สำหรับคอหนังที่อยู่ในช่วงอายุ 35 ขึ้นไป น่าจะคุ้นเคยกับหนึ่งในวลีจากหนังที่ถูกพูดถึงบ่อยที่สุดเสมอ เมื่อต้องกล่าวถึงการต่อสู้เพื่อความฝันในการใช้ชีวิต หรือการฉกฉวยเอาวันเวลาที่สวยงามแห่งชีวิตเอาไว้ อย่างวลีว่า “Carpe diem” หรือ “Seize the Day” ที่มาจากหนัง Dead Poet Society หนัง “เปลี่ยนชีวิต” ของใครหลายคนที่เล่าเรื่องราวของครูคีตติ้ง ครูจอมขบถที่สอนให้ลูกศิษย์ในชั้นเรียนของเขา กล้าที่จะยัดยืนตามความใฝ่ฝันในการจะใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตัวเองต้องการ มากไปกว่าครรลองของวิถีสังคมที่กรอบครอบความคิดและความฝันของพวกเขาเอาไว้ วันนี้เนื่องในโอกาสวันที่ 16 มกราคม ซึ่งเป็นวันครูแห่งชาติของไทย เราจะชวนมารำลึกถึง หนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครูลูกศิษย์ที่เหมาะอย่างยิ่งที่จะหยิบมาหวนรำลึกกันในวันนี้
“…พวกเขาไม่ได้รั้งรอจนสายไปหรอกหรือ ก่อนจะทันได้ทำชีวิตให้เป็นในสิ่งซึ่งพวกเขาสามารถเป็นได้ จงฉวยวันเวลาเอาไว้ ใช้มันทำชีวิตเธอให้พิเศษที่สุด…” – ครูคีตติ้ง
ที่มาของชื่อ “จอห์น คีตติ้ง”
ด้วยความที่จอห์น คีตติ้งภายในเรื่องเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ในหนังจึงเต็มไปด้วยโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ซึ่งก็ชวนให้นึกถึงกวีอังกฤษคนสำคัญอย่าง John Keats ที่ประพันธ์ Ode to a Nightingale ซึ่งเล่าถึงความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิตมนุษย์ นอกจากนี้ แม้ว่าครูคีตติ้งจะไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบุคคลมากมาย Tom Schulman ผู้เขียนบท ได้รับแรงบันดาลใจมาจากครูสอนภาษาอังกฤษของเขาเมื่อตอนวัยรุ่นและพ่อผู้ชอบอ่านบทกวีให้เขาฟัง และ Robin Williams นักแสดงนำ ยังใช้ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ของเขามาเป็นแรงบันดาลใจเสริม ครูคนนี้สั่งให้นักเรียนในห้องโยนตำราประวัติศาสตร์ทิ้งถังขยะตั้งแต่คาบแรก
หลากหลายที่มาของ “บทกลอนที่เกี่ยวกับวันเวลาของชีวิต” ภายในเรื่อง
ฉากเปิดตัวครูคีตติ้งในคลาสเรียนแรกซึ่งครูเดินผิวปากเข้ามานั้น เพลงที่ผิวปากคือ 1812 Overture ของคีตกวีชื่อดัง Pyotr Ilyich Tchaikovsky ที่แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระ 70 ปีที่ประเทศรัสเซียขับไล่กองทัพนโปเลียนแห่งฝรั่งเศสไปได้สำเร็จ ในหนัง V for Vendatta ก็ได้ใช้เพลงนี้ตอนประกาศชัยชนะตอนจบของเรื่องด้วย
O Captain! my Captain! กลอนบทแรกที่ครูคีตติ้งเอ่ยขึ้น เพื่อบอกลูกศิษย์ว่า “ครูคีตติ้ง” หรือถ้าจะให้ดีก็กล่าวบทกลอนนี้ในการเรียกเขาเลย กลอนบทนี้มาจากบทกลอนของ Walt Whitman กวีของกลุ่ม Transcendentalism หรือพวกที่เชื่อในจิตวิญญาณของมนุษย์ที่ได้รับพลังมาจากวิถีแห่งธรรมชาติ ซึ่งนอกจากบทกลอนนี้แล้ว คนดูยังจะได้ยินบทกลอนของเขาอีกเกือบตลอดทั้งเรื่อง เล่ากันว่า บทกลอน O Captain! my Captain! นี้ Whitman ได้แต่งเพื่อมอบให้แด่ประธานาธิบดี Abraham Lincoln ที่จะหมายถึงผู้นำที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่ไม่ทันได้อยู่ก่อนเห็นความสำเร็จของสิ่งที่สร้างไว้ (ชะตากรรมเช่นเดียวกับบทสรุปตอนจบของครูคีตติ้งที่ต้องออกจากการสอนกลางคันเพราะถูกบีบจากโรงเรียน)
กลอนบทแรกที่ครูคีตติ้งขอให้ลูกศิษย์อ่านในเรื่องคือ To the Virgins, to Make Much of Time ของ Robert Herrick กวีชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจะพูดถึง การใช้เวลาให้คุ้มค่าเพราะชีวิตของคนเรานั้นสัั้นนัก เขายังเคยเขียนบทกลอนที่มีความว่า “เวลาโบยบินไม่ได้หยุดหย่อน ดอกไม้ที่แย้มบานในวันนี้จะโรยราในวันพรุ่ง” ซึ่งก็ตรงกับแนวคิดของเรื่องที่ครูคีตติ้งเน้นย้ำกับเด็ก ๆ ส่วน Carpe diem นั้นเป็นกลอนภาษาละตินของ Horrace กวีชาวโรมันที่มีชีวิตในช่วง 65 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งก็พูดถึงการฉกฉวยวันเวลาไว้เช่นกัน
“…การแพทย์ กฎหมาย ธุรกิจ วิศวกรรม ล้วนเป็นสายงานทรงเกียรติและจำเป็นต่อการดำรงชีพ แต่บทกวี ความงาม ความโรแมนติก และความรัก ต่างหากที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนั้น…” – ครูคีตติ้ง
ในฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องที่ตัวละครลูกศิษย์อย่างนีล แพร์รี่ ได้ฉกฉวยวันเวลาในการไปคัดเลือกเป็นนักแสดงในละคร A Midsummer Night’s Dream ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ Shakespeare กลอนท่อนนี้ถูกกล่าวขึ้นในเรื่องตอนเป็นบทส่งท้ายต่อผู้ชมว่า “ถ้าไม่ชอบเรื่องราวที่ได้ดูไป ก็ขอให้คิดว่าเป็นเพียงแค่ความฝัน” ฉากนี้พ่อของนีลที่ยอมรับไม่ได้ที่จะให้ลูกรักศิลปะและมาเล่นละคร ก็ได้เข้ามาดูการแสดงของนีลด้วย คำพูดนี้จึงเป็นคำพูดสุดท้ายของนีลที่อยากให้พ่อยอมรับในตัวเขา ก่อนที่จะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงอย่างน่าสะเทือนใจ
“…เพียงในฝันเท่านั้นละ ที่จะทำให้มนุษย์ได้มีอิสระอย่างแท้จริง มันเป็นเช่นนั้นเสมอมาและจะเป็นเสมอไป…” – ครูคีตติ้ง
เบื้องหลังของหนังที่เกือบไม่ได้ถูกสร้าง
แม้ว่าในยุค 80s นั้น หนังที่สร้างเพื่อจรรโลงการใช้ชีวิตผ่านบทกวีและศิลปะ จะถูกสร้างมากกว่าในปัจจุบัน แต่กับ Dead Poet Society นั้นก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกล้าลงทุนเงินถึง 4 ล้านเหรียญฯ (จากทุนสร้างทั้งหมด 16 ล้านเหรียญฯ) เพื่อจ้างนักแสดงตลกอย่าง Robin Williams มารับบทครูที่ต้องคอยกล่าวบทกวีมากกว่าโชว์มุกตลก นอกจากนั้น ผู้กำกับนิวเวฟของออสเตรเลียที่ได้รับเลือกมากำกับ ก็ทำมาแต่ผลงานหนังดราม่าซีเรียสทั้งหมด โดยเรื่องนี้เขาตั้งใจจะทำให้คล้ายกับ Gallipoli (1981) ที่เขาเคยกำกับมาก่อน เล่าเรื่องเกี่ยวกับเด็กหนุ่มที่เจ็บป่วยทางใจจากการเข้าร่วมสงคราม)
ต่อมาหนังก็ยังขบถต่อคำสั่งของค่ายหนังอย่าง Touchstone ในเครือ Disney ที่ไม่ให้ถ่ายในชนบทและถ่ายหนังกลางหิมะ ชื่อของหนังที่ถูกตั้งก็ถูกคนในวงการแซวกันว่า Dead Poet Society เป็นชื่อที่ไม่แมสและทำให้หนังขายยากไปอีก (Harrison Ford ที่สนิทกันดีกับผู้กำกับ Weir ถึงกับบอกว่า มีแค่อีกชื่อเดียวที่จะทำให้หนังขายไม่ได้เลยก็คือ Dead Poet Society in Winter) และท้ายสุด แม้จะถูก Disney กดดันให้ลดงบการถ่าย แต่ Weir ก็สามารถถ่ายทำหนังให้จบได้ภายในเวลา 2 เดือน (บางวันเขาถ่ายถึง 22 ฉาก จน Robin Williams แซวว่า “ผมกลัวว่าเขาจะขาดใจตายไปเสียก่อน”
ผู้กำกับและบทครูคีตติ้ง เกือบไม่ใช่อย่างที่เห็นกันอยู่
ก่อนที่เก้าอี้ผู้กำกับจะเป็นของ Peter Weir นั้น ข้อเสนอของตำแหน่งนี้เคยเป็นของผู้กำกับ Jeff Kanew จากหนัง Revenge of the Nerds (1984) และ Tough Guys (1986) ก่อนที่ถอนตัวจากโครงการหนังไปกำกับหนังตลก Troop Beverly Hills (1989) แทน ซึ่งก็ไม่ได้เป็นที่จดจำอะไร (ก็ดีแล้วที่หนังเรื่องนี้เกือบจะกลายเป็นหนังตลก)
ส่วนบทครูคีตติ้งนั้น ตอนที่ Kanew ยังเข้าชื่อกำกับ เขาเคยอยากได้ Liam Neeson มารับบทนี้ ก่อนที่ต่อมาจะไปเจรจากับ Mel Gibson แต่ตกลงกันเรื่องค่าตัวที่ถูกเรียกแพงลิบไม่ได้ ก่อนที่ผู้กำกับจะถูกเปลี่ยนมาเป็น Weir นักแสดงอย่าง Mickey Rourke ก็เคยอยู่ในขั้นการเจรจา แต่ถอนตัวออกไปเพราะ Weir ไม่ยอมเปลี่ยนบทให้ตามเขาต้องการ ก่อนที่จะมาเกือบจบที่ Dustin Hoffman ที่สุดท้ายถอนตัวให้ Robin Williams ที่ Hoffman บอกว่าเหมาะสมมากกว่า นอกจากนี้ River Phoenix นักแสดงวัยรุ่นผู้ล่วงลับเพื่อนซี้ของ Keanu Reeves ยังเคยขอมาแคสติ้งเป็นบทนีล แพร์รี่ บทวัยรุ่นที่จบชีวิตตัวเองในเรื่องด้วย
ความจริงจังของผู้กำกับ ในการถ่ายทอดเรื่องราวให้สมจริง
ความละเมียดละไมของผู้กำกับในยุคนั้นจะเน้นความสมจริงของการถ่ายทำเพื่อให้ภาพยนตร์ออกมาสมจริงที่สุด Peter Weir ไม่ให้นักแสดงวัยรุ่นที่รับบทลูกศิษย์ในเรื่องดูฟุตเตจจากถ่ายทำเลย เพราะต้องการให้ลืมความเป็นนักแสดงและใช้ชีวิตเหมือนเป็นตัวละครวัยรุ่นในโรงเรียนจริง ๆ รวมถึงหนังเรื่องนี้ยังเป็นการถ่ายเรียงตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องตามบทภาพยนตร์ นอกจากนี้ ในฉากที่ตัวละครท็อดด์ ร้องไห้เสียใจเพราะโศกนาฏกรรมของเพื่อน วันนั้นหิมะตกที่โรงเรียนที่ใช้ถ่ายทำ ผู้กำกับ Weir ก็ให้นักแสดงแดงที่รับบท็อดด์ วิ่งออกไปกลางหิมะโปรยปรายจนได้ภาพที่งดงามฉากหนึ่งของเรื่อง Weir ยังวางวิทยุเทปไว้ใกล้ตัวเพื่อเปิดเพลงไอริช ตัวอย่างเช่นเพลง “Stray-Away Child” เพื่อให้ตัวเขาเองและนักแสดงอินไปกับบรรยากาศของหนังตลอดการถ่ายทำด้วย
ความสำเร็จด้านรายได้
Dead Poet Society มาถึงในช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังโหยหนังที่แฝงแง่คิดและมอบสติปัญญาแก่ผู้ชม (ในปีนั้นที่มีหนังอย่าง My Left Foot และ Henry V เข้าฉาย ซึ่งเป็นหนังที่แฝงแง่คิดทั้งนั้น) หนังเข้าฉาย 2 มิถุนายน ปี 1989 ทำรายได้ในสหรัฐไปถึง 96 ล้านเหรียญฯ (ครองอันดับ 10 หนังทำเงินสูงสุดแห่งปี และอันดับ 1 ในปีนั้นคือหนัง Batman ของ Tim Burton) และทำรายได้จากทั่วโลกไป 235.9 ล้านเหรียญฯ ซึ่งถือว่าสูงมากในเวลานั้น ซึ่งผู้กำกับของเรื่องเชื่อว่า เป็นเพราะหนังเจาะตลาดเข้าไปถึงผู้ใช้แรงงานและผู้คนในชุมชนแออัด รวมถึงชนกลุ่มน้อย ซึ่งให้การตอบรับหนังอย่างดีเป็นพิเศษด้วยประสบการณ์บางอย่างที่เข้าไปสัมผัสถึงหัวจิตหัวใจคนดู
การเข้าชิงออสการ์สาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม
เชื่อว่าหนังเรื่องนี้ที่มีอายุครบ 31 ปีแล้วในวันนี้ เป็นหนังในดวงใจของคอหนังหลายคน โดยเฉพาะเรื่องราวที่มีหนังเป็นผลงานกำกับของผู้กำกับชั้นครูคนหนึ่งของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่าง Peter Weir ที่กำกับหนังสอนให้เห็นคุณค่าของชีวิตมาแล้วหลายเรื่อง เช่น The Truman Show (1998) Fearless (1993) และเรื่องหลังสุด The Way Back (2010) ภาพจำอีกอย่างของหนังก็คือ การแสดงที่เป็นที่น่าจดจำอย่างมากของ Robin Williams ผู้ล่วงลับ และหนังก็ยังเป็นที่รวมของนักแสดงวัยรุ่นที่ต่อมามีภาพยนตร์เล่นอีกมากมาย ทั้ง Ethan Hawke (Training Day, ฺBefore Sunrise Trilogy) และ Josh Charles (ซีรีส์ The Good Wife)
หนังได้เข้าชิงออสการ์ที่จัดในปี 1990 ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ที่ในเวลานั้นมีผู้เข้าชิงแค่ 5 เรื่อง) ผู้กำกับยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (1 ใน 4 ครั้งที่เข้าชิงของ Williams) แต่หนังชนะไปแค่สาขาเดียวคือ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นฝีมือของ Tom Schulman ซึ่งก็ไม่ได้มีผลงานเขียนบทเรื่องไหนที่ประสบความสำเร็จเท่าเรื่องนี้อีกเลย
ตลอด 31 ปีมานี้ หนังยังได้รับรางวัลต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น การได้รับการโหวดผ่านเว็บไซต์ Teachers TV ให้เป็นอันดับ 1 ใน 100 ของหนังเกี่ยวกับโรงเรียนที่ดีที่สุด เอาชนะหนังอย่าง Kes, School of Rock และ The Breakfast Club นอกจากนี้ หนังยังก่อร่างสร้างอิทธิพลให้เกิด “ชมรมกวีไร้ชีพ” ในโลกความจริง เช่น ชมรมสนับสนุนการวิ่ง เป็นตัวบนอินเทอร์เน็ตเมื่อปี 1991 ชื่อ Dead Runners Society หนังให้แรงบันดาลใจจนศิลปินไปสร้างวงดนตรีร็อกของอังกฤษ ชื่อว่า Orlando ก่อให้เกิดชมรมอ่านบทกวีของนักอ่านในประเทศออสเตรเลีย ของแม่บ้านประเทศอาร์เมเนีย ของเด็ก ๆ ในประเทศออสเตรีย เป็นต้น
เรียบเรียงจาก: Bioscope ฉบับที่ 90 ประจำเดือน พฤษภาคม 2552
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส