ผ่านปี 2020 มาร่วมครึ่งเดือนแล้วก็ได้เวลาที่ทีมงานนักเขียนและแอดมินของ WHAT THE FACT จะมาร่วมถกและโหวตหาที่สุดภาพยนตร์ในใจทั้งดีและแย่ไปจนถึงนักแสดงที่โดดเด่นที่สุดในปี 2019 จะมีเรื่องอะไรบ้างไปชมกันเลย
ภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์แห่งปี
PARASITE
เวลาพูดถึงหนังแห่งปี เราอาจนึกถึงหนังที่มีกระแสโจษจันที่สุด หนังที่ได้รับคำชมสูงสุด ได้รับคะแนน หรือรางวี่รางวัลสูงสุด และสำหรับบางคนก็อาจเป็นแค่หนังที่กระแทกใจมากที่สุด ตอบยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมที่เกิดเป็นช่วงชีวิตของปีนั้น ๆ มากที่สุด ซึ่งที่ว่ามา ดูเหมือนหนังของสัญชาติเกาหลีเรื่องนี้ จะตอบโจทย์ส่วนใหญ่ที่หนังแห่งปีพึงมี ด้วยการเพาะบ่มประสบการณ์การเล่าเรื่องของบงจุนโฮที่ทำทั้งหนังนอกหนังในประเทศมาอย่างช่ำชองจนรู้ภาษาหนังแบบสากล ได้จับหัวใจแห่งยุคสมัยในเรื่องความต่างชนชั้นกลายเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในแทบทุกสังคม เกาหลี ไทย ตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ชาติเจริญแล้วอย่าง ยุโรป และอเมริกาเองก็ล้วนเกิดการปะทะจากมูลเหตุเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจมาแล้วทั้งสิ้น และเมื่อหนังคว้ารางวัลปาล์มทองคำอันสูงส่งด้านศิลปะมาด้วยคำเชิญชวนจากนักดูหนังทั้งชั้นครูบาอาจารย์และคนดูหนังบันเทิงทั่วไปว่า นี่เป็นหนึ่งในหนังที่ดูสนุกและป้อนอรรถรสทางศิลป์และความบันเทิงได้อย่างไม่ดูถูกดูแคลนผู้ชมกลุ่มใดให้ตกขบวน จึงไม่มีเหตุใดที่เราควรขัดเขินในการบอกว่า parasite เป็นหนังแห่งปี 2019 อย่างแท้จริง
เข้ารอบ : Joker, Knives Out, Where We Belong
ภาพยนตร์ทางช่องสตรีมมิงแห่งปี
The Irishman
การกลับมาครั้งนี้ของ มาร์ติน สกอร์เซซี คือข้อพิสูจน์ถึงฝีมือ ความเก๋า และความช่ำชองในการเล่าเรื่องผ่านงานภาพแบบหาตัวจับยาก แม้ครั้งนี้คุณลุงมาร์ตี้จะไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ไกลไปจากความถนัดนักอย่างหนังมาร์เฟีย แต่การที่มันมีโอกาสเข้าถึงผู้คนวงกว้างผ่านช่องทางสตรีมมิงยักษ์ใหญ่อย่าง Netflix ก็ทำให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้มีโอกาสรู้จักผลงานจากสุดยอด Master of Cinema คนหนึ่งในวงการภาพยนตร์โลก ทั้งภาษาหนังและการกำกับการแสดงที่แม่นยำ ล้ำลึก เรื่องราวชีวิตกว่า 50 ปีของตัวละครกลายเป็นเรื่องเล่าที่ดูสนุก เปี่ยมสีสัน คู่กับงานเทคนิคดีเอจจิง (De-Aging) ที่ย้อนวัยหนุ่มให้ทั้งโรเบิร์ต เดอ นีโร, อัล ปาชิโน และ โจ เพสซี ที่แทบจะทำให้ภาพวันวานของสุดยอดนักแสดงทั้ง 3 ท่านกลับมาปรากฎอย่างกระจ่างชัด จะมีเสียดายจริง ๆ ก็คงมีเพียงที่ประเทศไทยไม่มีโอกาสได้ชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้นเอง
เข้ารอบ : Mariage Story, The King
หนังที่ทีมงานยี้ที่สุดแห่งปี
MIB International
ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบดูหนังเพื่อความบันเทิง และเลือกไปดูหนังเรื่องนี้เพราะอยากจะเสพความมันของฉากแอ็กชันและมุกตลกอย่างเต็มที่ MIB International หน่วยจารชนสากลพิทักษ์โลก ก็คงจะตอบโจทย์ความต้องการได้ แต่ถ้าคุณเป็นแฟนหนังมาตั้งแต่สมัย เอเจนต์ เจ กับ เค หรือ วิล สมิธิและ ทอมมี ลี โจนส์ ล่ะก็ การมาดู MIB ภาคนี้จะยิ่งทำให้คุณโหยหาอยากจะรีบกลับไปดูภาคเก่า ๆ ล้างตามันซะเลย! เพราะนอกจากความบันเทิงแล้ว ความสัมพันธ์ของตัวละครหลักช่างเบาหวิว เรื่องราวก็แบนแต๊ดแต๋ไรซึ่งมิติใด ๆ แถมยังเดาง่ายซะจนน่าหงุดหงิด ที่สำคัญเสน่ห์หลักของเรื่องอย่าง เอเลี่ยน ก็มีบทบาทน้อยซะจนน่าใจหาย เหมือนมาเน้นขายเคมีของคู่คริส แฮมเวิร์ธกับ เทสซ่า ธอมป์สัน ซะมากกว่า ทั้ง ๆ ที่ปูคาแร็คเตอร์มาอย่างดี แต่กลับใช้งานได้ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร บอกเลยว่าถ้าไม่มีซิกแพ็คงาม ๆ ของคริส แฮมเวิร์ธให้ดูเพื่อเป็นการปลอบใจล่ะก็.. ฉันจะแจ้ง ฉันจะแจ้ง!!!
เข้ารอบ : สงกรานต์แสบสะท้านโลกันตร์, Charlie’s Angels, Liam Gallagher: As It Was, Terminator : Dark Fate
ตัวละครที่ทีมงานชื่นชอบ
ริค ดาลตัน : Once pon A Time in Hollywood
ตัวละครนำในหนังของ เควนติน ทารันติโน มักจะไม่ใช่คนสมบูรณ์แบบ แม้แต่ดาราดังอย่าง ริค ดาลตัน ก็ยังอยู่ในสถานะพลเมืองชั้น 2 ในฮอลลีวูดหลังความนิยมในหนังคาวบอยอเมริกันและภาพลักษณ์ดารานักบู๊ของเขาเริ่มเสื่อมถอย ควบคู่กับพฤติกรรมชวนดิ่งเหวอย่างการเอาเงินและชีวิตไปลงขวดเหล้าเสียหมด แต่นอกจากงานกำกับของเควนตินแล้ว ตัวละครนี้จะไม่มีชีวิตชีวาเท่านี้เลยหากไม่ได้การแสดงของ ลีโอนาร์โด ดิคาพริโอ ที่ถ่ายทอดความกลัวของดาราตกกระป๋องได้อย่างเปี่ยมเสน่ห์
เข้ารอบ : เคน ไมลส์ จาก Ford V Ferrari, แฟรงค์ ชีแรน จาก The Irish Man, เอลตัน จอห์น จาก Rocket Man
ฉากจากหนังและซีรีส์ที่ประทับใจ
ฉากแข่งรถในสนามเลอมังก์ จาก Ford V Ferrari
ฉากที่ประทับใจที่สุดเป็นฉากไคลแม็กซ์ตอนจบของเรื่อง หลังจากที่ลุ้นมาตลอดและรถแข่งทุกคันของทีม Ferrari แพ้ทีม Ford อย่างไม่สามารถเข้าเส้นชัยได้แล้ว จึงเหลือที่รถแข่งของทีม Ford 3 คันที่มุ่งหน้าตรงเข้าสู่เส้นชัย รถแข่งคันของ Miles ขึ้นนำเป็นอันดับหนึ่ง แต่รองกรรมการบริษัทขอให้ Shelby สั่ง Miles ชะลอความเร็วลงเพื่อให้เข้าเส้นชัยพร้อมกันกับรถทีม Ford อีก 2 คัน ซึ่งหมายความว่าจะเป็นผู้ชนะร่วมที่เข้าเส้นชัยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้ Henry Ford ที่ 2 ได้หน้า Shelby ขอให้ Miles ซึ่งไม่เคยทำตามคำสั่งเขามาตลอดชีวิตทำตาม ทั้งที่ Shelby ก็บอกให้ Miles เลือกทำอย่างที่ใจต้องการ Miles จึงเร่งเครื่องจนทำลายสถิติความเร็วต่อรอบสูงที่สุดอย่างเป็นประวัติศาสตร์ แต่แล้วในเสี้ยววินาทีหนึ่งนั้น หนังก็ทำให้คนดูได้เดาความคิดของ Miles ว่า จะด้วยเพราะรักเพื่อนอย่าง Shelby ไม่อยากให้ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก หรือรู้สึกว่าเพียงพอแล้วสำหรับชัยชนะจอมปลอม หรือชนะไปก็ไม่ได้อะไรมากกว่าสิ่งที่รู้อยู่แก่ใจ เขาจึงชะลอความเร็วลงและขับรถเข้าพร้อมกับอีก 2 คัน อย่างที่ Shelby ก็คิดไปไม่ถึง มาจนถึงตอนจบที่เป็นตลกร้ายว่า จริง ๆ แล้ว เขาไม่ใช่ผู้ชนะร่วมเพราะ 1ใน 2 คันที่เหลือ ออกตัวจากระยะที่ไกลกว่า จึงนับว่าเป็นเขาไม่ใช่ผู้ชนะไปเสียอย่างนั้น ทั้งหมดเป็นแผนการของรองกรรมการบริษัทนั่นเองที่อยากจะกลั่นแกล้ง Shelby และ Miles ซึ่ง Miles ก็ไม่โกรธเพื่อนสนิท แถมยังบอกว่า ปีหน้ามาช่วยกันคว้าที่ 1 ของการแข่งรถด้วยกันใหม่ ซึ่งเขาไม่รู้เลยว่าโอกาสนั้นจะไม่มีวันมาถึงอีกแล้ว
เข้ารอบ : ฉากตะลุมบอน จาก Avengers End Game, เล่นซ่อนหา จาก Parasite, ซูบนเครื่องเล่นปลาหมึก จาก Where We Belong
นักแสดงชายที่ทีมงานชื่นชอบ
โรเบิร์ต เดอ นีโร จาก The Irish Man
ทุกฉากที่ Robert De Niro ปรากฏตัวตัวใน The Irishman นั้น เขาได้มอบการแสดงอันปราณีต ทั้งสีหน้า และการแสดงออกทางด้านร่างกาย ซึ่งทำให้ผู้ชมเชื่ออย่างสนิทใจว่า ตัวละคร Frank Sheeran เป็นคนจริงใจ และสามารถรับหน้าที่อันหนักอึ้งได้โดยไม่ลังเล จนกลายเป็นคนสนิทของเจ้าพ่อใหญ่อย่าง Russell Bufalino (รับบทโดย Joe Pesci) และนักการเมืองผู้โผงผางอย่าง Jimmy Hoffa (รับบทโดย Al Pacino) มาตั้งแต่ยุค 80s ในขณะเดียวกัน Robert De Niro ก็แสดงให้เห็นทักษะการแสดงออกด้านแววตาและน้ำเสียงได้อย่างน่าทึ่ง แสดงให้เห็นถึงความโรยราในวัยของ Frank ในช่วงปลายของอาชีพ และเหนื่อยล้าจากการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งทำให้ตัวละคร Frank มีมิติขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่ Frank ได้รับคำสั่งให้ไปพบกับ Jimmy Hoffa เพื่อนรักของเขาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะต้องลงมือสังหารด้วยตนเองนั้น แววตาเขาดูทอดอาลัย ภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้ม และน้ำเสียงที่สั่นเล็ก ๆ ในลำคอเล็ก ก็ทำให้ทราบได้ถึงความทุกข์ใจของ Frank ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้อย่างชัดเจนนั่นอาจกล่าวได้ว่าการแสดงของ Robert De Niro นั้น เรียกว่า “น้อยแต่ได้มาก” และคุมโทนตัวละครในแต่ละช่วงวัยไม่ให้หลุดจากอารมณ์ของภาพยนตร์ จนกลายเป็นตัวละคร Frank Sheeran ได้อย่างแนบเนียน
เข้ารอบ : คริสเตียน เบล จาก Ford V Ferrari, วาคีน ฟินิกซ์ จาก Joker
นักแสดงหญิงที่ทีมงานชื่นชอบ
เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ จาก Where We Belong
ขอบรรยายความประทับใจในฐานะคนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับ BNK48 นะครับ รู้จักน้องเจนนิษฐ์เพียงว่าเป็นสมาชิกคนหนึ่งใน BNK48 เท่านั้น แล้วก็ดู Where We Belong ด้วยความคาดหวังเพียงว่า นี่คือหนังที่เอาศิลปินวัยรุ่นมารับบทนำเพื่อหวังผลทางด้านการตลาดจากกลุ่มแฟนคลับของวง แต่สิ่งที่เห็นมันเกินคาดไปมากการแสดงของเจนนิษฐ์ อยู่ในระดับมืออาชีพ อย่างกับว่าน้องมีประสบการณ์แสดงมาแล้วอย่างโชกโชนอย่างนั้นล่ะ ถ้ามองแต่ละโจทย์ที่คงเดชโยนให้น้องนี่เป็นงานที่โคตรหิน เจองานแรกก็ดราม่าหนักโคตร ทั้งการสาดอารมณ์ตอบโต้กับเพื่อนนักแสดงด้วยกัน กับรุ่นใหญ่อย่างขจรศักดิ์ บทซูนี่เป็นบทที่ต้องถ่ายทอดอารมณ์ถึงคนดูด้วยสีหน้าแววตาเกือบทั้งเรื่อง 2 ชั่วโมงที่อยู่กับบทซู ได้ร่วมรับรู้ไปกับแต่ละสถานการณ์ที่เธอได้เจอจากคนรอบข้าง เจนนิษฐ์สามารถพาเราค่อย ๆ จมลึกไปกับความรู้สึกของเธอได้จริงเชื่อว่า หลาย ๆ ฉาก นี่ต้องทำสมาธิบิลท์อารมณ์กันน่าดู ฉากที่เอาตายคือฉากบนเครื่องเล่นปลาหมึกหมุน ที่เธอปลดปล่อยอารมณ์ภายในมาออกมาหมดจริง ๆ เป็นฉากที่เธอเพียงคนเดียวที่ต้องประชันหน้ากับกล้องลองเทคยาว ๆ อายุเพิ่ง 18 ปี รับโจทย์ของคงเดชมา แล้วถ่ายทอดมาได้สมบูรณ์แบบนี้ เอาดีทางการด้านแสดงไปเถอะครับ
เข้ารอบ : เรเน เซลวีเกอร์ จาก Judy, แพรวา สุธรรมพงษ์ จาก Where We Belong, เบ ซูจี จาก Vagabond, ลูพิตา นยองโก จาก Us
ซีรีส์ประทับใจทีมงาน
THE NEKED DIRECTOR
“The Naked Director โป๊ บ้า กล้า รวย” มันคือตำนานเถ้าน้อย วัยรุ่นพันล้านในฉบับของผู้กำกับหนัง AV นอกจากความวาบหวามพาใจสั่นในเรื่องแล้ว ส่งที่เราได้รับมันคือความรู้เรื่องของการทำธุรกิจในแบบที่ไม่เหมือนกับคัมภีร์ไหน ๆ แถมยังพ่วงไว้ด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมายทั้งที่เกี่ยวข้องกับวงการหนัง AV และเกี่ยวข้องกับบริบททางสังคมของญี่ปุ่นในแต่ละยุคสมัย ยิ่งเป็นเรื่องที่สร้างจากเรื่องจริงของราชาหนัง AV “โทรุ มูรานิชิ” ยิ่งทำให้สถานะของหนังมีความหนักแน่นน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ผ่านตัวละคร “โทรุ มูรานิชิ” ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้มีความเป็นมนุษย์ที่เราสามารถเข้าถึงได้ การแสดงของ “ยามาดะ ทากายูกิ” นับเป็นอีกสิ่งที่น่าประทับใจ เขาสามารถทำให้เราเชื่อได้ว่าแววตาแบบนี้ ท่าทีแบบนี้ ความมุ่งมั่นแบบนี้ “นี่แหละคือมูรานิชิ” ทั้ง ๆ ที่เราเองก็ไม่เคยรู้จักมักจี่ผู้ชายคนนี้มาก่อนเลย แถมยังพ่วงมาด้วยพล็อตเรื่องที่เร้าใจชวนติดตามตามประสาซีรีส์ชั้นดี อีกทั้งเรื่องราวยังลอกล่อนเปิดเปลือยความเป็นมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น เลยเป็นสิ่งที่ทำให้ The Naked Director เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่น่าลุ่มหลงมากที่สุดในปีนี้
เข้ารอบ : Strager Things Season 3, Sky Castle, Vagabond , The Crown Season 3
เพลงประกอบภาพยนตร์แห่งปี
ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไร ไม่ให้เหลือเธอ – “ทิ้งแต่เก็บ”
มีความรู้สึกอยากให้เพลงไทยติดอันดับสักหนึ่งเพลง เลยลองมานั่งนึกดูว่าที่ผ่านมาในปีนี้ประทับใจเพลงไหนบ้าง จนมาวิ้งกับ “ทิ้งแต่เก็บ” ของ The Toys ที่แต่งให้กับเต๋อ นวพลในหนังเรื่อง ฮาวทูทิ้ง ฯ ซึ่งหนังจะฉายวันที่ 26 นี้ ถึงแม้จะยังไม่ได้ดูตัวหนัง และยังไม่รู้ว่าเพลงจะทำงานอย่างไรในหนัง เพียงแค่เพลงที่ปล่อยออกมา เราก็รู้สึกว่าอยากยกตำแหน่งเพลงแห่งปีให้กับเพลงนี้แล้ว หนึ่งเลยเพลงมันมีเสน่ห์ด้วยความเรียบง่าย จากปลายนิ้วที่พรมลงไปบนเปียโน แผ่นหวาน เปลี่ยวเหงา แบบเดียวกันกับที่เพลงประกอบหนังหรือซีรีส์เกาหลีดี ๆ จะมอบให้กับเราได้ แถมยังมีทรัมเป็ตโซโล่พ่วงเข้ามาเพิ่มความเหงาลึกให้กับบทเพลงเข้าไปอีก ทีเด็ดอีกอย่างอยู่ที่การตีความของนาย ทอย ที่ให้คำตอบของการทิ้งครั้งนี้ไว้ว่า “ทิ้งเอาไว้ที่เดิม” ซึ่งนั่นมันก็แปลว่า “เก็บ” นั่นล่ะ เป็นการเล่นคำได้อย่างลุ่มลึก แถมยังสะท้อนสภาวะโหยหาอดีตและความอยาก”กักเก็บ” ความทรงจำของมนุษย์ได้อย่างเข้าถึงใจ เชื่อเลยว่าในชีวิตของใครต่อใคร คงมีหลายสิ่งที่อยากทิ้งไว้…ที่เดิม หรือ “ทิ้ง…แต่…เก็บ” นั่นล่ะ
ฟังเพลง ทิ้งแต่เก็บ คลิกที่นี่
เข้ารอบ : Weathering With You – Is There Still Anything That Love Can Do?
Doraemon Nobita’s Chronicle of the Moon Exploration – THE GIFT
Frozen II – “Into the Unknown”
The Lion King – “Spirit”
ดนตรีประกอบภาพยนตร์แห่งปี
Joker (Hildur Guonadottir) / Chernobyl (Hildur Guonadottir)
ที่ยกมาทั้งสองอัลบั้มเลยก็เพราะว่ามันเป็นผลงานจากศิลปินคนเดียวกันคือ “Hildur Guðnadóttir” นักดนตรีและนักแต่งเพลงสาวชาวไอซ์แลนด์ พอพูดถึงงานดนตรีในภูมิภาคนี้เราจะต้องนึกถึงสุ้มเสียงของความเหน็บหนาว เปลี่ยวเหงา ลุ่มลึกเข้าไปถึงจิตใจ เช่นที่เราได้ยินจากเพลงของ Sigor Ros
ทดลองฟังแทร็กสกอร์ Chernobyl ได้ที่นี่
ทดลองฟังแทร็กสกอร์ Joker ได้ที่นี่
เข้ารอบ : Weathering With You – RADWIMPS
Us (Michael Abels)
.Ad Astra (Max Richter)
Hope Frozen (Chapavich Temnitikul)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส