เคยฟังเพลงแล้วมันวนอยู่ในหัวไหมครับ ? วนเวียน เวียนวน ซ้ำไปซ้ำมา เหมือนมีคนมาท่องบ่นอะไรอยู่ในหัว ห้ามก็ไม่หยุด ไล่ก็ไม่ไป อย่างล่าสุดฟังเพลง “มะล่องก่องแก่ง” เข้าไป ในหัวมีแต่เสียง “มะริ่งกิ่งก่อง สะระน๊องก่องแก่ง มะน่องมะแน่งมั๊บ ปะล่องป่องแป่ง ง้องแง้งง้องแง้ง“ ซ้ำไปซ้ำมาจนเกือบหาวิธีหยุดไม่ได้ ใครยังไม่ได้ฟังเราขอเตือนไว้ก่อนนะครับ ถ้าไม่อยากให้มัน “มะริ่งกิ่งก่อง สะระน๊องก่องแก่ง” อยู่ในหัวก็พยายามหนีไปให้ไกล แต่ถ้าคำเตือนนี้สายเกินไปแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวครับ วันนี้ผมมีวิธีมาถอนพิษ มาถอนเจ้า “Earworms” ท่อนเพลงที่วนเวียนอยู่ในหัวของเราราวกับหนอนร้ายที่คอยชอนไชอยู่ในหัวไม่ไปไหน ด้วย 6 กลเม็ดวิธีที่มีประสิทธิภาพแถมมีหลักวิทยาศาสตร์มารองรับ ลองแล้วรับรองหายเป็นปลิดทิ้ง ชอบใจวิธีไหนเลือกใช้ได้เลย หรือถ้ามันยังไม่หายก็ใช้มันทั้งหมดนี่ล่ะครับ


วิธีที่ 1 “จงฟังทั้งเพลง” !!!


บางคนพอเห็นวิธีที่ 1 แล้วอาจจะอุทานว่า “อิหยังวะ” นี่พยายามหนีแทบตายยังบอกให้ไปฟังอีก แต่ช้าก่อนจริง ๆ แล้ววิธีนี้มีเหตุผลที่น่าสนใจอยู่นะครับ อ้างอิงจากบทความ Sticky Tunes: How Do People React to Involuntary Musical Imagery?” ที่พูดถึงการทดลองในปี 2014 ที่มีการค้นหาวิธีหยุด earworms ซึ่งวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพก็คือ “การฟังทั้งเพลง” เพราะเอาจริง ๆ แล้วไอ้ที่วนอยู่ในหัวเรานั้น มันมาแค่ท่อนเดียวเท่านั้น คือท่อนที่มันมีลักษณะที่ควรจดจำ มีลักษณะเน้นย้ำให้เราจำลงไป อย่างเพลง “Baby Shark” ก็คือ ท่อน “Baby Shark ตือ ดึ้ด ตือ ดึ้ด” ส่วนเพลง “มะล่องก่องแก่ง” ก็คือ ท่อน “ขอโทษที่เข้าไปเป็น มะริ่งกิ่งก่อง สะระน๊องก่องแก่ง มะน่องมะแน่งมั๊บ ปะล่องป่องแป่ง ง้องแง้งง้องแง้ง ในชีวิตเธอ“ หากสังเกตดี ๆ เราจะพบว่าในคลิปที่แชร์กันในโลกโซเชียลอย่างเฟสบุ๊ค มักเป็นคลิปที่ตัดมาเฉพาะท่อนนี้ เพราะฉะนั้นการฟังหรือแชร์ซ้ำหลายทีก็เท่ากับเป็นการเน้นย้ำมันลงไปนั่นล่ะ เพราะฉะนั้นวิธีหยุดที่ดีคือให้ไปฟังทั้งเพลงนั่นเอง !


วิธีที่ 2 “หนามยอกเอาหนามบ่ง ไปหาเพลงอื่นมาสู้กันซะ” !!


หากวิธีแรกไม่ได้ผล แถมยิ่งเตลิดเปิดเปิง “สะระน๊องก่องแก่ง” เข้าไปใหญ่ เรามีวิธีต่อไปมาแนะนำครับ จากงานวิจัยชิ้นเดิม ได้มีอีกวิธีที่ใช้ได้ผลนั่นคือหาเพลงใหม่มาสู้กับมันซะเลย ! ซึ่งบทเพลงเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า “care tunes” เป็นเพลงที่มีผู้รับการทดสอบฟังแล้วหายจากอาการ earworms โดยในงานวิจัยได้แนะนำเอาไว้ถึง 64 เพลงด้วยกัน  แต่มีอยู่ 6 เพลงที่ผู้เข้ารับการทดสอบเห็นตรงกันว่าใช้ได้ผลมากกว่าหนึ่งคนนั่นก็คือ “Happy Birthday to You,” “God Save the Queen” (ผู้เข้ารับการทดสอบส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษ), ธีมจาก The A-Team, “Sledgehammer” โดย Peter Gabriel, “Kashmir” โดย Led Zeppelin, และ “Karma Chameleon” โดย Culture Club หากปรับให้เป็นบริบทบ้านเราอาจจะต้องใช้ “เพลงชาติไทย” “สามัคคีชุมนุม” หรืออะไรแนวนี้อาจจะช่วยได้  แต่ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่า “care tunes” ที่เลือกใช้ควรเป็นอะไรที่ซอฟท์กว่าเพลง earworms เพราะถ้าเกิดเจ้า care tunes ได้กลายเป็น earworms ตัวใหม่มันก็จะได้ไม่ร้ายแรงเท่าเพลงเก่าและอาจสลายหายไปได้โดยง่ายกว่า


วิธีที่ 3 “เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการไปหาอะไรอย่างอื่นทำซะ” !!!


credit : freepik

สมองมนุษย์สุดลึกล้ำนั้นมีความสามารถในการรับรู้หลายสิ่งได้พร้อม ๆ กันไป จนทำให้เราสามารถทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมกันหรือที่เราเรียกว่า “multitask” ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลดน้อยถอยลงไป แต่หากมาปรับใช้ในกรณีขจัด earworms มันอาจเป็นวิธีที่ดี เพราะช่วยแบ่งความสนใจจากเสียงในหัวให้ไปที่อื่น กิจกรรมที่แนะนำก็คือกิจกรรมที่ไกลห่างจากเสียงดนตรีแล้วไปโฟกัสที่ “คำ”แทน เช่น การหาคนคุย การสวดมนต์ การดูทีวี หรือการอ่านหนังสือ ลองทำวิธีนี้ดูน่าจะเวิร์คอยู่นะครับ


วิธีที่ 4 “เคี้ยวหมากฝรั่ง” !!!


จากบทความวิจัยในปี 2015 Want to block earworms from conscious awareness? B(u)y gum!” ที่มีการทดลองขจัด earworms ด้วยการใช้การเคี้ยวหมากฝรั่งซึ่งเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ (motor activity) ซึ่งจะทำหน้าที่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการรับรู้ทางเสียงรวมไปถึงการสร้างเสียงขึ้นมาในหัวนั่นเอง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า กิจกรรมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ หรือ motor activity ทุกแบบจะสามารถขจัด earworms ได้ อย่างเช่นการเอานิ้วเคาะไปบนโต๊ะนั่นกลับช่วยให้ earworms ทำงานได้ดีขึ้นเข้าไปใหญ่ !


วิธีที่ 5 “เจริญสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน” !!!


เอาสิ ! ถ้าดื้อนักก็มาเจอวิธีนี้เลย เป็นวิธีที่เหมาะกับชาวพุทธมาก (แต่คนที่นับถือศาสนาอื่นก็ทำได้เหมือนกันนะครับ) หากมันวนเวียนนักก็ให้ลองนั่งสมาธิเจริญวิปัสสนา จะภาวนา “พุท-โธ” “ยุบหนอ-พองหนอ” หรือ “ตามลมหายใจ” ก็ได้ แต่ถ้าหากยังไม่หายก็ให้เอาเจ้า “เสียงในหัว” มาเป็นเครื่องกรรมฐาน มาเป็นตัวกำหนดรู้เสียเลย  เอา “รู้หนอ” มากำหนดที่เสียงซะ  ทีนี้ถ้านั่งนานแล้วยังไม่หายก็ลองสลับไปเดินจงกรมบ้างสลับกันไป เดิน 15 นาที นั่ง 15 นาที ทำสลับไปแบบนี้ ถ้าไม่หายก็ให้มันรู้ไป !!!


วิธีที่ 6 “ปล่อยวาง” !!!


เมื่อลองมาทุกวิธีแล้วมันก็ยังทำอะไรไม่ได้ วิธีสุดท้ายก็คือ “ช่าง….มัน” หรือ “ปล่อยวาง” นั่นเอง แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราพ่ายแพ้หรือสยบยอมมันเสียแต่อย่างใด เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้นได้บ่งบอกเอาไว้ว่า earworms นั้นมันจะไม่ได้รบกวนกิจกรรมธรรมดาในชีวิตประจำวันเราสักเท่าไหร่ หรืออย่างน้อยหากมองในแง่ดีเพลงส่วนใหญ่ที่ earworms เรามันก็มักเป็นเพลงที่เราชอบมากกว่าที่จะไม่ชอบ แถมในคนส่วนใหญ่ earworms ก็ไม่ได้อยู่กับนานนักหรอก เพราะฉะนั้นหากมองในแง่ดี (อีกที) การที่มีเพลงเปิดในหัวมันก็ดีไปอย่างนะ ลองนั่งสบาย ๆ และฟังมันไปเพลิน ๆ ตั้งใจฟังมันให้เต็มที่เลยนะ แล้วเดี๋ยวพอมันเบื่อมันก็จะหนีไปเอง ไม่เชื่อลองดูสิ !!

credit : deviantart

Source