ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีได้ทลายข้อจำกัดในการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ไปเสียสิ้น โดยเฉพาะปีนี้ ปี 2019  ที่หนังฮอลลีวูด 2 เรื่องได้นำเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการลดอายุนักแสดงแบบไม่ต้องพึ่งเวชศาสตร์ชะลอวัย แต่อาศัยวิช่วลเอฟเฟกต์สุดล้ำใน พ.ศ.นี้อย่าง GEMINI MAN และ THE IRISHMAN แต่หนัง 2 เรื่องนี้ใช้วิธีต่างกันอย่างไร WHAT THE FACT ขอเจาะลึก แบไต๋เทคโนโลยีสุดล้ำให้ทุกคนได้รู้กันไปเลย

GEMINI MAN โมชั่นแคปเจอร์เดิม ๆ เพิ่มเติมคือ Will Smith วัยหนุ่ม

WHAT THE FACT ทำแก่ให้หนุ่ม ! เจาะลึกเทคนิกชะลอวัยใน GEMINI MAN และ THE IRISHMAN

เทคนิด โมชัน แคปเจอร์ ใน GEMINI MAN

เทคโนโลยี โมชันแคปเจอร์ ไม่ใช่สิ่งใหม่ในโลกภาพยนตร์แต่อย่างใด โดยเราย้อนกลับไปที่ความพยายามแรกในปี 1999 ที่วงการภาพยนตร์พัฒนาเทคโนโลยีโมชัน แคปเจอร์ หรือ โมแคป มาสร้างตัวละคร จาร์จาร์บิง ใน Star Wars Episode 1 : The Phantom Menace ซึ่งข้อด้อยอย่างเดียวในสมัยนั้นคือความหน่วงตอนเคลื่อนไหวของเจ้าจาร์จาร์บิงเท่านั้นเอง จนมาประสบความสำเร็จและปลุกกระแสโมแคปอีกครั้งจากตัว กอลลั่ม ใน Lord of the Rings : The Two Towers ในปี 2002 แล้วหลังจากนั้นหนังฟอร์มยักษ์ส่วนใหญ่ก็ใช้ตามกันมา แต่ทีนี้ความน่าสนใจของการใช้โมแคปใน GEMINI MAN คือการสร้าง “แฝด” ให้นักแสดงในยุคใหม่ที่ถือเป็นก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีที่สำคัญ

เดิมทีวงการมายาอย่างภาพยนตร์ ได้พัฒนาเทคนิกการถ่ายทำฉากที่นักแสดงสองคนที่หน้าเหมือนกันไว้หลายแบบ เอาแบบที่ละครบ้านเรารับมาใช้เลยก็คือหาคนรูปร่างคล้ายกันมาถ่ายข้ามไหล่ แล้วให้นักแสดงเปลี่ยนชุดไปมา หรือจะให้เนียนขึ้นหน่อยก็ใช้การถ่ายแบบแบ่งจอ โดยถ่ายตัวละคร A ให้อยู่ด้านซ้ายแล้วตัวละคร B อยู่ด้านขวา แล้วนำภาพมาผสมกันด้วยกลวิธีทางภาพยนตร์ มีที่มาจากวิชวลเอฟเฟกต์ที่เรียกว่า วิสต้าไกลด์ (Vistaglide) โดยตัวอย่างที่ถูกยกมาพูดถึงที่สุดได้แก่ซีน บิฟแก่ยื่นนิตยสารกีฬาจากโลกอนาคตให้บิฟตอนหนุ่ม ในหนัง Back to the Future Part 2 (1989) ซึ่งทีมงานใช้วิธีการบังฟิล์มทีละส่วนโดยเริ่มจากบังฟิล์มฝั่งขวาแล้วถ่ายนายบิฟหนุ่มให้อยู่ทางซ้าย เสร็จแล้วกรอฟิล์มกลับมาบังฟิล์มฝั่งซ้ายที่ถ่ายบิฟหนุ่มไว้ แล้วถ่ายนายบิฟตอนแก่อยู่ทางขวา จนกระทั่งคอมพิวเตอร์กราฟิกได้ถูกนำมาใช้เพื่อทลายข้อจำกัดดังกล่าวใน The Social Network (2010) โดยให้ ฝาแฝดวิงเคิลวอส คู่ปรับมาร์d ซักเคอร์เบิร์ก ได้เดินจับมือกัน โต้ตอบกันแบบเห็นทั้ง 2 คนอยู่พร้อมหน้ากันได้เลยด้วยการนำนักแสดงตัวจริงและนักแสดงที่รูปร่างคล้ายคลึงกันหรือเรียกว่า บอดีดับเบิล (Body Double) มาถ่ายทำพร้อมกันแล้วใช้วิชวลเอฟเฟกต์นำหน้าของนักแสดงตัวจริงไปแปะ จนกระทั่งปีนี้ 2019 การสร้างแฝดได้เดินหน้ามาอีกขั้นใน GEMINI MAN หนังไซไฟที่จุดขายคือ การนำวิล สมิธ วัยหนุ่มและวัยดึกมาซัดกันแบบเห็นจะ ๆ

Play video

โดยการนำเทคโนโลยี โมชันแคปเจอร์ มาพัฒนาเพื่อใช้จับภาพใบหน้าผ่าน เฮดริก (Head Rig) หรือ หมวกติดกล้องให้วิล สมิธ ใส่แล้วแสดงเป็นตัวละครจูเนียร์ โดยเฮดริกจะมีกล้อง 2 ตัวจับการแสดงออกทางสีหน้าผ่าน จุดเซนเซอร์สีดำที่แปะไว้ตามกล้ามเนื้อตรงใบหน้าของวิล สมิธ เพื่อประมวลผลและนำไปสร้างเป็นใบหน้าวิล สมิธในวัย 23 ปี แต่หากคิดว่ากระบวนการทุกอย่างจะเป็นแค่ถ่ายผ่านกล้องเซนเซอร์แล้วคอมพิวเตอร์ไปสร้างผ่านหน้าที่ไปลอกมาจากหนังในวัยหนุ่มของวิล สมิธล่ะก็…คุณคิด…….เกือบถูก..!

เพราะกระบวนการถ่ายทำหนัง GEMINI MAN ส่วนหนึ่งเรียกร้องให้วิล สมิธ ต้องเข้าแล็บของ Weta Digital ในนิวซีแลนด์ (ของ ปีเตอร์ แจ๊กสัน ผู้กำกับ Lord of the Rings) เพื่อบันทึก “ข้อมูล” การแสดงสีหน้าของเขา ด้วยการให้อ่านบทหนังทั้งเรื่องและแสดงสีหน้าเก็บเป็นข้อมูลดิจิทัลไว้เป็นคลังในการประมวลผล (เรนเดอร์) ตั้งแต่ต้นปี 2018  รวมถึงข้อมูลมวลร่างกายและกล้ามเนื้อของวิล สมิธ โดยละเอียดก็ถูกจัดเก็บไว้ใช้จนเหมือนการโคลนนิงวิล สมิธให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัล ก่อนจะทำการ ชะลอวัย แบบแมนนวลโดยทีมเทคนิกค่อย ๆ ย้อนวัยวิล สมิธ จากอายุ 49 ปี (ในตอนต้นปี 2018) ไปสู่วัย 23 ปี โดยทีมงานอาศัยฟุตเตจของวิล สมิธในหนังดัง ๆ อย่าง Bad Boys, Six Degrees of Separation และซีซันท้าย ๆ ของซีรีส์ Fresh Prince of Bel-Air เข้ากับภาพถ่ายวัยหนุ่มรวมถึงเทียบกับใบหน้าของเขาในหนังแจ้งเกิดอย่าง Independence Day ด้วย

WHAT THE FACT ทำแก่ให้หนุ่ม ! เจาะลึกเทคนิกชะลอวัยใน GEMINI MAN และ THE IRISHMAN

เทคนิกการถ่ายทำแบบ Motion Capture ใน GEMINI MAN

ต่อมาทีมงานได้ทดลอง “เป๊ปซีชาเลนจ์” ที่เปรียบเทียบการนำของต่าง ๆ ไปใส่ในน้ำอัดลมเพื่อดูจะกัดกร่อนแค่ไหน ด้วยการเอาตัว จูเนียร์ ที่กำลังพัฒนาอยู่ไปลองใส่ในหนัง Bad Boys ที่ออกฉายในปี 1995 แม้จะดูแหม่ง ๆ แต่พวกเขาก็มั่นใจว่ามาถูกทาง แต่หากคิดว่างานของทีมงานจบแล้ว คุณคิด…ผิด ! เพราะต่อมาตลอดปี 2018 คิอการแบ่งทีมทำงานในแต่ละส่วน ทั้งผิวหนัง สีผิว หรือแม้กระทั่งฟันของวิล สมิธ ก็มีทีมงานทำต่างหาก แต่ที่เด็ดสุดคือ ดวงตา ที่ทีมงานทำงานละเอียดกันถึงขั้นเทียบตาขาว (sclera) กระจกตา (cornea) หรือกระทั่งจุดเล็ก ๆ บนตาดำที่เลือดมาหล่อเลี้ยงดวงตาอย่าง โครอยด์ (choroid)  และเทียบการทำงานต่าง ๆ ของดวงตาเข้ากับวิชวลเอฟเฟกต์ดวงตาที่สร้างขึ้นเพื่อความสมจริงขั้นสุดยอด และถ้ายังไม่ละเอียดพอทีมงานของเวต้ายังศึกษากระทั่งความดันโลหิต จังหวะการหายใจ เส้นเลือดเต้นตุบ ๆ บนใบหน้าของวิล สมิธ เพื่่อให้สมจริงยิ่งขึ้น ซึ่งการที่ อังลี ถ่ายหนังแบบ 120 เฟรมต่อวินาทีในระบบไฮเฟรมเรตก็ช่วยให้การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของเอฟเฟกต์ดูสมจริงตามไปโดยปริยายด้วย

THE IRISHMAN คนใหญ่..ชะลอวัยด้วย ILM

WHAT THE FACT ทำแก่ให้หนุ่ม ! เจาะลึกเทคนิกชะลอวัยใน GEMINI MAN และ THE IRISHMAN

ภาพของโรเบิร์ต เดอ นีโร ในวัยต่าง ๆ ในหนัง The Irishman

มาถึงคิวหนังดรามาที่เพิ่งลงจอ Netflix ไปสด ๆ ร้อน ๆ อย่าง THE IRISHMAN หนังแก๊งสเตอร์ที่กินเวลาในการเล่าเรื่องร่วม 50 ปีเพื่อบอกเล่าชีวิตสูงสุดคืนสู่สามัญของ แฟรงค์ ชีแรน จากนิยายของ ชาร์ลส์ แบรนด์ เรื่อง I Heard You Paint Houses ซึ่งคราวนี้ มาร์ติน สกอร์เซซี ผู้กำกับที่จับหนังแนวเจ้าพ่อจนถนัดมือได้ตากล้องคู่บุญอย่าง รอดริโก พริเอโต ที่เคยพากันชิงออสการ์สาขากำกับภาพยอดเยี่ยมมาแล้วจาก Silence (2016) โดยคราวนี้โจทย์ใหญ่ใจความสำคัญที่พริเอโตรับมาคือ บัญชาของสกอร์เซซีว่า เขาจะขอใช้นักแสดงคนเดิมในการแสดงตัวละครตัวเดียวตั้งแต่หนุ่มยันแก่ ทั้ง โรเบิร์ต เดอ นีโร , โจ เพสซี และ อัล ปาชิโน นั่นหมายถึงการต้อง ลดอายุ (De-Aging) นักแสดงต่อหน้ากล้อง แต่สิ่งที่ สกอร์เซซี ปฏิเสธคือการไม่ต้องการให้นักแสดงมาติดเซนเซอร์หรือใส่หมวกกันน็อกจนรบกวนการแสดง (อ้าว..ป๋าแขวะหนังข้างบนนี่หว่า) นั่นทำให้หน้าที่ในการทำภารกิจที่แทบจะ มิชชัน อิมพอสซิเบิลตกเป็นของ รอดริโก พริเอโต ผู้กำกับภาพ และ พาโบล เฮลแมน ที่ปรึกษาเทคนิกพิเศษจาก ILM หรือ Industrial Light & Magic (ของ จอร์จ ลูคัส ผู้ให้กำเนิดสตาร์ วอร์ส)

ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำของ The Irishman

Play video

โดยขั้นแรกของการถ่ายทำคือการเลือกใช้กล้อง เนื่่องจากมาร์ติน สกอร์เซซี หรือลุงมาร์ตี้ของเราเป็นสายโอลด์สคูล ต้องการถ่ายหนังหลัก ๆ ด้วยฟิล์มภาพยนตร์โกดัก 5219 และ 5207  ที่ไปสั่งสต็อกไว้ ดังนั้นกล้องหลักที่จะใช้คือกล้อง  Arricam LT และ ST  สำหรับฉากที่ไม่ต้องใช้เอฟเฟกต์ลดอายุหรือ De-Aging ส่วนฉากไหนที่ต้องถ่ายนักแสดงเพื่อไปทำเอฟเฟกต์ลดอายุ พริเอโตก็จัดการ ผ่ากลางบ้องด้วยกล้องดิจิทัลอย่าง RED Helium พร้อมริกเอฟเฟกต์เซนเซอร์การแสดงหน้าของนักแสดง แม้จะถูกมัดกันเป็นแหนมแต่เพื่อความเท่ พริเอโตก็เรียกมันว่า สัตว์ประหลาด 3 หัว (Three Headed Monster) และยังมีกล้องอีกตัวจับภาพในอีกด้านหนึ่งด้วย แถมในบางฉากยังใช้กล้องถ่ายทำถึง 9 ตัว แม่เจ้า! ซึ่งแม้จะมีกล้องดิจิทัลรุ่นใหม่มาเกี่ยวข้อง แต่ลุงมาร์ตี้ก็ไม่ติดขัดอะไรแค่นักแสดงไม่ต้องหนักหัว (เหมือนแขวะ GEMINI MAN อีกแล้ว)ใช้งานร่วมกับหัวรีโมตในการถ่ายทำและอุปกรณ์ริกไม่หนักเกินจนทำกล้องเจ๊งก่อนถ่ายจบก็พอ

แนวคิดด้านการกำกับภาพและทำงานร่วมกับ มาร์ติน สกอร์เซซี ของ รอดริโก พริเอโต ใน The Irishman

Play video

ทีนี้มาถึงประเด็นที่หลายคนสงสัยคือหนังถ่ายทั้งฟิล์ม และดิจิทัล ภาพจะสามารถเข้ากันแนบเนียนเป็นเนื้อสนิทกันได้ยังไง ก็ขอท้าวความไปถึงอีกหน้าที่ของ ผู้กำกับภาพ หรือ Director of Photography ที่จะตีความเรื่องราวออกมาเป็นแนวคิด คอนเซปต์ในการถ่ายภาพให้ได้ และ รอดริโก พรีเอโต ได้ตีความจากชื่อนิยาย I Heard You Paint Houses เปรียบเทียบกับเรื่องสีของชีวิตในช่วง 50 ปีเทียบกับสต็อกฟิล์มถ่ายภาพ ได้แก่ยุค 50 ของ โคดาโครม (Kodachrome) ฟิล์มสีที่ให้สีอิ่มตัว สดใส ในช่วงวัยหนุ่มของชีแรน ส่วนยุค 60 ก็เป็นแนว เอคตาโครม หรือสีแบบฟิล์มที่เป็นที่นิยมของช่างภาพ National Geographic คือมีความตุ่นของสีนิด ๆ ทำให้สีสมดุล และปิดท้ายยุค 70 ที่ใช้เทคนิค ENR ในการลดความอิ่มตัวของสี เพือบอกเล่าเรื่องราวการหักหลังและความตาย ซึ่งพริเอโต ได้นำแนวคิดนี้ทำเป็น ลัตส์ (LUTS – Look-Up Tables) หรือโทนภาพดิจิทัลร่วมกับ แมต ทอมลินสัน แห่ง Harbor Picture Co. สำหรับฟิล์มสต็อก และ ฟิลลิป พานซินี ที่ Codex สำหรับฟุตเทจดิจิทัล ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเลยทำไม The Irishman ถึงใช้เวลาเตรียมการถ่ายทำถึง 90 วัน และถ่ายทำจริง 108 วันและงบประมาณ 140 ล้านเหรียญก็หมดไปเพื่อสนองแนวคิดทางศิลปะด้วยประการฉะนี้แล…

อ้างอิง

The Guardian

WIRED 

Variety

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส