ครวญ , รักคุณเข้าแล้ว , ในโลกแห่งความฝัน , ป่าลั่น , เสน่หา ฯลฯ เสียงร้องอันอ่อนนุ่มละมุนหูจากบทเพลงเหล่านี้ยังดังก้องอยู่ในจิตของผู้ฟัง ทุกรุ่น ทุกยุค ทุกสมัย ตราบจนกระทั่งวันนี้ วันที่เจ้าของเสียงร้องนั้นได้จากโลกนี้ไปพร้อมความอาลัยจากผู้ฟังชาวไทยทุกคน

คุณสุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ขับร้องเพลงไทยสากล ปีพุทธศักราช 2533 ผู้มีเสียงร้องอันนุ่มนวลเนียนละมุนหวานจนได้รับฉายา “นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์” จากคุณ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้สิ้นชีวิตในวัย 86 ปี เมื่อเช้าวันนี้ (27 กุมภาพันธ์) นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของการวงการบันเทิงไทย

ตลอดเส้นทางแห่งเสียงดนตรี สุเทพ วงศ์กำแหงได้ฝากเสียงร้องเอาไว้ในบทเพลงลูกกรุงอมตะมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ครวญ , รักคุณเข้าแล้ว , ในโลกแห่งความฝัน , ป่าลั่น , เสน่หา, ฯลฯ รวมไปถึงบทเพลงประกอบภาพยนตร์ไทยในอดีต เช่น ป่าลั่น สกาวเดือน แววมยุรา จุฬาตรีคูณ และ สวรรค์มืด เป็นต้น

ในวันนี้เราขอแสดงความอาลัยผ่านการรำลึกถึงเสียงร้องของคุณสุเทพผ่านบทเพลงอันไพเราะทั้ง 10 บทเพลงที่ได้รับยกย่องว่าเป็นสุดยอดบทเพลงอันไพเราะที่คุณสุเทพได้ฝากเสียงร้องเอาไว้ให้พวกเราได้รับฟังและจดจำไว้ในใจตลอดไป


“ครวญ”

 

บทเพลงอันแสนเศร้า ถ่ายทอดอารมณ์ในช่วงเวลาอาลัยของชีวิต ผ่านภาพอันงดงามจากเนื้อร้องที่บรรจงเรียงร้อยโดย ครูชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) และทำนองละมุนจาก ครูสมาน  กาญจนะผลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล) เนื้อเพลงและท่วงทำนองยิ่งงดงามเพียงใด เมื่อถูกถ่ายทอดผ่านเสียงร้องของคุณสุเทพยิ่งทำให้บทเพลงมีความงดงามอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ดังเช่นในท่อนที่ร้องว่า

 

“ตะวันเมื่อจมแผ่นน้ำ

สายชลงามดังกำมะหยี่

โอ้ว่าดาวว่าดาวดวงนี้

แสงพลันริบหรี่

คงริบหรี่เช่นเรา”

 

ขณะฟังภาพอันงดงามก็ได้ปรากฏขึ้นมาในใจอย่างชัดเจน แต่ยิ่งงามเท่าไหร่ก็ยิ่งชวนเศร้าใจเท่านั้น ยิ่งในวันนี้ที่ผู้ร้องได้จากไป กลับมาฟังเพลงนี้อีกครั้งยิ่งรู้สึกหวนอาลัยอยากบอกไม่ถูก

 

Play video


“เสน่หา”

 

บทเพลงรักเร้าอารมณ์ถวิล ผลงานการประพันธ์ของครูมนัส ปิติศานต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแสงจันทร์อร่ามงามตาบนฟากฟ้าที่ฉายแสงลงมากระทบบนผิวน้ำในช่วงเวลาที่ผู้ประพันธ์เพิ่งผ่านความช้ำใจในรัก จนก่อเกิดออกมาเป็นบทเพลงที่ผสานไว้ทั้งความรู้สึกรัก เศร้า เหงา ถวิลหา บทเพลงนี้เป็นเพลงที่ร้องยากมากทั้งการออกเสียง การเว้นจังหวะ และการถ่ายทอดอารมณ์ซึ่งคุณสุเทพถ่ายทอดมันออกได้อย่างหวานหู ในเนื้อเสียงมีทั้งความอ้อนชวนสงสาร ความหวานที่ชวนลุ่มหลง ได้ฟังเมื่อใดยิ่งพาใจเคลิ้มเมื่อนั้น

 

“สงสารใจฉันบ้าง

 วานอย่าสร้างรอยช้ำซ้ำเป็นรอยสอง

 รักแรกช้ำน้ำตานอง

 ถ้าเป็นสองฉันคงต้องขาดใจตาย”

 

Play video


“รักคุณเข้าแล้ว”

 

หนึ่งในบทเพลงอมตะจากปี พ.ศ. 2498 ผลงานการประพันธ์คำร้องโดย ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ผู้ประพันธ์ดนตรีไทยสากล และ ทำนองโดย ครูสมาน กาญจนะผลิน เสน่ห์ของบทเพลงนี้อยู่ที่สรรพนามที่ใช้คือ “คุณ-ผม” ซึ่งถ้าในยุคนี้คงไม่แปลกอะไร แต่ในยุคนั้นส่วนใหญ่ถ้าไม่ “ฉัน-เธอ” ก็ “พี่-น้อง” หรือ “เรียม” เพลงนี้จึงกลายเป็นเพลงแรกในประวัติศาสตร์เพลงไทยที่ใช้คำว่า “คุณ-ผม” ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเพลงนี้สะท้อนสภาพชีวิตจริงในยุคนั้นออกมา อารมณ์ของเพลงจึงมีทั้งความสง่า ความเจ้าชู้ น่ารัก และโรแมนติก ยิ่งมารวมกับท่วงทำนองที่ชวนเต้น ยิ่งทำให้บทเพลงนี้น่าจะเป็นเพลงจีบสาวได้ในยุคนั้นเลย

 

“รักคุณเข้าแล้วเต็มทรวง

แล้วคุณอย่าหวงสัมพันธ์

เราคิดมารักกันดีไหม

ก็ทีผมยังรักคุณ

ก็คุณรักบ้างเป็นไร

ของรักกันได้

อย่าคิดอะไรเลยคุณ”

 

Play video

นอกจากนี้เมื่อครั้งคุณสุเทพ ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นได้ใส่คำร้องเป็นภาษาญี่ปุ่นให้กับบทเพลงนี้ และออกเผยแพร่ที่นั่น จนเป็นที่นิยมชมชอบกันพอสมควร จนทำให้อาจมีผู้ฟังบางคนเข้าใจผิดคิดว่าเพลงนี้นำทำนองมาจากเพลงญี่ปุ่น

Play video


“ในโลกแห่งความฝัน”

 

บทเพลงรักโรแมนติกที่ทำให้คุณสุเทพได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ ในปี 2507 ในฐานะนักร้องชายยอดเยี่ยม บทเพลงนี้เป็นฝีมือการประพันธ์ของครูสุรพล โทณะวณิก ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงไทยสากล) เนื้อเพลงสะท้อนห้วงอารมณ์ “รักข้างเดียว” ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องราวความรัก “ข้างเดียว” อันโรแมนติกที่ครูสุรพลมีต่อ “คุณเชอร์รี่” หรือ “สวลี ผกาพันธุ์” หนึ่งในตำนานแห่งวงการเพลงไทยที่เพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2561 จากเด็กกำพร้าขายน้ำอยู่หน้าโรงเรียนมหาพฤฒาราม ตามจีบนักเรียนหญิงที่ชื่อว่า “เชอร์รี่” จนถูกไล่ไม่ให้มาขายอีก ต่อไปต่างคนต่างมีชีวิตบนเส้นทางของตน จนกว่าจะได้พบกันและคุณสวลีได้มาร้องเพลงให้กับครูสุรพล ในตอนนั้นถึงแม้คุณสวลีจะได้แต่งงานไปแล้ว แต่พื้นที่ในหัวใจของครูสุรพลก็มีแต่คุณสวลีเสมอมา

 

“ในโลกแห่งความเป็นจริง

  เธออาจเป็นหญิงของใครไม่หวั่น

  แต่ในโลกแห่งความฝัน

  เธอเป็นของฉัน ทั้งกายและใจ”

 

Play video


“ใจพี่”

 

อีกหนึ่งบทเพลงรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ผลงานการประพันธ์คำร้องโดย ครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และทำนองโดย ครูสมาน กาญจนะผลิน  คุณสุเทพได้มอบเสียงร้องอันซื่อใสอ่อนละไมในอารมณ์ให้กับ “ใจพี่” บทเพลงถ่ายทอดอารมณ์ของชายที่พร้อมมอบกายถวายหัวใจให้กับหญิงคนรักโดยมิเกรงกลัวว่าเธอจะ “ขยี้ให้แหลกลาญคามือ” หรือไม่ก็ตาม

 

“หากเจ้าเมตตาปราณี

คงถนอมใจพี่มิให้ร้าวฉาน

หากเจ้าสิ้นรักหักราน

ขยี้ให้แหลกรานคามือ

 

ใจพี่ เอาไปเถิดมันมีแต่ซื่อ

ถ้าจะช้ำขอให้ด้วยมือ

เพราะซื่อจึงมอบน้องเอย”

 

Play video


“บทเรียนก่อนวิวาห์”

 

บทเพลงร้องคู่สุดคลาสสิกที่ต้นฉบับบันทึกเสียงไว้ตั้งแต่ปี 2498 ผลงานการประพันธ์คำร้องโดย ครูเกษม ชื่นประดิษฐ์ และทำนองโดย ครูสมาน กาญจนผลิน เพลงนี้คุณสุเทพ และ คุณสวลี ร้องคู่กันได้น่ารักกระหนุงกระหนิงดี จนในสมัยนั้นมองว่าไม่เหมาะสมจนถูกแบนไม่ให้ออกอากาศอยู่ช่วงหนึ่งเลย เพราะเนื้อหาของเพลงมีการหยอกล้อหยอกเอินกันประมาณว่าผู้ชายจะสอน “บทเรียนก่อนวิวาห์” ว่าพอจะ “วิวาห์” กันแล้วต้อง “ปฏิบัติ” ต่อกันอย่างไรบ้าง น้ำเสียงหยอกล้อของคุณสุเทพและคุณสวลีฟังแล้วก็ชวนวาบหวามใจดีจริง ๆ

 

“ช.ตาม ใจครู เป็นไร

 ญ.ก็ครู คอยคิดไม่ซื่อ

 ช.โธ่เธอ จะถือทำไม

 ญ.จมูก อย่าหันมาใกล้

 ช.เอ็ดไป เฉยไว้คนดี

 ญ.อุ๊ยเบื่อ เหลือใจ

 ขาดทุน ร่ำไปทุกที

 ช.แม้อยาก รู้ดี

 ก็ควร ต้องมียกครู”

 

Play video


“ตัวไกลใจยัง”

 

บทเพลงรัก “ระยะไกล” ที่ตัวห่างไกล แต่ใจยังคิดถึง ผลงานการประพันธ์คำร้องโดย รัชดา หงศ์ลดารมภ์ ทำนองโดย มงคล อมาตยกุล บทเพลงนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานประเภทยอดเยี่ยมในปี พ.ศ. 2522 เพลงนี้สะท้อนความรัก ความคิดถึง ความห่วงหาที่คนในสมัยนั้นมีต่อกันได้ดี ในยามที่ต้องอยู่ห่างไกล และการติดต่อกันไม่ได้ทำง่ายเหมือนในยุคนี้มันเป็นอะไรที่ทรมานเหมือนกัน คิดถึงก็ไม่สามารถคุยกันได้เดี๋ยวนั้น จะส่งจดหมายไปหากันก็ต้องรอเป็นคืนเป็นวัน เพราะฉะนั้นบทเพลงเหล่านี้จึงถ่ายทอดอารมณ์คิดถึงออกมาได้อย่างลึกซึ้งนัก ยิ่งได้นักร้องที่เข้าใจในบทเพลงมาถ่ายทอดแล้วมันยิ่งชวนให้หลงใหลในห้วงรักและความคิดถึงคนึงหา

 

“หนทางห่างกัน นั้นกายห่างเธอ

ฝังใจใฝ่เจอ ละเมอฝากใจ

อยู่ห่างทางไกล คงใจไมตรี

สร้อยคล้อง คอเธอเส้นนี้

ใส่ไว้ประจำ จงดี

เหมือนแทนมือพี่ ที่เคยคล้องคอ”

 

Play video


“เธออยู่ไหน”

 

เราจะจำบทเพลงนี้ได้จากเสียงร้องเพรียกหา “เธออยู่ไหน” จากฝ่ายหญิง ก่อนที่ฝ่ายชายจะตอบรับด้วยเสียงอันอ่อนหวานว่า “ฉันอยู่นี่…ที่รักจ๋า”  นี่คืออีกหนึ่งบทเพลงร้องคู่จากสุเทพและสวลีที่หวานซึ้งในห้วงบรรยากาศของความคิดถึงอันรัญจวนใจ เพลงนี้อารมณ์จะต่างจากเพลง “บทเรียนก่อนวิวาห์” ที่เป็นความน่ารักวาบหวามหยอกเอินกันไปมา แต่เพลงนี้คือเสียงร้องเพรียกหาถึงคนรักที่ห่างไกล จนอีกฝ่ายต้องบอกเอาไว้ให้อุ่นใจว่าฉันไม่ได้ไปไหนอาจแทรกอยู่กับน้ำค้างกลางดาวลอย หรือดวงดาราที่ลอยอยู่บนฟ้านั่นก็คือในตาฉัน แต่ถ้าหากให้ใกล้กว่านั้น ”ที่กลางใจเธอนั้นคือฉันเอย” ไพเราะ อ่อนหวานและงดงามมากจริง ๆ

 

“เธออยู่ไหน

 ฉันอยู่นี่ที่รักจ๋า

 เธออยู่ไหน

 ในดาราคือตาฉัน

 เธออยู่ไหน

 ให้ฉันเห็นเป็นสำคัญ

 ที่กลางใจเธอนั้นคือฉันเอย”

 

Play video


“เย้ยฟ้าท้าดิน”

 

เพลงนี้เป็นเพลงที่มีผู้ประพันธ์คำร้องถึงสามท่านคือ มงคล อมาตยกุล  ชาลี อินทรวิจิตร และ สัมพันธ์ อุมากูล ส่วนทำนองประพันธ์โดย มงคล อมาตยกุล

“เย้ยฟ้าท้าดิน” เป็นเพลงประกอบละครเวทีเรื่อง “เทพบุตรฮ่อ” ของ ส.อาสนจินดา และขับร้องโดยนักแสดงนำ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เสียงร้องของคุณสุเทพเป็นการบันทึกเสียงครั้งที่สอง ส่วนครั้งแรกเป็นเสียงของ สมสกุล ยงประยูร เพลงนี้เป็นเพลงโปรดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะเนื้อหาของเพลงกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของคนที่ไม่กลัวฟ้ากลัวดิน ซึ่งตรงกับวิถีชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ที่เพิ่งก่อการปฏิวัติยึดอำนาจจากจอมพลป.พิบูลสงครามและขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ได้ยินเพลงนี้ครั้งแรกในงานเลี้ยงงานหนึ่ง วิเชียร ภู่โชติเป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ ท่านให้เล่นเพลงนี้ซ้ำและให้รางวัลวิเชียร ภู่โชติเป็นเงินถึง 1,000 บาท (1,000 บาทในสมัยนั้นก็คือสามารถซื้อข้าวทานได้ 1,000 มื้อ !) เพลงนี้ก็เลยกลายเป็นเพลงประจำตัวท่านตลอดมา

คุณสุเทพร้องเพลงนี้ไพเราะ อ่อนหวานแต่แฝงไว้ด้วยแววอาจหาญมาก

 

“…ฟ้า ..หัวเราะเยาะข้า ชะตาหรือ

ดินนั้นถือ อภิสิทธิ์ ชีวิตข้า

พรหมลิขิต ขีดเส้น เกณฑ์ชะตา

ฟ้า อินทร์ พรหม ยมพญา ข้าหรือเกรง”

 

Play video


“ป่าลั่น”

 

บทเพลงจากปี 2504 ผลงานการประพันธ์คำร้องของครูชาลี อินทรวิจิตร ทำนองโดย ครูสมาน กาญจนะผลิน  เพลง “ป่าลั่น” นี้แต่งให้กับภาพยนตร์เรื่อง “เทพบุตรนักเลง” จากบทประพันธ์เรื่องแรกของ รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก)โดยมี ชรินทร์ นันทนาคร เป็นผู้อำนวยการสร้าง บทเพลงนี้ขับร้องโดยวงดนตรี “สุเทพ คอรัส” มีคุณสุเทพร้องนำเสียงผู้ชาย ส่วนเสียงผู้หญิงเป็นของคุณ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี มีทั้งท่อนร้องแยกและร้องประสานกันกับวง ท่วงทำนองเป็นแบบเพลงมาร์ชให้อารมณ์ปลุกใจดี เนื้อหาเพลงกระตุ้นเตือนให้เห็นความสำคัญของธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพรอีกทั้งยังเปรียบเปรยให้เห็นวิถีแห่งความฉ่ำใจที่ได้จากป่า อันแตกต่างจากโลกที่ “หมองและครองน้ำตาความเศร้า” จากคราบไคลแห่งโลกีย์เคล้าอเวจี  ส่วนคำว่า​”ลั่น” ในป่าลั่นนั่นก็หมายถึง “การลั่นความจริง” ป่าสะท้อนความจริงให้พวกเราตระหนักและเห็นคุณค่าของธรรมชาตินั่นเอง

 

“แดดส่องฟ้า เป็นสัญญาวันใหม่

 พวกเราแจ่มใส เหมือนนกที่ออกจากรัง

 ต่างคนรักป่า ป่าคือความหวัง

 เลี้ยงชีพเรายัง ฝังวิญญาณนานมา”

 

Play video


“สวรรค์มืด”

 

นอกจากผลงานการขับร้องแล้ว สุเทพ วงศ์กำแหงยังเคยฝากผลงานการแสดงที่น่าประทับใจเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือ “สวรรค์มืด” (2501) จากบทประพันธ์ของ รพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) ผลงานการกำกับของ รัตน์ เปสตันยี ที่คุณสุเทพแสดงภาพยนตร์เป็นพระเอกเรื่องแรก คู่กันกับ “สืบเนื่อง กันภัย” สาวสวยจากเชียงใหม่ถิ่นไทยงาม เรื่องราวความรักของ ชู (สุเทพ วงศ์กำแหง) หนุ่มรถเข็นขยะผู้มีจิตใจดีงาม ที่อยากจะเป็นผู้ดี เลยให้ใครๆเรียกตัวเองว่า คุณชูวิทย์ ได้ให้ความช่วยเหลือ เนียร (สืบเนื่อง กันภัย) หญิงจรจัดที่หิวโซ และเกิดเป็นความรักขึ้นท่ามกลางความแร้นแค้นในชีวิต ฉากหนึ่งที่ตรึงใจของผู้ชมก็คือ ฉากร้องเพลง “สวรรค์มืด” อันแสนเหงาเศร้าแต่ไพเราะสุดใจ เป็นอีกหนึ่งบทเพลงจากการประพันธ์ของครูชาลี อินทรวิจิตร และ ครูสมาน กาญจนะผลิน

 

“ฟ้ามืดสวรรค์มัวนึกเกรงน่ากลัว

อกรัวใจสั่น

ดั่งตะวันสูญสิ้น

สวรรค์รำไรยามไร้จันทรา

มืดฟ้ามัวดิน

น้ำตาหลั่งรินกล้ำกลืน”

 

Play video

 

 

Source

http://saisampan.net/index.php?topic=56840.0

https://m.mgronline.com/Entertainment/detail/9490000139265

https://th.wikipedia.org/wiki/สุนทรียา_ณ_เวียงกาญจน์

https://www.springnews.co.th/entertain/251214

https://www.facebook.com/ThaiFilmArchivePage

https://sites.google.com/site/kruplengthai1/khru-cha-li-xinthr-wicitr

พร่างเพชรในเกร็ดเพลง “บทเรียนก่อวิวาห์”

พร่างเพชรในเกร็ดเพลง “เย้ยฟ้าท้าดิน”

หนังสือ”ตำนานครูเพลง เพลงไทยสากล ลูกกรุง” เรียบเรียงโดย คีตา พญาไท

หนังสือ”ไทยลูกทุ่ง” เรียบเรียงโดย เลิศชาย คชยุทธ

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส