เรื่องราวสุดประหลาดนี้เกิดกับ ไรลีย์ ฮอร์นเนอร์ เด็กสาววัย 16 ปี อยู่ในรัฐอิลินอยส์, สหรัฐอเมริกา ไรลีย์ เล่าว่าอาการของเธออย่างกับหนัง 50 First Dates หนังโรแมนติกคอมเมดี้ ปี 2004 ที่อดัม แซนด์เลอร์ แสดงนำคู่กับ ดรูว์ แบร์รี่มอร์ ในหนังนั้นนางเอกจะความจำหายไปหลังจากตื่นมาในวันรุ่งขึ้น แต่อาการของไรลีย์หนักกว่านั้น เพราะความทรงจำเธอจะรีเซ็ตทุก ๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งไรลีย์เผยความรู้สึกว่า อาการนี้ทำให้เธอ “รู้สึกกลัว” กับแต่ละวันที่ดำเนินไป

ไรลีย์ ฮอร์เนอร์ เป็นเด็กสาวที่สดใสแข็งแรง ก่อนประสบอุบัติเหตุ

ไรลีย์ ฮอร์เนอร์ เป็นเด็กสาวที่สดใสแข็งแรง ก่อนประสบอุบัติเหตุ

ความทรงจำของไรลีย์ จะย้อนกลับไปในวันที่ 11 มิถุนายน 2019 เสมอ เป็นวันที่เธอประสบอุบัติเหตุ โดนเท้าของฝูงชนเตะเข้าที่หัวอย่างแรง ระหว่างเหตุชุลมุน ความรุนแรงในอุบัติเหตุนี้ทำให้สมองเธอบางส่วนได้รับความเสียหายรุนแรง ส่งผลให้ความทรงจำเธอจะหายไปทุก ๆ 2 ชั่วโมง

“ทุกวันนี้ฉันดำเนินชีวิตด้วยความสับสนมาก ฉันพยายามนึกย้อนเหตุการณ์ไปก่อนหน้านั้น แต่ฉันก็ไม่สามารถทำได้ ฉันต้องเอาปฏิทินแขวนไว้ที่หน้าประตูตลอดเวลา พอฉันมองไปที่ปฏิทินแล้วก็ร้อง “โว้ว” นี่มันเดือนกันยายนแล้วเหรอ ไรแบบนี้”

ซาราห์ ฮอร์นเนอร์ อีกหนึ่งแม่ที่สู้ที่สุดเพื่อให้ลูกสาวเธอหายจากอาการความจำเสื่อม

ซาราห์ ฮอร์นเนอร์ อีกหนึ่งแม่ที่สู้ที่สุดเพื่อให้ลูกสาวเธอหายจากอาการความจำเสื่อม

แน่นอนว่าอาการของไรลีย์นั้น ทำให้เธอมีความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอย่างมาก ซาราห์ แม่ของไรลีย์ก็พยายามอย่างเต็มที่ ในการหาทางให้ลูกสาวหายขาดจากอาการนี้ พ่อแม่พาไรลีย์ไปหาแพทย์เป็นประจำ แต่แพทย์ก็ยังไม่เจอสาเหตุที่ทำให้ความทรงจำสูญหายแบบนี้
“เราไม่สามารถหาร่องรอยการกระทบกระเทือนผ่านระบบ CT Scan หรือ MRI ได้ ผมดูแล้วก็ไม่พบเลือดออกในสมอง หรือเนื้องอกในสมองแต่อย่างใด”
แพทย์ที่ทำการรักษายังเปรยกับแม่ของไรลีย์ให้ทำใจว่าไรลีย์ไม่น่าจะหายขาดจากอาการนี้ แต่ในฐานะแม่ก็จะไม่ยอมถอดใจรับสภาพนี้ต่อไป
“หมอบอกกับฉันว่าไรลีย์อาจจะเป็นแบบนี้ตลอดไป ฉันฟังแล้วรับไม่ได้”

ไรลีย์ จำไม่ได้ว่าตู้ล็อกเกอร์เธออยู่ตรงไหน

ไรลีย์ จำไม่ได้ว่าตู้ล็อกเกอร์เธออยู่ตรงไหน

ก่อนหน้าอุบัติเหตุนี้ ไรลีย์เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดี และเป็นเชียร์ลีดเดอร์ของโรงเรียนด้วย แต่อุบัติเหตุนี้ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตเธออย่างสิ้นเชิง เธอดำเนินชีวิตด้วยความยากลำบาก ผ่านไปสองชั่วโมง เธอก็จำไม่ได้แล้วว่าล็อกเกอร์เธออยู่ตรงไหน ยิ่งการเรียนยิ่งผ่านไปยากมาก เธอต้องทบทวนบทเรียนใหม่ ทุก ๆ สองชั่วโมง
“การที่ไม่มีความทรงจำแบบนี้ มันทำให้ฉันกลัวมาก เอาว่าแค่พอถึงมื้อเย็นวันนี้ ฉันก็จำบทสัมภาษณ์นี้ไม่ได้แล้ว”
ไรลีย์ เผยความรู้สึกกับนักข่าวที่มาสัมภาษณ์

ทุกวันนี้ไรลีย์ต้องแบกโน้ตบุ๊ก สมุดจด ดินสอ ติดตัวไปด้วยตลอดเวลา เพื่อบันทึกทุก ๆ เหตุการณ์ที่เธอพบเจอ บางครั้งเธอก็ถ่ายรูปสิ่งต่าง ๆ รอบตัวไว้เตือนความจำ เธอตั้งนาฬิกาปลุกไว้ทุกสองชั่วโมง เพื่อคอยเตือนตัวเองให้กระตุ้นความทรงจำที่เพิ่งผ่านไป
“ฉันเข้าใจผู้คนรอบข้างนะ ที่จะไม่เข้าใจสถานการณ์ที่ฉันประสบอยู่ มันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ พอ ๆ กับความยากลำบากที่ฉันเผชิญอยู่นี่ล่ะ”
ไรลีย์ เขียนบันทึกบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน หลังจากประสบอุบัติเหตุได้ 9 วันว่า ตั้งแต่อุบัติเหตุครั้งนั้น เธอก็ไม่มีความสุขอีกเลย พอตื่นเช้ามา สมองเธอก็จะว่าง ๆ เหมือนหุ่นยนต์ พูดจาตะกุกตะกักอีกด้วย เธอปวดหัวมากแล้วก็รู้สึกเหนื่อยอ่อน

Cognitive FX. สถาบันที่มอบชีวิตคืนให้กับไรลีย์

Cognitive FX. สถาบันที่มอบชีวิตคืนให้กับไรลีย์

หลังจากเรื่องราวของไรลีย์ เป็นข่าวในโลกโซเชียล ก็มีผู้คนให้ความสนใจอาการของเธอมากมาย ก็เป็นผลดีที่สถาบัน Cognitive FX. ได้รับรู้เรื่องราวของเธอ ได้เชิญเธอมาตรวจดูอาการ และเสนอแนวทางการรักษาที่เป็นรูปแบบเฉพาะของสถาบัน ในเดือนกันยายน 2019 ไรลีย์ได้บินไปที่รัฐยูทาห์ เพื่อเข้ารับการรักษา หมอได้ทำการสแกนสมองของเธออย่างละเอียด เพื่อทำการศึกษาการไหลเวียนของกระแสเลือดในสมองแต่ละส่วนของเธอ แล้วหมอก็สรุปสมมติฐานว่า มีเลือดไหลไปที่สมองส่วน hippocampus มากเกินไป ซึ่งสมองส่วนนี้เป็นส่วนบันทึกความทรงจำ

“ฉันว่าเราเจอสาเหตุที่น่าจะใช่แล้วล่ะ”

แม่ของไรลีย์กล่าวอย่างมีความหวัง

ดร.มาร์ก อัลเลน แพทย์ประจำ Cognitive FX

ดร.มาร์ก อัลเลน แพทย์ประจำ Cognitive FX

หมอเองก็ให้ความหวังว่า พวกเขามีแนวทางที่อยากจะลอง ซึ่งมันน่าจะนำความทรงจำของไรลีย์กลับมาได้ แพทย์ผู้ที่รับผิดชอบอาการของไรลีย์คือ ดร.มาร์ก อัลเลน เขาทำการสแกนสมองของไรลีย์ แล้วสร้างออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งหมอมาร์กอธิบายด้วยภาษาง่าย ๆ ให้ฟังว่าปัญหาของไรลีย์นั้น เกิดจากการไม่เชื่อมโยงถึงกันในบางส่วนของสมอง ทำให้เซลส์บางตัวไม่ได้รับออกซิเจน

“ปัญหามันเกิดจากระบบการสื่อสารในสมองมันพังทลายลง และมันสามารถแก้ไขได้ ที่จริงมันเกิดจากจุดเล็ก ๆ แค่นั้นเอง แต่มันส่งผลให้เป็นปัญหาใหญ่ได้ ตอนนี้เป้าหมายของเราคือจะทำอย่างไรให้ระบบความทรงจำกลับมาออนไลน์ได้”

หมอบอกว่าคนไข้ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการรักษาประมาณหนึ่งสัปดาห์ แต่เคสพิเศษอย่างไรลีย์ก็ต้องประมาณสองสัปดาห์

แล้วปาฏิหารย์ก็เกิดขึ้นจริง หลังจากวันที่ 154 นับจากอุบัติเหตุ ไรลีย์ก็มีความทรงจำแรกแล้วในเช้าที่แม่ไปปลุกไรลีย์ แล้วถามเธอเพื่อทดสอบระบบความทรงจำ
“ตอนนี้เราอยู่กันที่ยูทาห์ หนูพอจำได้มั้ยว่าเรามาทำไม”
“เรามาหาหมอค่ะ”

คนที่ดีใจมากสุด น่าจะเป็นซาราห์ แม่ของไรลีย์ ที่ดีใจเสียกว่าลูกสาวเสียอีก
“เธอหายแล้ว มันได้ผลจริง ๆ ฉันไม่รู้ว่าพวกเขารักษาอย่างไร แต่มันได้ผลจริง ๆ”

ตั้งแต่นั้นไรลีย์ก็มีอาการดีขึ้นมาก ทั้งร่างกายและสภาพจิตใจ เธอเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความมหัศจรรย์ในหุบเขา” ‘miracle in the mountains’ (หมายถึงที่ตั้งของสถาบันการแพทย์นี้)
สุดสัปดาห์นั้น ไรลีย์ก็เริ่มจำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่เธอทานไป พอเข้าสัปดาห์ที่สองเธอก็จำทุกอย่างได้เป็นปกติ พอครบหนึ่งเดือน ไรลีย์ก็พร้อมเดินทางกลับบ้านไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติอีกครั้ง

“ฉันต้องหาทางตอบแทนพวกเขาไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ฉันต้องทดแทนคืนเขา เพราะพวกเขาให้ชีวิตฉันกลับคืนมา”
ไรลีย์กล่าวสำนึกบุญคุณทีมแพทย์ Cognitive FX.

ค่ารักษาที่ Cognitive FX นั้นประมาณสัปดาห์ละ 9,000 เหรียญ ( 28x,xxx บาท) ต่อสัปดาห์ ซึ่งกรณีของไรลีย์นั้นประกันไม่รับผิดชอบ ทางครอบครัวก็เลยเปิดเว็บเพื่อขอเรี่ยไรเงินทุนในการรักษาเพื่อจ่ายคืนสถาบัน

ดีใจกับไรลีย์ ฮอร์นเนอร์ ที่เธอได้ชีวิตปกติเธอกลับมาจริง ๆ แล้วก็น่าชื่นชมสุด ๆ กับความสามารถของทีมแพทย์ที่หาทางช่วยชีวิตเด็กสาวคนหนึ่งไว้ได้ ซึ่งก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์และเป็นแนวทางในการรักษาคนไข้ที่อาจเจอะเจอกับอาการแบบเดียวกับไรลีย์ในอนาคต ลองจินตนาการดูว่าถ้าเป็นเราตกอยู่ในสภาพเดียวกับไรลีย์…จะสามารถมีกำลังต่อสู้ไปในแต่ละวันได้มั้ยนะ ดีใจกับเธอด้วยจริง ๆ

 

อ้างอิง

อ้างอิง

อ้างอิง