จิตใจของฆาตกรหรืออาชญากรเป็นอีกโลกหนึ่งที่หนังและซีรีส์ฮอลลีวูดชอบเข้าไปสำรวจ นัยหนึ่งเพราะเป็นโลกที่รังสรรค์ตัวละครคาแรกเตอร์โรคจิตสุดหลอน (ลองนึกถึงโจ๊กเกอร์หรือทูเฟซ มนุษย์สองหน้า ตัวละครจากคอมิก Batman) จากเหตุการณ์จริงที่ทำให้เรื่องราว-ตัวละครสมจริง ทั้งที่เกิดจากกจิตที่ผิดเพี้ยนก่อให้เกิดเหตุฆาจกรรมของคนเหล่านี้ต่อเหยื่อมากมาย และอีกนัยหนึ่งก็เป็นโลกที่ผู้ชมทั่วไปสงสัยใคร่รู้ว่า เหตุใดอาชญากรเหล่านั้นถึงได้ก่อคดีหฤโหดขึ้นมาได้ ที่มาที่ไปของพวกเขาก่อนจะมาเป็นอาชญากรนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุใด (อ่าน 10 ฆาตกรต่อเนื่องสุดโหดในประวัติศาสตร์ (ที่ไม่เคยได้รับการปล่อยตัว) ได้ที่นี่)
เรื่องราวดัดแปลงจากหนังสือ “Mind Hunter: Inside FBI’s Elite Serial Crime Unit” ของ John E. Douglas และ Mark Olshake ซึ่งในชีวิตจริงเคยเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์พฤติกรรมคนร้ายของ FBI ที่ช่วยจับฆาตกรและคนร้ายในคดีสำคัญมากมาย หนังมี Producer หรือผู้ควบคุมการสร้างระดับเจ้าพ่อหนังอาชญากรรมระทึกขวัญอย่าง David Fincher (Gone Girl, Zodiac, SE7EN) และนางเอกออสการ์ Charlize Theron (บทที่ทำให้เธอได้รับรางวัลออสการ์นำหญิงคือ บทอาชญากรหญิงที่มีตัวตนจริงอย่าง Aileen ในหนัง Monster (2003)) ผู้สร้างอย่าง Joe Penhall ผู้เขียนบทหนังโลกหลังวันล่มสลายชวนหดหู่อย่าง The Road (2009) และเหล่าผู้กำกับหนังและซีรีส์ชั้นนำที่ชวนเครียดและชวนลุ้นมากมายตามรายนามข้างต้น นี่คือหนังตามล่าเหล่าอาชญากรที่มีความคิดยากเกินหยั่งถึง ต้องใช้สมองมากกว่ากำลังไปตามจับ ถ้าเป็นคอหนังสืบสวนและหนังอาชญากรที่มีตัวละครอย่าง Hannibal Lector ในนิยายของ Thomas Harris เป็นตัวหลักของเรื่องแล้วละก็ ย่อมจะชื่นชอบซีรีส์นี้ได้ไม่ยาก
ทีมงานทั้งหมดที่เป็นระดับตัวท็อปของวงการร่วมกันผลิตซีรีส์ที่บอกเล่า เรื่องราวของหน่วย BAU (Behavioral Analysis Unit) หน่วยงานที่ถือกำเนิดคำว่า “ฆาตกรต่อเนื่อง” (Serial Killer) ขึ้นจริงในแวดวงสืบสวนสอบสวนของโลกใบนี้ หน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมอาชญากรใน FBI (มีบทบาทโดยตรงในซีรีส์ Criminal Minds (2005-ปัจจุบัน) ของช่อง CBS, ซีรีส์ Hannibal (2013-2015) และหนัง Silence of the Lambs (1992)) เพียงแต่เรื่องนี้จะเป็นการเล่าย้อนไปที่จุดเริ่มต้นการบุกเบิกหน่วยงานในยุค 70 เจ้าหน้าที่ Holden Ford (Jonathan Groff) อาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงที่ให้ความสนใจกับพฤติกรรมของอาชญากรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้าย (ในขณะที่ FBI เวลานั้น มักจะให้ความสำคัญกับการไล่ล่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นไปแล้ว มากกว่าป้องกันไม่ให้เกิด) ต้องมาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่่รุ่นเก๋า Bill Tench (Holt McCallany) ที่พอจะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้อยู่บ้าง และอาศัยโอกาสที่เขาต้องไปสอนหนังสือให้เจ้าหน้าที่ FBI ใตามสถานีตำรวจทั่วสหรัฐฯ ฟัง Bill จึงหนีบ Holden ไปเพื่อเผยแพร่แนวคิดนี้ด้วย ส่วนในช่วงครึ่งหลัง ซีซันแรก ทีมก็ได้ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยใน Boston Dr.Wendy Carr (Anna Tov) มาร่วมทีมด้วย
ในซีซันแรกนั้น ซีรีส์นำเสนอเรื่องราวของ “ฆาตกรต่อเนื่อง” มากมาย ซึ่งเป็นตัวเอ้ของชาวอเมริกันที่ได้ติดตามบนหน้าหนังสือพิมพ์ในยุค 1960s-1970s เช่น “Co-ed Killer” Edmund Kemper (Cameron Britton) ผู้สังหารเหยื่อกว่า 10 รายรวมถึงย่าและแม่ของตัวเองก่อนจะมีเพศสัมพันธ์กับศพที่เขาฆ่า “The Lust Killer” Jerry Brudos (Happy Anderson) ฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกเลี้ยงดูมาจากแม่ที่อยากได้ลูกผู้หญิงและบ้ารองเท้าผู้หญิงเป็นชีวิตจิตใจ
ซีรีส์นำเสนอชีวิตของ Ford ออกมาในแง่มุมของการดำเนินชีวิตอย่างมั่นใจทั้งในการทำงาน (ที่ต้องเผชิญกับการสัมภาษณ์ฆาตกรตัวเอ้มากมาย ซึ่งก็ทำให้เขาเกิดภาวะทางจิตตามไปด้วยอย่างไม่รู้ตัว) และกับความรัก ซึ่งก็ทำให้เขาหุนหันพลันแล่น ทะเยอทะยานและมั่นใจในตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ จนเลือกจะใช้วิธีที่เลวร้ายเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งเพื่อนร่วมงานทั้งสองคน Bill และ Dr.Vendy ไม่เห็นด้วย จนเกือบส่งผลให้หน่วยงาน BAU ต้องจบลง
คนดูจะสัมผัสได้ถึงจังหวะการเล่าเรื่องไปจนถึงโทนสีที่หนังเลือกใช้ ซึ่งเป็นสไตล์ที่มีลายเซ็นที่โดดเด่นมากของ David Fincher ใกล้เคียงที่สุดที่หนัง Zodiac (2007) ที่บทสรุปของเรื่องก็เลือกจะเล่าตามความเป็นจริง ในกรณีที่ฆาตกรยังลอยนวลและทางการไม่อาจทำอะไรได้
ส่วนซีซันสอง เริ่มต้นด้วยการให้หน่วย BAU เข้าไปเกี่ยวข้องกับ BTK (Bind, Torture and Kill) Killer ที่ทิ้งเชื้อไว้ตั้งแต่ปีแรก (ด้วยการหยอดเรื่องราวที่มาและพฤติกรรมประหลาดของ BTK Killer หรือ Dennis Rader ซึ่งเมื่อมาถึงเหตุการณ์ตามท้องเรื่องในปี 1979-1980 นั้น เขาก็ได้สังหารไปแล้วถึง 7 ศพ (จากทั้งหมด 9 ศพจนถึงปี 1991 และถ้าไม่ถือเป็นการสปอยล์ซีซันหน้า ๆ เพราะ search เอาได้จาก Google อยู่แล้ว ฆาตกรรายนี้กว่าจะถูกจับก็ปี 2005 ถือเป็นการลอยนวลที่ยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ ซึ่งก็น่าสนใจว่าซีรี่จะนำเสนอออกมายังไงให้เวลาตามท้องเรื่องกินระยะเวลายาวนานขนาดนั้น)
ฆาตกรต่อเนื่องประจำซีซันที่น่าสนใจได้แก่ Berkowitz ฆาตกรฉายา Son of Sam ที่สังหารไป 6 ศพ (ยอมรับสารภาพแค่ 3) โดยอ้างว่า ถูกปิศาจที่อยู่ในร่างของสุนัขข้างบ้านเป็นสิ่งควบคุมให้เขาก่อเหตุ William Pierce ฆาตกรที่ฆ่าข่มขืน 9 ศพ หนึ่งในนั้นเป็นเด็กสาวอายุ 13 ปี Elmer Wayne Henley Jr. รายนี้เคยตกเป็นเหยื่อถูกชายชื่อ Dean Corll ล่อลวง ก่อนที่เขาจะกลายเป็นผู้ร่วมมือกับชายคนนั้นเสียเอง นำเด็กชายซึ่งเป็นรุ่นน้องในโรงเรียนไปเป็นเหยื่อฆ่าข่มขืนไม่น้อยกว่า 28 ราย ก่อนที่เขาจะลงมือสังหาร Dean Corll เเองในท้ายที่สุด William Henry Hance สังหารโสเภณีทั้งผิวขาวและผิวดำไป 4 ศพ สิ่งที่น่าสนใจและซีรีส์นำเสนอออกมาได้ดี คือ คนทั่วไปมักตั้งคำถามว่า ทำไม เพราะอะไรฆาตกรจึงกระทำการเหนือสำนึกผิดชอบชั่วดีหรือศีลธรรมไปได้ขนาดนั้น ซึ่งซีรีส์ได้อธิบายให้เห็นว่า เราไม่อาจใช้มาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรมเดียวกันได้กับพวกเขาได้เลย
ฆาตกรที่โดดเด่นที่สุดและถูกเอ่ยนามมาตั้งแต่ปีแรก ในเนื้อเรื่องที่ รอง ผอ. ของ FBI ถึงกับถาม Holden ว่าฆาตกรรายไหนที่คุณอยากสัมภาษณ์มากที่สุด? Holden ก็ตอบออกมาเลยว่า Charles Manson นี่คือ ฆาตกรที่ถูกจับทั้งที่ไม่ได้ลงมือฆ่าเหยื่อถึง 8 รายเอง แต่ได้ชักจูง (บวกกับให้เสพยาเสพติด) วัยรุ่นสมองดีการศึกษาดีถึง 5 รายให้ลงมือฆ่าแทนตัวเขา เขาหว่านล้อมด้วยความเชื่อทางลัทธิต่อต้านสังคม คดีอาชญากรรมช็อกโลกก็คือการให้วัยรุ่นบุกไปฆ่า Sharon Tate นักแสดงสาวชื่อดังขณะท้อง 8 เดือน ภรรยาของ Roman Polanski (ผู้กำกับ Chinatown (1974), The Pianist (2002)) ขณะที่เดินทางไปต่างประเทศ (เป็นเหตุการณ์ในหนัง Once Upon a Time in Hollywood (2019) ซึ่งก็ได้นักแสดง Damon Herriman มารับบทนี้เช่นเดียวกันกับในซีรีส์)
จนมาถึงครึ่งหลังของซีซัน 2 ซีรีส์มาเน้นคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญเยาวชนผิวสีของเมือง Atlanta รัฐ Georgia (Atlanta Child Murder Case) จำนวนไม่น้อยกว่า 28 ราย ในช่วงแรกที่ Holden พยายามเข้าไปช่วยโดยใช้หลักพฤติกรรมศาสตร์นั้น ยังมีผู้เสียชีวิตแค่ 6 ราย เทศมนตรีแสดงเจตนาชัดเจนไม่ให้ FBI เข้ามายุ่ง เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองที่กำลังจะเปิดตัวสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้นต้องด่างพร้อย แต่เมื่อนับวันจำนวนศพเด็กเริ่มเพิ่งสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ Holden กลับมานำทีมสืบสวนอีกครั้ง เทศบาล ตำรวจของรัฐ รวมไปถึงเหล่าแม่ของผู้เสียหายปักใจเชื่อว่าเป็นการกระทำของคนผิวขาวท่ามกลางกระแสเหยียดสีผิวในเวลานั้น เทศมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของคนผิวสีก็กลัวผลกระทบคะแนนเสียงหากผลออกมาว่าฆาตกรเป็นพวกเดียวกัน เมื่อพบผู้ต้องสงสัยผิวขาวจากเหตุที่ไม่น่าสงสัยต่าง ๆ Bill และตำรวจก็จะเสียเวลาไปกับการตามล่า แต่ Holden ยืนยันตั้งแต่ครั้งแรกๆ ว่าฆาตกรต่อเนื่องเป็นคนผิวสีด้วยกันจากหลายเหตุผลทางพฤติกรรมศาสตร์
Mindhunter ทั้ง 2 ซีซันคือ งานละเอียดของทุกคนที่มีส่วนร่วม โดยเฉพาะ David Fincher ที่ใส่ใจตั้งแต่ข้อมูลเบื้องหลังคดีต่าง ๆ ที่สะท้อนปมหลายอย่าง บทสนทนาต่าง ๆ ที่น่าฟัง (ระดับที่เคยถ่าย The Social Network (2010) ฉากเดียวเป็นร้อยเทคก็ทำมาแล้ว!) คอประวัติศาสตร์คดีฆาตกรรมดังในสหรัฐฯ ก็น่าจะชอบเช่นกัน และทำให้เห็นว่า วิธีการสอบสวนและเรียนรู้ฆาตกรของสหรัฐฯ ละเอียด ซับซ้อน เข้มข้น และลงลึก มากไปกว่าการหาตัวฆาตกรและจับมาลงโทษ (แล้วก็ปล่อยออกมาในที่สุดเหมือนในบางประเทศ) ซีรีส์คุมโทนบรรยากาศชวนหดหู่ไว้ได้ตลอดอย่างเอาอยู่ ชนิดที่ถ้าดูต่อเนื่องรวดเดียวก็อาจมีอาการจิตตกไปด้วยเหมือนกัน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส