โรคระบาด ไม่ว่ายุดใดสมัยใด ก็รู้สึกว่ามันอยากจะเกิดมาคู่กับโลกของเราให้จงได้ ตั้งแต่ครั้งอดีตประเทศไทยของเรามีโรคระบาดสำคัญที่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ดีใจเล่นกันว่าดีจริงที่เราไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น เพราะการมาของโรคร้ายเหล่านี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเป็นเบือ กว่าจะหาทางจัดการกับมันได้ก็เล่นเอาเสียน้ำตากันไปครึ่งค่อนโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ที่เป็นแหล่งเพราะเชื้อที่ดีของเจ้าโรคพวกนี้เลยก็ว่าได้ มีละครไทยหลายเรื่องที่หยิบยกเอาเรื่องราวของเจ้าโรคพวกนี้มาสอดแทรกอยู่ในละครให้เราได้เห็นกันแบบจะจะ

โรคห่า ซุปตาร์ตัวพ่อจนเป็นที่มาของตำนานแร้งวัดสระเกศ

มีละครและภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องสอดแทรกถึงความร้ายกาจของโรคนี้เอาไว้ แต่ก็เป็นแค่เพียงรูปแบบของคำว่า “เมืองแห่งคนตาย” คือสะท้อนภาพการทยอยตายทยอยฝังร่างไร้ชีวิตของผู้คนนับหมื่นเพราะ “ห่าลง” คำว่า “ห่า” เป็นคำเรียกผีที่คนไทยสมัยก่อนเชื่อกันว่าทำให้คนตายลงไปพร้อมกันคราวละมาก ๆ พอเกิดโรคระบาดขึ้น คนโบราณจึงเรียกโรคเหล่านี้ว่า “โรคห่า” ก็มาจากคำว่าผีห่าซาตานที่เราเคยได้ยินกันนั่นละค่ะ แล้วห่ามันไม่ได้มีตัวเดียวอย่างที่เข้าใจกันนะคะ หลายคนอาจเข้าใจว่า ห่า หมายถึงอหิวาตกโรค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ห่าในสมัยก่อนมีมากกว่า 1 ตัวและห่าตัวแรกมันชื่อ กาฬโรค

ที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) มีเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันจนสามารถคิดได้ว่า โรคห่าในสมัยนั้นเป็นโรคเดียวกันกับ Black Death หรือ ความตายสีดำ อันโด่งดังในยุโรปสมัยกลาง ที่ฉกชิงชีวิตของผู้คนไปกว่า 50 ล้านคน เพราะมันตรงกับรัชสมัยที่พระเจ้าอู่ทอง สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อปี พ..1893 ศักราชที่ว่าตรงกับ ค..1350 เป็นปีที่มีการระบาดใหญ่ของความตายสีดำในยุโรปพอดีเลย

ความน่ากลัวของกาฬโรค…โรคที่หายไปจากประเทศไทย

กาฬโรคเกิดจากหมัดหนู ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้จะมีอาการปวดบวมในบริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ มีแผลขนาดลูกปิงปองจนถึงลูกเทนนิสตามบริเวณต่อมน้ำเหลืองต่าง ๆ ที่สำคัญคือลำตัวจะมีสีดำคล้ำ อาการของโรคมันแตกต่างจากอิหวาตกโรคอย่างสิ้นเชิง ยังไม่เห็นว่ามีละครไทยเรื่องไหนหยิบเอากาฬโรคมาพูดถึง แต่ถ้าเป็นอหิวาตกโรคละก็ พูดถึงกันไว้หลายเรื่องอย่างที่บอกไปตอนต้นโดยเฉพาะละครเรื่องนี้ ทองเอกหมอยาท่าโฉลง ที่ใส่เนื้อหาเกี่ยวกับ อหิวาตกโรค แบบเน้น ๆ จนทำให้แม่ชบา (คิมเบอร์ลี แอน เทียมศิริ) ที่อุทิศชีวิตเพื่อรักษาผู้ไข้ เกือบเอาชีวิตไม่รอด

แม่ชบาติดโรคห่า

แม่ชบาติดโรคห่า

ผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ถ่ายเป็นของเหลวไม่หยุด ทั้งถ่ายทั้งอาเจียนจนหมดเรี่ยวแรงและซีดตายไปเอง  อหิวาตกโรคเป็นโรคระบาดที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย (Vibrio cholerae) เข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด  ห่าลงครั้งแรกเมื่อไหร่ ก็นู่นแน่ะตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จนเป็นที่มาของคำว่า “แร้งวัดสระเกศ” เพราะผู้คนเสียชีวิตจากโรคนี้กันเป็นจำนวนมหาศาล ความรู้เรื่องโรคนี้และวิธีรักษายังไม่มีก็ทำให้มีคนตายกันเป็นกองจนเผาศพกันไม่ทัน เหล่าแร้งที่มีมากในสมัยนั้นก็จิกทึ้งซากศพกันอิ่มเอมไปตาม ๆ กัน หนำซ้ำยังมีการเอาศพไปทิ้งแม่น้ำอีก การระบาดของโรคก็เลยมีมาแบบไม่หยุดหย่อน

แร้งวัดสระเกศ ตำนานที่เกิดขึ้นจริง

แร้งวัดสระเกศ ตำนานที่เกิดขึ้นจริง

จนมาถึงในเรื่องนี้ ทองเอกหมอยาท่าโฉลง ซึ่งในเรื่องตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) มีโรคห่าระบาดถึงสองครั้ง แต่การแพทย์ในสมัยนั้นเริ่มเจริญก้าวหน้า มีการจัดตั้งสถานพยาบาลและให้ความรู้แก่ชาวบ้าน โรคห่าจึงมีความรุนแรงอยู่ในพื้นที่จำกัด อย่างที่เราเห็นกันในละคร ทั้งหมอยาพื้นบ้านกับแพทย์หลวงช่วยกันหาแนวทางรักษาชาวบ้านอย่างเต็มที่ โดยหลังจากห่าลงครั้งนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงเร่งให้สร้างระบบประปาเพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำสะอาดใช้เป็นครั้งแรก

อหิวาตกโรคคืออะไร

โรคห่าระบาดในละครที่ท่าโฉลง

โรคห่าระบาดในละครที่ท่าโฉลง

หน่วยแพทย์พระราชทาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

หน่วยแพทย์พระราชทาน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

ไข้หัว ที่เป็นเมื่อไหร่ทุกคนต้องนอนบนใบตอง

ไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ หรืออีกชื่อก็คือ ไข้หัว เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เกิดจากเชื้อไวรัส Variola Virus ผู้ป่วยจะมีตุ่มขึ้นตามตัว มีไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น จนถึงกับชักกันเลยก็ได้ และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ถามว่าความรุนแรงขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าได้รับเชื้อตัวแข็งหรือตัวอ่อนมา ถ้าโชคร้ายไปได้เอาเชื้อตัวแข็ง เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตจากโรคนี้ก็มีสูงถึง 100% ตุ่มฝีที่ว่าจะมากมายขนาดไหน ในที่นี้ขอใช้คำว่าทั่วสรรค์พางกายเต็มไปด้วยตุ่มฝี จนถึงขนาดที่ว่าต้องนอนบนใบตอง ในสมัยก่อนใครเป็นโรคนี้ก็จำเป็นเหลือเกินที่ต้องถูกเอาไปแยกไว้ที่อื่น เพราะโรคนี้นอกจากสร้างความทรมานทางร่างกายแล้ว ผลกระทบทางจิตใจก็มีมากเพราะถึงจะหายแต่ก็ยังทิ้งร่องรอยให้เห็นทั่วร่างกายอยู่ดี

จากภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยทัย” สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ได้ประชวรทรพิษสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2076

จากภาพยนตร์เรื่อง “สุริโยทัย” สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ได้ประชวรทรพิษสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2076

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โรคนี้คร่าชีวิตคนไทยไปมากกว่า 15,000 คน จนมาถึงในปี พ.ศ. 2504-2505 ฝีดาษระบาดที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บริเวณติดต่อกับรัฐเชียงตุงของประเทศพม่า มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เริ่มกวาดล้างโรคนี้อย่างจริงจังในประเทศไทยและรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคฝีดาษ อย่างที่เราเห็นใน “กลิ่นกาสะลอง” ที่อ้ายหมอทรัพย์ (เจมส์ มาร์) พยายามชักจูงชาวบ้านมาปลูกฝี จนแม่นายกาสะลอง (ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์) ต้องมานั่ง “สับสุก” (ปลูกฝี) เป็นตัวอย่าง ว่ามันไม่น่ากลัวอย่างที่คิดกันเลยนะ

กาสะลองปลูกฝี

กาสะลองปลูกฝี

ใครที่เกิดในช่วงปีนั้นจนถึงปี พ.ศ. 2523 ลองดูที่ต้นแขนข้างใดข้างหนึ่งของตัวเองสิคะ มีร่องรอยการปลูกฝีกับเขาบ้างรึเปล่า การปลูกฝีหยุดไปตั้งแต่ที่องค์กรอนามัยโลกประกาศให้โลกปลอดจากเชื้อฝีดาษในปี พ.ศ. 2523 การปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคจึงได้หยุดปลูกกันไปนับแต่นั้นเป็นต้นมา สำหรับในกลิ่นกาสะลองไม่ได้พูดถึงอาการของโรคนี้มากมายนัก แต่สอดแทรกเหตุการณ์ของการปลูกฝีในสมัยนั้นเอาไว้ ถึงความพยายามของหมอที่ต้องหาวิธีชักจูงชาวบ้านให้เห็นความสำคัญของแนวทางป้องกัน จนในที่สุดก็มาต่อแถวให้หมอได้ชื่นใจแบบนี้ละค่ะ

โรคฝีดาษ (Smallpox) หรือไข้ทรพิษ

ความรู้ใหม่ ๆ วิธีการที่ไม่คุ้นเคยก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา

ความรู้ใหม่ ๆ วิธีการที่ไม่คุ้นเคยก็ต้องกลัวเป็นธรรมดา

ไข้ป่า โรคร้ายที่มากับยุง หนทางรักษาช่างมืดมนนัก

มาลาเรีย หรือ ไข้จับสั่น  ไข้ป่า ไข้ป้าง ไข้ดอกสัก หลายชื่อมากค่ะโรคนี้ ก็เรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่ คือ โรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวแพร่สู่ร่างกายคนจากการกัดของยุงก้นปล่องเพศเมีย (Anopheles Spp.) ผู้ป่วยจะมีไข้สูงและหนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน จนถึงถ่ายเป็นเลือด ในรายที่รุนแรงอาจทำให้ตัวเหลือง ชัก โคม่าหรือเสียชีวิตได้

บ่าวเป็นมาลาเรีย เพราะไม่มีมุ้ง

บ่าวเป็นมาลาเรีย เพราะไม่มีมุ้ง

การลดความเสี่ยงของโรคคือการป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด แม่การะเกด (เบลล่า ราณี) ที่ข้ามภพไป 300 กว่าปีจึงนำความรู้ติดตัวไปเผยแพร่ถึงในสมัยอยุธยากันเลยทีเดียว แต่ก็เป็นเพียงแค่ในละครเท่านั่นนะคะ เพราะในสมัยนั้นความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ยังไม่มีเข้ามาเลยแถมยังเป็นโรคเก่าแก่ที่ระบาดและคุกคามมาตั้งแต่เมื่อ 1,500 ปีก่อน และยังอยู่จนถึงปัจจุบัน (แต่ไม่ค่อยจะระบาดแล้วละ)

มาลาเรีย: ความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม

แม่นายแจกเงินซื้อมุ้ง

แม่นายแจกเงินซื้อมุ้ง

ซึ่งโรคนี้ก็ได้ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเสียน้ำตาจากการสูญเสียลูกชายมาแล้วใน “สี่แผ่นดิน” แม่พลอย (อุ้ม สิริยากร) ต้องเสียอ๊อด (เกริกพล มัสยวาณิช) ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนไปด้วยไข้มาลาเรีย เพราะโดนยุงกัด ถามว่าในสมัยแม่พลอยยังไม่มียารักษาอีกเหรอ มีค่ะ แต่ในยุคนั้นบ้านเมืองเกิดเรื่องราวมากมาย ทางรถไฟสายใต้ที่ตาอ๊อดอยู่ถูกตัดขาด หยูกยามีไม่เพียงพอตาอ็อดก็เลยต้องจากแม่ไปในเวลาที่ยังไม่สมควร

แม่พลอยและอ๊อด ใน สี่แผ่นดิน

แม่พลอยและอ๊อด ใน สี่แผ่นดิน

โรคภัยไข้เจ็บหรือการแพร่ระบาดของโรคมันมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วละค่ะ แล้ว 3 โรคที่ว่ามานี้ก็จัดเป็น ซุปเปอร์สตาร์ประจำประเทศไทยดังกระฉ่อนไปทั่วสารทิศ ซึ่งในสมัยนี้โรคที่กำลังแพร่ระบาดและสร้างเสียงกรี๊ดอยู่ในขณะนี้คงหนีไม่พ้นโรคปอดอักเสบที่เกิดจาก ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่  แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะห่างไกลจากโรคนี้ได้ คำตอบคือ ป้องกันตัวเอง ออกจากบ้านใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้เป็นนิสัย เราก็จะปลอดภัยจากโรคนี้ได้เหมือนกับโรคระบาดอื่น ๆ ที่บ้านเราก็เคยรับมือกับมันได้มาแล้วในสมัยก่อน ทั้ง ๆ ที่วิทยาการไม่ก้าวล้ำเหมือนสมัยนี้เลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ป้องกันให้ถูกวิธีเท่านั้นเองค่ะ

ย้อนรอยไวรัสมรณะ! จาก SARS สู่โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ พร้อมวิธีป้องกัน

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส