ภูมิ วิภูริศ คือ คนดนตรีอินดี้รุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ จากงานดนตรีที่มีสไตล์โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งในไทยและโดยเฉพาะในต่างแดนที่ชื่อเสียงของภูมิขจรไกล จนได้ไปทัวร์ตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจนคนต่างประเทศรู้จัก “Phum Viphurit” มากกว่าคนไทยเสียอีก ด้วยวัยเพียง 24 ปี แต่กลับได้สัมผัสประสบการณ์และความสำเร็จมากมายขนาดนี้ ชีวิตของ “ภูมิ วิภูริศ” จึงเป็นชีวิตที่น่า “อัศจรรย์” น่าศึกษาและเรียนรู้ว่า “สิ่งใด” ทำให้ภูมิ วิภูริศคนนี้ประสบความสำเร็จได้ถึงขนาดนี้และกลายเป็นคนดนตรีจากเอเชียที่โลดแล่นไปอยู่ในวงการดนตรีโลกได้อย่างภาคภูมิใจ
[บทความนี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก EP. 3 LIFE OF PHUM ชีวิตและความสำเร็จของภูมิ วิภูริศ]
INTRODUCTION
- ภูมิ วิภูริศ เป็นศิลปินเลือดไทยที่ดังไกลในต่างแดน เกือบทุกงานเทศกาลดนตรีใหญ่ ๆ มักจะมีชื่อ “Phum Viphurit” ปรากฏอยู่ในไลน์อัปอยู่เสมอ จึงไม่แปลกที่ชื่อของเขาจะเป็นที่รู้จักในต่างแดนมากกว่าในบ้านเกิดของตัวเอง สื่อต่างแดนต่างยกย่องว่า ภูมิเป็นศิลปิน local indy ที่พุ่งทะยานไปสู่ตลาดในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว นั่นจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจว่า “ความสำเร็จนี้มีที่มาจากอะไร”
THE BEGINNING : จุดเริ่มต้น
- ภูมิ วิภูริศ ศิริทิพย์ เป็นคนไทยโดยกำเนิด คุณพ่อและคุณแม่เป็นคนไทย แต่เมื่อคุณแม่ได้งานที่นิวซีแลนด์ก็เลยพาภูมิในวัย 9 ขวบและพี่ชาย ไปอยู่ด้วยกันที่เมืองแฮมิลตัน (Hamilton) เมืองเล็ก ๆ ที่มีคนอยู่อาศัยราว ๆ 4 แสนคน ซึ่งน้อยกว่าบางย่านที่ชุกชุมในกรุงเทพฯ เสียอีก ด้วยความเงียบของเมืองซึ่งร้านรวงมักจะปิดกันตั้งแต่เย็น ทำให้เกิดเวลาว่างมากมายที่เราสามารถใช้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด
- สิ่งแรกที่ภูมิสนใจนั้นไม่ใช่ดนตรี หากแต่เป็น “กีฬา” ภูมิเคยเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ เทนนิส ฟุตบอลและบาสเกตบอล ซึ่งการเล่นของภูมิจะไม่ใช่สายพลังแต่เป็นสายชั้นเชิงมากกว่า
- ภูมิเริ่มเล่นดนตรีเมื่ออายุ 13-14 มีรากฐานการชอบฟังเพลงมาจากที่บ้าน คุณแม่ชอบเพลงยุค 70s-80s เช่น ABBA พี่ชายชอบเพลง Disney
- เครื่องดนตรีแรกที่ภูมิเล่นอย่างจริงจังคือ “กลอง” (ในทุกวันนี้หากได้ชมการแสดงสดของภูมิก็จะได้เห็นลีลาการตีกลองของภูมิ) เป็นเครื่องดนตรีที่ภูมิรู้สึกว่ามันส์ดีและได้ฝึกแยกประสาท โดยจะตั้งกลองไว้ในโรงรถ พอกลับมาบ้านราว 4-5 โมงเย็นก็มาตี จนเริ่มรู้สึกว่ารบกวนข้างบ้านที่เพิ่งมีลูกเล็กก็เลยขอพักไว้ก่อน
- ภูมิเริ่มเกิดแรงบันดาลใจในการอยากเล่นกีตาร์ จากการที่ได้ชมการแสดงของ “Jason Mraz” ที่แสดงสดในชิคาโก (Jason Mraz’s Beautiful Mess: Live on Earth) ที่เปิดในร้านแมงป่องสาขาเมเจอร์รัชโยธินตอนกลับไทยในช่วงวัย 13 ภาพของเจสันที่เดินเท้าเปล่าขึ้นมาบนเวทีพร้อมกีตาร์โปร่งไฟฟ้าได้สร้างความประทับใจให้ภูมิอย่างมาก จากการเล่น การร้อง และการเล่าเรื่องที่เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของเจสัน
- จากนั้นภูมิจึงขอคุณแม่ซื้อกีตาร์และฝึกเล่นกีตาร์ด้วยการเรียนรู้จากยูทูบ และโปสเตอร์ผังคอร์ดที่ซื้อมา โดยที่ไม่เคยเรียนทฤษฎีดนตรีอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย เริ่มเต้นเล่นเพลงของ Jason Mraz , Maroon 5 และเริ่ม cover เพลงลงช่อง ยูทูบของตัวเอง จนมีคนมาชื่นชมว่าเรียบเรียงได้ดี ภูมิจึงเริ่มสนใจที่จะแต่งเพลงของตัวเอง
- เพลงแรกที่ภูมิแต่งและปล่อยในยูทูบชื่อว่า “Beg” (ซึ่งต่อถูกบรรจุไว้ในอัลบั้ม “Man Child” อัลบั้มแรกในชีวิตของภูมิ) เพลงนี้ภูมิได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์การจีบสาวฝรั่งคนหนึ่งซึ่งสุดท้ายก็อกหักตามระเบียบ เลยเกิดเป็นเพลง “Beg” ขึ้นมา ตอนนี้ทั้งคู่ก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีกันอยู่ ส่วนสาวเจ้าก็แต่งงานไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ตอนแรกภูมิตั้งใจจะสอบชิงทุนเรียนด้านภาพยนตร์ที่นิวซีแลนด์ แต่ที่บ้านมีความเห็นว่าภูมิควรกลับมาที่ไทยก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะไปที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ในตอนแรกภูมิไม่เห็นด้วย เนื่องด้วยความที่ภูมิโตที่นั่นทำให้ภูมิมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองแบบเด็กเมืองนอกซึ่งส่วนใหญ่พออายุ 16 ก็เริ่มหางานทำพอ 18 ก็ย้ายออกจากบ้านไปใช้ชีวิตของตัวเอง แต่การที่ภูมิได้กลับมาไทยทำให้ภูมิได้มีสังคมใหม่ มีเพื่อน มีคอนเนกชันซึ่งจะมีความสำคัญต่อไปในอนาคต
- ภูมิมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนด้าน “ภาพยนตร์” เพราะเกิดความลุ่มหลงตั้งแต่ได้เรียนวิชา Media Studies ในช่วงม.5 ชอบเสน่ห์ในงานภาพยนตร์ที่เริ่มจากการเขียนบทสร้างเรื่องราวแล้วแปรเปลี่ยนมันให้กลายเป็นภาพและเสียงที่ส่งผลกระทบทางอารมณ์ต่อผู้ชม มันคืองาน craft ที่ต้องทำงานเป็นทีม สุดท้ายภูมิก็ได้กลับมาเรียนฟิล์มที่ไทยที่ วิทยาลัยนานาชาติสาขาการผลิตภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ภูมิพบว่าอนาคตของเด็กฟิล์มในไทยเป็นอะไรที่ยาก หากไม่เป็นคนที่โดดเด่นหรือมีคอนเนกชันที่ดีจริง ๆ ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีการสร้างภาพยนตร์สามารถเข้าถึงคนทุกคน ยิ่งทำให้คนสร้างสรรค์งานต้องมาเน้นที่ไอเดียมากยิ่งขึ้น
- สุดท้าย “อาชีพนักดนตรี” จึงได้กลายเป็น “อาชีพหลัก” ของภูมิ วิภูริศในที่สุด
THE ARTIST : สู่การเป็นศิลปิน
- จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่เส้นทางดนตรีเริ่มต้นจากการที่ “เติ้ล The Whitest Crow” ซึ่งเรียนอยู่คณะเดียวกันกับภูมิ (แต่คนละสาขา) ได้เห็น cover ที่ภูมิทำลงยูทูบเลยส่งไปให้ที่ค่าย “Rats Records” จนเกิดความสนใจในตัวภูมิและได้ร่วมงานกันในที่สุด
- ภูมิตัดสินใจที่จะทำงานกับ Rats Records ทันที โดยไม่ได้คิดถึงตัวเลือกอื่นหรือค่ายเพลงอื่นเลย เนื่องจากเป็นค่ายแรกที่ติดต่อมาและภูมิเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่เข้ามา ซึ่งภูมิไม่เคยคิดมาก่อนเลยด้วยซ้ำว่าจะมีโอกาสนี้
- ในตอนนั้นภูมิยังไม่มีเพลงเลยมีแค่เพียง demo เพลง “Beg” ที่อัพลง soundcloud ในปี 2013
- ทุกเพลงภูมิแต่งเองทั้งหมดรวมไปถึงเขียนเนื้อร้องที่เป็นภาษาอังกฤษด้วย โดยมีพี่ ๆ ในค่ายมาช่วยทำให้ภูมิได้เรียนรู้และเติบโตขึ้น จนมีซิงเกิลแรกที่มีชื่อว่า “Adore” ออกมาในช่วงที่ภูมิกำลังเรียนอยู่ปี 1-2 เป็นงานเพลงในสไตล์อินดี้โฟล์ก อัลเทอร์เนทีฟโฟล์ก
- อัลบั้มแรกในชีวิตของภูมิ “Man Child” นับว่ามีเสียงตอบรับที่ดีพอสมควร วางขายครั้งแรกที่งาน CAT ก็ขายหมดเกลี้ยง (ในเวลาต่อมาอัลบั้มนี้มีทำออกมาเป็น edition สำหรับวางขายที่ญี่ปุ่นด้วย)
- หลังจากนั้นภูมิก็ได้เล่นในเทศกาลดนตรีทั้งเล็กใหญ่มากมาย ซึ่งมันคือฝันไกลของภูมิที่บรรลุในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นภูมิก็ยังไม่ได้มองว่า”ดนตรี” คืออาชีพ หรือคิดวางแผนในแบบ business model ว่ามันจะสร้างรายได้ให้กับชีวิตตนเองอย่างไร
- จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเริ่มขึ้นเมื่อมีชาวต่างชาติมาติดต่อขอเสนอตัวเป็นผู้จัดการของภูมิ ซึ่งเกิดจากการที่ภูมิได้ปล่อยเพลง “Long Gone” ซึ่งเป็นเพลงที่ภูมิแต่งเร็วมากแถมยังทำ MV เอง แต่มันเป็นเพลงที่ภูมิมั่นใจว่าถ้าปล่อยไปทุกคนจะต้องชอบ นี่แหละมันคือตัวเราจริง ๆ ไม่มีใครทำ sound แบบนี้อีกแล้ว
- แต่สุดท้ายพอปล่อยไปมันก็เงียบ… จนเพื่อนที่นิวซีแลนด์เริ่มทักมาว่าภูมิมาเป็นศิลปินที่ไทยหรอ ทั้ง ๆ ที่ภูมิไม่เคยบอกเพื่อนเลย ซึ่งเพื่อนของภูมิไปเจอเพลงของภูมิจาก reddit (คล้าย pantip ของไทย) จากนั้น “Long Gone” ก็ไปติดชาร์ตที่จีน ที่ยุโรป อีกเหตุผลหนึ่งที่คนรู้จักเพลงนี้ก็เกิดจากการแนะนำของอัลกอริธึ่มในยูทูบ เป็นครั้งแรกที่ได้สัมผัสถึงการมีฐานแฟนเพลงต่างชาติ
- จากนั้นได้มีคนไต้หวันมาติดต่อภูมิไปเล่นในงาน music conference ที่รวมนักดนตรีหลายชาติมาเล่นให้คนจัดมิวสิกเฟสติวัลดู เป็นงานที่จัดในเมืองเล็ก ๆ สถานที่เล็ก ๆ มีคนดูไม่เกิน 50 คน แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของภูมิ เพราะใน 50 คนนั้นคือคนสำคัญในวงการดนตรี
1st TURNING POINT : จุดเปลี่ยนแรก
- งานนี้ได้เปิดมุมมองการเป็นนักดนตรีให้กับภูมิ ทำให้ภูมิได้เห็นโอกาสอันมากมายหลากหลาย จากการที่ได้เล่นดนตรีในต่างแดนแล้วพบว่าดนตรีของภูมิสามารถเชื่อมโยงไปถึงแฟนเพลงต่างชาติได้ ได้เห็นระบบการจัดการของทีม Management และได้สร้างคอนเนกชันในระดับนานาชาติ
- สิ่งนี้ได้มอบบทเรียนว่างานบางงานอาจเล็ก แต่กลับใหญ่ไปด้วยคุณภาพ การทำอะไรที่ตรงจุดถูกที่ถูกทางย่อมนำพาเราไปพบกับการเปลี่ยนแปลงหรือความสำเร็จได้ การเป็นนักดนตรีจึงไม่ควรทิ้งคำว่า ”โอกาส”
- ภูมิรู้สึกว่าตนเองโชคดีที่ได้ทำงานในยุคอินเทอร์เน็ตจริง ๆ เพราะมันมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนงานเพลงของภูมิ ตั้งแต่งานเพลงใน “Man Child” ไปสู่ซิงเกิล “Lover Boy” และ EP “Bangkok Balter Club”
- จนในที่สุดภูมิได้เริ่มออกทัวร์เอเชียเมื่อเดินพฤษภาคมปีก่อน
BIGGEST TURNING POINT : จุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต
- “Lover Boy” เป็นซิงเกิลฮิตถล่มทลายของภูมิ ภูมิเริ่มถูกพูดถึงในวงกว้างรวมทั้งมีการแชร์เพลงของภูมิในโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย และเป็นครั้งแรกที่ภูมิเริ่มเปลี่ยนไสตล์จากการเล่นที่เน้นกีตาร์โปร่งมาสู่กีตาร์ไฟฟ้า เป็นช่วงที่ภูมิกำลังอินกับดนตรียุค Motown / Stevie Wonder / Jackson 5 / George Benson อยากทำเพลงที่เป็นโซลแต่มีองค์ประกอบของพอปเลยแต่งเพลง “Lover Boy” ขึ้นมา
- จุดโดดเด่นอีกอย่างของเพลงนี้อยู่ที่ “มิวสิกวิดีโอ” ที่เปลี่ยนจากหาดจอมเทียนของพัทยาให้กลายเป็นไมอามี่บีชในอเมริกา กำกับโดยผู้กำกับหญิงฝีมือดี “จีน คำขวัญ ดวงมณี” ที่รู้จักกันมาตั้งแต่เด็กจนได้มีโอกาสร่วมงานกันในครั้งนี้ โดยภูมิให้อิสระจีนในการคิด MV จากภาพที่เห็นจากการฟังเพลงนี้ ซึ่งภาพที่จีนคิดออกมาก็คือพัทยา ตอนนั้นภูมิก็ยังคิดในใจว่ามันจะคูลได้ยังไง ตอนไปถ่านก็ไปกันง่าย ๆ กล้องตัวนึงพร้อม stedicam และก็ใช้แสงจากธรรมชาติเท่านั้น แต่พอภาพออกมามันน่าตกใจมากเพราะ “พัทยา” ใน MV นี้มันดู “ไมอามี่” สุด ๆ ซึ่งอีกองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ภาพออกมาเป็นอย่างนี้ก็คือการแก้สี (color grading) อย่างน่าอัศจรรย์ของ เขต-สิรดนัย ผึ้งน้อย Colorist จาก Littlebee Lab ด้วย
- และซิงเกิลนี้ก็ได้กลายมาเป็นทัพหน้าในการนำพาภูมิไปสู่การทัวร์คอนเสิร์ตในแดนไกลมากมายทั่วโลก
ON TOUR : ออกเดินทางแสดงสด
- แต่เดิมภูมิมีแผนที่จะทัวร์เอเชียตั้งแต่ที่เพลง “Long Gone” ฮิตแล้ว โดยวางแผนจะไปทัวร์ที่ญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน จนก่อนออกทัวร์ราว ๆ 2-3 เดือน “Lover Boy” ก็ปล่อยออกมาและฮิตถล่มทลาย จนทำให้เป็นเรื่องดีที่ทัวร์ที่วางแผนไว้จะมีแฟนเพลงหลั่งไหลมาชมการแสดงของภูมิมากยิ่งขึ้น
- ภูมิได้แชร์ประสบการณ์ของการติดต่อกับคิวเรเตอร์หรือคนจัดการเทศกาลดนตรีซึ่งมีประโยชน์อย่างมาก สิ่งที่ควรปฏิบัติหากอยากไปเล่นในงานเทศกาลดนตรีดี ๆ มีดังนี้
- ควรมีผลงานของตนเองเป็นที่ประจักษ์
- การติดต่องานอย่างมืออาชีพต้องทาง “อีเมล” เท่านั้น ช่องทางอย่าง Instagram, Facebook Messenger, Line หรือช่องทางอื่น ๆ นั้นอาจไม่เหมาะ
- ควรมี press kit ที่รวบรวมประวัติ ผลงาน และการแสดงของเรา ซึ่งควรมี link ที่สามารถกดเข้าไปชมผลงานได้ทันที
- อีกปัจจัยสำคัญของการได้ไปเล่นดนตรีในต่างแดน นั่นก็คือการมี “ฐานแฟนเพลง” ในประเทศนั้น ๆ
- ทัวร์เอเชียที่แรกของภูมิคือ “ญี่ปุ่น” ที่ WWWX ในชิบูย่า ซึ่งมีผู้ชมราว ๆ 500 คนซึ่งมีหลากหลายไม่ได้จำกัดแต่วัยรุ่นหรือคนอินดี้ ฮิปสเตอร์เท่านั้น ส่วนทีมทำงานนั้นมีความเป็นมืออาชีพมาก ทำการกันอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว
- เมืองที่ภูมิไปเล่นไลฟ์นั้นมีมากมายร่ายยาวเป็นหางว่าวตั้งแต่ โตเกียว โซล ไทเป ไถหนาน เบอร์ลิน ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม เชฟฟิลด์ ลีดส์ ลูเซิร์น ซูริค มิลาน ตูริน เจโนวา (เจนัว) ลองแองเจลิส นิวยอร์ก วอชิงตัน ดี. ซี. ฮานอย มุมไบ คาโตวิซ (โปแลนด์) บูดาเปสต์ (ฮังการี) มาเก๊า บาหลี จากาตาร์ บันจาร์มาซิน เปกันบารู (อินโดนีเซีย) และอีกมากมาย !!
- ภูมิถือได้ว่าเป็นศิลปินที่มี “พัฒนาการ” อย่างเห็นได้ชัดทั้งในด้านการทำเพลงที่มีความลุ่มลึกและการผสมผสานรสชาติอันหลากหลายได้อย่างกลมกล่อมยิ่งขึ้น รวมไปถึงโชว์ที่มีลูกเล่นลีลาที่พัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเจนหากติดตามการแสดงของภูมิมาโดยตลอด ซึ่งโชว์ในยุคหลังนี้มีการดีไซน์ให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ชมที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการพยายามเรียบเรียงเพลงใหม่และดีไซน์โชว์ให้ไม่ซ้ำเดิมเพื่อที่จะได้ไม่เบื่อกับการเล่นเพลงเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ในทุกโชว์เนื่องจากเพลงของภูมินั้นยังมีไม่มากพอที่จะจัด setlist ให้หลากหลายได้ (ราว ๆ 13-14 เพลง)
- เป้าหมายของภูมิในทุกโชว์คือ “คนดูต้องมีความสุข” จึงลดความกดดันที่มีว่าจะต้องเล่นให้เป๊ะให้เนี้ยบ โชว์ของภูมิจึงมีการเล่นสนุก ๆ ที่น่าสนใจมากมายเช่นการโชว์ “บีตบ็อกซ์” และสลับตำแหน่งการเล่น เช่น ภูมิไปเล่นกลอง
- ภูมิได้ก้าวไปสู่สื่อระดับโลกอย่างแท้จริง ทั้งการถูกสัมภาษณ์จากสื่อทรงอิทธิพลอย่าง Rolling Stones Vice รวมไปถึงการเล่นในรายการอย่าง Color Show , Audiotree ซึ่งใครจะได้มาสัมผัสเวทีเหล่านี้ต้องเป็น “ตัวจริง” เท่านั้น
- ในทุกวันภูมิก็ยังมีความสุขกับการได้แสดงดนตรี ได้อยู่บ้านทำเพลง ได้พยายามค้นคว้าหาแนวทางใหม่ ๆ ในโลกที่งานดนตรีดูเหมือนจะซ้ำทางเดิมไปมาและไม่รู้ว่าจะหา “ความใหม่” ได้จากไหน
- คำถามที่สื่อต่างชาติมักถามภูมิก็คือ
- วงการดนตรีในไทยเป็นอย่างไร
- ทำไมถึงไม่ค่อยมีศิลปินเอเชียที่โดดเด่นและสามารถโด่งดังในฝั่งตะวันตกบ้างในขณะที่ภูมิสามารถทำมันได้ จนเหมือนจะกลายเป็น “Ambassador ของ Southeast Asia” ไปแล้ว
- ซึ่งภูมิเองก็ตอบไม่ได้ เพราะภูมิเองก็ยังรู้สึกว่าการที่ตนได้ไปเล่นมันเกิดจาก demand ของคน ณ ที่นั้น ทุกวันนี้มันก็ยังเป็นปริศนาของวงการดนตรีว่าทำไมภูมิ วิภูริศจึงสำเร็จได้ถึงเบอร์นี้
- หลังประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย มีค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ติดต่อภูมิมา แต่ภูมิก็รู้สึกว่ายังไม่ได้คิดถึงตรงจุดนี้ เพราะไม่ว่าภูมิจะย้ายไปอยู่ค่ายเพลงในอเมริกาหรือว่าอังกฤษ ภูมิก็ยังคงเดินในรูปแบบของตัวเองอยู่ดี ภูมิก็ยังเป็น”ภูมิ” อยู่ดี
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ภูมิได้มา so far มันไม่ได้มาจากการที่เราหวังผลก่อน มันมาจากเรื่องเล่าข้างในที่เราอยากจะเล่า ทำงาน craft ใน pacing timing ของตัวเอง แล้วผลงานมันเลยออกมาตรงกับที่เราเป็นจริง ๆ”
- ภูมิจึงเชื่อว่าไม่ว่าภูมิจะอยู่ที่ไหนในโลก ภูมิก็จะทำเพลงในแบบของตัวเองได้เหมือนกันทั้งนั้น ในช่วงเวลานี้ภูมิมีความสุขที่ได้ทำเพลงอยู่ตรงนี้ ได้อยู่ใกล้ ๆ กับเพื่อนและครอบครัว
“ภูมิยังอยากทำงานใน pacing ของตัวเองอยู่ ที่หนึ่งคือสภาพจิตมันสำคัญมาก ๆ สำหรับการทำงานอาชีพนี้”
- ภูมิอยากทำงานที่มัน craft ได้เป็นอิสระที่จะคิด จะทำ ในแบบของตัวเอง การก้าวไปสู่สเกลที่ใหญ่ย่อมนำมาซึ่งอะไรที่วุ่นวาย อาจมีคนคอยมาคุมงาน มามีอิทธิพลต่องานของภูมิได้ ซึ่งนั่นจะนำมาซึ่งความเครียดและการไม่มีความสุขในการทำงานในที่สุด
BREAK…FOR NEW START : หยุดพัก…เพื่อเริ่มต้น
- หลังจากกลับมาจากทัวร์อเมริกาเมื่อปีก่อน ภูมิเริ่มรู้สึกเหนื่อยจากความ “เยอะ” ที่ได้รับ เช่นการต้องคิดใน”เชิงธุรกิจ” ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการ “ทำเพลง” ของภูมิ ไม่อยากไป force ตัวเองจนต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน จนทำให้ช่วงนั้นภูมิรู้สึกดาวน์ไปเลย
- ภูมิจึงเยียวยาตัวเองด้วยการกลับไปฟังเพลงที่ตัวเองเคยเล่น cover ในวัยเด็กแล้วนำกลับมาเล่นใหม่เพื่อ remind ตัวเองว่าทำไมตอนนั้นถึงเริ่มต้นจากสิ่งนี้ เป็นการดึงตัวเองกลับมาจาก “โลกธุรกิจ” ที่กดดัน แล้วหันกลับมาหา “ความสุข” จากการเล่นดนตรีจริง ๆ เพื่อหาคำตอบว่า “เรายังแฮปปี้มั้ยกับการได้ทำดนตรี” “เราทำดนตรีนี้เพื่อตัวเองหรือเพื่อเอาไปขาย”
- การได้เห็นตนเองมีความสุขกับการเล่นดนตรี ในแบบดิบ ๆ ที่ไม่ต้องห่วงอะไร ทำให้ภูมิคิดถึงตัวเองในวัยนั้นในช่วงเวลาที่มันเป็นเรื่องของ “ดนตรีเท่านั้น” ไม่ได้หวังอะไรเกินจากนี้จริง ๆ
- หากถามถึงความนิยมพบว่าชื่อของ “ภูมิ วิภูริศ” นั้นจะเป็นที่นิยมในต่างแดนมากกว่าในประเทศไทยเสียอีก (ถึงแม้ว่าในไทยปัจจุบันภูมิจะเริ่มดังมากแล้วก็ตาม)
“เราเลือกไม่ได้อยู่แล้วว่าดนตรีของเราจะเป็นที่นิยมในที่ไหน คนดูผู้ฟังเค้าเป็นคนเลือกเอง”
- ซึ่งภูมิก็เข้าใจว่าสไตล์ดนตรีของภูมิอาจไม่ได้นิยมอย่างวงกว้างในไทย และมันก็เป็นการดีที่เมื่อภูมิกลับมาที่บ้านก็จะได้รับความเป็นส่วนตัวจริง ๆ ได้ใช้ชีวิตเป็นเด็กอายุ 24 ได้ไปเที่ยวข้าวสาร ได้ไปในที่ต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องมีคนมาทักมาถามว่านี่ “ภูมิ วิภูริศ” ใช่ไหม (แต่เอาจริง ๆ ในไทยตอนนี้ภูมิก็เริ่มไปไหนแล้วโดนทัก โดนขอถ่ายรูปมากขึ้น)
- ภูมิยังคงทำเพลงจากความชอบของตัวเองเป็นหลัก ยังไม่เคยพยายามที่จะคิดทำงานเพลงเพื่อ “ชนะใจ” ผู้ฟังชาวไทย ถ้าคนชอบก็จะชอบเองเหมือน “Lover Boy” ที่มีคนเอาไปเล่นไปร้องมากมาย
- ภูมิยังไม่เคยแต่งเพลงเป็นภาษาไทย เพราะภาษาไทยของภูมิยัง “ไม่แข็งแรง” พอที่จะใช้แต่งเพลง แค่เพียงสื่อสารได้เท่านั้น หากฟังสัมภาษณ์ภูมิเป็นภาษาอังกฤษเทียบกับไทย จะรู้ได้เลยว่าการใช้ศัพท์การเรียงประโยค ความคล่องทางภาษานั้นไม่เท่ากัน ภูมิยังคงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกอยู่
- ภูมิเป็นคนเขียนไดอารี แต่ในช่วงหลังมักเขียนเป็น memo สั้น ๆ มากกว่า แรงบันดาลใจของภูมิในช่วงนี้มักมาจากการที่ได้คุยกับเพื่อน ๆ ในช่วงวัยเดียวกันที่จบมาแล้วกำลังติดอยู่ใน “limbo” กำลังสับสนว่าจะทำงานอะไรดี จะไปไหนต่อดี
- หากภูมิได้ยินคำศัพท์ที่มี context มีบริบทที่น่าสนใจก็จะจดเก็บไว้ และเอามาขยายต่อเพื่อใช้ในการเขียนเพลง
- คุณแม่คือคนในครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของภูมิ แม่เลี้ยงภูมิเพียงลำพังมาตั้งแต่ภูมิอายุ 3 ขวบ อยู่ด้วยกันตลอดจนทุกวันนี้ แม่ของภูมิเป็นคนคิดนอกกรอบ เช่นการพาลูก ๆ ไปอยู่นิวซีแลนด์เพราะเป็นความฝันของตัวเองและอยู่จนได้เป็น citizen ของที่นั่น แม่จะทำในสิ่งที่เชื่อและทำให้ตนเองมีความสุขโดยไม่ต้องแคร์ว่าคนรอบข้างจะคิดยังไง ถ้ามีความสุขก็ทำเลย ซึ่งสิ่งนี้ได้ส่งผลต่อวิธีคิดของภูมิ และที่ผ่านมาภูมิสนใจอะไรแม่ก็จะสนับสนุนมาโดยตลอด
- ภูมิอยากเปิดโรงเรียนศิลปะ หรือ Creative Art Space ที่ผู้คนสามารถเข้ามาสร้างสรรค์งานร่วมกันได้อย่างปลอดภัยในคนทุกอายุ และอาจไปเรียนต่อด้าน Art Therapy หรือที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา เพื่อนำมันมาใช้กับงานดนตรีเพื่อที่จะทำให้เพลงของเขาเป็นมากกว่าความบันเทิงแต่สามารถเยียวยาคนที่ป่วยทางจิตทางใจหรืออะไรก็ตามได้จริง ๆ
- นิสัยเสียของภูมิคือ “การทิ้งทุกอย่างไว้ในนาทีสุดท้าย” ถ้าไม่ถึงเดดไลน์ก็จะไม่รีบทำ (น่าจะไม่ได้เป็นแต่ภูมินะครับข้อนี้ สามารถพบได้ในคนส่วนใหญ่ 555) ก็เลยคิดว่าทำไมถึงไม่เริ่มทำทีละนิด ๆ ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ยังทำไม่ได้
- “ความรัก” ในนิยามของ “ภูมิ Lover Boy” คือ “การให้” ให้อะไรก็ได้ ให้ในบทเพลง ให้เวลา หรืออะไรต่าง ๆ นานา ความรักมันเริ่มต้นมาจาก “Give” “การให้” เสียก่อน
- “ความเป็นไทย” สำหรับภูมิคือ “ความอะลุ้มอล่วย” คนไทยเป็นคนที่ประนีประนอมเก่ง ซึ่งภูมิมองว่าในบางสถานการณ์ก็ดี บางสถานการณ์ก็ไม่ แต่มันทำให้สังคมเรามีความสงบสุขและนั่นทำให้ยังเกิดความ กลมเกลียวในสังคมอยู่ (พอสมควร)
“ภูมิหวังว่าในอนาคต voice ของทุกคนจะมีสิทธิเท่าเทียมกันมากขึ้น ได้แชร์ opinion เป็นที่ที่คน agree to disagree กันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ opinion นี้เป็น opinion ที่ถูก เปิดรับทุก ๆ มุมมองแล้วก็หา concensus ตรงกลาง middleground ให้เจอจริง ๆ”
- หลักการเดียวที่ PHUM VIPHURIT ยังยึดในการทำงานจนถึงทุกวันนี้ก็คือ “อย่าไปหวังอะไรกับมัน” (Expectation Free) ให้ถามตัวเองว่าเรามีความสุขกับอะไร ถ้ามีความสุขกับการได้เล่น ได้อัพลงยูทูบแล้วพบว่ามันคือแค่นั้น นั่นก็พอแล้ว หลังจากตรงนั้นไม่ว่าคุณจะไปอยู่กับค่ายไหนมันก็ไม่ได้การันตีว่าเราจะสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญคือสิ่งที่เราทำนั้นเป็น “ตัวเรา” จริง ๆ มั้ย เรารักที่จะทำในสิ่งนี้รึเปล่า พอคิดอย่างนั้นได้ ไม่ว่าผู้ฟังจะน้อย จะได้ทัวร์หรือไม่ มันก็เป็นสิ่งนอกเหนือจากความสุขของเราแล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส