สร้างกระแส “เสียงแตก” ในหมู่นักวิจารณ์และคนดูอยู่เสมอ สำหรับผลงานของผู้กำกับ “เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” กับผลงานภาพยนตร์ลำดับที่ 7 “ฮาวทูทิ้ง” ที่กำลังเข้าฉายอยู่ในขณะนี้ก็เช่นเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นที่ 2 ที่เต๋อกำกับภายใต้ชายคาของ GDH (GTH เดิม) ซึ่งห่างจากเรื่องแรก “ฟรีแลนซ์ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” เมื่อปี 2558 หรือ 5 ปีที่แล้ว (หากนับภาพยนตร์สารคดี Girl’s Don’t Cry เรื่องของศิลปินวง BNK48 ที่เต๋อผลิตเองแต่ GDH จัดจำหน่ายให้ ฮาวทูทิ้งจะเป็นเรื่องที่ 3) ซึ่งทั้งฟรีแลนซ์และฮาวทูทิ้งก็ได้พระเอกตัวท็อปของค่ายอย่าง “ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์” มารับบทพระเอก
จากกระแสปากต่อปากที่คำวิจารณ์ในทางลบสำหรับกลุ่มคนดูทั่วไปมักจะเสียงดังกว่าผู้ที่ชื่นชอบเสมอ ก็ทำให้รายได้ในสัปดาห์ที่ 2 ของหนังในเขตกรุงเทพและจังหวัดเชียงใหม่ (นับถึงวันที่ 2 มกราคม 2563 จากเพจชมรมวิจารณ์บันเทิง) ที่ 41 ล้านบาท ซึ่งคงจะปิดโปรแกรมได้อย่างเต็มที่ประมาณ 60 ล้านบาท ก็ยังห่างจากความสำเร็จทางรายได้ของฟรีแลนซ์ที่ทำไว้ 80 ล้านบาท
แม้ว่าที่สุดแล้ว หนังอาจจะบันเทิงสำหรับคนดูเฉพาะกลุ่ม (สำหรับคอหนังที่เคยดูหนังของเต๋อ นวพล จะเข้าใจนิยาม “หนังของเต๋อ” ได้เป็นอย่างดีว่าสไตล์การนำเสนอของเขาเป็นอย่างไร) หรือ “ทำงาน” กับคนดูที่มีประสบการณ์ชีวิตตรงกับเหตุการณ์อย่างเดียวกับตัวละครในเรื่อง (อ่านรีวิวฉบับเต็มของฮาวทูทิ้งได้ที่นี่) แต่สำหรับคนที่ชื่นชอบแล้ว ก็มักจะเทคะแนนให้อย่างเช่น นักเขียนสองรางวัลซีไรต์อย่าง “วินทร์ เลียววาริณ” ที่เขียนไว้ในบทวิจารณ์บนเพจของตัวเอง โดยให้คะแนนหนัง 9.5/10 รวมถึงยกให้เป็น “1 ใน10 หนังที่ชอบที่สุดของปี 2019” ของเขาอีกด้วย
โดยใจความสำคัญของบทวิจารณ์ของคุณวินทร์นั้นได้กล่าวถึงฮาวทูทิ้งไว้ว่า
“…Minimalism ในเรื่องนี้เป็นเพียงธีมหรือเครื่องมือในการเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวละครหลายคนในเรื่อง สะท้อนปัญหาของชีวิตคู่ มาตรวัดความพอเพียงของแต่ละคน ฯลฯ ไปจนถึงตั้งคำถามชวนคิด เช่น แค่ไหนคือสมดุลของ Minimalism ในชีวิต แค่ไหนคือส่วนเกินของชีวิต Minimalism ของคนคนหนึ่งส่งผลต่อคนรอบตัวอย่างไร Minimalism ของคนคนหนึ่งรวมความรับผิดชอบของผลนั้นต่อการก้าวล่วงเจตจำนงอิสระของคนอื่นด้วยหรือไม่
“…น่ายินดีที่คนทำหนังก้าวพ้นหนังสูตรสำเร็จ ไปจับเรื่องที่ดูง่าย แต่เล่ายาก เรื่องที่ดูไม่มีอะไร แต่ทำให้มีอะไร ถือว่าคนเขียนบททำได้ดี บทดี นักแสดงหลักทั้งหลายทำงานได้ดี การกำกับการแสดงดี หนังเดินเรื่องเรียบสมกับเป็นหนัง Minimalism เล่าแบบน้อยที่สุด ให้เราเข้าใจเอง ซึ่งหาได้ยากมาก ๆ ในหนังไทย
“…ผมดีใจที่บทไม่ได้พาหนังเข้าไปสู่เรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ประเภทคนดูสนใจแค่ว่าตัวละครชายจะได้กับตัวละครหญิงในตอนจบหรือไม่ และดีใจที่หนังไม่ต้องพึ่งฉาก flashbacks เพื่ออธิบายขยายความให้รุงรัง…”
นอกจากนี้คุณวินทร์ ยังได้กล่าวถึงฮาวทูทิ้งเชื่อมโยงกับหนังอย่าง “เจ็ดเซียนซามูไร” หนังขึ้นหิ้งในตำนานของผู้กำกับคุโรซาวะ เปรียบเทียบเรื่องของรสนิยมการชมภาพยนตร์ของแต่ละคนที่ต่างกันไปเพิ่มเติมในอีกโพสต์หนึ่งว่า
“…ผมยกเจ็ดเซียนซามูไรมาเป็นตัวอย่างเพื่อบอกว่า งานวรรณกรรมและภาพยนตร์หลายเรื่อง คนดูต้องพร้อมด้วย หนังสือบางเล่มอ่านตอนเด็กไม่เข้าใจ ต้องโตขึ้น ผ่านประสบการณ์ชีวิตและขยายโลกทรรศน์ในระดับหนึ่งจึงเข้าใจ และอิ่มเอมกับมันได้
“…นี่ก็ไม่ใช่บอกว่าคนคนหนึ่งมีรสนิยมดีกว่าอีกคนหนึ่ง แค่บอกว่า การมองเรื่องเดียวกันด้วยคนละมุมมอง มักได้ผลต่างกัน ในประเด็นความไม่สนุก มันก็เหมือนเราชงกาแฟเดียวกันให้เป็นลาเตหรือเอสเพรสโซ นี่ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูก หรือรสนิยมดีหรือไม่ดี อยู่ที่แค่ว่าเราจะชงลาเตหรือเอสเพรสโซ ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ ก็จะสามารถปรับโหมดในการเสพหนังและหนังสือได้ และนี่เองคือเหตุผลที่ ‘หนังดูไม่รู้เรื่อง’ บางเรื่องได้คะแนนสูง…”
สำหรับแฟน ๆ What The Fact ที่ยังไม่ได้ไปชม ก็อยากให้ลองไปพิสูจน์หนังที่เต็มไปด้วยรายละเอียดซึ่งนาน ๆ ทีหนังไทยจะมีให้ชม เผลอ ๆ อาจจะได้ข้อคิดดี ๆ ไปเริ่มต้นการใช้ชีวิตในปีใหม่ 2563 นอกจากนั้น เราก็ยังได้รวบรวมเรื่องราวและเกร็ดที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้จากเพจของผู้กำกับรวบรวมมาให้ได้อ่านกัน เผื่อใครที่ชมแล้วจะเข้าใจและรักหนังมากขึ้น และใครที่ยังไม่ได้ไปชมก็อาจจะหาทางออกไปดูหนังเพื่อการ “มูฟออน” ชีวิตเรื่องนี้
jean’s playlist (ฉบับเฉลย)
1. มันคงเป็นความรัก / สแตมป์
(คิดว่าอยากให้เป็นเพลงที่เหมือนจีนแอบบอกชอบเอ็ม เลยเลือกเพลงที่ชัดๆ แต่พอมาอ่านตอนปัจจุบัน มันคงเป็นความหลัง มากกว่า – เคยจะมีฉากจีนเปิดเพลงนี้ฟังด้วย แต่รู้สึกว่ายาวเกินเลยไม่ได้ถ่ายมา)
2. u&me / saliva bastard
(เหตุผลเดียวกับข้อ 1)
3. ..20202.. / ธีร์ ไชยเดช
(ซันนี่ในชีวิตจริง ชอบฟังธีร์ ไชยเดช)
4. cornerstone / arctic monkeys
(นวพลเคยส่งเพลงนี้ให้คนนึง)
5. sweet song / blur
(นวพลเคยส่งเพลงนี้ให้คนนึง)
6. คิดถึงเขียนแบบนี้ / (unknown artist)
(พอใจละนะทุกคน)
7. คำบางคำ / sqweez animal
(คิดว่าบ่งบอกแนวเพลงที่จีนชอบฟังในเวลานั้น)
8. กลับไปที่เก่า / singular ft. ญารินดา
(สัญญาณบางอย่างที่มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว)
9. ขอ / lomosonic
(บันทึกยุคสมัยวัยรุ่นไทย มันต้องมีเพลงนี้สิ)
10. good morning / penguin villa
(ตอนแรกคิดได้ 9 เพลง พอเพลงสุดท้ายเลยเอาเพลงที่โผล่มาในหัวเป็นอันดับแรก ก็เลยเป็นเพลงนี้)
จริงๆแล้วการร้องเกะของม้าจีนในเรื่องนั้น ไม่ได้เขียนไว้ในบทมาก่อน เพิ่งมาค่อย ๆ คิดเพิ่มเติมหลังจากเริ่มเจอนักแสดง (พี่อุ๋ม) ด้วยความที่จะหาวิธีเพิ่มคาแรกเตอร์บางอย่างให้กับตัวละคร/นักแสดงคนนี้ ไม่อยากให้เขาเป็นแม่ธรรมดาขนาดนั้น เลยคิดว่าจะทำไงดี // ตามพื้นเพของบ้านจีนที่เกี่ยวข้องกับดนตรี เลยคิดว่าม้าจีนก็น่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง + สุดท้ายคือ ทำไมต้อง กุหลาบแดง / คือ จริง ๆ มันจะมีเพลงรายชื่อเพลงคาราโอเกะคลาสสิกของบรรดารุ่นแม่ ๆ อยู่นะ คือ ผู้ใหญ่ชอบร้องวน ๆ ร้องซ้ำกัน ไปกี่งานก็ต้องได้ยิน เป็นเพลงบังคับ
หลายคนเข้าใจว่าบ้านในหนังเรื่องฮาวทูทิ้ง มันมาแบบนั้นเลยสำเร็จรูป แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ครับ เราแทบจะก่อสร้างมันขึ้นมาหมดเลยในส่วนของภายใน คือเริ่มจากศูนย์เลยเด้อ / การสร้างจะเป็นไปตามโครงสร้างบ้านจริงที่เราหาได้ และสร้างตามบทภาพยนตร์ รวมถึงมุมกล้องที่เราจะเคลื่อน // ว่าง่าย ๆ คือ จีนรีโนเวตบ้าน พวกเราเลยต้องรีโนเวตตามจีนไปด้วย 555 แม่งเอ๊ย ยากสัดเจ๊ ลองมาดูว่ามันเป็นยังไงกันบ้าง ต้องขอบคุณทีมอาร์ตของพี่อาร์มมา ณ ที่นี้
1. หน้าบ้านเอ็ม : จริง ๆ ถ่ายลองเทคแบบยาวสุด ๆ กันไปเลยนะ แล้วมันรวมภาพหลายระยะมาก ๆ ตั้งแต่จีนมาถึงหน้าบ้าน จนกดกริ่ง ไม่มีคัตเลย และทำแค่แทร็กกิงกล้องซ้าย-ขวา แค่นั้นเอง เลยต้องถ่ายหลายรอบ
2. ฉากโต๊ะอาหาร : ใครดูแล้ว จะเข้าใจ คือ เป็นลองเทคที่คิวมันเยอะมากในฉากนั้น แล้วเราหยุดนักแสดงไม่ได้ กล้องเวลาเคลื่อนเข้าไปแล้วก็ห้ามหยุด เพราะฉะนั้น จังหวะนักแสดงกับจังหวะต้องพอดีกันมาก ๆ เช่น พูดประโยคนี้เสร็จ กล้องต้องวิ่งไปถึงหน้านักแสดงแล้ว เป็นอีกครั้งที่เหมือนนักแสดงต้องเล่นระบำไปพร้อมกับกล้อง
2. ช่วงที่เรากำลังจะถ่ายหนัง เป็นช่วงหน้าฝนพอดี เราก็เลยคิดว่า แม่งไม่ได้แดดแน่ ๆ เลย งั้นเล่นไปกับมันเลยก็แล้ว เราจึงกำหนดสีในใจของหนังเรื่องนี้ว่า bangkok blue คือ กรุงเทพ หม่น ๆ เทา ๆ เงียบ ๆ หนาว ๆ
นอกจากนี้ “ป๋าเต็ดทอล์ก” ก็ยังได้จัดตอนพิเศษไปพูดคุยกับผู้กำกับ “เต๋อ-นวพล” มาให้ได้รู้จักแนวคิดของเขาให้มากขึ้นอีกด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส