Our score
3.6Stray : ผีอยากเป็นลูกคน
จุดเด่น
- ตัวแสดงเด็กดี ถ่ายทอดความน่ากลัวจากสีหน้าสายตา
- วางปริศนาที่มาของเด็กนรกให้ชวนใคร่รู้
จุดสังเกต
- ไม่มีความน่ากลัวแม้แต่น้อย
- ซีจีกาก
- เป็นหนังที่ไร้เหตุผลสมควรที่สุดในรอบปีนี้
- บทเฉลยตัวตนของเด็กนรก หลุดโลกมา
-
คุณภาพบทภาพยนตร์ ความสมเหตุสมผล
1.0
-
ฝีมือ และคุณภาพนักแสดง
6.0
-
ความสนุก ชวนติดตาม
6.0
-
คุณภาพงานสร้าง
5.0
-
ความคุ้มค่า เวลา + ค่าตั๋ว
0.0
การที่มีหนังจากรัสเซียมาเข้าฉายในบ้านเรา ก็นับว่าเป็นประเด็นให้น่าสน ว่าน้านนานจะมีหนังจากรัสเซียมาสักเรื่อง ก็ย่อมเป็นหนังที่มีอะไรดี ถ้าไม่กวาดรางวัลในบ้านมาเพียบ ก็ต้องทำเงินถล่มทลายถึงได้นำออกไปขายตลาดต่างประเทศ เช่นเดียวกับ Stray หรือชื่อรัสเซียว่า Tvar แปลว่า “สิ่งมีชีวิต” ดัดแปลงมาจากนิยายระทึกขวัญ ผลงานประพันธ์ของ ‘แอนนา สตราโรบิเนท ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น สตีเฟน คิง แห่งรัสเซีย ตัวเธอเพิ่งได้รางวัล ผู้ประพันธ์ยอดเยี่ยม จากเวที European Science Fiction Award ปี 2018 มาได้ด้วย
ส่งผลให้ Stray เป็นหนังสยองขวัญรัสเซียเรื่องแรกที่ที่สามารถขายไปได้ถึง 30 ประเทศ ฟังดูดีนะครับ ว่าหนังน่าจะให้รสชาติแปลกใหม่กว่าหนังสยองขวัญฮอลลีวูดที่สร้างกันออกมาแทบล้นตลาด แล้วก็เป็นไปตามคาดครับ Stray แปลกใหม่จริงครับ มันคือหนังสยองขวัญที่ไม่มีฉากสยองเลย ไม่มีฉากไหนที่ชวนให้ลุ้นระทึกอย่างที่คุ้นเคย ว่าเดี๋ยวจะต้องตกใจ หรือชวนให้ต้องเอามือปิดตา ไม่ได้ตกใจสักเฮือกจนอยากได้ฉากตุ้งแช่มาสักจึ้กหนึ่ง ทั้งที่พลอตเรื่องเปิดโอกาสให้ใส่ฉากสยองได้มากมาย
เนื้อหาของหนังก็ต้องบอกว่าไม่แปลกใหม่ เป็นพลอตที่ฮอลลีวูดสร้างกันมาไม่รู้กี่ครั้งแล้วกับการที่คู่สามี-ภรรยา ไปรับอุปการะเด็กกำพร้ามา แล้วกลายเป็นเด็กนรก อิกอร์ และพอลีนา เสีย “วานยา” ลูกชายวัย 6 ขวบ ไปด้วยอุบัตเเหตุรถยนต์ ผ่านมา 3 ปี พอลีนายังคงซึมเศร้าทำใจกับความสูญเสียไม่ได้ อิกอร์จึงพาพอลีนาไปสถานดูแลเด็กกำพร้าเพื่อให้เลือกรับเด็กชายสักคนมาอุปการะ มีเด็กให้เลือกมากมายแต่พอลีนาก็เจาะจงเลือกเด็กชายประหลาด และยิ่งกว่าประหลาดก็คือเด็กชายคนนี้ เป็นเด็กตัวเล็ก รูปร่างหน้าตาน่ากลัว ผิวขาวซีด ศีรษะล้าน เนื้อตัวไม่มีขนสักเส้น ไม่พูด แต่ส่งเสียงขู่แบบสัตว์ร้าย แถมมีเขี้ยวแหลมน่ากลัว ที่สำคัญเด็กชายคนนี้อยู่ในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ชายในสถานสงเคราะห์ฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปืนจ่อกบาลตัวเอง
ตรงนี้ล่ะครับที่อยากจะ เฮ้อออออ ออกมาดัง ๆ หนังไม่พยายามอธิบายเหตุผลอะไรแม้แต่น้อยว่าทำไมพอลีนาถึงจะต้องเจาะจงเอาเด็กน่ากลัวคนนี้กลับบ้าน ทั้งที่น่ากลัว แล้วก็อยู่ในที่เกิดเหตุมีคนตาย ทั้งแม่ชี และตำรวจก็คัดค้านว่าอย่าเอาเด็กคนนี้ไปเลย มันคือแผลรุนแรงมากสำหรับหนังสักเรื่อง ถ้าเปิดเรื่องด้วยประเด็นสำคัญแล้วไร้ซึ่งเหตุผลสมควร มันก็เลยสร้างความตะขิดตะขวงตั้งแต่ต้นเรื่อง แล้วบทหนังก็ยังไม่สามารถทำให้คนดูคล้อยตามไปกับการกระทำขวางโลกของพอลีนาได้ พอเอามาเลี้ยงเด็กนรกก็ยังคงมีกิริยาเยี่ยงสัตว์ร้าย อิกอร์ไม่เห็นด้วย และขอร้องให้พอลีนาคืนเด็กกลับไปที่สถานสงเคราะห์แต่เธอก็ยืนกรานว่าจะเก็บเด็กไว้ แถมยังตั้งชื่อเด็กน้อยว่า “วานยา” ตามชื่อลูกที่เสียไป
หนังก็เดินเรื่องตามแบบนิยมของหนังสยองขวัญ ด้วยการให้อิกอร์สืบหาเบื้องลึกเบื้องหลังของเด็กนรกรายนี้ และหาคำตอบว่าทำไมผู้ดูแลถึงฆ่าตัวตาย ก็นับว่าเป็นปริศนาที่วางไว้ให้เราใคร่รู้คำตอบถึงที่มาของเด็กนรก ซึ่งคำตอบก็ถือว่าแปลกใหม่จากหนังฮอลลีวูด เพราะว่าคำอธิบายถึงตัวตนของเด็กนรกนั้นพาเอาหลุดโลกกันไปเลย ซึ่งแปลก แต่ไม่รู้สึกเหวอหรืออึ้ง ก็ไม่รู้ว่าปัญหาที่เกิดกับหนังนี้มีมาตั้งแต่ต้นฉบับที่เป็นนิยายหรือมีการเสริมเติมแต่งโดย โอลก้า โกโรเด็ตสกายา ผู้กำกับหน้าใหม่ที่เหมารวมตำแหน่งดัดแปลงนิยายมาเป็นบทภาพยนตร์เองด้วย แต่ปัญหาหลัก ๆ ของโอลก้า เลย คือเขาไม่สามารถสร้างบรรยากาศสยองให้กับ Stray ได้แม้แต่นิดเลย สร้างหนังสยองแต่ไม่มีความน่ากลัวเลย ก็ถือว่าสอบตกอย่างไม่น่าให้อภัยแล้วล่ะครับ เอาว่าไม่ใช่แค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวที่ไร้เหตุไร้ผล แต่ในเรื่องยังมีอีกมาก แต่หยิบมาพูดถึงไม่ได้เพราะเป็นการสปอยล์
อีกจุดที่รู้สึกยี้มาก คือมาตรฐานซีจีของหนัง ทำออกมาแบบนี้แล้วเห็นได้ชัดว่าวิทยาการงานวิชวลเอฟเฟกต์ของรัสเซีย ตามหลังจีนอยู่ห่างไกลเลย ฉากโชว์ซีจียาวหลายวินาที แล้วไม่ใช่โชว์แบบมืด ๆ นะ แต่วางกันสว่าง เต็มจอให้เห็นจะ ๆ กันไปเลย ว่างานของฉันกากขนาดไหน ทำไมกล้าอวดขนาดนั้นนะ
จะหาตรงไหนมาชื่นชมหนังได้บ้างนะ เอาเป็นงานแสดงแล้วกัน ตัวพ่อแม่น่ะพอผ่าน ๆ ไปได้ ไม่มีฉากต้องโชว์ความสามารถในการแสดงอะไรมากมายนัก แต่ที่น่าชื่นชมคือตัวเด็กนรกนั่นแหละ ที่ต้องใส่พัฒนาการเข้าไปในตัวเองเยอะ ตั้งแต่เป็นเด็กนรกวิ่งและเดินแบบ 4 ขา กลายมาเป็นผู้เป็นคนมากขึ้น แต่งตัวดี มีผมเผ้าและเริ่มพูดคุยสื่อสารกับพ่อแม่อุปการะ หลาย ๆ ฉากต้องสื่อความชั่วร้ายผ่านทางสายตา นับว่าบทนี้แบกรับภาระหน้าที่สำคัญของหนังเลยล่ะ
ขอสรุปสั้น ๆ ว่า ปล่อยผ่าน ๆ ไปเลย การใช้เวลาไปกับ Stray เป็นประสบการณ์ด้านลบของชีวิต แค่ 90 นาที ยังรู้สึกยาวนาน ไม่แนะนำแม้กระทั่งดูฟรีผ่านสตรีมมิง