที่ 2 )

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส