เปิดเดือนกุมภาพันธ์มา เราก็มีอัลบั้มดี ๆ มาแนะนำเพื่อน ๆ ให้ได้ฟังกัน ในสัปดาห์แรกนี้มีงานเพลงที่น่าในใจมากมายทั้งของศิลปินอินดี้รุ่นใหญ่ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนาน อาจไม่พอปไม่แมส แต่บอกเลยงานดีมีคุณภาพมาก ๆ ส่วนศิลปินรุ่นเล็กก็ใช่ว่าไม่น่าสนใจปล่อยอัลบั้มใหม่ออกมาให้ได้รู้ว่าวงการดนตรียังมีอะไรให้ติดตามต่อไป
“Foolish Loving Space” – Blossoms
อัลบั้มชุดที่ 3 ของวงอินดี้ร็อกจากเมือง Stockpot ประเทศอังกฤษ ที่มาเยือนเมืองไทยไปเมื่อปี 2561
กลิ่นของงานดนตรีพอปยุค 70 ฟุ้งกระจายอยู่ภายในอัลบั้มนี้ ไม่ว่าจะเป็นจังหวะดิสโก้อันชุ่มฉ่ำใจหรือว่าเพลงบัลลาดอันแสนโรแมนติก ถือได้ว่าอัลบั้มนี้ Blossoms ได้แสดงความหลงใหลในเสน่ห์แห่งงนดนตรีในทศวรรษที่ 70s มากที่สุด โดยผสมผสานมันเข้ากับความร่วมสมัยได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีกลิ่นอายของดนตรียุค 80s ที่ชวนให้คิดถึงงานของวง “Talking Heads” รวไมปถึงบริทพอปจากยุค 90s ด้วย ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้จากงานเพลงที่น่าสนใจในอัลบั้มไม่ว่าจะเป็น
“If You Think This Is Real Life” แทร็กเปิดอัลบั้มเปี่ยมสีสันจากซินธ์ที่ทำให้เราอดคิดถึง Taking Heads ไม่ได้
“My Swimming Brain” แทร็กที่น่าสนใจที่มาในสไตล์ของดิสโก้ แรงบันดาลใจจากการได้ฟังเพลงของวง “Ceramic Animal” เป็นความแปลกใหม่ที่ได้จากการฟังงานเพลงที่ไม่ค่อยได้ฟังแล้วปล่อยให้มันสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
“Oh No (I Think I’m in Love) อีกหนึ่งบทเพลงในท่วงทำนองดิสโก้ กับเมโลดี้สดใส และ vibe ของ ABBA กับแรงบันดาลใจจากการฟังเพลง “Love Fool” ของ The Cardigans
และอีกหนึ่งแทร็กโดนใจในอัลบั้ม “Like Gravity” กับท่วงทำนองเร้าใจกับความเท่ในสไตล์ของ The Storkes ผสานกับเมโลดี้เจ๋ง ๆ ที่ชวนคิดถึงงานของ Oasis กับงานดนตรีที่ผสานความเป็นอิเล็กทรอนิกให้เข้ากับดนตรีร็อกได้อย่างกลมกล่อมอร่อยเหาะ
ใครที่ชอบงานพาอารมณ์สดใสใจเบิกบาน ตามอย่างชื่อของวงนี้ รับรองว่าอัลบั้มนี้มีเพลินแน่นอน !
“When We Stay Alive” – Poliça
ผลงานชิ้นสำคัญหลังผ่านเหตุร้ายในชีวิตของนักร้องสาว Channy Leaneagh นักร้องนำและมือซินธ์จากวงซินธ์พอปจากมินนิโซตานาม “Poliça” ที่พลัดตกจากหลังคาในขณะกำลังจัดการกับกองน้ำแข็งบนนั้น ผลจากแรงกระทบทำให้กระดูกสันหลังของเธอได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้เธอเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด ความบาดเจ็บทางร่างกายก็ส่งผลร้ายต่อจิตใจ หนทางที่ดีในการผ่านวิกฤตินี้ก็คือการเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นบทเพลงเพื่อช่วยเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “When We Stay Alive” คือเรื่องเล่าและห้วงอารมณ์ของคนที่ผ่านประสบการณ์เฉียดตายและได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง ในแง่หนึ่งมันก็เหมือนเป็นฝันร้าย แต่เมื่อข้ามผ่านมันมาได้มันก็เป็นของขวัญ
งานเพลงในอัลบั้มนี้จึงคละเคล้ากันไประหว่างบทเพลงที่ถูกเขียนขึ้นก่อนอุบัติเหตุอย่าง “Steady” และ “Forget Me Now”
กับบทเพลงที่แต่งขึ้นหลังจากเหตุการณ์นั้นอย่าง “Feel Life” บทเพลงที่เป็นเสมือนตัวแทนของความรู้สึกราวเกิดใหม่หลังจากหลับใหลไปในห้วงทุกข์
“Be Again” และ “Blood Moon” กับเสียงร้องสูงใสที่ใส่เข้ามาในท่วงทำนองของดนตรีแอมเบียนต์ผสานพอปอันกลมกล่อม
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเพลงทั้งหมดก็ได้ทำหน้าที่เป็นตัวเยียวยาบาดแผลและฉายแสงแห่งความหวังที่แทงทะลุความปวดร้าวนั้นออกมา มันยังเป็นท่วงทำนองแห่งความดิ่งดาร์กอันงามงดนั่นเอง
“Have We Met” – Destroyer
อัลบั้มชุดที่ 13 จาก “Destroyer” วงอินดี้ร็อกจากแวนคูเวอร์แคนาดาที่โลดแล่นบนเส้นทางดนตรีมากว่า 25 ปีแล้ว วงนี้มีฟรอนต์แมนเป็น Dan Bejar นักร้องนักแต่งเพลงมือฉกาจ ผู้มีเสียงร้องชวนมึนเมาและสไตล์การเขียนเพลงเชิงกวีอันเฉียบคม พวกเขาคือเจ้าของบทเพลง “Bangkok” ที่แต่งขึ้นโดยที่ยังไม่เคยมา “Bangkok” เลยสักครั้ง (แต่สุดท้ายก็ได้มาเยือนเพื่อเล่นคอนเสิร์ตในปี 2559)
“Have We Met” เปิดมาด้วย “Crimson Tide” ที่มาพร้อมเบสอันแน่นหนัก ซินธ์ล่องลอย กีตาร์ผสานเสียงเอฟเฟค Phaser เฟี้ยวฟ้าว ก่อนเข้าสู่ท่วงทำนองชวนขยับกับบรรยากาศแบบโลกไซ-ไฟ
“It Just Doesn’t Happen” ซินธ์พอปเท่ ๆ ในท่วงทำนองที่ราวกับหลุดมาจากโลกยุค 80s
“The Television Music Supervisor” เก๋สุด ๆ ด้วยท่วงทำนองของสไตล์ดนตรีแอมเบียนต์ชวนล่องลอยที่แซมด้วยเสียงร้องอันเมามายของ Bejar
“Cue Synthesizer” ส่วนผสมอันลงตัวระหว่างกีตาร์กับซินธ์ ที่ซินธ์ทำหน้าที่เป็นฉากสร้างบรรยากาศ แล้วปล่อยให้ตัวเอกอย่างกีตาร์โลดแล่นร่ายลีลาอย่างท้าทาย
ปิดท้ายด้วย “Foolssong” ที่มาพร้อมท่วงทำนองชวนผ่อนคลายในบรรยากาศที่ล่องลอยและลุกโชนอย่างสง่าตั้งแต่กลางเพลงบนท่วงท่าที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเพลงในยุค 80s ของริวอิจิ ซากาโมโต และ เดวิด ซิลเวียน เป็นบทเพลงที่มีท่วงทำนองงดงามเหมาะแก่การจบอัลบั้มนี้อย่างงามงดหมดจด
“Storm Damage” – Ben Watt
อัลบั้มชุดที่ 4 จากนักร้อง-นักแต่งเพลงและดีเจรุ่นใหญ่จากอังกฤษ “เบน วัตต์ (Ben Watt)” หนึ่งในสมาชิกวงดูโอ “Everything but the Girl” นับเป็นหนึ่งคนดนตรีที่ยืนหยัดอยู่บนเส้นทางนี้มาอย่างยาวนาน (อัลบั้มนี้ห่างจากอัลบั้มแรก “North Marine Drive” (1983) เกือบ 40 ปีแน่ะ !)
เป็นอีกหนึ่งงานเพลงของสัปดาห์นี้ที่มีแรงขับมาจากบาดแผลที่เกิดขึ้นกับชีวิต หลังจากสูญเสียน้องชายไปในปี 2016 เบน วัตต์ ก็จมอยู่กับความคับแค้นใจทั้งจากภายในและภายนอกที่มีต่อสภาพสังคมและการเมืองรอบตัว ชื่อของอัลบั้ม “Storm Damage” เหมือนจะสื่อความรู้สึกของเขาได้เป็นอย่างดี เมื่อพายุพัดมา มันได้พัดพาสิ่งที่เรามีและคนที่เรารักให้จากไป พร้อมทั้งทิ้งร่องรอยความผุพังเอาไว้ให้เราซ่อมแซมเพียงลำพัง
เบน วัตต์นิยามงานชิ้นนี้ของเขาว่าเป็น “future-retro” ส่วนผสมระหว่างความเก่า-ความใหม่ วันวาน-วันนี้ และวันพรุ่งนี้ ที่ถ่ายทอดผ่านสุ้มเสียงของดับเบิลเบส, เปียโนอัปไรท์ , ซินธ์อนาล็อก, มิวสิคคงเคร็ต (Musique concrète) และ เพอร์คัสชัน
เปิดด้วย “Balanced on a Wire” บทเพลงอารมณ์หม่นเจือสีสันจากเปียโน ซินธ์อนาล็อก ดับเบิลเบส และเพอร์คัสชันที่คลุกเคล้าเข้าด้วยกันอย่างลงตัวกับเนื้อหาที่สะท้อนช่วงเวลาที่ไม่มั่นคงในจิตใจที่เรารู้สึกราวกับกำลังไต่อยู่บนเส้นลวด “Feels like you’re balanced on a wire”
“Figure in the landscape” กับท่วงทำนองหม่นที่ใส่ความหวังและพลังใจเอาไว้
“One more day to live through, take a stand
One more day to live for, clap your hands”
“Irene” บทเพลงที่เล่าถึงหญิงสาวเจ้าของชื่อเพลงผ่านท่วงทำนองที่งดงามและชวนโหยหาถึงช่วงเวลาที่ผ่านเลยไปในชีวิตของเรา
ปิดท้ายด้วย “Festival Song” บทเพลงที่เปิดด้วยเสียงโห่ร้องของผู้คน แต่พอเสียงเปียโนดังขึ้นมาก็พาใจเหงาในทันที ท่อนแรกของเพลงนี้ร้องว่า
“Fifteen thousand people on this beach
Holding up their phones in the dark”
ทั้งเห็นภาพและก็รู้สึกเหงาจับใจขึ้นมาทันใด นึกไปถึงท่อน “จากคนร้อยพันที่ยืนใกล้กัน แต่รู้สึกว่าไกลแสนไกล” ในเพลง “เปราะบาง” ของ Bodyslam ขึ้นมาเลย
หลังจากทำเราเหงาแล้ว เบน วัตต์ก็บอกให้เราปล่อยวางจางคลายเรื่องทั้งหลายในชีวิตไปเสียบ้าง
“Let go, let go for a while
Let go of the world
Let go of you
Free, free from everything
Let everysong I sing
Ring so true”
เป็นเพลงที่งดงามบนความเหงาที่พาใจสบาย สมแล้วที่ได้รับตำแหน่งบทเพลงปิดอัลบั้ม ทั้งสงบ-งาม-และอิ่มเอม.
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส