ทีมงานของ What The Fact – Movie, Lifestyle ได้มีโอกาสนั่งลงและพูดคุยกับ ‘อาร์ต’ กุลพงษ์ ไวยามัจมัยกุล ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์ชาวไทยที่มีผลงานระดับฮอลลีวูด ไม่ว่าจะเป็น Justice League, Spider-Man: Far From Home และ Star Wars: The Rise of Skywalker ใครจะรู้บ้างว่าศิลปินคนนี้ ไม่ได้มีความรู้ทางด้านวิชวลเอฟเฟกต์เลย แต่เขาจบการศึกษาทางด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วเขาทำอย่างไร จึงสามารถส่งออกตัวเองไปไกลได้ถึงฮอลลีวูด ทาง What The Fact มีคำตอบค่ะ

ความหลงใหลในงานวิชวลเอฟเฟกต์

คุณอาร์ตมาถึงสตูดิโอของเราแบบเขิน ๆ เดินไม่ค่อยถูก แต่เมื่อกล้องเริ่มบันทึกภาพและคำถามแรกถูกส่งออกไป คุณอาร์ตก็สารภาพทันทีว่า “ผมไม่ได้เรียนมาทางวิชวลเอฟเฟกต์เลยครับ”

Kulapong Vaiyamugamuykul

‘อาร์ต’ กุลพงษ์ ไวยามัจมัยกุล ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์ชาวไทย

ระหว่างการเรียนในระดับปริญญาตรีทางด้านการตลาด คุณอาร์ตได้เริ่มจับงานเว็บไซต์และการทำ Advertising Design ด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop และ Adobe Illustrator งานนี้ถือเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้คุณอาร์ตได้พบกับงานวิชวลเอฟเฟกต์เป็นครั้งแรก

“พอเราได้จับพวกนี้ มันก็เลยทำให้ผมรู้สึกว่านี่มันเป็นงานที่ผมชอบ ผมรู้สึกเลยว่าผมต้องทำงานด้านนี้แน่ ๆ ก็เลยเลือกที่จะศึกษาด้วยตัวเอง ศึกษาโปรแกรมที่จำเป็นต้องใช้ พอเรามีโอกาสได้ไปสมัครงานที่บริษัท ก็เป็นพวกบริษัททำเว็บไซต์ พอได้ทำงานด้านนี้แล้ว ก็เหมือนกับว่าได้พัฒนาทักษะนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ

แล้วมันก็เป็นจุดเริ่มต้นเลยครับ พอหลังจากนั้นก็ได้เริ่มจับงาน 3D ขึ้นมา สมัยก่อนเขาเรียกว่า 3D Animation เป็นช่วงที่วงการอนิเมชันของไทยค่อนข้างจะเริ่มบูมเลย งานแรกที่ได้ทำอนิเมชันเลยก็คือ ‘ปังปอนด์’ ของบริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ครับ”

หลังจากที่ได้ก้าวเข้ามาในวงการอนิเมชันแล้ว คุณอาร์ตก็เริ่มศึกษาโปรแกรม Maya แต่ในยุคนั้น (ประมาณ 15 ปีก่อน) ยังไม่มีการเปิดสอนด้านนี้ คุณอาร์ตจึงต้องศึกษาด้วยตนเองผ่านการอ่านหนังสือ ซึ่งหนังสือด้านอนิเมชันฉบับภาษาไทยนั้นยังสอนแค่เรื่องพื้นฐาน ถ้าต้องการความรู้ในระดับที่สูงขึ้น คุณอาร์ตจึงต้องอ่านหนังสือทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป

งานเรื่องต่อมาที่คุณอาร์ตมีส่วนร่วมคืออนิเมชันเรื่อง ‘ยักษ์’ ของบริษัท บ้านอิทธิฤทธิ์ จํากัด โดยเรื่องนี้ใช้เวลาทำถึง 6 ปี ซึ่งในช่วงนี้คุณอาร์ตก็ได้ค้นพบความชื่นชอบในงานวิชวลเอฟเฟกต์

“ผมชอบศิลปะ แต่ผมก็ชอบเรียนพวกคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ด้วย แล้วการทำเอฟเฟกต์มันเป็นสิ่งที่นำศิลปะมาผสมกับการคำนวณ

สมมติว่าผมต้องทำเอฟเฟกต์ไฟขึ้นมา มันไม่ใช่ว่าเราต้องวาดไฟขึ้นมาทีละภาพ มันเป็นสิ่งที่เราต้องเข้าใจว่าเราต้องใส่ค่าความร้อนเท่าไร ใส่เชื้อเพลิงเท่าไร คือในโปรแกรมเขาจะมองเห็นเป็นจุดนี้นะครับ สมมติว่าเชื้อเพลิงมาก มันอาจจะทำให้ไฟแรงขึ้น มันจะมีค่าหลาย ๆ ค่ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นลักษณะของฟิสิกส์ ซึ่งถ้าพูดตามตรง บางทีคนทั่วไปอาจจะมองว่า มันยากเกินไป ทำไมมันต้องยากขนาดนั้น แต่จริง ๆ มันเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผม ผมว่ามันเจ๋งดี ก็เลยชอบทำพวกเอฟเฟกต์แบบนี้ครับ”

หลังการทำอนิเมชันเรื่อง ‘ยักษ์’ เสร็จสมบูรณ์ คุณอาร์ตก็ได้ย้ายไปทำงานที่ บริษัท กันตนา โพสท์ โปรดักชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งที่แห่งนี้มีการทำงานประสานงานของทีมงานต่างชาติค่อนข้างมาก คุณอาร์ตจึงมีโอกาสได้ฝึกฝนและพัฒนาภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงทักษะการทำวิชวลเอฟเฟกต์ด้วย จนในที่สุด คุณอาร์ตจึงเอ่ยปากขอกับหัวหน้างานในการย้ายไปทำงานที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาขาของกันตนา โพสท์ โปรดักชั่น และนับเป็นก้าวแรกของการ ‘Go Inter’

“ตอนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมกล้าที่จะรู้สึกว่าสิ่งที่เรามีอยู่ เรามีอยู่จากที่ไทย โดยที่เราไม่ต้องไปเรียนเพิ่มจากที่ไหนเลย แต่เราศึกษาด้วยตัวเอง ศึกษาจากการดูหนัง ศึกษาจากการเรียนจากโปรแกรม มันเอามาใช้กับชีวิตจริง ๆ ได้และผมมองว่ามันต่อยอดไปได้อีกครับ”

Play video

การก้าวไปสู่โลกที่กว้างขึ้น

คุณอาร์ตก้าวต่อไปที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งของการทำงาน เนื่องจากโปรแกรม Maya ที่คุ้นเคยมาตลอด ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วในโลกของการทำวิชวลเอฟเฟกต์ การเรียนรู้โปรแกรมใหม่ที่ชื่อว่า ‘Houdini’ จึงเกิดขึ้น

“ถ้าเรามองในจุดที่ทำงานเกี่ยวกับพวกเอฟเฟกต์ มันต้องใช้โปรแกรมหนึ่งที่มันเป็นขั้นสูงขึ้นชื่อว่า ‘Houdini’ ผมก็เริ่มที่จะเปลี่ยนตัวเองมาใช้โปรแกรม Houdini เพราะผมมองว่าถ้าผมยังติดอยู่กับที่โปรแกรมที่ชื่อ Maya บางทีตลาดเขาอาจจะไม่ต้องการแล้ว เพราะเวลาเขาประกาศรับสมัคร Effect Artist เขาจะเขียนกำกับเลยว่าคุณต้องทำ Houdini เท่านั้น ผมก็เลยหันมาใช้ Houdini”

การตัดสินใจเรียนรู้เพิ่มเติมในครั้งนี้ ทำให้คุณอาร์ตได้เติบโตขึ้นไปอีกขั้นในสายงานวิชวลเอฟเฟกต์ จนกระทั่งสามารถเก็บรวบรวมประสบการณ์ทั้งในงานภาพยนตร์และโฆษณาที่ประเทศสิงคโปร์ได้มากพอ จึงตัดสินใจติดปีกให้ตนเอง บินออกจากทวีปเอเชียไปสู่ประเทศแคนาดา หนึ่งในประเทศที่มีสภาพแลดล้อมและความเป็นอยู่แตกต่างกับประเทศไทยมากที่สุดประเทศหนึ่งก็ว่าได้ แต่การมาถึงในครั้งนี้ ถือว่าคุ้มค่าหรือไม่…

“จริง ๆ แล้วต้องพูดว่าการที่เราสมัครบริษัทต่างประเทศได้ เขาจะดูก่อนว่าประสบกาณ์ทำงานของเราเพียงพอไหม เราพร้อมที่จะทำงานกับคนต่างชาติไหม สื่อสารรู้เรื่องไหม ถ้าเราสื่อสารรู้เรื่อง งั้นโอเค เราลองมาสัมภาษณ์กัน

ครั้งแรกที่ผมได้สัมภาษณ์กับหัวหน้าแผนกเอฟเฟกต์ของ MPC สาขามอนทรีออล ผมตื่นเต้นมากเพราะว่าต้องพูดภาษาอังกฤษทั้งหมดเลย เราคุยกันผ่าน Skype ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายมาก โดยส่วนมากเขาจะถามเกี่ยวกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้ว ซึ่งมันไม่ได้ยากจนเกินไป มันเป็นการสัมภาษณ์เกี่ยวกับว่า งานนี้คุณทำยังไง คุณทำอะไร แล้วคุณอยากจะทำอะไรในอนาคตถ้าเราได้ไปทำงานที่บริษัท ซึ่งผมก็ผ่านการสัมภาษณ์ในที่สุด

เมื่อผมได้ไปที่บริษัท MPC สาขามอนทรีออล ก็ถือว่าเป็นก้าวใหญ่ งานแรกที่ได้จับคือ Justice League ครับ เป็นหนังของ DC Comics ซึ่งช็อตที่ผมได้รับมอบหมายคือตอนที่ Justice League แทบจะทุกคน ต้องไปสู้กับตัวหัวหน้า เป็นช็อตที่สำคัญเลย เพราะว่ามีฉากที่ Batman ขับรถอยู่ในเมือง หลบสิ่งกีดขวางและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมา แล้วตัวอุปสรรคในเรื่องคือ ‘คริปโทไนต์’ ครับ ซึ่งมันถูกดัดแปลง เหมือนกับมันติดพิษขึ้นมา ซึ่งคริปโทไนต์มีลักษณะของคริสตัลครับ

ผมตกใจมากตอนที่เขามอบหมายงานนี้มา คือมันเป็นงานที่ท้าทายมาก ผมไปทำงานสัปดาห์แรก เพิ่งจะจบการ Training เพิ่งจะเข้าใจปลาย ๆ การทำงานของเขาเสร็จ เขาก็มอบหมายงานนี้มาให้เลย เขาบอกว่ายังไม่มีใครทำเลยนะ คุณเอาไปทำเลย ผมจึงไปทดลองทำให้เขาดูสัปดาห์หนึ่ง แล้วเขาก็รู้สึกว่าเขาชอบ คือเวลาเราทดลองทำเสร็จแล้ว เราต้องนำเสนอให้ Visual Effects Supervisor ดู พอเขาดูแล้วว่ามันเป็นไปได้ เราก็ทำต่อได้และเขาจะให้เราทำต่อเลยทั้งช็อต ผมก็เลยได้ทำช็อตที่เกี่ยวกับคริสตัลทั้งช่วงเลยของ Justice League ครับ”

Justice League

Kulapong Vaiyamugamuykul’s Showreel

Justice League

Kulapong Vaiyamugamuykul’s Showreel

ดูเหมือนว่าเส้นทางในโลกของงานวิชวลเอฟเฟกต์กำลังไปได้สวย แต่คุณอาร์ตก็ยอมรับกับ What The Fact ว่ามันต้องแลกมาด้วยอะไรหลาย ๆ อย่าง

คุณอาร์ตต้องปรับตัวให้เข้ากับการทำงาน ‘สไตล์ต่างชาติ’ ที่ทุกคนต้องทำงานร่วมกันข้ามประเทศ เพราะบริษัท MPC นี้มีสาขาทั้งมอนทรีออลและลอนดอน ซึ่งทั้งสองสาขานี้อาจเรียกได้ว่า ‘รุมกันสร้าง Justice League’ ซึ่งก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง และนอกเหนือจากความกดดันในการทำงานแล้วคุณอาร์ตยังต้องเจอกับการเหยียดเชื้อชาติทั้งในที่ทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ภาวะ Homesick หรือแม้แต่ Culture Shock

“ทุกคนเขาสงสัยว่าผมเป็นคนไทย แล้วจะทำงานได้ไหม ผมก็แค่ทำให้เห็นว่าผมทำได้”

คุณอาร์ตเล่าให้ทีมงาน What The Fact ฟังว่าในที่ทำงานนั้น เราก็แค่ต้องแสดงฝีมือให้เห็นว่าเรามีศักยภาพและทำงานได้จริง ไม่ได้แตกต่างไปจากพวกเขา แต่ในสถานที่อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ การเหยียดยังเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งคุณอาร์ตใช้วิธีแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ คือเปลี่ยนลักษณะการแต่งกายให้กลมกลืนไปกับวัฒนธรรม แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่คุณอาร์ตต้องยอมรับคือ ‘ภาวะ Homesick’

“ถ้านับระยะเวลาที่ผมไปทำที่ต่างประเทศก็คือ 6 ปีกว่า ๆ ได้ ถ้าพูดตามตรง 2-3 ปีแรก ผมก็ Homesick แล้วครับ เพราะเราต้องไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ต้องไปอยู่ท่ามกลางฝรั่งที่แทบไม่มีเอเชียเลย ถึงแม้จะมีบ้าง แต่มีน้อยและส่วนมากเป็นคนจีน บางทีเราก็ไม่สามารถที่จะไปเป็นเพื่อนสนิทกับคนจีนได้ เพราะว่าวัฒนธรรมเราอาจจะต่างกัน เวลาคนจีนเขาอยู่ด้วยกัน เขาก็ไม่ได้คุยภาษาอังกฤษ เขาก็จะคุยภาษาจีนกัน มันอาจจะทำให้เรารู้สึกเหงามากขึ้น

อีกเรื่องคือ สมมติว่าเราอยากจะกลับมาเยี่ยมเมืองไทย มันค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ยากมาก เพราะเราต้องบอกเขาก่อนล่วงหน้าว่าเราอยากจะกลับเดือนนี้นะ เราอยากจะขอหยุด 2 สัปดาห์นะ เขาก็จะไปเช็ก การเช็กก็ค่อนข้างนาน บางทีก็ 3-4 เดือนขึ้นไปกว่าที่เราจะได้กลับมาแค่ 2 สัปดาห์ ผมรู้สึกว่าการกลับมาเมืองไทยแค่ 2 สัปดาห์ เป็นอะไรที่สั้นมาก คือมันไม่ได้แก้เรื่องความเหงาของเราเลยครับ”

ทุก ๆ อย่างต้องใช้เวลา การปรับตัวเพื่อสู้กับภาวะ Homesick ของคุณอาร์ต คือการก้าวกลับมาอยู่ให้ใกล้บ้านมากขึ้นและงานที่ได้ก็คือความฝันของใครหลาย ๆ คน Spider-Man: Far From Home

งานที่เป็นความฝันของ Visual Effect Artist  ทั้งโลก

คุณอาร์ตย้ายมาที่บริษัท Luma Pictures ตามคำเชิญชวนของ Supervisor คนหนึ่ง ซึ่งบริษัทนี้ตั้งที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (ก็ถือว่าใกล้บ้านเข้ามาอีกนิดหนึ่ง)

คุณอาร์ตพูดถึงความสำคัญในการสร้าง Connection ระหว่างการทำงาน ซึ่งนอกเหนือจากการแบ่งปันความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ แล้ว ยังรวมไปถึงการมอบหมายงานที่จะทำให้ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์เติบโตตามไปด้วย

“ระหว่าง Supervisor คนนี้แหละครับที่ผมพิสูจน์มาแล้วด้วยการทำงานที่มอนทรีออลอยู่ประมาณเกือบ ๆ 10 เดือน คราวนี้ผมเลยค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าผมไปทำงานกับเขา เขาน่าจะต้องให้พาร์ตที่มันสำคัญมากกับผมแน่ ๆ

Spider-Man: Far From Home

ช็อตแรกที่ผมได้ทำเลยคือช็อตที่ ‘Molten Man’ ต้องตายครับ ซึ่งเป็นปีศาจตัวนี้เป็นตัวที่ ‘Spider-Man’ ต้องต่อสู้ด้วยในเมืองปราก แล้ว ‘Mysterio’ จะเข้าไประเบิดพลังของตัวเองจากข้างในตัวของ Molten Man ซึ่งโจทย์ของ Supervisor คือการระเบิดต้องทำออกมาเป็น ‘Shock Wave’ กินบริเวณทั้งเมือง คือไอเดียของเขามันอลังการมาก ณ เวลานั้น ความคิดแรกของผมคือนี่มันโหดมากเลยนะ”

Spider-Man: Far From Home

Kulapong Vaiyamugamuykul’s Showreel

Spider-Man: Far From Home

Kulapong Vaiyamugamuykul’s Showreel

คุณอาร์ตปลุกปั้นนั่งทำช็อตนี้อยู่ประมาณหนึ่ง ซึ่งเขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การทำเอฟเฟกต์หนึ่งในหนังที่เราเห็นกันประมาณ 3 วินาทีนี้ มีจำนวน 24 เฟรมต่อวินาที ซึ่งถ้าคำนวณออกมาแล้ว 3 วินาที เท่ากับ 72 เฟรม อาจใช้เวลาทำยาวนานถึง 7 เดือนเลยทีเดียว

“เราไม่ได้นั่งทำงานช็อตเดียวตลอดทั้ง 7 เดือน บางครั้งเรามีอยู่ในมือ 5 ช็อตพร้อม ๆ กัน แต่เขา (หัวหน้างาน) จะบริหารจัดการตารางงานให้เรา เขาจะโปรแกรมหนึ่งที่เอาไว้ดูเวลาว่าเราต้องทำอะไรบ้างในช่วงไหน โปรแกรมพวกนี้ เราสามารถเข้าไปดูได้ทุกวันเลยว่าเรามีช็อตอยู่กี่ช็อตในมือ สมมติว่าผมได้ 5 ช็อตอยู่ในมือ แล้วจะบอกว่าต้องเริ่มวันนี้จนถึงเดือนหน้า ผมก็ทำไป แล้วระหว่างนั้นผมก็มาดูช็อตอื่น ถ้าผมทำได้ ผมก็ทำไปด้วย คือจริง ๆ เขาก็ไม่ได้บังคับว่าคุณต้องทำให้เสร็จ แต่ถ้าเราทำเสร็จได้ หมายความว่า เราเป็น Artist ที่ดี ที่เราทำงานได้ถูกต้องตามเวลาที่เขาต้องการ”

ความอลังการของช็อต ‘Molten Man’ เป็นอย่างไร หลายคนอาจจะได้เห็นกันไปแล้ว ซึ่งคุณอาร์ตก็ยอมรับว่าการทำงานในช็อตนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะได้ร่วมงานกับค่าย ‘Marvel’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องของการทำวิชวลเอฟเฟกต์ การได้ร่วมงานกับค่ายนี้จึงเป็นเหมือนฝันที่เป็นจริง

“ทุก ๆ คนมีฝันที่อยากจะทำหนังฮอลลีวูด เราไม่ต้องเจาะจงก็ได้ว่าเรื่องอะไร แค่บอกว่าหนังฮอลลีวูดสักเรื่องหนึ่ง ผมว่าถ้าเป็นคนไทยที่ได้ทำละก็… โอ้โห ดีใจจนแบบแทบอยากตะโกนให้ทั้งโลกรู้ไปเลยครับ เพราะถ้าพูดตามตรง ณ เวลาในตอนนั้นที่ผมได้ทำ ผมก็ดีใจมาก ๆ

แล้วผมก็คิดย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ว่าเรายังอยากทำตรงนี้อยู่เลย แล้วเวลานี้เราได้มาทำแล้ว และเราก็ได้ทำช็อตที่มันดี ๆ ด้วย ผมก็รู้สึกภูมิใจนะ เหมือนกับว่าเราเป็นคนไทยที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไร แต่เราก็มาทำในจุดนี้ได้”

เอฟเฟกต์ที่ทำยากที่สุดและอีกหนึ่งความฝันที่เป็นจริง

คุณอาร์ตได้เปิดเผยกับทีมงาน What The Fact ว่า เขามีความฝันในการทำงานด้านวิชวลเอฟเฟกต์อยู่ 3 อย่าง หนึ่งคือการได้ไปทำงานต่างประเทศ สองคือการได้ทำหนังของ Marvel และสามคือการได้ทำหนังเรื่อง Star Wars

แต่ก่อนที่ความฝันจะเป็นจริงนั้นก็ต้องผ่าน ‘คลื่นยักษ์’ ไปก่อน

คุณอาร์ตเล่าให้ฟังว่าในการทำเอฟเฟกต์นั้นมีหลายอย่าง เช่น ควัน ไฟ ระเบิด น้ำ เป็นต้น ซึ่งศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์แต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในแต่ละเอฟเฟกต์แตกต่างกันไป ซึ่งคุณอาร์ตก็ยืนยันกับทาง What The Fact ว่า “การทำ Simulation เกี่ยวกับน้ำเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเลย”

เนื่องจากธรรมชาติของน้ำมีหลาย ‘เลเยอร์’ มาก คุณอาร์ตอธิบายเพิ่มเติมว่า

“สมมติว่าเราต้องทำทะเลขึ้นมา อย่างแรกเลยคือเราต้อง Simulate ตัวที่เป็นน้ำตัวหลักมาก่อน สมมติว่าเราได้น้ำที่เป็นตัวหลักมาแล้ว ได้รูปร่างที่มันเป็นคลื่นมาแล้ว หลังจากนั้นเราต้อง Simulate ส่วนที่เป็นโฟม มันก็จะคล้าย ๆ กับฟองสีขาว ๆ ออกมา อันนั้นก็เป็นอีกเลเยอร์หนึ่ง พอได้โฟมมาเสร็จ โฟมอาจจะแตกออก คล้าย ๆ กับหมอก เขาจะเรียกเป็น Mist ซึ่งเกิดจากการที่โฟมสัมผัสกับอากาศ มันจะสลายกลายเป็นหมอกขาว ๆ แล้วก็เป็นอีกเลเยอร์หนึ่ง 

แล้วเราลองคิดภาพว่า ถ้าทะเลมันกว้าง ๆ มันมีคลื่นเกิด 10 แห่งทั้งฉาก ตรงนั้นก็จะเป็นส่วนที่ยากมากเพราะว่ามันจะใช้เวลานานมากในการคำนวณทั้งหมดออกมา แล้วการทำน้ำ เวลาเรา Simulate เสร็จก็ไม่ใช่ว่างานมันจบนะครับ

เราก็ต้องมาคิดถึงในเรื่องการ Render ด้วย การ Render คือการที่เราประมวลผลสิ่งที่เรา Simulate ออกมาให้มันดูแล้วเหมือนน้ำจริง ๆ ให้ดูว่าสวยที่สุด ซึ่งพอเราได้ตัว Particle (อนุภาค) เราก็ต้องเปลี่ยนมันกลับมากลายเป็นลักษณะของพื้นผิว เราสามารถเห็นเป็นรูปร่างของคลื่นน้ำได้ แล้วพอเราได้รูปร่างของคลื่นน้ำ เราก็ต้องใส่สิ่งที่เรียกว่า Shading ให้มันรู้สึกว่ามันคล้ายๆ กับน้ำนะ มีความใสนะ แล้วเราอาจจะต้องใส่โฟมเข้าไปบนตัวน้ำอีก

มันมีสิ่งที่ต้องทำเยอะมากครับ การทำ Simulate น้ำออกมา แล้วการจะทำให้มันสวยเนี่ย มันเป็นเรื่องที่ยาก”

Kulapong Vaiyamugamuykul's Showreel

Kulapong Vaiyamugamuykul’s Showreel

Kulapong Vaiyamugamuykul's Showreel

Kulapong Vaiyamugamuykul’s Showreel

หลังจากเสร็จงานกับค่าย Marvel คุณอาร์ตก็ได้ทำผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาเล่น ๆ เก็บไว้ในพอร์ตฟอลิโอของเขา ประกอบกับการเก็บรวบรวมประสบการณ์มานานปี คุณอาร์ตจึงส่งใบสมัครงานไปยังบริษัทที่เขาใฝ่ฝันมาตลอดชีวิต บริษัทที่เขาเคยถูกคนอื่นตราหน้าว่า ไม่มีทางเป็นไปได้…

ในระหว่างการสัมภาษณ์ที่บริษัทแห่งนี้ คุณอาร์ตได้โชว์ผลงานที่เขาทำขึ้น มีลักษณะเป็น ‘คลื่นยักษ์’ คล้ายสึนามิที่ดูมีความยิ่งใหญ่ มีความรุนแรง และช็อตนี้เองที่นำพาคุณอาร์ตมาสู่จักรวาลอันไกลโพ้น บริษัท Industrial Light & Magic บริษัทลูกของ Lucasfilm ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง Star Wars

“พอผมได้โอกาสสัมภาษณ์บริษัทนี้ แล้วเขาบอกว่าคุณได้งานนะ แม้ว่ามันจะมีข้อแม้อื่นอยู่บ้าง และผมรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่เสี่ยงกับผม แต่ผมก็มองว่ามันคือฝันของผมแล้ว ผมอยากจะทำให้มันสำเร็จให้ได้ ผมก็เลยเลือกก้าวไปที่บริษัทนี้

จริง ๆ การสัมภาษณ์งานต่างประเทศ เขามักจะไม่บอกว่าคุณจะได้ทำอะไร จนกว่าคุณจะเข้าไปทำแล้วจริง ๆ พอเขาบอกว่าผมได้ทำ Star Wars ผมแบบโอ้โห มันยิ่งใหญ่มาก แล้วเขาจะให้เราดูหนังคร่าว ๆ ก่อน มันจะเรียกว่า Edit Version เป็น Version ที่เขาให้ดูว่าเรื่องราวมันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วพาร์ตที่เขาบอกว่า ผมจะได้ทำ คือส่วนที่อยู่ในตัวอย่างของหนังนะครับ

Star Wars: The Rise of Skywalker

Kulapong Vaiyamugamuykul’s Showreel

หลายคนอาจจะได้เห็นในตัวอย่างแล้ว มันจะเป็นช็อตที่ ‘เรย์’ ต่อสู้กับ ‘ไคโล เรน’ แล้วก็ฉากด้านหลังเป็นน้ำ เป็นทะเลที่บ้าคลั่งครับ คือถ้าพูดตามตรง Supervisor เขาอธิบายว่ามันเป็นฉากที่ทะเลมันบ้าคลั่ง แล้วก็มีพายุพัด เหมือนกับว่ามีโฟม มีอะไรเต็มไปหมดเลยครับ พอผมได้เข้าไปสัมผัสตรงนี้ ผมก็โอ้โห มันเป็นอะไรที่ท้าทายมาก ๆ”

Play video

“ชีวิตแทบจะสำเร็จหมดแล้ว ความฝันเป็นจริงหมดแล้ว อยากทำอะไรต่อ?” ทีมงานของ What The Fact ถามขึ้น

“ผมอยากกลับบ้านครับ” คุณอาร์ตตอบ

“เหตุผลหนึ่งที่ผมอยากกลับมาเมืองไทย อาจจะเป็นเรื่องครอบครัว เรื่องที่ผมรู้สึกว่าผมคิดถึงบ้าน และอีกอย่างหนึ่งคือผมอยากที่จะมาแชร์สิ่งที่ผมได้สัมผัสมาให้กับคนไทยที่เขามองว่า เขาอยากไปทำจุดนี้เหมือนกัน ผมรู้สึกว่า ณ เวลานั้น ก่อนที่ผมจะออกไป มันเป็นสิ่งที่ยากมาก ผมหาข้อมูลเกี่ยวกับการไปทำงานต่างประเทศได้น้อยมาก คือมันมีคนที่ไปทำงานต่างประเทศเยอะ แต่ว่าคนที่ไปทำงานทางด้านวิชวลเอฟเฟกต์ไทยมันมีน้อย แล้วก็เรื่องเทคนิคการทำงานด้วยครับ สิ่งที่ผมได้รับมาจากแต่ละที่ ผมอยากจะมาแชร์ให้คนไทยได้สัมผัส ได้รู้กันครับ”

สิ่งที่ได้จากการไปทำงานต่างประเทศ

การไปทำงานต่างประเทศและทำงานร่วมกับคนหลากหลายเชื้อชาติ คุณอาร์ตจึงได้รับประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเวลาการเข้างาน ที่ทุกคนรักษาเวลาอย่างมาก การทำงานนอกเวลาที่แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย หากไม่มีเหตุจำเป็น และการแบ่งปันความรู้ให้แก่กัน ซึ่งถือว่าเป็นความลับเฉพาะบริษัท

“ผมอยากแบ่งปันความรู้และเทคนิคที่ผมได้รับมาครับ” คุณอาร์ตตอบ

สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงวงการวิชวลเอฟเฟกต์ของไทย

“เวลาครับ ผมว่ามันน้อยไป

จริง ๆ แล้วเรื่องเวลาของการทำงานที่ได้มา มันสำคัญมาก ๆ ครับ คือผมกล้าพูดอย่างหนึ่งว่า ต่อให้เป็นบริษัทต่างประเทศ ถ้าเขาได้เวลาน้อยมาก ๆ เขาก็กลัวนะครับ เขาก็มีงานด่วนแบบได้เวลาทำเดือนเดียว เขาก็ไม่มั่นใจว่าเขาจะทำกันได้ เพราะฉะนั้นเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ

ผมอยากให้เข้าใจว่าการทำเอฟเฟกต์ดี ๆ ขึ้นมางานหนึ่ง มันจำเป็นที่จะต้องมองเรื่องระยะเวลาให้กับทีมโปรดักชันเขามากขึ้น เราไม่สามารถจะทำงานดี ๆ ได้ภายในเดือนสองเดือน คือมันทำได้ครับ แต่มันทำได้ในเกณฑ์ที่เรียกว่ารับได้ดีกว่า มันก็เลยมีงานที่อาจจะทำให้คนรู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมมันเหมือนกับมันไม่สมบูรณ์นะ มันเป็นเพราะว่าเร่งครับ เวลาเราเร่งทุกอย่างก็มีพลาด

แล้วเวลาเราทำอะไรให้มันเสร็จเร็วที่สุด มันก็เหมือนเวลาเราเขียนหนังสืออะครับ ถ้าเรารีบเขียน มันก็ออกมาไม่สวย

ถ้าเป็นไปได้ ถ้าผมมีโอกาสได้ช่วยวงการเอฟเฟกต์ไทยให้มันดีขึ้น ผมอยากจะแชร์เทคนิคที่ผมได้เรียนรู้มา หรือที่เขาเรียกว่า Pipeline (ขั้นตอนการทำงาน) ที่ผมได้สัมผัสมา อยากให้คนไทยได้รู้ แล้วเอามันมาประยุกต์ใช้กับการทำงานครับ”

‘อาร์ต’ กุลพงษ์ ไวยามัจมัยกุล ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์ชาวไทย

‘อาร์ต’ กุลพงษ์ ไวยามัจมัยกุล ศิลปินวิชวลเอฟเฟกต์ชาวไทย

ภาพยนตร์เรื่อง Star Wars: The Rise of Skywalker เข้าฉายวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ถ้าใครไม่รีบลุกออกจากโรง อย่าลืมมองหาชื่อ ‘กุลพงษ์ ไวยามัจมัยกุล’ ในเครดิตท้ายเรื่องด้วยนะคะ

อ่านรีวิว Star Wars: The Rise of Skywalker ของ What The Fact ได้ที่นี่เลย