ต้องยอมรับว่าหลังจาก โซเชียล มีเดีย ได้กลายเป็นสื่อสามัญประจำตัวของผู้บริโภคแล้ว บทบาทของสื่อมวลชนในปัจจุบันถูกตั้งคำถามเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นจะต้องเลือกสิ่งใดระหว่างการนำเสนอที่เร็วและโจ่งแจ้งเพื่อสนองตอบต่อผู้บริโภคที่กระหายข่าวแบบทันใจ หรือกลับไปยึดหลักจริยธรรมสื่อมวลชนเหมือนที่เคยเรียนในหลักการทางวารสารศาสตร์มา WHAT THE FACT ขอรวบรวมหนังที่ทั้งดูสนุกและให้ข้อคิดแต่สื่อมวลชนและผู้ที่กำลังเรียนด้านวารสารศาสตร์และนิเทศศาสตร์ทุกท่านได้ลองหามาชมกัน
Hero (1992)
Hero ผลงานกำกับของ สตีเฟน เฟรียร์ส เล่าเรื่องของ เบอร์นี ลาแพลนต์ (ดัสติน ฮอฟฟ์แมน)หนุ่มดวงซวยที่เมียเพิ่งขอหย่าซ้ำร้ายยังเจอเหตุเครื่องบินตกที่ตัวเองก็ดันลืมรองเท้าไว้ตอนเข้าไปช่วยผู้โดยสารในเครื่องให้รอดตาย แต่แทนที่เรื่องราวจะจบแค่นั้น ก็ดันมีสถานีข่าวช่องดังที่ประกาศหาฮีโรที่ช่วยเหลือผู้โดยสารลึกลับโดยมีเงินรางวัลล่อใจถึง 1 ล้านเหรียญ แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพราะดันมีคนไปแอบอ้างเป็นฮีโรจน เบอร์นี ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตัวเองและประกาศว่าเขานี่แหละคือฮีโรตัวจริง
จากพลอตเรื่องเราจะเห็นได้เลยว่าสื่อมวลชนมีบทบาทและอิทธิพลในการบิดเบือนข้อเท็จจริงแค่ไหน เพราะไม่ว่าเบอร์นีจะพยายามออกมาพูดความจริงแค่ไหน แต่เสียงของเขาก็ไม่ได้ดังไปกว่าสื่อมวลชน ดั่งฉากปิดเรื่องที่เปรียบเปรยได้อย่างเจ็บแสบเมื่อเขาพยายามเล่าความจริงให้ใครสักคนฟังแต่พอเริ่มพูดก็ดันมีขบวนพาเหรดที่เล่นดนตรีเสียงดังจนกลบความจริงจากปากของเขาไม่ต่างจากเสียงของสื่อมวลชนที่มักดังกว่าความจริงจากปากคนเสมอ
MAD CITY (1997)
เมื่อถูกไล่ออกจากงาน รปภ.แซม เบย์ลี (จอห์น ทราโวลตา)จึงตัดสินใจแบบคนหลังชนฝาด้วยการจับตัวเด็กนักเรียนเป็นตัวประกันในพิพิธภัณฑ์ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในสายตาของ แบรคเกต (ดัสติน ฮอฟฟ์แมน) นักข่าวผู้กระหายชื่อเสียงมากพอที่จะผูกมิตรกับแซมเพื่อหวังทำสกู๊ปข่าวเจาะลึก
ผลงานกำกับของ คอสตา กาฟราส ที่เหมือนตีแสกหน้าบทบาทและจริยธรรมของสื่อมวลชนผ่านหนังทริลเลอร์เรื่องนี้ โดยได้สุดยอดนักแสดงของยุคอย่าง จอห์น ทราโวลตา และ ดัสติน ฮอฟแมน ที่มาประชันบทบาทอย่างถึงพริกถึงขิง โดยบทเรียนสำคัญคือการที่สื่อควรรู้จักประเมินเหตุการณ์และชั่งตวงระหว่างประโยชน์ในฐานะสื่อมวลขนที่รายงานเหตุการณ์อย่างรวดเร็วและโทษจากการใช้ประโยชน์ในฐานะสื่อจนทำให้เหตุการณ์บานปลายเกินควบคุม
Dog Day Afternoon (1975)
ซอนนี (อัล พาชิโน) ตัดสินใจพาพวกบุกปล้นธนาคารเพื่อหวังเอาเงินไปให้ ซัล (จอห์น คาซาล) คนรักหนุ่มผ่าตัดแปลงเพศ โดยจับพนักงานและลูกค้าเป็นตัวประกัน และเมื่อเหตุการณ์เริ่มสะเด็ดน้ำเหตุปล้นธนาคารที่กินระยะเวลาอันยาวนานครั้งนี้ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเพราะการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่มุ่งเกาะติดรายงานสถานการณ์นาทีต่อนาที
Dog Day Afternoon หรือ ปล้นกลางแดด ถือเป็นหนังคลาสสิกที่การันตีด้วยรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ โดยตัวหนังสร้างจากเหตุการณ์จริงโดยมีบทความชื่อ The Boys in the Bank โดย พี เอฟ คลัจ ที่บันทึกเหตุการณ์ปล้นเพื่อคนรักหนุ่มของ จอห์น วอจโตวิตซ์ โดยนี่น่าจะเป็นหนังทริลเลอร์ต้นแบบที่นำเสนอบทบาทของสื่อมวลขนเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นเป็นเรื่องแรก ๆ
All The President’s Men (1976)
หลังเกิดเหตุคนร้ายบุกตึกวอเตอร์เกตที่ทำการของพรรคเดโมแครต คาร์ล เบิร์นสตีน (ดัสติน ฮอฟฟ์แมน) กับ บ็อบ วูดเวิร์ด (โรเบิร์ต เรดฟอร์ด) คู่หูนักข่าวแห่งเดอะ วอชิงตัน โพสต์ ต้องทำงานอย่างหนักในการสืบเสาะหาข้อมูลข่าวมายืนยันให้ได้ว่า ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีวอเตอร์เกตที่อาจกระทบกระเทือนต่อศรัทธาของคนอเมริกันทั้งประเทศ
หากวงการตำรวจมี Serpico เป็นหนังที่เปิดเพื่ออบรมตำรวจให้ยึดถือคุณธรรมในวิชาชีพ สำหรับสายนักข่าวและนักศึกษาวารสารศาสตร์-นิเทศศาสตร์ ก็มี All The President Men เป็นเหมือนตำราจริยธรรมสื่อมวลชนฉบับภาพยนตร์ที่สอนให้นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ หลายรุ่นยึดถือหลักการความถูกต้องในการนำเสนอข้อมูลโดยมีภาพของ คาร์ล และ บ็อบ ที่ถูกปฏิเสธจาก บก.ข่าวให้กลับไปแก้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและขอแหล่งข้อมูลยืนยันในทุกตัวอักษรที่เขียนออกไป การันตีความยอดเยี่ยมด้วยรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม
Nightcrawler (2014)
หลังผ่านไปเห็นตากล้องรุมถ่ายที่เกิดเหตุโดยบังเอิญ ลูอิส บลูม (เจค จิลเลนฮาล)จึงเกิดไอเดียหากล้องวิดีโอมาเพื่อถ่ายภาพอาชญากรรม แลกกับค่าตอบแทนเพื่อนำฟุตเตจภาพไปขายต่อให้กับสถานีโทรทัศน์เพื่อนำไปประกอบข่าว และเมื่อลูกค้าต้องการภาพเหตุการณ์ที่ชัดเจนขึ้นและรวดเร็วขึ้น บลูม เลยต้องทำทุกทางเพื่อไปที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุดพร้อมกล้องวิดีโอคู่ใจเพื่อเก็บภาพอันน่าสยดสยอง แม้จะต้องแลกด้วยมนุษยธรรมที่เหือดแห้งจนแทบไม่มีเหลือของเขาก็ตาม
นี่คือหนังจากมันสมองของ แดน กิลรอย ที่ตีแสกหน้าการทำงานของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันได้อย่างเจ็บแสบที่สุด เมื่อสื่อมวลชนมุ่งนำเสนอเหตุการณ์โดยทิ้งจริยธรรมไว้แค่ในตำราจนล่วงล้ำสิทธิมนุษยชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อหวังสนองตอบต่อการเสพย์ข้อมูลข่าวสารแบบไร้ขีดจำกัดในปัจจุบัน
Breaking News (2004)
หลังมีภาพตำรวจถูกโจรยิงขณะปฏิบัติหน้าที่ถูกถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ รีเบคกา (เคลลี เฉิน)ผู้ดูแลงานภาพลักษณ์กรมตำรวจฮ่องกง จึงหวังใช้สื่อถ่ายทอดสดโดยเอากล้องติดกับตัวเจ้าหน้าที่ทุกคนเพื่อถ่ายทอดภาพการบุกจับตัวโจรร้ายนำโดย หยวน (ริชชี เจน) หัวโจกที่มีมันสมองฉลาดทันเกมกับเธอ
ผลงานกำกับของ ตู้ฉีฟง ที่สร้างชื่อให้เขาไปทั่วโลกหลังออกฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ โดยหนังบอกเล่าบทบาทของสื่อมวลชนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกอบกู้ภาพลักษณ์ของตำรวจได้อย่างเจ็บแสบและทำให้เห็นอิทธิพลของสื่อที่เหมือนดาบสองคมได้อย่างชัดเจน และที่ต้องบันทึกไว้สำหรับเมืองไทย เพราะหนังเข้าฉายในช่วงที่ข่าวถูกทำให้เป็นสินค้าที่ขายได้จนหนังตั้งชื่อตามรายการดังว่า “ปล้นถึงลูกถึงคน”
15 Minutes (2001)
หลังฆาตกรโฉดคู่หนึ่งหวังดังด้วยการบันทึกภาพการฆ่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายแล้วส่งให้สื่อมวลชน เอดดี เฟลมมิง (โรเบิร์ต เดอ นีโร) และ จอร์ดี วอร์ซอว์ (เอ็ดเวิร์ด เบิร์นส์) หนึ่งนักสืบกับหนึ่งนักดับเพลิงต้องร่วมมือกันหาตัวฆาตกรให้ได้ก่อนจะมีภาพเหยื่อเคราะห์ร้ายถูกนำเสนอผ่านสื่ออีก
นี่คือหนังดังดูสนุกที่ต่อมาอาจกลายเป็นงานตกสำรวจไปอย่างน่าเสียดาย เพราะมันเป็นหนังทริลเลอร์แนวตำรวจจับผู้ร้ายที่เล่นกับอิทธิพลของสื่อมวลชนได้อย่างมีสีสันมาก เมื่อจริยธรรมไม่สำคัญเท่าเรตติงผู้บริโภคจึงได้รับแต่ข่าวฆาตกรรมที่มีแต่ภาพอันน่าสยดสยองโดยมีสื่อมวลชนเป็นเหมือนเครื่องมือให้ฆาตกรได้แสดงผลงานแทน ซึ่งเมื่อไม่นานนี้หลายเหตุการณ์ในหนังเหมือนได้ทำนายสิ่งที่จะเกืดขึ้นในยุคนี้หลังมีโซเชียล มีเดียได้อย่างแม่นยำจนน่าขนลุก
Natural Born Killers (1994)
มิกกี (วูดดี ฮาเรลสัน) และ มัลลอรี (จูเลียต ลิวอิส) คู่รักฆาตกรได้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในชั่วข้ามคืนหลัง เวย์น เกล (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) นักข่าวได้นำเรื่องของพวกเขาไปตีพิมพ์ถึงวีรกรรมสุดโหดจนกลายเป็นฮีโรให้เหล่าฆาตกรและพวกนอกกฎหมายทั้งหลายทั่วสหรัฐอเมริกา แต่ความกระหายในขื่อเสียงและเรตติงก็พามาสู่รายการสัมภาษณ์ถ่ายทอดสดคู่รักฆาตกรที่หวังโกยเรตติงต่อเนื่องเพราะจะออกอากาศหลังถ่ายทอดสดซูเปอร์โบวล์ทันที โดยหารู้ไม่ว่าคนดูทั่วประเทศกำลังได้เป็นประจักษ์พยานการฆาตกรรมออกอากาศที่อื้อฉาวที่สุดในวงการสื่อมวลชน
เรียกได้ว่าหนังที่กำกับโดย โอลิเวอร์ สโตน และเขียนบทโดย เควนติน ทารันติโน เรื่องนี้ได้กลายเป็นหนังสุดอื้อฉาวเรื่องหนึ่งที่แม้แต่บ้านเราก็เคยแบนไม่ให้มีการเผยแพร่ไปช่วงเวลาหนึ่งเพราะหนังอุดมไปด้วยความรุนแรงและภาพสยดสยองมากมาย แต่สิ่งที่ต้องบันทึกไว้คือนี่เป็นหนังที่แสดงด้านมืดของสื่อออกมาได้เห็นภาพที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์หนังฮอลลีวูดเลยทีเดียว
Spotlight (2015)
เรื่องราวตามติดการทำงานของทีม บอสตันโกลบ สปอตไลต์ ที่ทำการสืบสวนกรณีการล่วงละเมิดทางเพศเยาวชนหลายรายโดยผู้ที่ถูกกล่าวหาคือบรรดาบาดหลวงนิกายโรมันคาธอลิกในเมืองที่โบสถ์เป็นเหมิอนแหล่งรวมศรัทธาและเครื่องยึดเหนี่ยวขีวิต โดยในทีมข่าวต้องต่อสู้ทั้งกระแสต่อต้านจากชาวเมืองและศรัทธาในศาสนากับความถูกต้องของคนในทีมงาน
หาก All The President’s Men อาจเป็นตัวอย่างที่เก่าเกินไป แต่กับ Spotlight งานกำกับของ ทอม แมกคาร์ธี ที่คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาได้เรื่องนี้อาจเป็นบทเรียนดี ๆ สำหรับนักข่าวและนักศึกษาวารสารศาสตร์ – นิเทศศาสตร์ได้ไม่แพ้กัน เพราะหนังเองก็นำเสนอขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลการต่อสู้กับอคติของนักข่าวและการนำเสนอข้อมูลที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เมื่อแหล่งข่าวทั้งไม่เป็นใจรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนทำงานข่าวกับโบสถ์คู่กรณีที่สุ่มเสี่ยงต่อการนำเสนอที่ลำเอียงจนความจริงอาจถูกบิดเบือนในข่าวได้
The Post (2017)
เมื่อทีมข่าว เดอะ วอชิงตันโพสต์ ต้องเดินพันในอาชีพครั้งใหญ่หลังได้รับเอาสารลับของเพนตากอนที่แฉว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาเข้าไปมีส่วนในสงครามเวียตนามตลอดระยะเวลา 20 ปี พวกเขาต้องเลือกระหว่างตีพิมพ์เอกสารนี้ลงหนังสือพิมพ์นั่นหมายถึงการยอมแลกหมัดกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจสร้างความยากลำบากให้พวกเขาในอนาคต หรือทำตามหน้าที่ของสื่อมวลชนในการนำความจริงออกมาให้ประชาชนได้รับรู้
ตัวหนังอาจไม่ได้แปลกใหม่เท่าไหร่หากเทียบกับ All The President’s Men และ Spotlight แต่หนังของพ่อมดฮอลลีวูดอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่ได้ไปเป็นผู้เข้าชิงออสการ์ในปีที่ออกฉายก็การันตีได้ถึงความเข้นข้นและเทคนิคทางภาพยนตร์อันแพรวพราวจนทำให้หนังที่เต็มไปด้วยบทสนทนาเรื่องนี้ดูสนุกและที่สำคัญมันยังสอนให้ผู้ชมเห็นถึงกระบวนการทำข่าวที่หลายครั้ง ธุรกิจกับการเมืองก็ดันมาเกี่ยวข้องกันจนอาจทำให้ตาชั่งในอาชีพสื่อมวลชนเกิดความอ่อนไหวได้มากแค่ไหน
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส