ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อนในเวลาเดียวกันนี้เอง คือช่วงเวลาของการย่างเข้าสู่สหัสวรรษใหม่หรือ ค.ศ. 2000 อันเป็นที่ชวนลุ้นว่า ระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมดจะรีเซ็ตตัวเองกลับไปนับเวลาเป็น ค.ศ. 1900 หรือไม่ (เพราะระบบคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาในช่วงปี ค.ศ. 1900 เป็นต้นมา ระบบจึงยังไม่เคยพบกับปีที่ลงท้ายเลข 2 ตัวด้วย 00 ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 มาก่อน) เหตุการณ์ Y2K นี้ ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ฮิต ๆ ที่เกิดขึ้นนอกจากการเฉลิมฉลองสู่ Millennium ช่วงเวลาที่มนุษย์หนึ่งคน จะได้สัมผัสช่วงเวลานี้แค่ครั้งเดียวตลอดชีวิต (ยิ่งกว่าการรอชมดาวหางสักดวง)
ภาพยนตร์เมื่อ 20 ปีที่แล้วหลายเรื่อง ก็เป็นจุดกำเนิดของความสนุก ความน่าจดจำ เป็นจุดเริ่มต้นของแฟรนไชส์ที่มีตามมาอีกหลายภาคในช่วงเวลา 10 ปีแรกของสหัสวรรษ หลายเรื่องเป็นหนังฮิตสูงสุดของนักแสดง ผู้กำกับ หรือแนวหนังนั้น ๆ ที่ทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ในกระแสความนิยมแบบเดิม หรือจนขนาดที่คงไม่มีค่ายหนังสร้างออกมาอีกแล้ว เพราะตกยุคและพ้นสมัย What The Fact ชวนคุณผู้อ่าน กลับไปย้อนความทรงจำกับหนังฮิตที่รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไป 20 ปีแล้ว รวมถึงย้อนช่วงเวลาส่วนตัวของแต่ละคนว่า ตอนดูหนังเรื่องนั้น ดูกับใครหรือทำอะไรกันอยู่
The Matrix (เข้าฉายวันแรก 31 มีนาคม 1999)
หนัง Sci-Fi ที่เป็นความสำเร็จในทุกทาง อย่างที่คิดไปไม่ถึงว่า หนังที่กล้าแหกออกจากกรอบขนาดนี้ จะกลายเป็นหนังที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างมาก ได้รับแรงบันดาลใจจาก Ghost in the Shell และแนวคิดของมังงะจากญี่ปุ่นหลายเรื่อง เกี่ยวกับโลกเสมือนที่ซ้อนทับอยู่กับโลกจริง มนุษย์ถูกควบคุมและล่อลวงให้อยู่ในโลกเสมือนโดยเครื่องจักร ความเท่ของหนังที่ผสมผสานแนวคิด-ความเชื่อเกี่ยวกับผู้ตื่นรู้เพียงหนึ่งเดียวของเอเชีย เข้ากับท่าทางการต่อสู้แบบกังฟู (โดยปรมาจารย์นักออกแบบการต่อสู้ “หยวนวูปิง”) ร่วมกับฉากต่อสู้แนวตะวันตก ท่าหยุดกระสุน ฉากสตั๊นแมนท์ (โดยทีมสตั้๊นท์ที่ทุกวันนี้กลายมาเป็นผู้กำกับหนังใหญ่ John Wick) สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคอหนังที่ไม่เคยเห็นหนังแบบนี้มาก่อน หนังทำรายได้ทั่วโลกไป 465 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 63 ล้านเหรียญฯ กลายเป็นหนังที่ฮิตสุดอีกเรื่องของ Keanu Reeves จนมีอีก 2 ภาคตามมาในปี 2003 และกำลังจะมีภาค 4 ที่ได้นักแสดงทีมเดิมกลับมาเกือบครบในปี 2021 เพื่อเปิดเป็นภาคต่อสู่เรื่องราวของตัวละครหลักตัวใหม่
The Mummy (เข้าฉายวันแรก 7 พฤษภาคม 1999)
หนึ่งในแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของค่าย Universal ผู้ถือครองลิขสิทธิ์เกี่ยวกับตัวละครมัมมี่ แม้จะพยายามใช้เปิดเรื่องเพื่อปูสู่ Dark Universe ในฉบับหนังปี 2017 แต่หนังก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า ในปี 1999 นั้น หนังเป็นผลงานกำกับของ Stephen Sommers (Van Helsing, G.I. Joe ภาคแรก) ที่กำลังขาขึ้นและทำหนังผจญภัยสนุก ๆ ออกมาหลายเรื่องในช่วงนั้น หนังเล่าเรื่องย้อนเวลาไปยุคปี 1926 เมื่อตัวร้ายอย่างกษัตริย์อียิปต์ในอดีต Imhotep ถูกปลุกชีพขึ้นมาสร้างหายนะให้กับโลก ครอบครัวนักประวัติศาสตร์ในมาด Indiana Jones ที่นำทีมโดย Rick O’Connell รับบทโดย Brendan Fraser (ที่กลายเป็นหนังที่ฮิตที่สุดของเขา ขณะที่ทุกวันนี้ไม่มีหนังให้เล่น และออกมาของานจากวงการอยู่เรื่อย ๆ) และนางเอกของเรื่อง Rachel Weisz ที่กลายเป็นนางเอกรางวัลออสการ์ไปแล้ววันนี้ สร้างเคมีที่เข้าคู่และทำให้หนังผจญภัยเรื่องนี้สนุกตั้งแต่ต้นจนจบ หนังทำรายได้ทั่วโลกไป 416 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 80 ล้านเหรียญฯ แต่ภาค 2 ในปี 2001 กลับยิ่งทำรายได้สูงไปกว่านั้น ก่อนจะมาแผ่วปลายในภาค 3 Tomb of the Dragon Emperor ในปี 2008 ที่เปลี่ยนผู้กำกับ และเปลี่ยนทิศมาเล่าเรื่องมัมมี่ที่สุสานจีน Weisz ถอนตัวและได้ Maria Bello มาเล่นแทนแบบไม่มีเสน่ห์เลย
007 The World is not Enough (เข้าฉายวันแรก 19 พฤศจิกายน 1999)
ตอนที่ 3 ในจำนวนทั้งหมด 4 ตอนของ James Bond Pierce Brosnan ประกบนางเอกสาวแสนสวยชาวฝรั่งเศสอย่าง Sophie Marceau (Braveheart) และ Denise Richards (Wild Things) ภายในเรื่อง Bond ถูกหักหลังอีกครั้งแต่คราวนี้มาจากคนใกล้ตัว ซึ่งก็นับเป็นเสน่ห์ของหนังชุดนี้ที่จะต้องเดาว่าใครมาดีหรือมาร้าย ภายในเรื่องยังมีการถ่ายทำฉากสำคัญที่ ลอนดอนอาย ริมแม่น้ำเทมส์ ประเทศอังกฤษ เป็นครั้งแรก ซึ่งในทุกวันนี้เปรียบเสมือนอีกหนึ่งแลนมาร์คสัญลักษณ์สำคัญของเมืองลอนดอนและปรากฏอยู่ในหนังหลายเรื่อง ลอนดอนอายเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม 1999 และก็ได้ 007 เรื่องนี้ช่วยโฆษณาไปด้วยอีกทางหนึ่ง หนังทำรายได้รวมทั่วโลกไป 361 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างค่อนข้างสูงที่ 135 ล้านเหรียญฯ
Notting Hill & Runaway Bride (เข้าฉายวันแรก 28 พฤษภาคม และ 30 กรกฎาคม 1999)
ยืนยันความฮอตของนางเอกเบอร์หนึ่งในเวลานั้นได้จากการที่ปี 1999 Julia Roberts มีหนังฮิตถึง 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก Notting Hill เป็นหนังคลาสสิกในใจใครหลายคนตลอดกาล เกี่ยวกับคนธรรมดาที่มาตกหลุมรักนางเอกซุปเปอร์สตาร์และต้องปกปิดความลับเอาไว้ไม่ให้โลกได้รู้ รับบทได้อย่างทรงเสน่ห์ทั้งพระเอกอย่าง Hugh Grant ที่เป็นเจ้าพ่อหนังโรแมนติกจากอังกฤษอยู่แล้ว (ฺBridget Jones, Love Actually) กับ Roberts ที่เป็นเจ้าแม่หนังแนวนี้ตลอดยุค 90 หนังทำรายได้ทั่วโลกไปถึง 364 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 42 ล้านเหรียญฯ กับอีกเรื่องที่ออกฉายในอีก 2 เดือนถัดมา อันเป็นการกลับไปประกบคู่กับคู่จิ้นอย่าง Richard Gere ในหนังเจ้าสาวที่กลัวฝน Runaway Bride ซึ่งเคยเจอกันมาแล้วในหนังฮิต Pretty Woman (1990) และยังเป็นการกลับมาร่วมงานกับผู้กำกับเจ้าพ่อหนังรักแห่งอังกฤษผู้ล่วงลับอีกคนอย่าง Garry Marshall หนังทำรายได้ทั่วโลกไป 309 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 70 ล้านเหรียญฯ
American Pie (เข้าฉายวันแรก 9 กรกฎาคม 1999)
หนึ่งในหนังตลกสัปดนของชีวิตวัยรุ่นที่กลายเป็นแฟรนไชส์ที่แข็งแรง และในทุกวันนี้เราไม่ได้เห็นหนังแนวนี้กันอีกแล้ว American Pie เล่าชีวิตของเด็กนักเรียนวัยรุ่นที่มาอยู่ร่วมกัน ย่อมมีทั้งเรื่องการเรียนรู้ชีวิตและความรักผ่านประสบการณ์ห่าม ๆ ที่ทำให้หนังตลกและบันเทิง หนังกำกับโดยผู้กำกับชาวอังกฤษอย่าง Paul Weitz ซึ่งกับเรื่องนี้เองก็เป็นผลงานกำกับชิ้นแจ้งเกิดในวงการที่ทำให้เขาได้กำกับหนังอีกมากมายเช่น About a Boy (2002) The Golden Compass (2007) Little Fockers (2010) แฟรนไชส์นี้มีหนังตามออกมาอีก 3 ภาคด้วยกัน ซึ่ง Weitz เป็นคนกำกับเองทุกภาค กับภาค 2 ในปี 2001 ภาค 3 American Wedding ปี 2003 และภาค 4 American Reunion ในปี 2012 ซึ่งจากการที่รายได้ลดลงเรื่อย ๆ ก็ทำให้สิ้นสุดเรื่องราวลงที่ในภาค 4 นี้ แฟรนไชส์ทำรายได้รวมทั่วโลกทั้ง 4 ภาคไป 989 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างรวมเพียงแค่ 146 ล้านเหรียญฯ และมีภาคแรกที่ลงทุนไปแค่ 11 ล้านเหรียญฯ ก็กลายเป็นหนังฮิตระเบิดได้ในยุคนั้น
The Sixth Sense (เข้าฉายวันแรก 6 สิงหาคม 1999)
สำหรับใครที่เกิดทันดูและเป็นคอหนังสยองขวัญหักมุมด้วยแล้วละก็ ประโยคที่ว่า “I See Dead People” คงจะทำให้ย้อนนึกถึงความขนลุกขนพองของการโดนหลอกจากหนังสักเรื่องเมื่อ 20 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี พล็อตของ The Sixth Sense นับได้ว่าเป็นการหักมุมหรือ twist ความเชื่อของคนดูที่ถูกชักจูงโดยผู้กำกับ M. Night Shyamalan ที่จะต้องถูกกล่าวถึงไปอีกนาน (ผ่านมา 20 ปี ก็ยังเป็นที่พูดถึงอยู่) หนังแจ้งเกิดผู้กำกับให้ได้ทำหนังสยองขวัญอีกมากมายมาจนถึงปัจจุบัน ไล่มาตั้งแต่ Signs (2002) ไตรภาค Glass (2000-2019) ที่เพิ่งปิดไตรภาคตัวเองไปในปีนี้เอง หรือหนังอย่าง The Village (2004) ที่กับทุกเรื่องผู้ชมก็ตั้งตารอคอยว่า พี่มาโนชญ์ผู้กำกับ (ชื่อดั้งเดิมของแก ก่อนที่จะใช้ตัวย่อว่า M.) จะมาหลอกและหักมุมอะไรกับคนดูอีก หนังทำรายได้ทั่วโลกไป 673 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 40 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น และยังเป็นหนังที่ทำรายได้สูงสุดในเครดิตของนักแสดงสายบู๊ตลอดกาลอีกคนอย่าง Bruce Willis อีกด้วย
Fight Club (เข้าฉายวันแรก 15 ตุลาคม 1999)
ผู้กำกับที่มีสไตล์การทำหนังเฉพาะตัว เล่าเรื่องด้วยภาพที่มีความรุนแรงหรือใช้จิตวิทยาหลอกล่อคนดู หนีไม่พ้น David Fincher ที่กล่าวได้ว่าเป็นศาสดาของการทำหนังแนวนี้ ก่อนที่แก่กล้าจนกำกับหนังอย่าง Gone Girl (2014) The Social Network (2010) หรือหนังดราม่าที่แสนประทับใจอย่าง The Curious Case of Benjamin Button (2008) ได้นั้น ในช่วงแรกเขาได้กำกับหนังเกี่ยวกับกลุ่มนักต่อสู้ใต้ดินที่ได้พระเอกคู่บุญ Brad Pitt และพระเอกยอดฝีมืออีกคนอย่าง Edward Norton มาประกบคู่กันอย่างเมามัน หนังทำรายได้ทั่วโลกไปไม่มากนักที่ 101 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 63 ล้านเหรียญฯ แต่หนังก็ยังถูกตามหามาดูอยู่อย่างมากในทุกวันนี้ หากใครที่ชอบผลงานของ Fincher รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ที่อยากดูหนังภาพและอารมณ์แรง ๆ ดิบเถื่อนถึงใจ แบบที่ทุกวันนี้ไม่มีการสร้างกันแล้ว
Toy Story 2 (เข้าฉายวันแรก 24 พฤศจิกายน 1999)
ภาคต่อที่เป็นแฟรนไชส์ของหนังเปิดตัวค่ายหนังแอนิเมชันน้ำดีของฮอลลีวูดอย่าง Pixars ที่มาจนถึงปีนี้ก็มีมาถึงภาค 4 แล้ว ที่ถ้าย้อนกลับไปดูงานภาพในภาคแรกและภาค 2 ก็ทำให้งานแอนิเมชันในภาคก่อน ๆ ดูธรรมดามากไปเลย แต่นั่นเอง คือจุดเริ่มต้นที่สวยงามของ Woody และ Buzz Lightyear รวมถึงผองเผื่อนเหล่าของเล่นน่ารัก ๆ มากมาย ตามหลังจากภาคแรกเมื่อปี 1995 ในภาคนี้ หนังได้แนะนำตัวละครใหม่เพิ่มอย่าง Jessie น้องสาวคาวเกิร์ลของ Woody ด้วย หนังใช้ผู้กำกับถึง 3 คน ซึ่งต่อมาทุกคนก็ได้กำกับหนังที่ประสบความสำเร็จของตัวเองกันถ้วนหน้า เช่น John Lasseter (Cars ทั้ง 2 ภาค) Lee Unkrich (Coco, Toy Story 3) Ash Brannon (Surf’s Up) รวมไปถึงผู้เขียนบทเรื่องนี้ก็ได้ดิบได้ดี เช่น Pete Docter ที่ไปกำกับเรื่อง Up และ Andrew Stanton ที่ไปกำกับ Finding Nemo, Finding Dory, WALL-E เรียกได้ว่า Toy Story 2 เป็นแหล่งอนุบาลให้เหล่าผู้กำกับชั้นนำในยุค 20 ปีต่อมาของ Pixars อย่างแท้จริง หนังภาคนี้ทำรายได้ทั่วโลกไป 509 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 90 ล้านเหรียญฯ
Star Wars: Episode 1 – The Phantom Menace (เข้าฉายวันแรก 19 พฤษภาคม 1999)
หลังจากในปีนี้จะเป็นการปิดจบภาคที่ 9 หรือไตรภาคที่ 3 ของหนังสงครามแห่งดวงดาว Star Wars เมื่อ 20 ปีที่แล้ว Georges Lucas เจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ให้กำเนิดและผู้อำนวยการสร้างของไตรภาคแรก ได้กลับมากำกับภาคจุดเริ่มต้นของเรื่องราวชีวิต Anakin Skywalker ก่อนจะเข้าสู่ด้านมืดเป็น Darth Vader ในตอนจบของภาคที่ 3 เรียกว่าเป็นการหวนกลับมาหาความสำเร็จที่เป็นของตาย หลังจากปิดจบภาค Return of the Jedi ปี 1983 หรือเมื่อ 16 ปีก่อน หนังขนทัพนักแสดงที่มีชื่อเสียงมากขึ้นในอีก 20 ปีต่อมา ทั้ง Liam Neeson, Ewan McGregor ที่กำลังจะกลับมารับบทเป็น Obi-Wan เหมือนเดิม ในซีรีส์ของ Disney+, Natalie Portman หนังได้รับคำวิจารณ์ไม่ค่อยดีทั้งจากแฟนของแฟรนไชส์และนักวิจารณ์ (โดยเทความสาดเสียเทเสียไปที่ตัวละครจาร์จาร์บิง ที่น่ารำคาญเอามาก ๆ) แต่หนังก็ถือว่ากลับมาเปิดไตรภาคใหม่ได้อย่างสมภาคภูมิ มีฉากดวลดาบไลท์เซเบอร์ให้คนหายคิดถึง และต่อยอดภาค 2 และ 3 มาจนถึงไตรภาคใหม่ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับค่าย 20th Century Fox อย่างมากจน Disney ซื้อกิจการค่าย Lucas Film ก่อนซื้อค่าย Fox เสียอีก หนังทำรายได้ทั่วโลกไป 1,027 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 115 ล้านเหรียญฯ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส