ผ่านไป 3 ปีแล้ว มาดูไตรวรรษที่ 2 ของทศวรรษ 2010s หรือปี 2013-2015 กันต่อเลย

อ่านอันดับก่อนหน้าได้ที่นี่ 10 หนังตัวแทนแห่งทศวรรษ 2010s: Part 1 ปี 2010-2012 และอ่านอันดับถัดไปได้ที่ 10 หนังตัวแทนแห่งทศวรรษ 2010s: Part 3 ปี 2016-2019

*หนังแห่งปี เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคำนึงจากผลงาน รางวัล รายได้ การพูดถึง การสร้างปรากฏการณ์ และบางครั้งเป็นจิตวิญญาณที่สะท้อนยุคสมัยในปีนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจนที่สุด ซึ่งพิจารณารวมทั้งนานาชาติและในไทย
**หนังแห่งปีของแต่ละสำนัก จะคัดหนังที่คะแนนสูงสุดที่แต่ละสำนักจัดอันดับไว้เอง ทั้งนี้ในบางปีขออนุญาตตัดนำลำดับรองขึ้นมาแทน เพราะลำดับสูงสุดเป็นหนังที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก หรือคุณสมบัติก้ำกึ่งเป็นมินิซีรีส์มากกว่า

ปี 2013 (พ.ศ.2556)

  • ออสการ์ในปีนี้ยังยกให้หนังที่เกี่ยวพันกับประเทศตัวเองเป็นหลักอีกครั้งด้วยกระแสความเท่าเทียมเรื่องผิวสีกลับมาแรงทำให้ 12 Years a Slave ของ สตีฟ แมกควีน ชนะหนังยอดเยี่ยมไป ด้าน อัลฟอนโซ กัวรอน จาก Gravity ก็คว้าผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครอง หนังยอดเยี่ยมสาขาแอนิเมชันตกเป็นของ Frozen ประกาศยุคสมัยของดิสนีย์แอนิเมชันขึ้นมาแทนพิกซาร์สำเร็จทั้งด้านรางวัลและรายได้ ส่วนรางวัลลูกโลกทองคำก็ให้ 12 Years a Slave เช่นกันในสาขาดราม่า ส่วนสาขาหนังเพลง/หนังตลกตกเป็นของ American Hustle ของ เดวิด โอ. รัสเซล เอาชนะหนังอินดี้ขวัญใจใครหลายคนอย่าง Her ของ สไปก์ จอนซ์ และด้านรางวัลปาล์มทองคำของคานส์ก็เป็นของ Blue Is the Warmest Colour หนังฝรั่งเศสที่ว่าด้วยประเด็นความรักเพศเดียวกันและการแสวงหาตัวตนของวัยรุ่นยุคนี้
  • หนังรายได้สูงสุดของปีตกเป็นของแอนิเมชันแห่งปีอย่าง Frozen (1,274 ล้านเหรียญ) และตามบี้มาติด ๆ ด้วยหนังอย่าง Iron Man 3 (1,214 ล้านเหรียญ)

  • หนังไทยบ้านเราเป็นอีกปีที่หนังอินดี้กวาดในเวทีรางวัลใหญ่ไปหมด โดยโดดเด่นสุดต้องยกให้ ตั้งวง ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ที่จับความรู้สึกร่วมของสังคมไทยที่ตกกลางความวุ่นวายและขัดแย้งมาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ และทำให้ได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมกับผู้กำกับยอดเยี่ยมไปนอนกอดสบาย ๆ หนังอินดี้น่าสนใจแห่งปีต้องให้ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY. ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่สถาปนาตนเองเป็นไอดอลเด็กแนวไปสำเร็จ
  • ด้านหนังไทยแห่งปีที่ต้องพูดถึงเพราะทำรายได้ไป 568 ล้านบาทในกรุงเทพและกว่า 1,000 ล้านบาทจากทั่วประเทศไปสำเร็จเป็นเรื่องแรกของหนังไทย (และอีกนานเลยกว่าจะมีใครไปแตะระดับนี้ได้อีก) พูดแค่นี้คงรู้ว่าหนังไทยเรื่องนั้นคือ พี่มาก.. พระโขนง ของ บรรจง ปิสัญธนะกุล นั่นเอง ส่วนหนังไทยเรื่องอื่น ๆ เรียกว่าโดนกระแสกลบเหงาไปตาม ๆ กัน รายได้หนังอื่น ๆ ห่างจากพี่มากไปไกลมากนั่นคือ แหยม ยโสธร 3 (59 ล้านบาท) ต้มยำกุ้ง 2 3D (56 ล้านบาท) ฟัด จัง โตะ (55 ล้านบาท) และ คู่กรรม ฉบับณเดชย์ (44 ล้านบาท)

หนังแห่งปีของแต่ละสำนัก
หนังแห่งปีวัดจากหนังคะแนนรวมสูงสุดของเว็บรวมคะแนนวิจารณ์แต่ละเจ้า ก็จะได้ดังนี้

  • Rotten Tomatoes ให้ Gravity (สดไป 96%)
  • IMDb ให้ The Wolf of Wall Street ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ (8.2/10)
  • Metacritic ให้ 12 Years a Slave (97/100)

หนังตัวแทนแห่งปี 2013
พี่มาก.. พระโขนง อันนี้ต้องบอกว่าอาจขัดใจใครบางคนล่ะนะ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราตัดสินจากมุมมองของบ้านเราประกอบด้วย และแน่นอนถ้าปี 2013 หนังจากเมืองนอกก็ดูเงียบ ๆ ไม่มีเรื่องไหนโดดเด่นมาก ๆ หนังไทยเรื่องนี้ก็ต้องวินไปตามระเบียบ หนังที่คนไทยหลายคนบอกว่าไม่ดูหนังในโรงมาหลายสิบปีแล้ว แต่ยอมนั่งรถตุเรง ๆ กันไปทั้งหมู่บ้านเพื่อเข้าคิวดูในโรงหนัง หนังที่สร้างความสุขให้คนทั้งประเทศในสภาวะที่สังคมการเมืองอึนเหลือเกิน ก็ต้องให้หนังแห่งปีเขาไปล่ะครับ (แต่ถ้าต้องให้หนังเมืองนอกสักเรื่องก็คงให้ Frozen ที่สร้างปรากฏการณ์กับเด็กทั่วโลกให้ร้อง ล็ต-อิต-โกกกกก.. จนวันนี้นั่นเอง)

ปี 2014 (พ.ศ.2557)

  • มาเริ่มที่รางวี่รางวัลกันก่อนเช่นเดิม เวทีออสการ์เป็นการมาของ อเลฮันโดร อิญญาร์ริตู  ที่ทำ Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) จนคว้าหนังยอดเยี่ยม ขณะที่ตัวเขาก็คว้าผู้กำกับยอดเยี่ยมไปด้วย ส่วนหนังแอนิเมชันยอดเยี่ยมก็เป็นของ Big Hero 6 เรียกว่าดิสนีย์ยังครองที่นั่งสม่ำเสมอต่อจาก Frozen ในปีก่อนได้ หนังต่างประเทศก็ตกเป็นของ Ida จากโปแลนด์ และหนังที่น่าสนใจในปีนี้ก็คือการมาครั้งแรกของ ดาเมียน ชาเซล กับหนัง Whiplash ที่หลังจากนั้นเขาก็เป็นผู้กำกับน่าจับตามองทันที
  • ด้านรางวัลลูกโลกทองคำก็กระจายไปให้ Boyhood ของ ริชาร์ด ลิงก์เลเตอร์ ที่ใช้เวลาถึง 12 ปีในการถ่ายทำตามอายุนักแสดงที่โตขึ้นตามอายุตัวละครจนจบจนเอาชนะในสาขาดราม่าสำเร็จ ส่วนสาขาหนังเพลง/หนังตลกก็ตกเป็นของ The Grand Budapest Hotel ของ เวส แอนเดอร์สัน  ส่วนปาล์มทองคำขอข้ามเลยครับเป็นหนังตุรกีที่พูดไปก็ไม่รู้จักและหาชมยากด้วยสิ
  • หนังที่ทำรายได้สูงสุดของปี อันนี้เซอร์ไพรส์เหมือนกันเพราะอันดับ 1 คือ Transformers: Age of Extinction ที่ทำเงินไป 1,104 ล้านเหรียญและเป็นเรื่องเดียวที่ทำเงินเกินพันล้านเหรียญในปีนี้ด้วย

  • สุพรรณหงส์ปีนี้ตกเป็นของหนังอินดี้อีกปี (คือแทบทุกปีล่ะ) นั่นก็คือ ภวังค์รัก concrete clouds ของ ลี ชาตะเมธีกุล ที่ตัวเขาเองก็คว้าผู้กำกับยอดเยี่ยมไปด้วย อินดี้ที่น่าพูดถึงอีกเรื่องของปีนี้คือ ตุ๊กแกรักแป้งมาก ของ ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่เป็นการลองเสี่ยงครั้งใหญ่เหมือนกันของเขา หนังไม่ได้เปรี้ยงนักแต่ก็มีหลายอย่างน่าจดจำ
  • ด้านรายได้หนังรายได้สูงก็คือสูงเว่อไปเลย แต่หนังไทยธรรมดาเรื่องอื่น ๆ แค่จะแตะหลัก 10 ล้านก็หืดขึ้นคอแล้ว เป็นช่วงตกต่ำของหนังไทยพอสมควร และรายได้อันดับ 1 ก็คือ “ไอฟาย..แต๊งกิ้ว เลิฟยู้” ของ เมษ ธราธร ที่ทำไป 328 ล้านบาท ส่วนอันดับ 2 อย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ทำรายได้ไป 204 ล้านบาท นอกจากนี้ก็มี คิดถึงวิทยา (98 ล้านบาท) และ ฝากไว้..ในกายเธอ (64 ล้านบาท) เป็นช่วงที่ถ้าไม่ใช่หนัง GTH ก็ยากจะทำเงินเกิน 50 ล้านบาทจริง ๆ และท่ามกลางสังคมที่ตึงเครียดจนเกิดการปฏิวัติรัฐประหารของ คสช. ก็ทำให้หนังตลกหนีโลกความจริงที่เคร่งเครียดทำเงินถล่มทลายไป

  

หนังแห่งปีของแต่ละสำนัก
หนังแห่งปีวัดจากหนังคะแนนรวมสูงสุดของเว็บรวมคะแนนวิจารณ์แต่ละเจ้า ก็จะได้ดังนี้

  • Rotten Tomatoes ให้ Selma หนังเรียกร้องสิทธิ์คนผิวสี (สดไป 99%)
  • IMDb ให้ Interstellar ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (8.6/10)
  • Metacritic ให้ Boyhood (100/100)

หนังตัวแทนแห่งปี 2014
Interstellar เพราะหนังสร้างกระแสทางบวกให้โลกเราอย่างมาก ผู้คนทั้งต่างประเทศทั้งในบ้านเราต่างก็สนใจหันมาคุยมาถกค้นหาประเด็นด้านวิทยาศาสตร์กันยกใหญ่เพื่อจะเข้าใจตีความตัวหนัง ทั้งยังให้ความหวังกับผู้คนในการสร้างโลกในอนาคตด้วย สำหรับบ้านเราอยู่ในช่วงที่พ้นสถานการณ์ทางตันทางการเมืองและได้รับการหักดิบด้วยปฏิวัติรัฐประหาร ทุกคนก็ได้แต่หวังว่าอะไร ๆ จะดีขึ้นหลังจากนี้ ก็เหมือนการเดินทางไปในอวกาศที่ไม่รู้ว่าจะเจออะไร จะเจอดาวแบบไหน คนแบบไหน และทำได้แค่หวังเหมือนพระเอกของเรื่องเลย

 

ปี 2015 (พ.ศ.2558)

  • หนังยอดเยี่ยมของออสการ์ได้แก่ Spotlight ของ ทอม แมกคาธีย์  ส่วนผู้กำกับยอดเยี่ยมตกเป็นของ อเลฮันโดร อิญญาร์ริตู ที่ยังรักษาตำแหน่งได้จาก The Revenant สำเร็จ หนังแอนิเมชันยอดเยี่ยมตกเป็นของ Inside Out ที่พิกซาร์กลับมาขอแชมป์คืน หลังจากเริ่มชัดเจนว่าพวกเขาอาจจะปล่อยหนังสายบันเทิงจ๋าให้ดิสนีย์ที่เป็นเจ้านายไปเลยแล้วพวกเขาหันมาทำแอนิเมชันที่ลุ่มลึกขึ้นโตขึ้นแทน หนังต่างประเทศยอดเยี่ยมก็น่าสนใจเพราะ Son of Saul จากฮังการีที่พูดถึงการฆ่าชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 ออกมาได้อย่างแปลกตา
  • รางวัลลูกโลกทองคำยังคงเห็นต่างจากออสการ์ โดยสาขาดราม่าตกเป็นของ The Revenant และสาขาหนังเพลง/หนังตลกตกเป็นของ The Martian ของ ริดลีย์ สกอตต์ ที่ดูจะสานความดังต่อเนื่องจาก Gravity และ Interstellar เรียกว่ามีหนังไซไฟอวกาศให้ดูกันยาวมาเลยทีนี้ ส่วนปาล์มทองคำก็ขอข้ามอีกเช่นเดิมเป็นช่วงที่บ้านเราไม่ค่อยรู้จักหนังปาล์มทองคำเท่าไหร่อาจเพราะขาประจำเบอร์ใหญ่ไม่ค่อยได้รางวัลด้วยล่ะ
  • หนังที่ทำรายได้สูงสุดปีนี้ก็ตกเป็นของ Star Wars: Episode VII – The Force Awakens ทำเงินไป 2,068 ล้านเหรียญ เรียกว่าเปิดศักราชใหม่หลังดิสนีย์เข้ามาทำได้อย่างน่าตื่นเต้น แม้หนังจะขาดความสร้างสรรค์และเดินตามความสำเร็จของ A New Hope ไม่หน่อยก็เถอะนะ ส่วนอันดับ 2 จริง ๆ ถ้าเป็นปีก่อน ๆ คือเป็นอันดับ 1 สบาย ๆ ไปละเพราะหนังเปิดไตรภาคใหม่เหมือนกันอย่าง Jurassic World ทำเงินไปได้ถึง 1,670 ล้านเหรียญ ส่วนอันดับอื่นที่เกินพันล้านก็มี Furious 7 (1,515 ล้านเหรียญ) Avengers: Age of Ultron (1,402 ล้านเหรียญ) และ Minions (1,159 ล้านเหรียญ)

  • 2-3 ปีนี้หนังไทยซบเซามาในแง่จำนวนและคุณภาพโดยรวม และสายรางวัลก็มักได้แก่หนังอินดี้ที่ไม่ค่อยมีใครได้ดูไปเป็นประจำ มาปีนี้ ฟรีแลนซ์.. ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ หนังกึ่งแมสกึ่งอินดี้ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่มาทำกับค่าย GTH ก็สร้างพื้นที่ใหม่ได้โดยหนังคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยมไปครองแบบขาดลอยทุกสำนัก ส่วนนวพลเองก็คว้าผู้กำกับยอดเยี่ยมได้อีกหลายเวที หนังอินดี้น่าจับตามองปีนี้ก็ได้แก่หนังตัวแทนชิงออสการ์ของไทยอย่าง พี่ชาย MY HERO โดยผู้กำกับชาวเกาหลี-อเมริกัน จอช คิม
  • ด้านรายได้อันดับ 1 ตกเป็นของ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา ภาคจบ (เสียที) ที่ทำเงินไป 117 ล้านบาท ถ้านับ ๆ รวมทุกภาคมีเกินพันล้านกับเขาเหมือนกันนะ อันดับ 2 เป็นความสำเร็จในการเอาชนะคำว่าแมส-อินดี้อย่างที่บอก เพราะ ฟรีแลนซ์.. ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ทำเงินไปถึง 86 ล้านบาท ตามมาด้วย เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ (73 ล้านบาท) ส่วนเรื่องอื่นก็ซบเซาหนักเลย

หนังแห่งปีของแต่ละสำนัก
หนังแห่งปีวัดจากหนังคะแนนรวมสูงสุดของเว็บรวมคะแนนวิจารณ์แต่ละเจ้า ก็จะได้ดังนี้

  • Rotten Tomatoes ให้ Mad Max: Fury Road ของ จอร์จ มิลเลอร์ (สดไป 97%)
  • IMDb ให้ Inside Out (8.2/10)
  • Metacritic ให้หนังหญิงรักหญิงที่เข้าชิงออสการ์ 6 สาขาอย่าง Carol ของ ทอดด์ เฮย์เนส (96/100)

หนังตัวแทนแห่งปี 2015
Mad Max: Fury Road อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนะ แต่ละคนก็อาจมีหนังแห่งปีของตนเองต่างไป และเหตุผลที่หนังเรื่องนี้เป็นหนังแห่งปีก็เพราะมันทำหน้าที่ของหนังบันเทิงได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งการเล่าเรื่อง ภาพ เสียง สี มันปรนเปรอคนดูทั่วไปและคนดูชั้นนักวิจารณ์ให้มีสุนทรียะอย่างใกล้เคียงกันมาก ไม่ได้มีหนังแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ หรอกครับ เนื้อหามันยังสะท้อนโลกของการแย่งชิงและเผด็จการอำนาจและทุนที่ข่มขี่คนทั่วไปอย่างเลือดเย็น (ในเรื่องคือคุมน้ำ) และโลกในปี 2015 เองก็เกิดสงครามและผู้อพยพขึ้นมากมายที่ต้องรับกรรมจากมหาอำนาจทะเลาะกัน และที่สำคัญหนังเรื่องนี้ยังทำให้เห็นว่าไม่มีใครที่แก่เกินไปสำหรับความฝันหรอกเพราะปู่มิลเลอร์ตอนทำเรื่องนี้ก็อายุปาไป 70 ปีแล้ว มันสะท้อนภาพของความเท่าเทียมในสังคมโลกขณะนั้นด้วย ไม่ว่าจะคนพิการ เพศ วัย ล้วนแต่ไม่ใช่อุปสรรคในการมีฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลก

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส