การติดตามข่าวสารในโลกโซเชียลทุกวันนี้ นับวันจะเป็นเรื่องยากที่จะเชื่อถือได้ว่า ภาพที่เห็นนั้นตรงกับเนื้อหาที่บรรยาย รวมถึงเป็นภาพจริงหรือภาพปลอม สำหรับเหตุการณ์หายนะภัยไฟป่าที่ประเทศออสเตรเลียที่ลุกลามเผาผลาญพื้นที่ป่าไปมากมายเป็นเวลากว่า 5 เดือน ซึ่งนักแสดงฮอลลีวูดและศิลปินชื่อดังของโลกก็ได้ออกมาระดมทุนเพื่อช่วยเหลือกันอย่างมากมาย
เชื่อว่าหน้า feed Facebook และ Twitter ของหลายคนคงจะได้เห็นภาพที่น่าสะเทือนใจของเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ที่ต้องมาบาดเจ็บล้มตาย ตามรายงานข่าวที่บอกว่ามีสัตว์ที่เสียชีวิตไปถึงเกือบ 500 ล้านตัวจากเหตุการณ์ครั้งนี้ วันนี้ What The Fact ได้ออกตามหาความจริงให้สมชื่อ โดยขอแชร์ ข้อมูลดี ๆ ต่อจาก Fanpage Poetry of Bitch ที่ได้มาให้ความกระจ่างเกี่ยวกับภาพของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นจิงโจ้และโคอาล่าที่หลายคนได้แชร์ต่อ ๆ กันไปว่า เป็นภาพสัตว์ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลีย ความจริงแล้วหลายภาพเป็นภาพเก่าจากเหตุการณ์อื่น และบางภาพก็ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่สัตว์เหล่านี้ได้รับอันตรายแต่อย่างใด!
ภาพจิงโจ้กอดผู้หญิงอย่างน่าสงสาร ที่หลายคนแชร์ว่าเธอช่วยชีวิตมันไว้

ภาพจิงโจ้กอดผู้หญิงอย่างน่าสงสาร
ความจริงแล้วจิงโจ้ตัวนี้ชื่อ “อบิเกล” (Abigail) ซึ่งกำพร้าแม่ตั้งแต่อายุ 5 เดือน ถูกนำตัวมาอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์จิงโจ้อลิซสปริงส์ (Kangaroo Sanctuary Alice Springs) ประเทศออสเตรเลีย จนในตอนนี้มันอายุ 10 ปีแล้ว อบิเกลชอบกอดเจ้าหน้าที่มานานแล้ว ทุกเช้าเมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงศูนย์ อบิเกลจะเข้าไปสวมกอดแบบนี้ จนได้รับฉายาว่า “จิงโจ้นักกอด” และ“ราชินีแห่งเขตสงวน” ด้วย เพราะเธอเป็นจิงโจ้ที่สง่างามประหนึ่งราชินี อบิเกลไม่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุไฟป่าเลย เนื่องจากที่อยู่ของอบิเกล “ไม่ประสบเหตุไฟป่า!”
ภาพลูกโคอาล่ากอดแม่ที่ได้รับบาดเจ็บไม่ยอมปล่อย ที่แชร์กันว่ามาจากเหตุไฟป่า

ภาพจาก RSPCA Queensland และ Australia Zoo Wildlife Hospital

ภาพจาก RSPCA Queensland และ Australia Zoo Wildlife Hospital

ภาพจาก RSPCA Queensland และ Australia Zoo Wildlife Hospital
สองแม่ลูกโคอาล่า “ลิซซี่” (Lizzy) และลูกชื่อ “แฟนท่อม” (Phantom) ถูกรถชนตั้งแต่พฤษภาคม 2015 ลิซซี่ถูกคนขับรถชนโดยไม่ได้ตั้งใจ ตอนนั้นแฟนท่อมก็เกาะหลังแม่อยู่ด้วย สองแม่ลูกถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลสัตว์ป่าอย่างเร่งด่วน แฟนท่อมไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่แม่ลิซซี่ต้องผ่าตัดด่วน ระหว่างการผ่าตัด แฟนท่อมไม่ยอมห่างแม่ของเขาเลย เขากอดแม่เอาไว้ตลอดเวลา ซึ่งหมอก็ตัดสินใจจะไม่จับพวกเขาแยกจากกัน เพราะกำลังใจก็สำคัญไม่น้อยในช่วงเวลานั้น ในเดือนกรกฎาคม 2015 สองแม่ลูกก็แข็งแรงพอที่จะได้รับการปล่อยตัวให้กลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง
ภาพจิงโจ้สองตัวกอดกัน ที่แชร์กันว่า จิงโจ้สองตัวหวาดกลัวและเหนื่อยล้าจากไฟป่าจึงโผเข้ากอดกัน

ภาพจาก Wildhaven Wildlife Shelter
ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 13 ตุลาคม 2009 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ลูกจิงโจ้ 2 ตัวนี้ชื่อ “คูเปอร์” (Cooper) และ “เมอร์ลอต” (Merlot) ส่วนผู้ถ่ายภาพนี้คือ “สเตลล่า รีด” (Stella Reid) เธอเป็นเจ้าของศูนย์พักพิงสัตว์ป่า Wildheaven Wildlife Shelter ที่รัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ทั้งคูเปอร์กับเมอร์ลอตเป็นสัตว์คู่แรกที่เข้ามาอยู่ที่ศูนย์พักพิงของเธอ ทั้งสองเสียแม่จากเหตุการณ์ไฟป่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009 เจ้าหน้าที่ไปพบเมอร์ลอตเฝ้าศพแม่มา 3 วันแล้ว โดยมีคูเปอร์คอยอยู่เป็นเพื่อนไม่ห่าง พอได้มาอยู่ที่ศูนย์พักพิงด้วยกัน ลูกจิงโจ้ทั้งสองก็แทบไม่ห่างกันเลยและกอดกันอยู่เสมออย่างที่เห็น
ภาพครอบครัวแช่อยู่ในน้ำใต้สะพาน ด้านหลังเป็นภาพไฟไหม้ ที่แชร์กันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในปีนี้

เชื่อว่าหลายคนก็โพสต์แชร์ภาพนี้ว่าเป็นเหตุไฟป่าในปี 2019 ลงโซเชียลของตัวเองแบบนี้
แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ครอบครัวนี้ต้องเผชิญเหตุภัยพิบัตจากไฟป่าจนต้องหนีตาย แต่เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดในปี 2019 แต่เป็นภาพจากเหตุการณ์ไฟป่าที่รัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่ปี 2013 แล้ว ซึ่งภาพนี้สามารถถูกเสิร์ชเจอได้อย่างง่ายดายจากเว็บไซต์ของ The Guardian ที่โพสต์ไว้เมื่อเดือนมกราคม ปี 2013

ภาพถ่ายโดย Tim Holmes/AP ในเว็บไซต์ The Guadian
นี่ก็เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ผลกระทบไม่น้อยเลย สำหรับการเชื่อว่าภาพที่เราเห็นนั้นเป็นอย่างที่เนื้อหาหรือแคปชัน เป็นไปตามที่คนแชร์ “ต่อ ๆ กันมา” นั้นเป็นเรื่องจริง หรือจากเหตุการณ์ที่โพสต์นั้นบอก ก็อาจเป็นได้ว่า ด้วยความสงสาร เห็นใจ และอยากแชร์ให้ทันสถานการณ์ รู้แบบนี้แล้วก็ต้องตามโซเชียลอย่างเท่าทัน และต้องขอขอบคุณ Fanpage Poetry of Bitch และแหล่งข่าวทั้งหลาย ที่ทำให้เราสว่างคาตากันมา ณ ทีนี้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส