ผ่านพ้นไปอีกหนึ่งปี สำหรับรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 77 ประจำปี 2020 ของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศฮอลลีวูด ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีในวันอาทิตย์ของสัปดาห์แรกหลังปีใหม่ สำหรับเวทีที่เป็นรองแค่รางวัลออสการ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดในสหรัฐฯ ที่กำลังจะประกาศผู้เข้าชิงเร็ว ๆ นี้ รวมถึงยังเป็นจุดยืนยัน-นอนมาสำหรับภาพยนตร์และสาขาต่าง ๆ ที่เป็นตัวเก็ง และเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับม้ามืดหรือรางวัลในสาขาต่าง ๆ ที่อาจอยู่นอกสายตามาตลอด ที่รางวัลนี้จะเบนเข็มให้เหล่าคณะกรรมการกลับมาเหลียวมอง ซึ่งอย่างในปีนี้ก็เกิดเหตุการณ์นั้น
เวทีลูกโลกทองคำเป็นเวทีใหญ่ที่แจกรางวัลให้กับคนฮอลลีวูดเยอะที่สุด เนื่องจากมีทั้งรางวัลที่มอบให้กับทั้งภาพยนตร์ และมอบให้กับซีรีส์ทางโทรทัศน์ ในสาขานักแสดงก็มีการแยกประเภทของภาพยนตร์ดราม่าและภาพยนตร์เพลงหรือตลก มองในแง่ดีก็เป็นการกระจายรางวัลไปยังประเภทหลัง ที่มักจะแพ้พ่ายให้กับสายดราม่าที่ออสการ์ดูจะชื่นชมมากกว่าในแง่ของการแสดง เว้นแต่จะเกิดพลิกโผ หรือนักแสดงในสาขาเพลงหรือตลกเกิดเล่นดีและหนังฮิตตามกระแสขึ้นมา
What The Fact ขอรวมไฮไลต์ของงานและรางวัลต่าง ๆ ที่มีการประกาศผลในปีนี้ และวาทะเด็ด-ซีนปังของเหล่านักแสดงและคนเบื้องหลังที่ขึ้นรับรางวัล ชนิดที่คอหนังและคอรางวัลจะพลาดไม่ได้เป็นอันขาด
Netflix เสื่อมมนต์ มิอาจต้านแรงเสียดทาน
หลังจากประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับ Roma ไปเมื่อปีที่แล้ว เชื่อว่านอกจากฝั่ง Netflix ที่เดินสายล็อบบี้คณะกรรมการทุกเวทีรางวัลอย่างหนัก (ถึงกับมีแผนกนึงในบริษัทที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ) ซึ่งปีนี้ฝั่งของฮอลลีวูดที่ไม่ชื่นชอบหรืออยากขัดขวางบทบาทของ Netflix ก็คงทำหน้าที่หนักไม่แพ้กัน ซึ่งจากในทีแรกที่มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัล Netflix มีหนังที่เข้าชิงมากสาขาที่สุดอย่าง Marriage Story ที่เข้าชิงมากถึง 6 รางวัล แต่ก็คว้าได้แค่รางวัลสมทบหญิงจาก Laura Dern ส่วน The Irishman ที่เข้าชิงรองลงมาถึง 5 รางวัลนั้น ต้องกลับบ้านมือเปล่าเพราะชวดทุกรางวัล
หากลองวิเคราะห์กันดูดี ๆ การที่ The Irishman ที่เป็นหนังแก๊งสเตอร์จากฝีมือของ Martin Scorsese ซึ่งเป็นผู้สร้างหนังคนโปรดคนหนึ่งของ Golden Globes (เคยได้รางวัลผู้กำกับมาแล้ว 3 ครั้ง) หรือหนังอย่าง Marriage Story และ The Two Popes นั้นก็เต็มไปด้วยกลิ่นอายของหนังยุค 90s ที่เดินเรื่องอย่างเข้มข้น และเต็มไปด้วยบทสนทนาที่น่าติดตาม ซึ่งคณะกรรมการน่าจะชอบ เลยยิ่งแสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการอาจจะติดใจเพียงแค่การปะยี่ห้อ Netflix ที่ทำให้ตะขิดตะขวงใจ ไม่ใช่ไม่ชอบคุณภาพของตัวหนังก็เป็นได้
ม้ามืดตีนปลาย-ลูกโลกเลิฟหนัง “สงคราม”
ระหว่างที่ The Irishman และ Joker กำลังชิงดำกันอยู่ในคู่ตัวเต็งหนังหวังรางวัลในทุกเวที โดยมี Marriage Story ที่ตามมาติด ๆ ในจำนวนทั้งหมด 5 เรื่องของสาขาภาพยนตร์ประเภทดราม่ายอดเยี่ยม ก็ต้องพูดเลยว่า The Two Popes และ 1917 แทบจะเป็นไม้ประดับ จนกระทั่ง 1917 มาคว้ารางวัลไปแบบงงกันทั้งงาน อาจเพราะหนังไม่ได้ประสบความสำเร็จของ Joker และก็ไม่ได้ถูกดันหนักอย่างหนัง Netflix ที่เหลืออีก 3 เรื่อง
และถ้าหากพิจารณารางวัลหนังยอดเยี่ยมประเภทดราม่าในอดีตก็จะเห็นว่า คณะกรรมการมักจะชอบหนังสงครามเป็นทุนเดิม ทั้ง Atonement (2008) และ Saving Private Ryan (1999) ซึ่งไม่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์กันมาแล้วทั้งคู่ รวมถึงเมื่อพิจารณา 10 ปีให้หลังมานี้ มีแค่ 12 Years a A Slave (2014) Argo (2013) และ Moonlight (2017) แค่ 3 เรื่องที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตรงกันกับออสการ์…ก็อาจต้องให้ 1917 ทำใจไว้ล่วงหน้าเลยว่าจะไม่ได้ออสการ์เกือบจะแน่นอน
ส่วนผู้กำกับ Sam Mendes ที่หักปากกาเซียน คว่ำผู้กำกับที่เก๋าเกมกว่าอย่าง Martin Scorsese และ Quentin Tarantino ที่เต็งกันมาจากทุกเวที ซึ่งถ้าจะบอกว่า ให้เพราะไม่เคยได้ก็ผิดไปถนัด เพราะ Mendes เคยคว้าทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยมมาแล้วในปี 1999 จาก American Beauty และยังเคยเข้าชิงจาก Revolutionary Road (2008) ด้วย ส่วน Scorsese เข้าชิงมาทั้งหมด 9 ครั้งและชนะไป 3 ครั้งจาก Gangs of New York (2002) The Departed (2006) ที่คว้าออสการ์ผู้กำกับยอดเยี่ยมไปด้วยในปีนั้น และ Hugo (2011) และ Tarantino เข้าชิงจากสาขาผู้กำกับมาแล้ว 4 ครั้ง (ไม่เคยชนะเลย) และจากสาขาเขียนบท 5 ครั้ง ชนะ 3 จาก Pulp Fiction (1994) Django Unchained (2012) และ Once Upon a Time…in Hollywood ในปีนี้นั่นเอง
ท้ายที่สุด Mendes เองก็ได้กล่าวยกย่อง Scorsese แทนใจผู้กำกับที่เข้าชิงคนอื่น ๆ (โดยเฉพาะ Todd Phillips ที่ได้รับคำครหาว่า ได้รับอิทธิพลในการกำกับ Joker มาแบบเต็ม ๆ ที่คงจะจี๊ดใจ) ว่า “ไม่มีผู้กำกับคนไหนในห้องนี้ แม้กระทั่งผู้กำกับคนไหนในโลกนี้ที่ไม่อยู่ใต้ร่มเงาของ Martin Scorsese”
“ฮอลลีวูด”ยกย่องคนทำหนังที่ยกย่อง “ฮอลลีวูดยุคเก่า” อีกที
ฮอลลีวูดก็ยังมีท่าทีในการนิยมชมชอบหรือเลื่อมใสพวกเดียวกันอยู่นั่นเอง ในปีนี้ก็สะท้อนออกมาที่ภาพยนตร์อย่าง Once Upon a Time…in Hollywood ของ Quentin Tarantino ที่กำกับหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 9 หลังจากประกาศว่าจะกำกับหนังในชีวิตแค่ 10 เรื่อง (ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ลูกโลกทองคำขอชิงให้รางวัลที่เรื่องนี้ก่อน เพราะจะให้รางวัลตอนเฮียกลับมาทำ Kill Bill Vol.3 ก็คงจะแปลก ๆ) ซึ่งกับเรื่องราวในหนังนั้นนอกจากเหตุการณ์ฆาตกรรมนักแสดงดังของฮอลลีวูดในยุค 70s ที่ถูกหยิบมาเป็นกิมมิคแล้ว หนังก็ยังถ่ายทอดความงดงาม (ในสไตล์ตลกร้าย) ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในยุคนั้น ทั้งวิถีชีวิตนักแสดงหลากหลายวัย ผู้จัดการ สตั๊นท์แมน ผู้อำนวยการสร้าง นายทุน ออกมาอย่างชวนให้เกิดอารมณ์ระลึกถึงสำหรับคนรุ่นเก่า
รางวัลนี้เคยมอบให้กับผู้กำกับเล่าถึงฮอลลีวูดยุคเก่าที่ยกย่องวิถีการถ่ายทอดศิลปะลงในภาพยนตร์ ด้วยการนำมาเป็นแรงบันดาลใจผ่าน “สไตล์การถ่ายทำ” ทั้ง Alfonso Cuaron (Roma), Guillermo del Toro (The Shape of Water), Damien Chazelle (La La Land), Martin Scorsese (Hugo), Ang Lee (Crouching Tiger, Hidden Dragon) มาแล้ว
“ไม่รู้จะขอบคุณใคร” และ “ลมใต้ปีกของฉัน”
ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลไปได้มากที่สุดในงานปีนี้ก็คือ Once Upon a Time…in Hollywood ที่เป็นรางวัลใหญ่ทั้งหมด ทั้งภาพยนตร์เพลงหรือตลกยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมอย่าง Brad Pitt ซึ่งทั้งสองคนก็มีซีนกล่าวคำขอบคุณที่เป็นซีนเด็ดที่น่าจดจำกันไปคนละแบบ สำหรับ Tarantino นั้น เขาเลือกจะกล่าวในช่วงขอบคุณว่า “เวลาผมชนะรางวัลจากสาขาเขียนบท ก็ไม่มีใครที่ไหนให้ต้องขอบคุณแล้ว เพราะผมเขียนบทนั่นเองทั้งหมดคนเดียว” ซึ่งก็ถูกของเฮียแก ที่คงจะหมายความว่า ถ้าให้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมกับแกนั่นแหละ ถึงจะต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ส่วน Brad Pitt ก็มีวินาทีกล่าวขอบคุณที่ชวนซึ้งและชวนจิ้นในเวลาเดียวกัน เมื่อเขากล่าวขอบคุณเพื่อนนักแสดงร่วมจออย่าง Leonardo DiCaprio ว่า
“อีกคนที่ผมต้องขอบคุณ…เพื่อนรักของผม Leonardo DiCaprio ก่อนหนัง Revenant ผมเห็นนักแสดงที่เล่นคู่กับเขารับรางวัล และขึ้นมากล่าวขอบคุณเขาปีแล้วปีเล่าบนเวทีแบบนี้ ตอนนี้ผมรู้แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น เขาเป็นนักแสดงดัง เป็นสุภาพบุรุษ และผมคงไม่อยู่บนนี้ถ้าไม่มีเขา ขอบคุณ LDC”
ฉันยังอยากจะแชร์แพกับนายอยู่นะ” Pitt เล่นมุกปิดท้ายที่หมายถึงแพที่ตัวละครแจ็คไม่ได้ขึ้นในตอนจบของหนังดัง Titanic
“มันเป็นแค่…ธุรกิจ” จากปากพระเอกสายดาร์ก Joaquin
Joaquin Phoenix นักแสดงที่เคยออกมาประกาศว่า จะขอลาออกจากวงการ แต่ก็กลับมาแสดงหนังได้อย่างสุดฝีมือในบทโจ๊กเกอร์ ที่ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และรางวัล นักแสดงสุดติสท์และเป็นที่รู้กันว่าเป็นนักแสดงสาย Method ที่จะอินกับการเป็นตัวละครตลอดการถ่ายทำ หรือสรรหาวิธีพิสดารเพื่อเข้าถึงบท Phoenix เป็นขาประจำของงานนี้อยู่เหมือนกัน เพราะเคยเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้งและชนะ 1 ครั้ง โดยชนะจาก Walk the Line (2006) เข้าชิงจาก Gladiator (2000) The Master (2012) Her (2013) Inherent Vice (2014)
อย่างไรก็ดี เขาก็ยังได้ฝากวาทะเด็ด แซะแสบ ๆ คัน ๆ ไปยังผู้จัดการประกวดว่า
“ถึงผู้เข้าชิงทุกท่าน เราต่างก็รู้ว่า พวกเราไม่ได้แข่งอะไรกันเองทั้งนั้น นี่มันก็แค่โฆษณาที่ทำเป็นรายการโทรทัศน์ มันเป็นแค่ธุรกิจเพื่อหาเงินก็แค่นั้น” และ “ผมเป็นลูกศิษย์พวกคุณ…ไม่อยากจะเชื่อสำหรับผลงานที่งดงามและยอดเยี่ยมที่คุณทำในปีนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้กล่าวถึงพวกคุณ”
รวมถึงตอนที่ออกจากงานแล้วนักข่าวสัมภาษณ์เรื่องการเตรียมตัวมารับบทโจ๊กเกอร์ พี่แกก็ได้สวนกลับว่า “นี่คำถามเก่าหรือเปล่านะ? นี่ผมรู้สึกเหมือนนั่งตอบคำถามเดิม ๆ มาตลอด 6 เดือนเลย นี่คือคุณอยากได้ยินคำตอบใหม่ ๆ จากผมหรือเปล่า?”
ซึ่งก็น่าคิดว่า บางทีพี่แกก็แอ็คอาร์ตไปอย่างนั้น เพราะดูอย่างอดีตนักแสดง Marlon Brando ที่ต่อต้านการแจกรางวัลทางการแสดงแบบนี้ ก็เลือกไม่มารับรางวัลออสการ์มาแล้ว (ดีกว่ามากล่าวแบบนี้นะพี่นะ)
โจ๊กเกอร์ 2 คนที่เคยได้รางวัล 1 คนเข้าชิง
บทจากคอมิกที่กลายเป็นบทวัดฝีมือและแทบจะการันตีได้เลยว่า จะพาผู้รับบทขึ้นสู่เวทีรางวัลแน่นอนกับบทวายร้ายจิตหลุดอย่าง “โจ๊กเกอร์” อย่างที่รู้กันว่า Joaquin Phoenix นัั้นแทบจะนอนมาสำหรับสาขานักแสดงนำชายอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ประเภทดราม่า (ชิงดำกันมากับ Adam Driver จาก Marriage Story ซึ่งบารมีน้อยกว่า เพราะเพิ่งอยู่ในวงการมาไม่นานนัก) ก่อนหน้านี้ Heath Ledger ผู้ล่วงลับก็เคยได้รับรางวัลเช่นกัน แต่จากสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (Christopher Nolan ผู้กำกับ The Dark Knight (2008) ขึ้นรับแทน)
แต่ถ้าย้อนกลับไป Batman ปี 1989 นั้น นักแสดงอย่าง Jack Nicholson ก็เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงจากบทโจ๊กเกอร์เช่นกัน แถมยังเป็นในสาขา นักแสดงนำชาย ประเภทภาพยนตร์เพลงหรือตลก ที่หนังไม่ได้ขายความดราม่าในฉบับนั้น (เป็นที่น่าน้อยใจแทน Jared Leto โจ๊กเกอร์ใน Suicide Squad ที่ถูกหลงลืมจริง ๆ)
บทบาทจาก “เรื่องจริง” ยังปัง
บทบาทจากภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงหรือบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง ยังเป็นที่ชื่นชอบของคณะกรรมการรางวัลโดยเฉพาะลูกโลกทองคำอยู่ อย่างปีที่แล้วถึงขนาดให้หนัง Bohemian Rhapsody หนังที่สร้างจากชีวประวัติของเฟรดดี เมอร์คิวรี นักร้องนำวง Queen ผู้ล่วงลับ คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดราม่าไปครองเลยทีเดียว มาถึงปีนี้ รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ประเภทภาพยนตร์ดราม่า ตกเป็นของ Renee Zellweger จากเรื่อง Judy ที่เธอรับบทชีช่วงสุดท้ายในชีวิตของนักร้องและนักแสดง “จูดี้ การ์แลนด์” ไว้อย่างเฉียบขาดและแทบจะเป็นตัวเต็งในสาขานำหญิง ซึ่งต้องถือเป็นการ comeback ที่น่ายินดีของ Zellweger ที่ห่างหายไปนาน เธอเคยเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำมาแล้วถึง 7 ครั้ง และชนะถึง 4 ครั้งจาก Nurse Betty (2000) Chicago (2002) Cold Mountain (2003) และ Judy ในปีนี้
ส่วนนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เพลงหรือตลกที่การแข่งขันไม่ได้สูงมากนัก ระหว่าง Leonardo DiCaprio ที่ดูแล้วบทเด่นของเรื่องจะตกเป็นของ Brad Pitt ที่เป็นนักแสดงสมทบมากกว่า กับ Taron Egerton นักแสดงดาวรุ่งจาก Kingsman ที่มารับบทเป็น Elton John นักร้องและนักดนตรีชื่อดังของเกาะอังกฤษ ซึ่งรายหลังก็ได้เป็นผู้ชนะไป นี่เป็นการเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำครั้งแรกของ Egerton ด้วย ซึ่งเขาก็ได้กล่าวขอบคุณ Elton John เพื่อนร่วมจอกันมาจากหนัง Kingsman: The Golden Circle ที่มาร่วมงานประกาศรางวัล รวมถึงชนะรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเพลง (I’m Gonna) Love Me Again ซึ่งเขาเคยชนะจากเพลง Can You Feel the Love Tonight จากภาพยนตร์ The Lion King (1994) มาก่อน และเคยเข้าชิงอีก 3 ครั้ง
ฝั่งรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในซีรีส์ประเภทดราม่าก็ตกเป็นของ Olivia Colman จาก The Crown ซีซัน 3 ซึ่งเป็นบทบาทของตัวละครพระราชินีควีนอลิซาเบธที่ 2 ต่อจากที่ Clare Foy เคยรับบทนี้เอาไว้ในซีซัน 1 และ 2 Colman นั้นเคยเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำมาแล้ว 3 ครั้งและชนะไปทั้ง 3 ครั้ง จากซีรีส์เรื่อง The Night Manager (2017) จากสาขานำหญิงยอดเยี่ยมในภาพยนตร์ประเภทเพลงหรือตลก The Favourite (2019) เมื่อปีที่แล้วและได้รางวัลออสการ์นำหญิงด้วยจากเรื่องเดียวกันนี้ กับซีรีส์คุณภาพอย่าง The Crown ก็เป็นที่เชิดหน้าชูตาของ Netflix เพราะ Clare Foy ก็เคยชนะรางวัลนี้มาแล้วจากซีซัน 1 ปี 2017 และเข้าชิงซ้ำอีกในปี 2018
รางวัลมินิซีรีส์หรือภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ยอดเยี่ยม ก็ยังตกเป็นของมินิซีรีส์ที่คนพูดถึงกันเยอะในปีนี้ สร้างจากเหตุการณ์จริงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ระเบิด Chernobyl ของช่อง HBO ซึ่งส่งให้นักแสดง Stellan Skarsgård คว้ารางวัลสมทบชายยอดเยี่ยม รวมถึง Jared Harris เข้าชิงนำชายยอดเยี่ยมและ Emily Watson เข้าชิงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
เอเชียผงาด-หัดอ่านซับไตเติ้ลซะบ้างนะชาวอเมริกัน
ผู้กำกับบองจุนโฮ ได้กล่าวขอบคุณและทิ้งทายไว้บนเวทีว่า “เมื่อไหร่ที่คุณเอาชนะซับไตเติ้ลขนาด 1 นิ้วได้ คุณจะได้พบกับภาพยนตร์ที่น่าอัศจรรย์อีกมากมาย”
ปัญหาโลกร้อน-รณรงค์ออกเสียงเลือกตั้ง
พิธีกรขี้แซะอย่าง Ricky Gervias ที่ทำหน้าที่นี้เป็นครั้งที่ 5 ก็ไม่ทำให้ผิดหวังกับการแซะการขึ้นรับรางวัลของเหล่านักแสดง “ถ้าคืนนี้คุณชนะรางวัลแล้วละก็ ไม่ต้องใช้พื้นที่ตรงนี้ในการกล่าวปาถกฐาเรื่องการเมืองเลยนะ คุณไม่ได้อยู่ในจุดที่จะมาสั่งสอนอะไรคนอื่นได้เลย ส่วนใหญ่แล้วพวกคุณใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนน้อยกว่า Greta Thunberg (นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม วัย 17 ปี) อีกมั้ง?” แต่ถึงอย่างนั้น นักแสดงอย่าง Patricia Arquette, ที่ได้รับรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ในมินิซีรีส์หรือภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ จากเรื่อง The Act ก็ยังกล่าวบนเวทีถึงการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ดี
นอกจากนี้รายงานจากวาไรตี้ยังเปิดเผยว่า นักแสดงอย่าง Joaquin Phoenix ผู้เป็นนักรณรงค์ด้านสิทธิสัตว์ตัวยงคนนี้ ยังเป็นคนเสนอแนวคิดและโน้มน้าวให้ผู้จัดงานเปลี่ยนเมนูที่เสิร์ฟให้กับเหล่าดาราเป็นเมนูวีแกนหรือเมนูที่ทำจากผักทั้งหมด (ผู้ร่วมงานปีนี้จะได้ทานอาหารเป็น ซุปฟักทองหัวผักกาดแช่เย็น หอยสแกลลอบ ผัดเห็ดนางรมกับรีซอตโต)
“มันเป็นการเคลื่อนไหวที่หาญกล้าที่ทำให้อาหารในคืนนี้มีแต่พืช บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องขึ้นเครื่องบินส่วนตัวมาที่ปาล์มสปริงส์หรือขึ้นมันบินกลับไปหรอกนะ” Phoenix ก็ยังแซะเพื่อนักแสดงในฮอลเดียวกันหลายคนเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม
ส่วนนักแสดงอย่าง Michelle Williams นักแสดงที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงทั้งหมด 6 ครั้ง และชนะ 1 ครั้งจากการรับบทเป็น “มาริลีน มอนโรว์” ใน My Week with Marilyn (2011) ซึ่งในปีนี้ชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงประเภทภาพยนตร์โทรทัศน์จากเรื่อง Fosse/Verdon ก็ได้ใช้ช่วงเวลาขอบคุณ รณรงค์ให้ผู้หญิงออกมาเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ว่า “ผู้หญิงทุกคนโปรดเลือกตั้ง เพื่อผลประโยชน์ของพวกเราเอง ผู้ชายเลือกตั้งมาหลายปีแล้ว นี่เป็นเหตุผลที่ว่าโลกนี้ออกมาหน้าตาเหมือนผู้ชาย แต่อย่าลืมสิว่าเราเป็นเสียงส่วนใหญ่ในประเทศนี้”
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส